หน้าแรก สวทช. จัดสัมมนา “จีโนมิกส์ประเทศไทย: การแพทย์จีโนมิกส์เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย”
สวทช. จัดสัมมนา “จีโนมิกส์ประเทศไทย: การแพทย์จีโนมิกส์เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย”
1 เม.ย. 2567
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(28 มี.ค. 2567) ฝ่ายบริหารวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ สายงานบริหารการวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดสัมมนาหัวข้อ “จีโนมิกส์ประเทศไทย: การแพทย์จีโนมิกส์เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย (Genomics Thailand: Genomic Medicine Improves Quality of Life for Thais)” ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. (NAC2024) นำเสนอสถานภาพการดำเนินงานและทิศทางไปข้างหน้าของโครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย ตลอดจนผลกระทบที่สำคัญทางด้านการวิจัยและการบริการทางการแพทย์ที่ช่วยให้การวินิจฉัยและการรักษามีความแม่นยำและคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สัมมนาในครั้งนี้ สวทช. ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน ร่วมด้วยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 9 ท่าน

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์

โดยมี ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เข้าร่วมฟังสัมมนา และ ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมรับฟังสัมมนา กล่าวขอบคุณผู้ร่วมงานและกล่าวปิดงานสัมมนา

ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ

งานสัมมนาเริ่มต้นด้วยการบรรยายโดย คุณบุญยวีร์ เอื้อศิริวรรณ ผู้แทนสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กรุณามานำเสนอสถานภาพการถอดลำดับพันธุกรรมคนไทยปัจจุบันดำเนินการถอดลำดับพันธุกรรมไปแล้วกว่า 45,000 ราย โดยคุณบุญยวีร์ให้ข้อมูลว่า สวรส. พยายามที่จะขับเคลื่อนการแพทย์จีโนมิกส์จากระยะของการวิจัยไปสู่บริการและต่อเนื่องไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการแพทย์จีโนมิกส์ในประเทศไทย โดย สวรส. มีแผนจะนำแผนปฏิบัติการจีโนมิกส์ประเทศไทยระยะที่ 2 เสนอเข้าคณะรัฐมนตรีในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 นี้

คุณบุญยวีร์ เอื้อศิริวรรณ

ต่อด้วย ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สวทช.ที่กรุณามาบรรยายเกี่ยวกับการประมวลผลข้อมูลพันธุกรรมคนไทยในโครงการฯ รวมถึงระบบสารสนเทศที่ สวทช. พัฒนาขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างมาตรฐานของระบบสนับสนุนการวินิจฉัยของประเทศ ขยายการเข้าถึงสำหรับแพทย์ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพิ่มโอกาสในการรับการรักษาผู้ป่วย และเป็นตัวกลางให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถานพยาบาลผ่านระบบ Tele consultation ตลอดจนแสดงภูมิทัศน์จีโนมในคนไทย ซึ่งจะเป็นองค์ความรู้สำคัญในการพัฒนาการวินิจฉัยและการรักษาที่จำเพาะกับคนไทย รวมถึงนโยบายการให้สิทธิประโยชน์ในการรักษาที่เหมาะสมกับคนไทย

ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา

จากนั้น ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลผลิตการพิมพ์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุณามาเล่าข้อค้นพบสำคัญของการนำเทคโนโลยีจีโนมิกส์มาประยุกต์ใช้ ทั้งในส่วนของการวินิจฉัยเชื้อก่อโรค การศึกษาทางระบาดวิทยาและการวิจัย ที่ช่วยสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการป้องกันและรับมือกับโรคระบาด รวมถึงการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลผลิตการพิมพ์

ปิดท้ายงานสัมมนาด้วยเสวนา ในหัวข้อ “การแพทย์จีโนมิกส์สู่การวินิจฉัยและการรักษาที่แม่นยำ” โดย สวทช. ได้รับเกียรติจากแพทย์จากโรงพยาบาลส่วนกลางและภูมิภาค ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนงานบริการการแพทย์จีโนมิกส์ไปสู่ผู้ป่วยทั่วประเทศ มาร่วมพูดคุยกันถึงจุดเริ่มต้น แรงบันดาลใจและประสบการณ์การให้บริการการแพทย์จีโนมิกส์ วิทยากรในช่วงเสวนาประกอบด้วย ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ สังขทัต ณ อยุธยา จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รศ.พญ.กิติวรรณ โรจนเนืองนิตย์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.นพ.กุณฑล วิชาจารย์ จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พญ.ภณีตา พันจรรยา จากศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงและกุมารเวชพันธุศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และ นพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ จากศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง รพ.พระปกเกล้า จันทบุรี โดยมี ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และรองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เกียรติมาเป็น modulator ในช่วงเสวนา

เสวนาในครั้งนี้ แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยี จีโนมิกส์ทางด้านการแพทย์ ประโยชน์ที่เกิดกับทุกคนตลอดช่วงชีวิต ทุกเพศ ทุกช่วงอายุ และเกิดได้กับทุกพื้นที่ในประเทศไทย

ศ.นพ.วรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ประโยชน์ที่ผู้ป่วยได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ ถือเป็นโบนัสของโครงการจีโนมิกส์ประเทศไทยระยะที่ 1 ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่จะต้องขยายผลไปสู่ระยะถัดไป จาก 50,000 คน ไปเป็นหลักสิบล้านคน และจากเฟสของการวิจัยไปสู่ระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งถือเป็นประเด็นท้าทายสำหรับการดำเนินงานในระยะที่ 2 แต่เชื่อมั่นว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนด้วยการสนับสนุนของภาครัฐและความทุ่มเทของบุคลากรทางการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย

สัมมนาในครั้งนี้มีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานกว่า 363 ท่าน จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา และบุคคลทั่วไป โดยมีผู้เข้าร่วมงานแบบ onsite กว่า 200 ท่าน และรับชมผ่าน Facebook live สวทช. กว่า 2.5 พัน views

 

ดูรายละเอียดการสัมมนาได้ที่ : https://www.nstda.or.th/nac/2024/seminar/nac-05/

แชร์หน้านี้: