หน้าแรก วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โอกาสสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG Economy Model
วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โอกาสสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG Economy Model
19 มี.ค. 2564
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

“เราจะช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทย ไปสู่ประเทศที่หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีได้อย่างไร โดยเฉพาะเรื่อง BCG ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ”

บางช่วงบางตอนซึ่ง เป็นทั้งคำถามและชี้ให้เห็นถึงโอกาสหากลองทำความเข้าใจกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG Economy Model ของ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ในการแถลงข่าว การจัดงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 16 (16th NSTDA Annual Conference: NAC2021) ภายใต้แนวคิด “30 ปี สวทช. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

เพราะหลายสิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวช้า ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังมีรายได้น้อย เป็นเหตุให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยังติดกับดักรายได้ปานกลางมาอย่างยาวนาน เมื่อรัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า BCG Economy Model โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่จะช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง โดยเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจาก ‘ทำมากแต่ได้น้อย’ ไปสู่ ‘ทำน้อยแต่ได้มาก’

แล้ว BCG คืออะไร ทำไมถึงมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย

BCG Economy Model คือ 3 เศรษฐกิจหลัก ได้แก่ B = Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เชื่อมโยงกับ C = Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้ G = Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหามลพิษเพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้มีความเข้มแข็งและประชาชนมีรายได้สูงขึ้น ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย BCG เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2564-2569 ประกอบด้วย 4 แผนยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. เกษตรและอาหาร 2. สุขภาพและการแพทย์ 3. พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4. การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งในฐานความหลายหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมของประเทศไทย

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เน้นย้ำถึงการใช้ วทน. กับโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ได้อย่างน่าสนใจว่า “จุดสำคัญในการพัฒนาประเทศในหลายๆ ประเทศ จะอยู่บนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรที่เป็นจุดแข็งและต้นทุนสำคัญของการพัฒนาประเทศนั้นๆ สำหรับประเทศไทยมีจุดแข็ง คือความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพนั้นเกิดขึ้นใหม่ได้ และหากใช้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพจะไม่หมดไป มีแต่เพิ่มพูน สังเกตได้ชัดจากช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 มีการล็อกดาวน์ งดการเดินทาง ทำให้แหล่งท่องเที่ยวที่เคยเสื่อมโทรม ทรัพยากรต่างๆ กลับฟื้นตัวขึ้นมา ทว่าการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติหลังยุคโควิดจะทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว ต้องมีการย่อยอด เพิ่มพูน สานต่อและใช้ประโยชน์ให้เกิดความยั่งยืน”

ดร.ณรงค์ อธิบายต่อว่า ขณะเดียวกันต้องนำสิ่งที่เพิ่มพูนแล้ว ให้ชุมชนในพื้นที่ใช้ประโยชน์ได้ด้วย เพราะหากชุมชนในพื้นที่ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้ อาจจะไม่ต้องแปลงมูลค่าเป็นตัวเงิน แต่เปลี่ยนจากการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เป็นการสร้างมั่นคงในอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ทำให้ชุมชนมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ มีแหล่งพักผ่อนที่สมบูรณ์ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขโดยไม่ต้องแปลงเป็นตัวเงินได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี บนความหมายหลายทางชีวภาพที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย เมื่อเกิดการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและยั่งยืนแล้ว ผอ. สวทช. ยังชวนมองโอกาส ที่สามารถสร้างจากความหลากหลายนั้นๆ ให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมที่เพิ่มมูลค่า ด้วยงานวิจัย ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทางด้าน วทน. เพิ่มเติมเข้ามาด้วยเช่นกัน

ดังตัวอย่างนวัตกรรมที่ สวทช. เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกเพศทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ ได้เห็นตัวอย่าง จากงานวิจัยที่ต่อยอดจากความหลายหลากทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG Economy Model โดย สวทช. ได้รวบรวมไว้บนแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบ ซึ่งสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ทางเว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac และแนะนำให้รับชมผ่านออนไลน์ได้ 6 วันเต็ม ระหว่างวันที่ 25-30 มีนาคมนี้

ขอยกตัวอย่างเพียงบางส่วนของผลงานให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น ด้านอาหารทางเลือก: ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกจาก Mycoprotein หรือ เนื้อเทียมประเภท ‘มัยคอโปรตีน’ ไม่มีคอเลสเตอรอลและมีไขมันอิ่มตัวต่ำ นวัตกรรมสำหรับต่อยอดในธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ

ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อไก่จากโปรตีนพืช (Plant-based chicken meat) พัฒนาขึ้นโดยอาศัยองค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบโครงสร้างของอาหาร และคุณสมบัติของโปรตีน ประกอบกับการใช้สารที่ทำหน้าที่ยึดเกาะ และเส้นใยอาหารที่เหมาะสมในการสร้างเนื้อสัมผัสให้คล้ายคลึงกับเนื้อไก่ สามารถปั้นขึ้นรูปได้ง่ายภายหลังการปั่นผสม และสามารถนำไปปรุงเป็นเมนูอาหารต่างๆ ได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแช่แข็ง เช่น วิธีการทอด ย่าง ผัด หรือ แกง ทำให้ง่ายต่อการผลิตในระดับอุตสาหกรรม

เครื่องดื่มโปรตีนสูงชนิดเจลจากโปรตีนถั่วเขียว (M-Pro Jelly Drink) ที่มีปริมาณโปรตีนสูงมากกว่าร้อยละ 20 มีการเสริมแคลเซียมกว่าร้อยละ 10 เหมาะสำหรับคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป

 

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ มาเพิ่มศักยภาพให้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  

นอกจากนั้นแล้วยังมีอีกหลายกิจกรรมของงาน NAC2021 อาทิ กิจกรรมสัมมนาออนไลน์มากกว่า 34 หัวข้อ เช่น การพัฒนาวัคซีนโควิด-19, นาโนโรโบติกพิชิตมะเร็ง, การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับความปลอดภัยด้านการคมนาคมขนส่งในระบบราง นิทรรศการออนไลน์ เช่น โซนเทิดพระเกียรติครบรอบ 20 ปี ความร่วมมือไทย-เซิร์น (CERN), โซน BCG Economy Model 8 กลุ่ม เช่น ยาและวัคซีน เครื่องมือแพทย์ ท่องเที่ยว เศรษฐกิจหมุนเวียน การจัดกิจกรรมเยี่ยมชม Open House แบบออนไลน์ 8 เส้นทางสู่การต่อยอดธุรกิจนวัตกรรม กิจกรรม S&T Job Fair รับสมัครงานออนไลน์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2,000 อัตราจาก 30 องค์กรชั้นนำ และกิจกรรมวิทยาศาสตร์แบบออนไลน์สำหรับเยาวชน เป็นต้น

25-30 มีนาคมนี้ โอกาสอยู่แค่ปลายนิ้ว ลงทะเบียนล่วงหน้าคลิก www.nstda.or.th/nac

19 มี.ค. 2564
0
แชร์หน้านี้: