หน้าแรก อย่าหยุดเติมความรู้ เพื่อสร้างนวัตกรรมกับงาน ‘NAC2022’
อย่าหยุดเติมความรู้ เพื่อสร้างนวัตกรรมกับงาน ‘NAC2022’
23 มี.ค. 2565
0
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ

For English-version news, please visit : Discover business potential of Bio-Circular-Green Economy at NAC2022

หากคุณกำลังสร้างนวัตกรรมในองค์กร หากคุณต้องการต่อยอดธุรกิจให้เติบโต หรือหากคุณต้องการหาความรู้เพื่อพัฒนางานในวิชาชีพของตนเอง คุณไม่ควรพลาด งานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 17 หรือ ‘NAC2022’

งานแนค (NAC2022) จัดโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ปีนี้ด้วยสถานการณ์โควิด-19 จึงจัดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ช่องทาง www.nstda.or.th/nac ระหว่างวันที่ 28-31 มีนาคม 2565 เพื่อคนทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนนักศึกษา ผู้ประกอบการ รวมทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศที่เข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนา เพื่อนำเอาองค์ความรู้มาสื่อสาร แลกเปลี่ยนและพัฒนานวัตกรรมที่ดีที่สุด

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ‘NAC2022’ ถือเป็นอีกหนึ่งเวที ที่จัดขึ้นมาให้เกิดการแลกเปลี่ยนอย่างสมบูรณ์ ทั้งฝั่ง Demand ฝั่ง Supply และฝั่งที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์และพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นการจัดประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ทุกๆ ปี เป้าหมายนอกจากเผยแพร่ความรู้และแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันแล้ว เป้าหมายหลักยังเป็นการช่วยกันพัฒนาประเทศผ่านการทำงานร่วมกันบนกลไก ‘จตุภาคี’ ตามแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งหมายถึงการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และภาควิชาการ

ไฮไลต์สำคัญของงาน NAC2022 มีการสัมมนาออนไลน์ 45 หัวข้อ 4 วันเต็มของการจัดงาน เพื่อรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนและเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิต และนำข้อคิดเห็น นำโจทย์วิจัยที่ท้าทายกลับเข้ามายังหน่วยวิจัย เพื่อคิดค้นนวัตกรรมนั้นๆ ออกไปยังภาคการผลิตและภาคประชาสังคมเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์และแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นระยะยาวของสังคมไทย

ตัวอย่างนวัตกรรม 102 ผลงาน ให้ชมในรูปแบบนิทรรศการออนไลน์ ซึ่งปีนี้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมนำมาแสดงภายใต้แนวคิด พลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม BCG ทั้ง 4 สาขา ได้แก่ 1. เกษตรและอาหาร 2.สุขภาพและการแพทย์ 3.พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4.การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่น

สาขาเกษตรและอาหาร

ผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติโปรตีนต่ำ

นักวิจัยเอ็มเทค สวทช. ลดปริมาณโปรตีนที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ในผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติให้มีปริมาณโปรตีนที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้น้อยเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ISO 11193-1:2008, EN 455 และ ASTM D3578-05 ช่วยยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติให้สามารถแข่งขันได้กับผลิตภัณฑ์ถุงมือยางสังเคราะห์ และรักษาความเป็นผู้นำด้านการผลิตยางและผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติของประเทศไทย

Plant-based egg” ผลิตภัณฑ์ไข่เหลวจากโปรตีนพืช

ทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร ไบโอเทค และบริษัท ดรอปแอนด์พิค กรุ๊ป จำกัด ได้ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ไข่เหลวพาสเจอร์ไรซ์จากโปรตีนพืชครั้งแรกของไทย โดยพัฒนาสูตรโปรตีนจากพืชเป็นไข่เหลวจากพืชพาสเจอร์ไรซ์ ที่มีคุณสมบัติในการขึ้นรูปในระหว่างการทอดในน้ำมันได้ และเนื้อสัมผัส ใกล้เคียงกับไข่ไก่ นำไปใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เหมาะสำหรับกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มกินวีแกน(Vegan) และกลุ่มที่แพ้ไข่ไก่

นวัตกรรม มะนีมะนาว น้ำมะนาวคั้นสด 100% แช่แข็ง (ManeeManao)

“น้ำมะนาวแช่แข็ง” นักวิจัยนาโนเทค สวทช. ได้เปลี่ยนสภาวะการแช่เยือกแข็งที่เหมาะสม โดยขั้นตอนการผลิตเดิมไม่ถูกเปลี่ยน ช่วยเพิ่มคุณสมบัติในการลดการทำงานของเอนไซม์ ผลการทดสอบด้วยกระบวนการที่ปรับปรุงนั้นคือ กลิ่น สี และรสของน้ำมะนาวแช่แข็งที่นำมาทำละลายเทียบเคียงน้ำมะนาวสด ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของกลิ่น สี รส ภายใน 2-3 วัน แต่น้ำมะนาวแช่แข็งสามารถเก็บได้นานกว่า 2 ปี ที่สำคัญหากนำน้ำมะนาวแช่แข็งด้วยกระบวนการที่ปรับปรุงนี้ไปทำละลายแล้ว สามารถเก็บในรูปของเหลวได้นาน 2-3 เดือน โดยที่กลิ่น สี และรสเทียบเคียงมะนาวสด

การผลิตและเพิ่มมูลค่าพันธุ์ฟักทองไข่เน่าอัตลักษณ์ท้องถิ่น กลุ่มนาน้อย จ.น่าน

ตัวอย่างความสำเร็จการพัฒนาชุมชนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG :  โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการคัดเลือกสายพันธุ์ฟักทอง การคัดเลือกสายพันธุ์ฟักทองไข่เน่า เพื่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่น สู่การรับรองเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นของ จ.น่าน ทำให้ได้สายพันธุ์ฟักทองไข่เน่าที่มีสีเขียวปนเหลือง มีความสม่ำเสมอของรูปทรงผล มีรสชาติหวาน มัน อร่อยและเนื้อเหนียวหนึบ นอกจากนี้ยังส่งผลผลิตสดจำหน่ายซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ฟักทองผง ข้าวเกรียบฟักทอง ส่วนเมล็ดฟักทองนำมาสกัดเป็น “น้ำมันเมล็ดฟักทอง” ชิ้นส่วนที่เหลืออื่นๆ นำไปหมักด้วยหัวเชื้อจุลินทรีย์ประสิทธิภาพสูงเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์สำหรับเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์และโค ทำให้เป็นชุมชนที่มีระบบการผลิตทางการเกษตรให้ปลอดวัสดุเหลือใช้ (Zero waste agriculture) อย่างแท้จริง

Handy Sense + Farm to School

นักวิจัยเนคเทค สวทช. คิดค้นระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ (HandySense) ประกอบด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดและควบคุมสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยต่อการเจริญเติบโตของพืช ด้วยการนำเทคโนโลยีเซนเซอร์ (sensor) ผนวกอุปกรณ์ไอโอที (Internet of Things) มาพร้อมกับความโดดเด่นคือ อุปกรณ์ใช้งานง่าย ทนทานต่อสภาพแวดล้อม ในราคาที่เกษตรกรเข้าถึงได้ โดย HandySense จะตรวจวัดค่าสภาพแวดล้อมที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชผลแบบเรียลไทม์ผ่านเซนเซอร์ (sensor) ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ความชื้นในดิน ความชื้นสัมพัทธ์ แสง และส่งต่อข้อมูลจากเซนเซอร์ผ่านระบบคลาวด์แล้วนำมาเปรียบเทียบกับค่าที่เหมาะสมของการเพาะปลูกพืช (Crop Requirement) เพื่อแจ้งเตือนและสั่งการระบบต่างๆ ให้ทำงานต่อไป

มีการติดตั้งใช้งานไปแล้วมากกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ และประกาศเป็นเทคโนโลยีแบบเปิด (Open Innovation) เพื่อให้ผู้สนใจนำไปใช้กับแปลงเกษตรและเชิงพาณิชย์ได้แล้ว และขยายผลสู่ Farm to School ทดสอบการใช้งานในพื้นที่นำร่องของโครงการใน 3 ตำบล 3 อำเภอของจังหวัดสุรินทร์ ประกอบด้วย 8 กลุ่มวิสาหกิจและเครือข่ายเกษตรกรและ 5 โรงเรียนใน ต.จอมพระ อ.จอมพระ, ต. อู่โลก อ.ลำดวน และ ต.ตานี อ.ปราสาท

ชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ strip test สำหรับตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง

สวทช. ได้พัฒนาเทคนิคการตรวจกรองไวรัสใบด่างในต้นพันธุ์มันสำปะหลัง โดยได้พัฒนาน้ำยาแอนติบอดีสำหรับตรวจไวรัสใบด่างมันสำปะหลังสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยโดยใช้เทคนิคอิไลซ่า (ELISA) พบว่า น้ำยาแอนติบอดีที่พัฒนาขึ้นมีความไว (sensitivity) ในการตรวจมากกว่าน้ำยาที่มีการขายในเชิงการค้า และมีราคาต่อตัวอย่างถูกกว่าที่นำเข้าจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การตรวจด้วยเทคนิคอิไลซ่าจำเป็นต้องเก็บตัวอย่างนำมาตรวจสอบภายในห้องปฏิบัติการและต้องใช้อุปกรณ์และเครื่องอ่านผล ใช้เวลาในการตรวจสอบจนทราบผลประมาณ 1-2 วัน

ทีมนักวิจัย จึงได้พัฒนาชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ strip test สามารถพกพาไปใช้ในภาคสนาม โดยไม่ต้องเก็บตัวอย่างส่งมาตรวจยังห้องปฏิบัติการ ทราบผลได้ภายใน 15 นาที และตรวจสอบได้เองโดยไม่ต้องอาศัยผู้ชำนาญการและเครื่องมือวัดอ่านผล ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในประเทศไทย รวมถึงการตรวจหาเชื้อในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการผลิตต้นพันธุ์ปลอดเชื้อต่อไป

สาขาสุขภาพและการแพทย์

เทคโนโลยี Pseudotype virus (ไวรัสตัวแทน) สำหรับประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19

สวทช. ผลงานพัฒนาสำเร็จและได้ใช้งานจริงเพื่อประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนกับโครงการวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย เช่น Chula-Cov-19, วัคซีนของบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม และ วัคซีนขององค์การเภสัชกรรม นวัตกรรมนี้ยังได้ถูกใช้ประโยชน์เพื่อประเมินประสิทธิภาพวัคซีนสูตรต่างๆ ที่ใช้ในประเทศไทยต่อการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เช่น สายพันธุ์โอมิครอน BA.1 และ BA.2 นอกจากนี้เทคโนโลยี Pseudotyped virus ยังสามารถต่อยอดนำไปเป็นวิธีทดสอบหายาต้านไวรัสตัวใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอนติบอดีรักษาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ โดยทีมวิจัยของ สวทช เป็นผู้ดำเนินการทดสอบ และมีแผนร่วมมือกับหลายหน่วยงานเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในอนาคต

นวัตกรรม “ENcase” เครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อด้วยวิธีการผลิตทางไฟฟ้าเคมี

นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สวทช. คิดค้นเครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อด้วยวิธีทางไฟฟ้าเคมี ในชื่อ ENcase ที่ใช้เพียงส่วนผสมระหว่าง เกลือกับน้ำบริสุทธิ์ เพื่อทำเป็นสารละลายเกลือแกง ก่อนใช้กระบวนการทางไฟฟ้าทำปฏิกิริยาเคมี จนได้น้ำยาออกมา 2 ชนิดพร้อมกัน คือกรดและด่าง โดยในส่วนที่เป็นกรดมีองค์ประกอบของไฮโปคลอรัส มีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อน ๆ ซึ่งผ่านการทดสอบแล้วพบว่า มีประสิทธิภาพเพียงพอในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ทีมนักวิจัยจึงตั้งชื่อน้ำยาในส่วนที่เป็นกรดไฮโปคลอรัสว่า ENERclean ผลงานดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการพัฒนาเครื่อง Encase สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันได้นำร่องส่งมอบและติดตั้งเครื่องต้นแบบให้กับโรงพยาบาล 10 แห่ง ใน 4 จังหวัด ทำให้โรงพยาบาลสามารถผลิตน้ำยา ENERclean ใช้ได้เองและนำไปใช้ฆ่าเชื้อขยะมูลฝอยหรือขยะติดเชื้อของโรงพยาบาลเพื่อลดต้นทุนและปลอดภัยกับผู้ใช้งาน

สาขา พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ

แบบจำลองสามมิติค่าการหมุนเวียน เพื่อความยั่งยืนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง (3D Circularity model)

เครื่องมือสำหรับประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและตัวเลขการหมุนเวียนของวัสดุ (Material Circularity Indicator: MCI) ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของวัสดุก่อสร้าง สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ สำหรับนักออกแบบผลิตภัณฑ์และผู้ซื้อในการพิจารณาเพื่อเลือกวัสดุที่ใช้จะต้องมาจากส่วนประกอบที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยไม่สูญเสียการรีไซเคิล

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโละและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ในฐานะประธานการจัดงาน NAC2022 กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจคือ  Open House หรือการเปิดบ้านให้ผู้ประกอบการ และ นักลงทุน ได้เยี่ยมชมแบบออนไลน์ จากการนําเสนอเทคโนโลยีจากความชำนาญของห้องปฏิบัติการชั้นนำ 45 ห้องปฏิบัติการจำนวนรวม 60 เรื่อง ซึ่งความพิเศษของการจัดในรูปแบบออนไลน์ คือ สวทช. เปิดบ้านให้เห็นห้องปฏิบัติการวิจัยผ่านวีดีโอแบบใกล้ชิด และหากมีคำถามก็สามารถแชทข้อความสอบถามได้ทันที ดังนั้น “งาน ‘NAC2022’ เป็นโอกาสอีกครั้งท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 เมื่อคุณเข้าร่วมงาน คุณจะเห็นว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งและยั่งยืนไปด้วยกัน”

ดร.ณรงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “อย่าหยุดเติมความรู้ เพื่อสร้างนวัตกรรม” เพราะหากเมื่อไหร่ที่เราหยุดเติมความรู้ องค์ความรู้เราก็จะถดถอย และจะสร้างนวัตกรรมไม่ได้ ความสามารถในการแข่งขันก็จะถดถอยไปด้วย ดังนั้นงาน NAC2022 จะเป็นอีกแพลตฟอร์มออนไลน์สำคัญ ที่เราจะเติมความรู้ นำความรู้เหล่านั้นไปสร้างนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง

28-31 มีนาคมนี้ ชวนกันมาเติมความรู้ เพื่อสร้างสรรค์คนวัตกรรมไปด้วยกัน บนแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบที่ www.nstda.or.th/nac กับงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 17 ภายใต้แนวคิด พลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม BCG

แชร์หน้านี้: