หน้าแรก n-Breeze’ แผ่นกรองนาโนเทคสู้ฝุ่น PM 2.5
n-Breeze’ แผ่นกรองนาโนเทคสู้ฝุ่น PM 2.5
1 ต.ค. 2562
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

ค่าฝุ่นละออง กลับมาเกินค่ามาตรฐานอีกครั้ง นักวิจัยนาโนเทค สวทช. พัฒนา “แผ่นกรองนาโนสมบัติพิเศษ” หรือ n-Breeze ด้วยเทคนิค “อิเล็กโตรสปินนิ่ง” สร้างคุณสมบัติพิเศษของเส้นใยนาโนที่เต็มไปด้วยรูพรุนให้สามารถดักจับอนุภาคฝุ่นละอองในอากาศขนาด 0.3 – 2.5 ไมครอน ประยุกต์สร้างแผ่นกรองใช้ร่วมกับหน้ากากอนามัยทั่วไป หรือแผ่นกรองสำหรับเครื่องฟอกอากาศได้
หลายวันที่ผ่านมา ค่าฝุ่นละอองในหลายพื้นที่ในกรุงเทพและปริมณฑลยังคงเกินค่ามาตรฐาน ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งโรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือดและโรคเรื้อรังอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การป้องกันตัวเองจากฝุ่นละอองจึงเป็นสิ่งสำคัญ หลายคนมีการเลือกใช้อุปกรณ์ในการป้องกันตนเอง อาทิหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง N95 หรือ อาจใช้วิธีการอื่นทดแทนในสภาวะที่สินค้ากำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็มีงานวิจัยที่จะตอบโจทย์เรื่องของสุขภาพและมลภาวะที่เรากำลังเผชิญ

“แผ่นกรองจากเส้นใยนาโน” งานวิจัยโดย ดร.วรล อินทะสันตา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน และคณะ จากนาโนเทค สวทช. โดยพัฒนาเส้นใยและเทคโนโลยีการขึ้นรูปสิ่งทอให้เป็นแผ่นกรองจากเส้นใยนาโนสมบัติพิเศษด้วยเทคนิคที่เรียกว่า “อิเล็กโตรสปินนิ่ง” ทำให้ได้เส้นใยขนาดเล็กที่มีลักษณะเป็นรูพรุนขนาดเล็กจำนวนมาก มีสมบัติสามารถดักจับอนุภาคฝุ่นละอองในอากาศขนาดระหว่าง 0.3 – 2.5 ไมครอน เทคโนโลยีดังกล่าว ถูกต่อยอดให้อยู่ในรูปแผ่นกรอง ซึ่งนักวิจัยชี้ว่า สามารถนำไปใช้ผลิตร่วมกับหน้ากากอนามัยแบบธรรมดา อีกทางเลือกของการนำเทคโนโลยีสิ่งทอสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่แล้วในท้องตลาดเพื่อเพิ่มสมบัติพิเศษและให้เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะแผ่นกรองนาโนแบบ ‘n-Breeze Anti PM 2.5’ ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยธรรมดายังคงมีน้ำหนักเบา รูปแบบการใช้งานสะดวก และยังสามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ ช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ซึ่งจากการทดสอบแล้วในระดับห้องปฏิบัติการพบว่าสามารถกรองอนุภาคฝุ่นละอองในอากาศขนาด 0.3 – 2.5 ไมครอนได้อยู่ที่ระหว่าง 90-95%

นอกจากนี้ เทคโนโลยีการขึ้นรูปดังกล่าว ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การนำไปใช้กับเครื่องฟอกอากาศ ทั้งในระดับครัวเรือน อุตสาหกรรมยนต์ หรือแม้แต่สถานพยาบาล จากการพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบมัลติฟังก์ชั่นเพื่อเพิ่มคุณสมบัติด้านอื่นๆ อาทิ การสะท้อนน้ำ ป้องกันรังสียูวี ความสามารถในการกรองเชื้อแบคทีเรียบางชนิด แต่ยังคงมีน้ำหนักเบา คงทนแข็งแรง และผ่านการทดสอบตามมาตรฐานเช่น EN149 จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรม

ข้อควรรู้ สู้ฝุ่นจิ๋ว (ข้อมูลจาก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข) ค่าเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กในบรรยากาศ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดระดับของผลกระทบต่อสุขภาพ ได้ใช้สีเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบ แบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่
สีฟ้า (0–25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)
สีเขียว (26–38 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)
สีเหลือง (38–50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
สีส้ม (51–90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และ
สีแดง (91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป) โดยตั้งแต่ระดับสีส้มเป็นต้นไป เป็นระดับที่เกินค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็กในบรรยากาศและมีผลกระทบต่อสุขภาพ

คำแนะนำในการปฏิบัติตนเพื่อสู้ฝุ่น
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่า กลุ่มเสี่ยงอย่างผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป หรือเด็กวัย 0-5 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคเรื้อรังอื่นๆ หากอยู่ในพื้นที่ที่ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง และหากจำเป็นต้องออกนอกบ้านเป็นเวลานาน ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อเป็นการป้องกันฝุ่นละออง รวมถึงป้องกันโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นไปตามหลักการป้องกันไว้ก่อน

1 ต.ค. 2562
0
แชร์หน้านี้: