หน้าแรก สวทช. อว. จัดประชุมการบริหารจัดการอุทยานวิทยาศาสตร์ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2019 พร้อมตั้ง World Business Angle Forum แหล่งเงินทุนหนุนการวิจัยและนวัตกรรมออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น
สวทช. อว. จัดประชุมการบริหารจัดการอุทยานวิทยาศาสตร์ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2019 พร้อมตั้ง World Business Angle Forum แหล่งเงินทุนหนุนการวิจัยและนวัตกรรมออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น
28 ส.ค. 2562
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

28 สิงหาคม 2562 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย:- สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) จัดประชุมการบริหารจัดการอุทยานวิทยาศาสตร์ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2019 (ASEAN Science Park Management Conference 2019) ระหว่างวันที่ 28 – 30 สิงหาคม 2562 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยมีผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนจาก 9 ประเทศ (บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม) ผู้แทนอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เขตนวัตกรรมทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมงานกว่า 100 คน

เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้กิจการอุทยานวิทยาศาสตร์เติบโตและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการสร้างเครือข่ายและการเชื่อมโยงระหว่างอุทยานวิทยาศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้เป็นเครือข่ายรูปธรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอุทยานวิทยาศาสตร์ในการให้บริการต่อไป โดยมี นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวรายงานการจัดงาน ทั้งนี้ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมทั้งเป็นสักขีพยานในการลงนามข้อตกลงร่วมกันในการจัดตั้ง World Business Angle Forum สาขาประเทศไทย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดตั้งสาขาในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นกลไกสำคัญด้านแหล่งเงินทุนสนับสนุนในการช่วยผลักดันงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมใหม่ๆ ออกสู่เชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

  

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเปิดงานว่า การจัดงาน ASEAN Science Park Management Conference 2019 ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายระหว่างผู้เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอุทยานวิทยาศาสตร์และเขตนวัตกรรมในประเทศไทยและกลุ่มผู้บริหารอุทยานวิทยาศาสตร์จากประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการความร่วมมือในการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่เป็นรูปธรรมร่วมกัน และเกิดการประชาสัมพันธ์อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยและกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน ซึ่งมีแนวคิดหลัก คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ร่วมมือ ร่วมใจ ก็คือ อาเซียนจะต้องมีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจ เชื่อมโยงกันบนพื้นฐานของเอกภาพอาเซียนและหลักการสามเอ็ม (3Ms) ก็คือ การไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน (Mutual trust) ความเคารพซึ่งกันและกัน (Mutual respect) และผลประโยชน์ร่วมกัน (Mutual benefit)…ก้าวไกล ก็คือการก้าวสู่อนาคตให้ ทันโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและความท้าทาย ยั่งยืน หมายถึงการพัฒนาในทุกด้าน เพื่อความกินดีอยู่ดี ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

ปัจจุบันโลกกำลังขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ อาทิ AI ควอนตัมคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things) ฯลฯ ซึ่งเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต การทำงาน และรูปแบบการทำธุรกิจอย่างสิ้นเชิง การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทันโลกและพร้อมรับมือกับอนาคต จะต้องใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ และเพิ่มรายได้ให้กับภาคธุรกิจ แนวทางการพัฒนาจะต้องนำความคิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทรัพย์สินทางปัญญา การวิจัยและพัฒนา มาถ่ายทอดและประยุกต์ให้เกิดการใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์ สังคม และชุมชน โดยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมให้ทั่วถึงและเพียงพอทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพในลักษณะของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

  

อุทยานวิทยาศาสตร์ มีหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงองค์ความรู้ทางด้าน วทน. จากสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยไปสู่ผู้ประกอบการและภาคเอกชน โดยผ่านกลไกในการให้บริการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับดำเนินกิจกรรมวิจัยพัฒนา เช่น ห้องปฏิบัติการเครื่องมือวิจัย เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในอุทยานวิทยาศาสตร์ให้ดำเนินกิจกรรมวิจัยและพัฒนาตลอดจนกระบวนการพัฒนานวัตกรรม ตั้งแต่การทดสอบแนวคิด (Proof of concept) การสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เพื่อทดลองตลาด (Prototyping) การทดลองผลิตระดับอุตสาหกรรม (Pilot production) ไปจนถึงการผลิตเพื่อออกสู่เชิงพาณิชย์ (Mass production) นอกจากนี้อุทยานวิทยาศาสตร์มีบริการอื่น ๆ เช่น บริการทางด้านกฎหมายและทรัพย์สินทางปัญญา ที่สนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากสถาบันการศึกษา หรือสถาบันวิจัยไปสู่ผู้ประกอบการ และบริการให้ความช่วยเหลือทางด้านการตลาดกับผู้ประกอบการให้สามารถเจาะตลาดใหม่ เป็นต้น นอกจากจะมีอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยแล้ว ยังมีอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคอีก 3 แห่งที่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ประกอบด้วย 7 มหาวิทยาลัย อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย 4 มหาวิทยาลัย และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ประกอบด้วย 3 มหาวิทยาลัย และโครงการนำร่องอีก 2 มหาวิทยาลัย และในปีต่อๆ ไปจะมีการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

“การประชุมในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการอุทยานวิทยาศาสตร์และเขตนวัตกรรมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและขยายผลไปสู่การความร่วมมือพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ก่อให้เกิดผลการพัฒนาประเทศและภูมิภาคอย่างเต็มศักยภาพ ทำให้ประชาคมอาเซียนเป็นประชาคมที่มีความมั่งคั่ง และมีความพร้อมที่จะรับมือกับความท้าทายในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

นอกเหนือจากนี้ยังเกิดความร่วมมือและมีการลงนามข้อตกลงการจัดตั้ง World Business Angle Forum (WBAF) สาขาประเทศไทย ระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทข.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และ World Business Angels Investment Forum (WBAF) โดย Mr. Baybars Altuntas, Chairman of World Business Angels Investment Forum (WBAF) ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดตั้งสาขาในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นกลไกสำคัญด้านแหล่งเงินทุนสนับสนุนในการช่วยผลักดันงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมใหม่ๆ ออกสู่เชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความแข็งแกร่งต่อไป “อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ถือ เป็นจุดสำคัญที่นักธุรกิจนักลงทุนจะได้พบกับนักเทคโนโลยี ซึ่งอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ของ สวทช. ก็เป็นอีกหนึ่งแห่งที่มีภาคเอกชนเข้ามาร่วมอยู่ด้วยเกือบ 100 บริษัท เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองไปสู่ผลกำไร

ซึ่งการจัดการเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับประเทศในอาเซียนที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน นอกจากนั้นแล้วภายในงานยังมีสิ่งพิเศษเกิดขึ้น คือ การร่วมลงนามกับกลุ่มนักลงทุนระดับโลก (Angle Investment) ซึ่งสนใจที่จะมาร่วมลงทุนว่าจะมีแนวทางที่จะได้กำไรจากการลงทุนด้านเทคโนโลยี เนื่องจากจะมีองค์กร WBAF (World Business Angle Forum) มาตั้งสำนักงานอยู่ในเมืองไทยซึ่งจะเป็นโอกาสที่นักเทคโนโลยี นักวิจัยจะได้รับเงินลงทุนด้านเทคโนโลยีจากทั่วโลก ดังนั้นเป็นเรื่องที่ดีที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยจะได้ขยายไประดับโลก ซึ่งไม่เพียงเป็นผลดีต่อนักวิจัย แต่ผลดีต่อนักธุรกิจที่ต้องการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งด้านสุขภาพ ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยมีความพร้อมอยู่แล้ว” ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวทิ้งท้าย

28 ส.ค. 2562
0
แชร์หน้านี้: