หน้าแรก สวทช. เสริมทัพกระทรวงวิทย์ฯ ขนนิทรรศการบุกสยามสแควร์ ในงาน “ขับเคลื่อน THAILAND 4.0 ด้วย วทน.”“สมคิด” มั่นใจ ปี 61 สัดส่วนเงินลงทุนวิจัยและพัฒนาพุ่งโตทะลุ 1%
สวทช. เสริมทัพกระทรวงวิทย์ฯ ขนนิทรรศการบุกสยามสแควร์ ในงาน “ขับเคลื่อน THAILAND 4.0 ด้วย วทน.”“สมคิด” มั่นใจ ปี 61 สัดส่วนเงินลงทุนวิจัยและพัฒนาพุ่งโตทะลุ 1%
26 พ.ย. 2561
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

23-25 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ณ สยามสแควร์ กรุงเทพฯ – กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานสุดอลังการ “ขับเคลื่อน THAILAND 4.0 ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม: THAILAND 4.0 IN THE MAKING” แสดงผลงานการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 อย่างเป็นรูปธรรมด้วยวิทยาศาสตร์ฯ ใน 4 ด้าน “สร้างคน แก้จน เสริมแกร่ง สู่ภูมิภาค” หวังกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะยาว พร้อมเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มภาคภูมิ ตอกย้ำจุดยืนรัฐบาลใช้นวัตกรรมพลิกโฉมประเทศ ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 โดยวันเปิดงาน (23 พ.ย.) ได้รับเกียรติจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด โดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. และคณะผู้บริหาร สวทช. เข้าร่วมงานในพิธีเปิดโดยพร้อมเพรียง พร้อมร่วมชมเดินชมนิทรรศการบริเวณงาน

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานเปิดงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า รัฐบาลให้ความสำคัญยิ่งในการนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ พาชาติก้าวข้ามกับดักกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูง โดยใช้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อนำไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว หากสังเกตจะพบว่าในประเทศที่มีรายได้สูงส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีการพัฒนาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น อิสราเอล หรือแม้กระทั่งเกาหลีใต้ และล่าสุดประเทศจีน ประเทศไทยจะต้องก้าวไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศเหล่านี้ ซึ่งเรากำลังเดินก้าวไปข้างหน้า เห็นได้จากตัวชี้วัดสำคัญ คือสัดส่วนการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาของไทยที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง เปรียบเทียบให้เห็นภาพ คือช่วงระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2544-2554 เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% จาก 0.26% เป็น 0.37% แต่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา คือ ปี 2556-2559 มีการเติบโต เพิ่มขึ้น 0.4% จาก 0.47% ในปี 2556 เป็น 0.78% ในปี 2559 คิดเป็นเม็ดเงินลงทุน 113,527 ล้านบาท และตั้งเป้าไว้ว่าจะทะลุ 1% ในปี 2561

 

รองนายกฯ กล่าวย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก และมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว โดยต้องทำให้คนไทยทุกคนเข้าใจและเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเด็กไทยจะต้องรู้ว่าวิทยาศาสตร์สำคัญกับชีวิตพวกเขา เห็นความจำเป็นในการเรียน STEM เพราะจะเป็นพื้นฐานของอาชีพในอนาคต คนรุ่นใหม่ต้องเข้าใจว่าวิทยาศาสตร์เป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ รวมทั้งต้องมีทักษะฝีมือในการลงมือทำ เพราะการทำธุรกิจในปัจจุบันแข่งขันกันที่ความคิดและการใช้ทักษะและเทคโนโลยีในการทำธุรกิจ

 

นอกจากการสร้างความสามารถในการแข่งขันแล้ว วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะต้องช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของคนในสังคมทุกระดับและทุกพื้นที่ในประเทศ ให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งกลุ่มพี่น้องเกษตรกรและคนทั่วไปในสังคม โดยจะต้องนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงไปช่วยเหลือคนในทุกระดับ และทำให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเขา และสร้างประโยชน์กับชีวิตพวกเขาได้

 

“งานดังกล่าวกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้นำผลงานมาแสดงให้ทุกคนเห็นว่าประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างแน่นอน ผมเชื่อว่าการจัดงานในครั้งนี้จะเป็นเวทีเผยแพร่นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในวงกว้าง เกิดการพัฒนาภูมิปัญญาโดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก่อให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างแท้จริง และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมตรงกับความต้องการของผู้บริโภค สามารถสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สร้างเงิน สร้างงาน สร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่สูงขึ้น” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

 

ทั้งนี้ ภายในงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมนำผลงานนิทรรศการเสริมทัพกระทรวงวิทย์ฯ จัดแสดงแก่ผู้สนใจและคนรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ผลงานเดนตีสแกนรุ่น 2.0 (DentiiScan 2.0) เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรม / ผลงานไข่ออกแบบได้ จมูกอิเล็กทรอนิกส์ (E-nose) / ตัวเร่งปฏิกิริยาและกระบวนการผลิตไบโอไฮโดรจีเนทดีเซล / แอปพลิเคชั่นเพื่อผู้สูงวัย (Aging Society) อาทิ มุมแม่ และสูงวัย Fighting เป็นต้น / เทคโนโลยีโรงงานผลิตพืช หรือ Plant Factory และกิจกรรมการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)

 

รวมถึงยังมีผลงานในกลุ่ม Smart Farmer อาทิ เครื่องมือตรวจสอบความหอมของข้าวแบบพกพา / กล่องควบคุมวาล์วให้น้ำ / ระบบอัจฉริยะติดตามสภาพบ่อเพาะเลี้ยงทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ ด้วยเทคโนโลยี IoT และระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกบนสมาร์ทโฟน (Agri-Map Mobile) เป็นต้น
นอกจากนี้ สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สวทช. ยังได้นำกิจกรรมและโครงการเกี่ยวกับทุนการศึกษาร่วมจัดแสดงและประชาสัมพันธ์ภายในงานแก่คนรุ่นใหม่ เพื่อให้ประเทศมีรากฐานที่เข้มแข็งและยั่งยืน อาทิ โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) โครงการสร้างปัญญาวิทย์ ผลิตนักเทคโน (YSTP) โครงการทุนสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย (TGIST) สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งประเทศไทยและสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว (TAISY-Tokyo Tech) และโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากร STEM เพื่อการวิจัยและพัฒนาสำหรับภาคอุตสาหกรรม (STEM workforce) เป็นต้น

26 พ.ย. 2561
0
แชร์หน้านี้: