หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ สารสนเทศวิเคราะห์ ดัชนีวรรณกรรม ภาคีห้องสมุดเพื่อการบริหารจัดการ National Site License
ภาคีห้องสมุดเพื่อการบริหารจัดการ National Site License
23 ต.ค. 2563
0
ดัชนีวรรณกรรม
สารสนเทศวิเคราะห์

บทนำ

การเปลี่ยนแปลงสารสนเทศวิชาการจากกระดาษสู่อิเล็กทรอนิกส์ มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการในห้องสมุดวิชาการเป็นอย่างยิ่ง นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 มี e-Journal เกิดขึ้นอย่างมากมายและต่อเนื่อง ความแตกต่างที่สำคัญของวารสารฉบับพิมพ์กับฉบับออนไลน์ คือ ห้องสมุดไม่ได้เป็นเจ้าของอีกต่อไป ไม่สามารถควบคุมการเข้าถึงเนื้อหาได้ แต่การควบคุมการเข้าถึงขึ้นอยู่กับข้อตกลงในสัญญาการบอกรับเป็นสำคัญ

มหาวิทยาลัยต่างๆ จัดซื้อวารสารจากสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ในรูปแบบ bundled site license ในราคาที่ขึ้นกับประวัติค่าบอกรับที่จ่ายในรูปแบบฉบับพิมพ์ ซึ่งมีการตั้งชื่อรูปแบบนี้ว่า Big Deal มีการเจรจาต่อรองกับสำนักพิมพ์และเพื่อที่จะให้เกิดประโยชน์แก่ห้องสมุด จึงได้มีการรวมตัวของห้องสมุดเพื่อให้มีความสามารถในการต่อรองกับสำนักพิมพ์  โดยทำหน้าที่หลัก 3 ประการ คือ การต่อรองกับสำนักพิมพ์ (Negotiation) การบริหารจัดการการเข้าใช้ (Access) และการจัดซื้อ (Purchase) โดยบางกลุ่มเป็นถึงระดับประเทศ  (National Scale) เช่นThe National Electronic Site License Initiative, NESLI (สหราชอาณาจักร) Canadian National Site Licensing Project, CNSLP (แคนาดา) South Africa Site License Initiative, SASLI (แอฟริกาใต้) และ CAPES (บราซิล)

บทความนี้ขอนำเสนอ ภาคีห้องสมุดเพื่อการบริหารจัดการ  National Site License ของห้องสมุดในต่างประเทศ 3 ประเทศได้แก่ ประเทศสหราชอาณาจักร  ประเทศอิหร่าน และประเทศเกาหลีใต้ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ประเทศสหราชอาณาจักร : UK. National Electronic Site License Initiative, NESLI

UK. National Electronic Site License Initiative, NESLI  เป็นโครงการย่อยหนึ่งของ Joint Information Systems Committee, JISC  จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนในการจัดการ (Managing Agent) เกี่ยวข้องกับ3 กลุ่ม คือ ผู้ใช้บริการ บรรณารักษ์ และ สำนักพิมพ์

NESLI เริ่มดำเนินการในระยะที่ 2 ในปี ค.ศ. 1999  มีระยะเวลา 3 ปี  มีเครือข่ายที่เป็นสถาบันการศึกษาขั้นสูงของสหราชอาณาจักร เข้าร่วมจำนวน 180 แห่ง หน้าที่หลักในการเป็นหน่วยตัวแทน (Managing Agent) โดยการแต่งตั้งผู้ทำงานจาก JISC  (JISC มีสำนักงาน 2 แห่ง ที่ลอนดอนและอ๊อกซ์ฟอร์ด) หน่วยตัวแทนนี้ทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างสำนักพิมพ์กับบรรณารักษ์

บทบาทของหน่วยตัวแทน (Managing Agent)  คือ

  1. จัดบริการจุดเข้าถึงจุดเดียว (single access point) สำหรับ e-Journal ให้แก่ห้องสมุดและผู้ใช้บริการ
  2. เป็นหน่วยงานเดียวในการต่อรองและบริหารจัดการในการขออนุญาตจากสำนักพิมพ์
  3. ต่อรองกับสำนักพิมพ์เรื่องการขอส่วนลดและสถิติการเข้าใช้สำหรับเครือข่ายทั้งหมด
  4. จัดเก็บรายได้ให้แก่สำนักพิมพ์
  5. จัดการเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม และ เรื่องการเพิ่มราคาค่าบอกรับ
  6. เฝ้าดู สังเกต การเข้าใช้และความมั่นคง
  7. รวบรวมสถิติการเข้าใช้ที่ถูกต้อง ครบถ้วน ให้แก่ห้องสมุดเครือข่ายและ JISC
  8. ส่งเสริมการดำเนินการของ NESLI กับสถาบันการศึกษาขั้นสูงของประเทศกับสำนักพิมพ์

ประโยชน์ของโครงการ NESLI ในมุมมองของผู้ใช้บริการ

  1. มีหน้าจอเดียว และมีจุดเข้าถึงจุดเดียว สำหรับรายการชื่อฐานข้อมูลที่จัดเตรียมไว้ให้
  2. มีรายการชื่อวารสารอิเล็กทรอนิกส์ที่สมบูรณ์ หลากหลายจากสำนักพิมพ์ต่างๆ
  3. จัดเรียงรายชื่อวารสารอิเล็กทรอนิกส์ตามหมวดหมู่สาขาวิชาแบบกว้าง
  4. สามารถสืบค้นรายชื่อวารสาร ตามหมวดหมู่สาขาวิชา และคำสำคัญ
  5. สามารถปรับเปลี่ยนหน้าจอให้เป็นไปตามภารกิจหลักของหน่วยงานได

ประโยชน์ของโครงการ NESLI ในมุมมองของห้องสมุด

  1. หน่วยตัวแทนจัดทำระบบให้ มีหน้าจอเดียว มีจุดเข้าถึงจุดเดียว มีชุดมาตรฐานทางเทคนิคชุดเดียว
  2. หน่วยตัวแทนจัดโซลูชั่นชุดเดียว สำหรับการตกลงการซื้อขายสำหรับสำนักพิมพ์หลายๆแห่ง การอนุญาต การเข้าถึง และระบบความปลอดภัย
  3. ข้อความในการอนุญาต  (Licensing terms) เป็นมาตรฐาน
  4. หน่วยตัวแทน จะต่อรองขอส่วนลดราคา และสถิติการใช้ ในนามของเครือข่ายขนาดใหญ่ระดับประเทศ หน่วยตัวแทนจัดบริการข้อมูลสถิติการเข้าใช้ให้แก่สมาชิกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
  5. การจัดบริการวารสารอิเล็กทรอนิกส์ อาจช่วยลดพื้นที่ในการให้บริการและการจัดเก็บ
  6. โครงการนี้อาจช่วยลดบริการการยืมระหว่างห้องสมุด (Inter library loan)

ประโยชน์ของโครงการ NESLI ในมุมมองของสำนักพิมพ์

  1. มีโซลูชั่นเดียวในการตกลงการซื้อขายกับมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งทั่วประเทศ
  2. การจัดทำวารสารอิเล็กทรอนิกส์อย่างเดียวของสำนักพิมพ์ จะค่อยๆแทนที่การผลิตวารสารในรูปกระดาษ ซึ่งอาจช่วยสำนักพิมพ์ประหยัดค่าใช้จ่ายในอนาคต
  3. ผลจากการจัดให้เข้าถึงได้อย่างกว้างขวางด้วยการที่ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นนั้น เป็นประโยชน์แก่ผู้แต่งบทความ บรรณาธิการวารสาร และ สังคมแห่งการเรียนรู้ต่อไป ฯลฯ

ขณะนี้ โครงการ NESLI อยู่ในระยะที่สอง จึงเรียกชื่อว่า NESLi2 เริ่มต้นในปี ค.ศ. 2004 เป็นโครงการต่อเนื่องมาจากระยะที่ 1 ที่ประสบความสำเร็จ เนื้อหาข้อมูลที่ NESLi2 รวบรวมจัดเตรียมให้มาจากสำนักพิมพ์ชั้นนำ 17 แห่ง เป็นจำนวนวารสารราว 7,000 ชื่อ NESLi2 ได้ใช้จ่ายงบประมาณในปี ค.ศ. 2010ประมาณ 13.5ล้านปอนด์ ประมาณว่าสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ  40 ล้านปอนด์ตั้งแต่เริ่มโครงการในปี ค.ศ. 2004มีจัดบริการ Subscriptions Help desk เพื่อคอยตอบคำถามหน่วยงานที่เข้าเกณฑ์จะสมัครเป็นสมาชิก

NESLi2 – จัดแสดงรายการชื่อแหล่งข้อมูลออนไลน์ (catalogue) ไว้ที่เว็บไซต์ โดยเสนอให้สมาชิกเลือกสมัครบอกรับ ประมาณ 40 ชื่อแหล่งข้อมูล  (ในทุกประเภทของสารสนเทศวิชาการ เช่น archive, database, digital film, digital image, e-books, magazine, map data เป็นต้น) ในการบริหารจัดการมีคณะผู้บริหารหลายชุด คือ Board of management / Advisory groups ประกอบด้วย Stakeholder group, Journal working group, Library advisory forum

รูปแบบของ NESLi2  คือ ใช้สัญญาข้อตกลงชุดเดียวระหว่าง NESLI กับสำนักพิมพ์ต่างๆ (single contract signed) โดยสัญญาข้อตกลงมีการแก้ไขใหม่เสมอผ่านการเห็นชอบจากคณะทำงานวารสาร ล่าสุดในปี 2009 มีการแก้ไขเตรียมไว้สำหรับปี 2010ที่หน้าเว็บไซต์มีการแสดงสัญญาข้อตกลงระหว่าง NESLi กับสำนักพิมพ์ต่างๆ ในชุดของปีต่างๆ ตั้งแต่ปี 2004 -2009 รวมทั้งหมด 5 ปี มีแสดงข้อมูลการประชุมสัมมนาที่เกี่ยวข้อง มีแสดงเครื่องมือในชื่อต่างๆ คือ Academic Database Assessment Tool, Interactive copyright tool, Identity management toolkit, Guide to the model license

ประเทศอิหร่าน

อิหร่านประกอบด้วยมหาวิทยาลัยที่แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ สายการแพทย์ ขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยที่ขึ้นกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ วิจัยและเทคโนโลยี (Ministry of Science, Research and Technology -MSRT) โดยในปี ค.ศ. 2008 มีจำนวนนักศึกษาประมาณ 3.5 ล้านคน

มหาวิทยาลัยในกลุ่มสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  มีเครือข่ายจำนวน 58 แห่ง โดยมีสมาชิกเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด เริ่มรวมตัวตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989 จัดซื้อวารสารเป็นชุดในชื่อ  buying club ต่อมาทำความตกลงกับสำนักพิมพ์ Elsevier  ในช่วง 3 ปีแรก (2004-2006) เปิดให้เข้าถึงวารสารจำนวน 1,396 ชื่อ โดยเสนอให้ราคาส่วนลดร้อยละ 70 ในปี ค.ศ. 2004 ลดให้ร้อยละ 50 ในปี ค.ศ.  2005 และ ร้อยละ 30 ในปี ค.ศ. 2006 และเมื่อมีการวางแผนในการบอกรับใน 3 ปีต่อมา (ปี ค.ศ. 2007-2009) พบปัญหา คือ

  1. ห้องสมุดอื่นๆ ร้องขอเพื่อเข้าร่วมเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น
  2. สำนักพิมพ์ Elsevier แจ้งว่า จะไม่มีส่วนลดให้ในปี ค.ศ. 2007-2009
  3. เครือข่ายชุดเดิม MSRT ไม่มีข้อมูลสนับสนุนในแง่การใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลที่บอกรับ หรือสถิติการใช้

สำนักพิมพ์ Elsevier ได้เสนอ model ในการบอกรับ คือ

  1. ให้สมาชิกเข้าถึงเนื้อหาชุดใหญ่ทั้งหมด (Whole Collection)
  2. ให้เข้าถึงเนื้อหาชุดเฉพาะ (Specific Collection)
  3. ให้เข้าถึงวารสารในชุดคงที่ ชุดหนึ่ง (certain number of Journal) หรือเรียกว่า unique title list, UTL

โดยทั้ง 3 รูปแบบ สำนักพิมพ์ เสนอสิทธิ์ในการเข้าถึงเป็นแบบตลอดกาล (Perpetual rights)

การพิจารณาข้อตกลงในการจัดซื้อวารสารชุดใหม่ จำเป็นต้องมีข้อมูลสถิติการใช้และค่าบอกรับอย่างละเอียดเพื่อต่อรองกับสำนักพิมพ์  และข้อมูลสถิติการใช้ควรเป็นระบบมาตรฐาน เช่น ระบบ COUNTER ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์สถิติการใช้ของผู้ใช้บริการ ข้อมูลสถิติการใช้ควรมีมาตรฐานของข้อมูล (standardization of the usage report)  สภาพความพร้อมใช้ของข้อมูล  ตัวอย่าง สถิติการใช้ของเครือข่ายประเทศอิหร่านในช่วงปี ค.ศ.  2005-2006 มี 5.6 ล้านเรื่อง และในปี ค.ศ. 2007-2008 มี 11.7 ล้านเรื่อง

ข้อมูลสถิติส่วนใหญ่ได้จากสำนักพิมพ์ ซึ่งมักมีปัญหา คือ มีการดาวน์โหลดแบบเป็นระบบต่อเนื่อง (systematic download) โดยนักศึกษาที่ไม่ได้ใช้ข้อมูลจริง หรือ การดาวน์โหลดของ vendorประเทศอิหร่าน กำลังกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาการบอกรับจากหลัก cost-benefit analysis  ซึ่งถือว่าเรื่องการวัดหรือประเมินในเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ยากเสมอมา

ประเทศเกาหลีใต้

Korean Electronic Site License Initiative (KESLI)  ที่จัดตั้งภายใต้โครงการใหญ่ระดับประเทศชื่อ National Digital Science Library ที่มีการจัดทำระบบสถาปัตยกรรมการคัดเลือกวารสารเพื่อจัดเป็นคลังถาวร การกำหนดเมทาดาทา และงานส่วนอื่นๆ โครงการนี้เริ่มในปี ค.ศ. 2007

National Assembly Library, NAL ได้เห็นความสำคัญของความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้มีความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศในภาควิชาการ ทั้งภาครัฐและอุตสาหกรรม  รัฐบาลจึงกำหนดให้จัดสร้างแหล่งความรู้สำหรับภาควิชาการในระดับประเทศ  โดยถือว่าวารสารวิชาการเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่ง โดยหน่วยงาน The Korea Institute of Science and Technology  เป็นเจ้าภาพหลัก เริ่มต้นด้วย 2 โครงการหลัก คือ Consortial license purchase และ Journal archiving

โครงการ KESLI, Korean Electronic Site License Initiative

ในปี ค.ศ. 1999 ได้จัดตั้งโครงการนี้ในระดับชาติโดยมีการกำหนด business model ให้ KESLI ทำหน้าที่เป็นประตูเข้าออก(gateway)  ด้วยการเริ่มติดต่อและต่อรองกับสำนักพิมพ์แต่ละแห่ง เพื่อสรุปข้อตกลง  โดยมี 3 กลุ่มเข้าร่วม คือ สำนักพิมพ์ ห้องสมุด และ KESLI  จากนั้นมีการสร้าง subconsortia เช่น

  1. KESLI-Elsevier consortium
  2. KESLI-Blackwell consortium
  3. KESLI- Springer consortium

จากนั้นให้ห้องสมุดสมาชิกคัดเลือกสมัครในชุดตามที่ต้องการ ที่ผ่านมามี 40 สถาบันที่สมัครKESLI- Springer consortium อาจมีสัญญารวม 50ชุด ในปี ค.ศ. 2005 มีห้องสมุดสมาชิก 324 แห่ง ได้ทำข้อตกลงกับสำนักพิมพ์รวม 1,976 ชุด เฉลี่ย 1 สถาบัน มีสัญญาข้อตกลงกับสำนักพิมพ์เท่ากับ 6.19 ชุด

KESLI ดำเนินการได้สำเร็จ โดยวัดจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนสมาชิกห้องสมุด จำนวนเครือข่าย จำนวนวารสาร จำนวนข้อตกลง และค่าเฉลี่ยข้อตกลง ในช่วงปี 2000-2006 ดังตารางที่ 1, 2 และ 3 จำนวนเครือข่ายที่เพิ่มขึ้นตามปี

ตารางที่ 1 จำนวนเครือข่าย

Description ปี 2000 ปี  2003 ปี 2006
Participating institutions 160 176 317
No. Consortia 6 31 90
No. of E-Journal 2120 5877 9780
No. of contracts 383 1515 1976
Average contract/institution 2.39 5.48 6.1

ตารางที่ 2 ประเภทของหน่วยงานเครือข่ายที่เข้าร่วม

Type ปี 2000 ปี 2003 ปี 2006
Academic Library 101(63%) 142(51%) 144(45%)
Research Institution 29(18%) 43(16%) 62(20%)
Corporate Library 13(8%) 43(16%) 52(16%)
Medical Library 12(8%) 39(14%) 47(15%)
Public Library 5(3%) 9(3%) 12(4%)
Total 160 276 317

ตารางที่ 3 ค่าเฉลี่ยสิ่งพิมพ์และวารสารอิเล็กทรอนิกส์ที่บอกรับโดยสมาชิก

Type Print Journals E-Journals Difference % difference
Academic Library 382 3520 3138 921
Research Institution 158 2972 2814 1881
Corporate Library 101 1986 1885 1966
Medical Library 257 2473 2216 962
Public Library 141 1731 1590 1227

เกณฑ์ในการคัดเลือกวารสารเพื่อจัดหา

ในปี ค.ศ. 2005 มีการคัดเลือกวารสารไว้ 7,766 ชื่อ คิดเป็นบทความจำนวน 210, 000 บทความ ถูกจัดเก็บไว้ในระบบ มี 4 ปัจจัย ในการพิจารณาคัดเลือก คือ

  1. การเข้าใช้ได้แบบตลอดกาล แม้ยกเลิกการบอกรับแล้ว (Perpetuity of use)
  2. ค่าผลกระทบในการอ้างอิง หรือค่า IF  (Impact factor)
  3. จำนวนผู้ใช้บริการ (No. of users)
  4. ค่าใช้จ่ายในการลงทุนต่อหน่วย(Invested unit cost)

ประเด็นที่สำคัญที่นำมาพิจารณา กำหนดไว้ 4 ข้อ

  1. เนื้อหา (Content collection)
  2. คุณภาพการบริการ (Service Quality)
  3. การสงวนรักษา (Preservation)
  4. เงินทุน (Funding)

เป้าหมายสูงสุดของโครงการนี้ คือ มีการเข้าใช้วารสารอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืนและเพื่อให้มีความมั่นใจว่ามีการสงวนรักษาในระยะยาว

โครงการในระยะที่ 2 กำหนด จัดทำ delivery system module มีแผนให้บริการสูงสุด ถึง 8 แสนบทความ ภายในสิ้นปี ค.ศ. 2006  โครงการระยะที่ 3 เริ่มในปี ค.ศ. 2007 กำหนดทบทวนระบบต่างๆและทดสอบการเข้าใช้ประโยชน์  กำหนดให้มีการจัดเก็บจำนวนบทความได้เท่ากับ 12 ล้านบทความ

บรรณานุกรม

  1. NESLI2. [Online] Available: http://www.jisc-collections.ac.uk
  2. Emrani, Ebrahim, Moradi-Salari, Amin and Jamali, Hamid R. 2010 “Usage Data, E-Journal Section, and     Negotiations : An Iranian Consortium experience : Serials Review Volume 36, number 2,  p. 86-92.
  3. Ho Nam Choi and Eun G. Park. 2007 “Preserving Perpetual Access to Electronic Journals : A Korean     Consortial Approach. : Library Collections , Acquisitions & Technical Services 31 p. 1-11.

แปลและเรียบเรียงโดย   รังสิมา เพชรเม็ดใหญ่

ศูนย์บริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

วันที่  28 กุมภาพันธ์ 2554

แชร์หน้านี้: