ผลการค้นหา :

นวัตกรรม ‘คอปเปอร์ไอออน’ สารยับยั้งเชื้อก่อโรคประสิทธิภาพสูง ช่วยบรรเทาปัญหาโรคระบาดในสุกร
For English-version news, please visit : https://www.nstda.or.th/en/news/news-years-2023/ionic-copper-innovation-leads-to-effective-animal-health-products.html
ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาราคาเนื้อสุกรพุ่งสูง เนื่องจากการระบาดหนักของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ทำให้สุกรล้มป่วยและตายแบบเฉียบพลันจำนวนมาก แม้ผ่านมาราวปีครึ่งแล้ว ราคาของเนื้อสุกรก็ยังไม่ลดลงเทียบเท่าสถานการณ์ปกติ สาเหตุหนึ่งมาจากต้นทุนด้านการรับมือโรคระบาดที่ค่อนข้างสูง จนเกษตรกรหลายรายจำต้องหยุดทำฟาร์มชั่วคราวหรือถาวร ส่งผลให้กำลังการผลิตเนื้อสุกรภายในประเทศลดลง
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนา ‘นวัตกรรมสารคอปเปอร์ไอออน (Ionic Copper) ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคสูง’ เพื่อหนุนแก้ปัญหาโรคระบาดในสุกร ลดค่าใช้จ่าย และลดสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
[caption id="attachment_40872" align="aligncenter" width="450"] ดร.วรายุทธ สะโจมแสง นักวิจัย นาโนเทค สวทช.[/caption]
ดร.วรายุทธ สะโจมแสง ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน นาโนเทค สวทช. เล่าว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยและประเทศข้างเคียงพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) โรคร้ายแรงที่ทำให้สุกรตายอย่างเฉียบพลัน และยังพบการระบาดของโรคอื่นๆ อาทิ โรคท้องร่วงในสุกร (Porcine Epidemic Diarrhea: PED) และโรคในระบบทางเดินหายใจและระบบสืบพันธุ์ (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome: PRRS) ทำให้มีสุกรป่วยและตายจำนวนมาก ส่งผลให้เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งจากค่าใช้จ่ายด้านระบบรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biocontrol) ค่ายาปฏิชีวนะเพื่อรักษาและป้องกันโรค (การป้องกันโรคด้วยยาปฏิชีวนะเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องและส่งผลให้เชื้อดื้อยา) และการจัดหาแม่พันธุ์และสุกรตัวใหม่มาเลี้ยง
“ดังนั้นแล้วการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้สุกรติดเชื้อเป็นเรื่องสำคัญมาก ทั้งการดำเนินงานตามมาตรการที่กรมปศุสัตว์กำหนด และการทำความสะอาดด้วยสารยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลชีพ เช่น สารประเภท ‘คอปเปอร์ไอออน’ หรือ ‘เกลือคอปเปอร์’ ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียทั้งแกรมบวกและลบ รวมถึงไวรัส ที่ค่อนข้างครอบคลุมโรคระบาดสำคัญในสุกร อย่างไรก็ตามสารชนิดนี้ยังมีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่เช่นกัน เพราะเป็น ‘สารที่ไม่คงทนต่อสภาพแวดล้อม’ ทำให้มีโอกาสที่สารจะออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้เกษตรกรต้องใช้สารในปริมาณมาก ต้นทุนการผลิตสูง และอาจก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในพื้นที่อีกด้วย”
จากปัญหาดังกล่าวทีมวิจัยนาโนเทค สวทช. ไม่นิ่งนอนใจ เร่งนำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีคีเลชัน (Chelation technology) มาพัฒนาสารคอปเปอร์ไอออนให้อยู่ในรูปที่สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคได้สูงในสภาพแวดล้อมที่ใช้งานจริง
ดร.วรายุทธ อธิบายว่า ทีมวิจัยได้พัฒนากระบวนการคีเลชันสารคอปเปอร์ไอออนด้วยคีเลติงเอเจนต์ธรรมชาติ (Natural chelating agent) เพื่อทำให้คอปเปอร์ไอออนมีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ไม่เสียประจุไอออนบวกที่ทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคได้ง่ายและไม่ตกตะกอน ทำให้สารออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคได้เต็มประสิทธิภาพ ช่วยลดปริมาณการใช้สารได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การคีเลชันคอปเปอร์ไอออนด้วยด้วยคีเลติงเอเจนต์ธรรมชาติยังช่วยให้พืชดูดซึมสารไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ (คอปเปอร์เป็นธาตุอาหารเสริมของพืช) ช่วยลดปริมาณสารตกค้างในสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในระบบนิเวศอีกด้วย
ปัจจุบันทีมวิจัยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการคีเลชันคอปเปอร์ไอออนให้แก่บริษัทสมาร์ท เวท จำกัด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทฯ ได้ต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ดูแลสุขภาพสัตว์ทั้งในการทำปศุสัตว์และประมง
ดร.วรายุทธ แนะนำว่า ผลงานที่บริษัทฯ วางจำหน่ายแล้วในปัจจุบันมี 3 ชนิด คือ ‘BLUERACLE’ ผลิตภัณฑ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกและลบ รวมถึงเชื้อไวรัส ใช้ได้กับทั้งอาหารสุกรและไก่ และน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ‘BLEN IONIC’ ผลิตภัณฑ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคท้องเสียในสุกร การใช้งานเป็นรูปแบบปั๊มเข้าปาก และ ‘BLUE TEC’ ผลิตภัณฑ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหารสำหรับใช้กับอาหารสุกรและไก่ และใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคในระบบกระจายลม (Evaporative cooling system) ในฟาร์มได้
“จุดเด่นของ ‘นวัตกรรมสารคอปเปอร์ไอออนที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคสูง’ คือ ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคระบาดผ่านการควบคุมและป้องกัน นอกจากนี้ยังเป็นการลดต้นทุนการผลิต ทำให้เกษตรกรที่เคยประสบปัญหาขาดทุนมีโอกาสได้หวนกลับมาผลิตสุกรเพื่อหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมอาหารไทยมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญสารคอปเปอร์ไอออนไม่ใช่ ‘ยาปฏิชีวนะ’ หรือ ‘สารเคมีอันตราย’ จึงเหมาะแก่การใช้เป็นสารทางเลือกสำหรับดูแลสุขภาพสัตว์ (ในปริมาณที่เหมาะสม) เพื่อช่วยลดข้อจำกัดทางการค้า เพิ่มโอกาสในการส่งออกเนื้อสุกรและเนื้อสุกรแปรรูปในอนาคต ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว” ดร.วรายุทธ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ประกอบการท่านใดสนใจสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ติดต่อได้ที่บริษัทสมาร์ท เวท จำกัด และหากสนใจใช้บริการด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารด้วยเทคโนโลยีนาโน ติดต่อได้ที่ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อีเมล pr@nanotec.or.th
เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย ภัทรา สัปปินันทน์ และ shutterstock
BCG
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

ไม่สวมหมวกนิรภัยมีโทษปรับ
รู้หรือไม่? ผู้ขับขี่และผู้โดยสารจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
เรามาร่วมรณรงค์สวมหมวกนิรภัยตามสโลแกน “สวย หล่อ สมาร์ต ปลอดภัย ง่ายๆ แค่สวมหมวกนิรภัย” กันนะครับ
NSTDA Infographic

‘Magik Color’ แป้งพิมพ์ผ้าจากสีธรรมชาติ ลดการใช้สารเคมี ชูข้อดีของสีแบบไทยๆ
‘แป้งพิมพ์ผ้า’ เป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญที่อุตสาหกรรมสิ่งทอทั่วโลกใช้พิมพ์ลวดลายลงบนผืนผ้าเพื่อถ่ายทอดผลงานการออกแบบ แต่แป้งพิมพ์ส่วนใหญ่ที่มีการใช้งานในปัจจุบันเป็น ‘แป้งพิมพ์ที่มีสีเคมีเป็นส่วนผสม’ ซึ่งอาจมีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานและก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนา 'Magik Color แป้งพิมพ์ผ้าจากสีธรรมชาติ' เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการลดการใช้สารเคมี โดยผลิตภัณฑ์นี้นำจุดแข็งเรื่องความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทยมาใช้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ‘ให้มีสีสันสดใส หลากหลายเฉดสี’ ด้วย
[caption id="attachment_40752" align="aligncenter" width="450"] ดร.มณฑล นาคปฐม นักวิจัยทีมวิจัยสิ่งทอ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง เอ็มเทค สวทช.[/caption]
ดร.มณฑล นาคปฐม นักวิจัยทีมวิจัยสิ่งทอ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง เอ็มเทค สวทช. เล่าว่า สิ่งที่ทีมให้ความสำคัญในการวิจัยมาตลอดคือการพัฒนา ‘ผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ ที่ผ่านมาจึงมีการวิจัยสีสำหรับย้อมเส้นด้ายและผ้าจากวัตถุดิบธรรมชาติหลายชนิด หนึ่งในผลงานที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว คือ 'แป้งพิมพ์ผ้าจากสีธรรมชาติ 6 เฉดสี' ที่ใช้พิมพ์ได้ทั้งเทคนิค Silk screen printing, Block printing และ Stencil printing พิมพ์ได้ทั้งผ้าเส้นใยธรรมชาติและเส้นใยสังเคราะห์ (ผลิตภัณฑ์นี้ยังไม่สามารถใช้งานกับเทคนิค Rotary screen printing ได้)
[caption id="attachment_40753" align="aligncenter" width="650"] การพิมพ์ด้วยเทคนิค Silk screen printing[/caption]
[caption id="attachment_40754" align="aligncenter" width="650"] ตัวอย่างลายผ้าที่พิมพ์ด้วยเทคนิค Silk screen printing[/caption]
“ผงสีที่ใช้เป็นส่วนประกอบของแป้งพิมพ์สีธรรมชาติสกัดมาจากวัตถุดิบ 4 ชนิด คือ ‘ครั่ง’ ที่ให้สีแดงและชมพู ‘ดอกดาวเรือง’ ให้สีเหลืองและน้ำตาลแดง ‘เปลือกต้นโกงกาง’ ให้สีน้ำตาลเหลือง และ ‘เปลือกผลชาน้ำมัน’ ให้สีเทาดำ ซึ่งวัตถุดิบ 2 อย่างหลังนี้มีจุดเด่นเรื่องการนำขยะจากอุตสาหกรรมอื่นมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เปลือกโกงกางเป็นขยะจากการผลิตถ่านหุงต้มที่คนจังหวัดสมุทรสงครามผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออก ส่วนเปลือกผลชาน้ำมันเป็นขยะจากการผลิตน้ำมันประกอบอาหาร ทีมูลนิธิชัยพัฒนาส่งเสริมให้เกษตรกรภาคเหนือปลูกและแปรรูป โดยหลังจากนี้ทีมวิจัยจะพัฒนาเฉดสีอื่นๆ ออกมาเพิ่มเติมให้ครอบคลุมความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น”
[caption id="attachment_40755" align="aligncenter" width="650"] วัตถุดิบที่ใช้ในการสกัดเพื่อทำผงสี[/caption]
[caption id="attachment_40756" align="aligncenter" width="650"] ตัวอย่างเฉดสีที่พิมพ์ลงบนผ้า[/caption]
การสกัดผงสีจากวัตถุดิบธรรมชาติมาใช้ทำผลิตภัณฑ์แป้งพิมพ์ผ้านี้งานทำให้ในภาพรวมผลิตภัณฑ์สามารถช่วยลดสัดส่วนการใช้สารเคมีได้มากกว่าร้อยละ 20 ขณะที่องค์ประกอบอื่นๆ ที่เป็นสารเคมีก็ผ่านการทดสอบเพื่อรับรองความปลอดภัยแล้ว
ดร.มณฑล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในการผลิตแป้งพิมพ์สีธรรมชาติ นอกจากผงสีแล้วยังมีวัตถุอื่นๆ เป็นส่วนประกอบหลัก อาทิ สารช่วยเพิ่มความหนืด สารเพิ่มประสิทธิภาพเรื่องการยึดติด สารปรับเฉดสี โดยทีมวิจัยได้นำเบสแป้งพิมพ์ที่ผสมวัตถุดิบตั้งต้นทั้งหมดแต่ยังไม่ได้ใส่ผงสีธรรมชาติไปตรวจสอบตามมาตรฐานสากล เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย ผลการตรวจสอบพบว่าเบสแป้งพิมพ์ที่ทีมวิจัยใช้ปราศจาก ‘สารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde)’ ซึ่งเป็นสารที่มักพบในผลิตภัณฑ์สิ่งทอ สารชนิดนี้เป็นสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุตา เยื่อบุจมูก และระบบทางเดินหายใจ อีกทั้งยังเป็นสารก่อโรคมะเร็งด้วย
“อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ต้องสร้างความเข้าใจแก่ผู้สนใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ คือ สีจากธรรมชาติไม่คงทนเท่าสีเคมี โดยสูตรที่พัฒนาขึ้นนี้ทีมวิจัยได้ทำการทดสอบแล้วว่าสามารถซักแบบถนอมเนื้อผ้าด้วยสารซักล้างที่มีความอ่อนโยนต่อเนื้อผ้า เช่น น้ำยาซักผ้าเด็ก ได้มากกว่า 30 ครั้ง ในแต่ละรอบการซักสีจะค่อยๆ อ่อนลงทีละเล็กน้อย”
[caption id="attachment_40757" align="aligncenter" width="450"] การอ่อนลงของสีในแต่ละรอบการซัก[/caption]
ปัจจุบันผลงานแป้งพิมพ์สีธรรมชาติอยู่ในสถานะพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจ โดยทีมวิจัยได้เริ่มขยายผลสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) แล้ว
ดร.มณฑล เล่าว่า ทีมวิจัยได้นำองค์ความรู้เรื่องการใช้แป้งพิมพ์สีธรรมชาติไปถ่ายทอดให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแล้วหลายจังหวัด อาทิ สมุทรสงคราม น่าน ลำพูน เชียงใหม่ เพราะเป็นกลุ่มที่จำหน่ายผ้าทอจากเส้นใยธรรมชาติที่มักมีการ ‘นำวัตถุดิบธรรมชาติในท้องถิ่นมาใช้ผลิตสีสำหรับย้อม’ ดังนั้นแล้วการนำเทคนิคการพิมพ์เข้าไปถ่ายทอดจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการสร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้าหรือผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่น แตกต่าง หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยการลงพื้นที่ไปถ่ายทอดองค์ความรู้ ทีมวิจัยได้ร่วมกับชุมชนต่างๆ ทดลองผลิตแป้งพิมพ์สีธรรมชาติจากวัตถุดิบท้องถิ่นเพื่อชูอัตลักษณ์ของชุมชนให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าด้วย
“สำหรับในกลุ่ม SMEs ทีมวิจัยได้นำผลิตภัณฑ์ไปเปิดตัวในงานนำเสนอเทคโนโลยีต่างๆ โดยมีการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขนาดทดลองสีละ 80 และ 250 กรัม ให้ผู้ประกอบการได้นำไปทดลองใช้ ทำให้ปัจจุบันเริ่มมีลูกค้าเป็นกลุ่ม SMEs แล้วทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการผลิตส่วนใหญ่มักเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีลวดลายพิเศษแตกต่างกับผลิตภัณฑ์จากโรงงาน ทำให้สินค้าที่จำหน่ายมีราคาสูงกว่าทั่วไปและมีตลาดเฉพาะแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่ผลิตด้วยแป้งพิมพ์สีเคมี นอกจากนี้ทีมวิจัยและทีมประชาสัมพันธ์จากเอ็มเทค สวทช. ยังได้จัดกิจกรรมให้ผู้ที่สนใจทดลองใช้แป้งพิมพ์สีธรรมชาติสร้างสรรค์ผลงานศิลปะลงบนผืนผ้าในงานมหกรรมต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในวงกว้างยิ่งขึ้นด้วย”
[caption id="attachment_40761" align="aligncenter" width="650"] ผลิตภัณฑ์ Magik Color[/caption]
แป้งพิมพ์สีธรรมชาติเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ที่มุ่งเน้นส่งเสริมผู้ประกอบการให้หันมาลดการใช้สารเคมีและพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นขณะเดียวกันการพัฒนาสีจากธรรมชาติยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ทรัพยากรชีวภาพที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย รวมถึงช่วยต่อยอดผ้าทอไทยให้มีสีสันสวยงามหลากหลายเป็นเอกลักษณ์ มีความทันสมัย และตอบโจทย์กระแสแฟชั่นโลกที่กำลังปฏิวัติอุตสาหกรรมสิ่งทอสู่ความยั่งยืน
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแป้งพิมพ์สีธรรมชาติในระดับอุตสาหกรรม หรือสนใจทดลองใช้ผลิตภัณฑ์แป้งพิมพ์สีธรรมชาติ ติดต่อได้ที่ คุณชนิต วานิกานุกูล งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เอ็มเทค สวทช. โทร 0 2564 6500 ต่อ 4788 หรือ อีเมล chanitw@mtec.or.th ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับ BCG Economy Model เพิ่มเติมได้ที่ www.bcg.in.th
เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย ภัทรา สัปปินันทน์ และเอ็มเทค สวทช.
BCG
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

จบปัญหามะนาวแพง ! “มะนีมะนาว” นวัตกรรมน้ำมะนาวแช่แข็งเกรดพรีเมียมในราคาจับต้องได้
“มะนาวราคาผันผวน” คือ ปัญหาที่เกษตรกร ผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้บริโภคต้องเผชิญกันเป็นประจำเกือบทุกปี เพราะประเทศไทยไม่ได้ปลูกมะนาวได้ดีทุกฤดูกาล ตรงข้ามกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีอยู่ตลอด ช่วงมะนาวติดดอกออกผลมากจนล้นตลาดราคาก็ตกต่ำ ช่วงนอกฤดูกาลก็ต้องพึ่งพาสารเคมีให้ออกผล จนต้นทุนการผลิตพุ่งสูงลิ่ว จะดีกว่าไหม ถ้ามีทางเลือกใหม่ให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตได้ราคาดีในช่วงฤดูกาล และมีผลิตภัณฑ์น้ำมะนาวคุณภาพเยี่ยมให้ผู้บริโภคได้รับประทานแบบปลอดภัยในราคาที่จับต้องได้ตลอดทั้งปี
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ บริษัทเชียงใหม่ไบโอเวกกี้ จำกัด พัฒนากระบวนการยืดอายุน้ำมะนาวคั้นสดแช่แข็งแบรนด์ “มะนีมะนาว” ให้เก็บในช่องแช่แข็งได้นาน 2 ปี และเก็บในช่องแช่เย็นได้นาน 3 เดือน โดยคงกลิ่นและรสชาติที่เทียบเคียงกับน้ำมะนาวคั้นสด เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้บริโภคมีโอกาสเข้าถึงน้ำมะนาวสำเร็จรูปคุณภาพสูงที่มีราคาใกล้เคียงกับการใช้มะนาวผลสดในช่วงราคาปกติ
[caption id="attachment_30755" align="aligncenter" width="750"] ดร.อิศรา สระมาลา ทีมวิจัยกระบวนการระดับนาโนเพื่ออุตสาหกรรมเกษตร นาโนเทค สวทช.[/caption]
ดร.อิศรา สระมาลา ทีมวิจัยกระบวนการระดับนาโนเพื่ออุตสาหกรรมเกษตร นาโนเทค สวทช. เล่าว่า เดิมทีบริษัทเชียงใหม่ไบโอเวกกี้ จำกัด เป็นผู้ผลิตน้ำมะนาวแช่แข็งเพื่อจำหน่ายแบบ B2B ให้แก่ร้านอาหารเชนใหญ่ที่มีห้องแช่แข็งเพื่อเก็บรักษาวัตถุดิบเป็นของตัวเองอยู่แล้ว แต่บริษัทติดปัญหาว่าไม่สามารถขยายการจำหน่ายไปยังผู้ประกอบการรายย่อยหรือผู้บริโภคทั่วไป เพราะแม้ผลิตภัณฑ์จะมีกลิ่นและรสชาติดี แต่มีจุดอ่อนเรื่องอายุการใช้งานหลังนำออกจากห้องแช่แข็งสั้น ต้องใช้ผลิตภัณฑ์ให้หมดภายใน 1-2 วัน ทางบริษัทจึงได้ร่วมมือกับทีมวิจัยในการคิดค้นกระบวนการยืดอายุผลิตภัณฑ์
“โดยทั่วไปน้ำมะนาวคั้นสดที่มีการจำหน่ายในตลาดจะผ่านกระบวนการการพาสเจอไรซ์หรือใช้ความร้อนในการหยุดการทำงานของเอนไซม์ที่ทำให้น้ำมะนาวเสียสภาพ เพื่อยืดอายุของผลิตภัณฑ์ให้เก็บรักษาได้นานขึ้น แต่วิธีการนี้มีจุดอ่อนสำคัญคือทำให้น้ำมะนาวมีกลิ่นและรสชาติที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนกับน้ำมะนาวคั้นสด ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับเท่าไหร่นัก
ทีมวิจัยจึงได้พัฒนากระบวนการยืดอายุน้ำมะนาวคั้นสด โดยใช้ความเย็นระดับเยือกแข็งในการปรับเปลี่ยนรูปร่างของเอนไซม์ในน้ำมะนาวไม่ให้สามารถทำงานได้ ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการยืดอายุด้วยวิธีนี้จัดเก็บที่อุณหภูมิ -18°C หรือช่องแช่แข็งได้นานถึง 2 ปี และจัดเก็บที่อุณหภูมิ 0-5°C หรือช่องแช่เย็นได้นาน 3 เดือน ที่สำคัญผลิตภัณฑ์ยังคงจุดแข็งของแบรนด์มะนีมะนาวในเรื่องรสชาติและกลิ่นที่เทียบเคียงกับน้ำมะนาวคั้นสดเอาไว้ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย”
[caption id="attachment_30756" align="aligncenter" width="750"] วิริยา พรทวีวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเชียงใหม่ไบโอเวกกี้ จำกัด[/caption]
วิริยา พรทวีวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเชียงใหม่ไบโอเวกกี้ จำกัด อธิบายเสริมข้อมูลว่า มะนาวที่นำมาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ ‘มะนีมะนาว’ เป็นมะนาวสายพันธุ์ตาฮิติ ซึ่งมีความโดดเด่นเรื่องรสชาติคงที่ น้ำเยอะ ไร้เมล็ด อีกทั้งต้นมะนาวยังแข็งแรงทนทานต่อโรค ไม่มีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีในการดูแล ซึ่งจุดแข็งเหล่านี้เป็นเรื่องดีต่อทั้งบริษัท เกษตรกร และผู้บริโภค อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเกษตรกรไม่ค่อยนิยมปลูกมะนาวพันธุ์นี้เท่าไหร่นัก เพราะขาดกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการผลผลิตอย่างชัดเจน และยังต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาตลาดในแต่ละปี
“ทางบริษัทจึงได้ทำสัญญารับซื้อกับเกษตรกร โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อให้เกษตรกรเครือข่ายหลายร้อยครัวเรือนในภาคเหนือช่วยดำเนินการผลิตมะนาวสายพันธุ์นี้ตามมาตรฐานเกษตรปลอดภัยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วจัดส่งให้แก่บริษัทเพื่อนำผลผลิตมะนาวคุณภาพดีมาใช้ผลิตสินค้ามาตรฐาน GMP และ HACCP ซึ่งเป็นมาตรฐานการส่งออกระดับสากล”
[caption id="attachment_30753" align="aligncenter" width="750"] มะนาวพันธุ์ตาฮิติ[/caption]
วิริยาอธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันหลังจากร่วมทำวิจัยกับนาโนเทค สวทช. จนสามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ ‘มะนีมะนาว’ ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้นได้แล้ว บริษัทจึงได้วางจำหน่ายสินค้าในห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศในราคาที่จับต้องได้ และล่าสุดบริษัทได้ส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีมาตรฐานการนำเข้าสินค้าสูงมากสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผลิตภัณฑ์มะนีมะนาวได้รับการยอมรับจากเชฟอาหารไทยในญี่ปุ่นทั้งด้านความคงที่ของรสชาติและความสะดวกในการใช้งาน หลังจากนี้บริษัทยังมีแผนที่จะขยายการทำตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ที่มีร้านอาหารไทยต่อไป
“การยกระดับผลิตภัณฑ์มะนีมะนาวให้ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ไม่เพียงช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขยายธุรกิจให้เติบโต แต่ยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง ลดการใช้สารเคมี เพิ่มคุณภาพชีวิต ผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้บริโภคมีทางเลือกในการจับจ่ายน้ำมะนาวคุณภาพดีมาใช้ประกอบอาหารมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในอนาคตผลิตภัณฑ์มะนีมะนาวอาจเป็นหนึ่งในสินค้าไทยที่สามารถตีตลาดอาหารโลกก็เป็นได้”
[caption id="attachment_30751" align="aligncenter" width="750"] มะนีมะนาว[/caption]
สนใจซื้อ "มะนีมะนาว" ได้ที่ Makro / Foodland / CP fresh mart / Gourmet market / Home fresh mart / Tops Supermarket หรือรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.maneemanao.com/wheretobuy
BCG
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

‘NPV ไวรัสฝ่าวิกฤติหนอนกล้วยไม้ดื้อยา’
For English-version news, please visit : https://www.nstda.or.th/en/news/news-years-2023/npv-product-helps-revive-thai-orchid-farms.html
ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยบางรายจำต้องขาดสภาพคล่องหนัก เพราะการหวนกลับมาระบาดของ ‘หนอนกระทู้หอม’ ศัตรูพืชตัวฉกาจในรอบ 10 ปี ซ้ำร้ายสารเคมีปราบศัตรูพืชทุกชนิดที่เคยใช้ได้ผลกลับใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปด้วยปัญหา ‘การดื้อยา’ ส่งผลให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่าหลักล้านบาท
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมแก้ปัญหาเคียงข้างผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ จังหวัดนครปฐม นำ ‘ไวรัสเอ็นพีวี (Nucleopolyhedro Virus: NPV)’ ไวรัสก่อโรคในแมลงเข้าปราบหนอนกระทู้หอมในพื้นที่จนสำเร็จ
สายด่วนจาก ‘หนุ่มสวนกล้วยไม้’
จุดเริ่มต้นของการใช้ไวรัส NPV ช่วยชาวสวนกล้วยไม้ต่อสู้กับหนอนกระทู้หอม ต้องย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2562 ที่มีโทรศัพท์สายหนึ่งติดต่อมายังกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ (AVIG) ไบโอเทค สวทช. ในตอนนั้นปลายสายสอบถามด้วยน้ำเสียงที่ไม่แน่ใจนักว่า ‘ที่นี่ผลิตไวรัส NPV ใช่หรือไม่ ใช้ปราบหนอนที่กัดกินต้นกล้วยไม้ได้ด้วยหรือเปล่า’
[caption id="attachment_40217" align="aligncenter" width="700"] สัมฤทธิ์ เกียววงษ์ (กบ) หัวหน้าทีมวิจัย ไบโอเทค สวทช.[/caption]
สัมฤทธิ์ เกียววงษ์ (กบ) หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีไวรัส เอ็นพีวี เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ (AVIG) ไบโอเทค สวทช. เล่าว่า ตอนนั้นเจ้าของสวนกล้วยไม้วัยหนุ่มจากจังหวัดนครปฐมโทรศัพท์ติดต่อมาที่แล็บ เพื่อสั่งซื้อไวรัส NPV สำหรับนำไปกำจัดหนอนที่สวนกล้วยไม้ หลังจากพูดคุยกัน 2-3 ครั้ง เพื่อประเมินสถานการณ์และวิเคราะห์ชนิดพันธุ์ของหนอนจากภาพถ่าย (ไวรัสมีฤทธิ์จำเพาะกับชนิดพันธุ์ของหนอน) เจ้าของสวนรายนั้นก็ตัดสินใจขับรถจากนครปฐมตรงมาที่แล็บเพื่อนำตัวอย่างหนอนมาให้ทีมวิจัยจำแนกชนิดถึงที่ด้วยตัวเอง
“ความมุ่งมั่นของเขาทำให้ทีมตัดสินใจทันทีว่าต้องคว้าโอกาสนี้ไว้ โอกาสที่จะได้ทดลองใช้ไวรัส NPV ช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งก็ถือว่าตัดสินใจได้ถูก เพราะปัญหาที่เขาเผชิญรุนแรงกว่าที่คิด ตอนนั้นภาพที่ได้ไปเห็น คือ ต้นกล้วยไม้ในแปลงขนาด 60 ไร่ กำลังโดนกัดกินจนใบและดอกแหว่ง มีหนอนกระทู้หอมกระจายอยู่ทั่วสวน หากไม่รีบแก้ไขอาจไปถึงจุดที่ต้องรื้อทิ้งทั้งแปลงได้”
สาเหตุความเสียหายหนักครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการบุกเข้าทำลายของ ‘หนอนกระทู้หอม’ ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจมาแต่ครั้งเก่าก่อน แต่ยังถูกซ้ำด้วยปัญหา ‘การดื้อยา’ ที่ไม่ว่าสารเคมีชนิดไหนก็ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้
[caption id="attachment_40212" align="aligncenter" width="700"] ศุภิสิทธิ์ ว่องวณิชพันธุ์ (คุ้น) ผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม[/caption]
ศุภิสิทธิ์ ว่องวณิชพันธุ์ (คุ้น) ผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เล่าว่า ตอนนั้นสวนกล้วยไม้โดนหนอนกระทู้หอมบุกเข้าทำลายมาเกินครึ่งปีแล้ว สารเคมีทุกสูตรเอาไม่อยู่ ‘หนอนดื้อยา’ ขณะกำลังพะวงว่าจะต้องรื้อกล้วยไม้ออกทั้งหมดเพื่อพักแปลงหรือไม่ ก็โชคดีมีรุ่นพี่คนหนึ่งในแวดวงไม้ใบแนะนำว่า ‘NPV ใช้ปราบหนอนได้นะ’ จึงรีบหาข้อมูลและติดต่อไปที่แล็บของไบโอเทคเพื่อขอซื้อมาทดลองใช้ทันที ตอนนั้นคิดแค่ว่าทำอย่างไรก็ได้ที่จะไม่ต้องพักแปลง เพราะไม่ใช่แค่เราที่เสียหายหนัก ลูกน้องจะอยู่อย่างไรถ้าไม่มีงานทำ ไม่มีเงินใช้
NPV ไวรัสปราบหนอน ‘ปลอดภัย ไม่ดื้อยา’
NPV คือ ไวรัสก่อโรคในแมลงที่มีความจำเพาะกับหนอนของแมลง 3 ชนิด คือ หนอนกระทู้หอม (SpexNPV) หนอนกระทู้ผัก (SpltNPV) และหนอนเจาะสมอฝ้าย (HearNPV) ซึ่งหนอนทั้ง 3 ชนิด เป็นศัตรูพืชหลักของพืชเศรษฐกิจไทย เช่น หอมแดง หอมใหญ่ มะเขือเทศ ผักชี หน่อไม้ฝรั่ง ผักตระกูลสลัด ผักตระกูลกะหล่ำ ส้ม องุ่น ดาวเรือง กุหลาบ รวมถึงกล้วยไม้
สัมฤทธิ์ อธิบายถึงไวรัส NPV ว่า เมื่อหนอนกินไวรัสที่ฉีดพ่นไว้ที่พืชผัก จะเกิดอาการป่วยบริเวณกระเพาะอาหาร (สังเกตได้จากสีตัวที่เปลี่ยนแปลงไป) ทำให้กินอาหารน้อยลง และตายใน 5-7 วัน โดยไม่ก่อให้เกิดการดื้อยา และด้วยกลไกการออกฤทธิ์ที่จำเพาะกับชนิดพันธุ์ของหนอนจึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานและสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาไบโอเทคได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรและพันธมิตรพัฒนากระบวนการผลิต NPV จนพร้อมผลิตในระดับอุตสาหกรรม และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการแล้ว 2 บริษัท คือ บริษัทไบรท์ออร์แกนิค จำกัด และบริษัทบีไบโอ จำกัด
หลังจากทีมลงพื้นที่เพื่อประเมินวิเคราะห์สถานการณ์และวางแผนการรับมือกับปัญหา พบว่าหนอนกระทู้หอมระบาดหนักมาก จึงได้แนะนำให้ใช้ NPV ในสัดส่วนความเข้มข้นสูง (ความเข้มข้น 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร) เพื่อหยุดการลุกลามของหนอน
[caption id="attachment_40201" align="aligncenter" width="500"] ลักษณะของต้นกล้วยไม้ที่โดนหนอนกระทู้หอมกัดกิน[/caption]
“ช่วงแรกของการใช้งานยอมรับว่าต้องอาศัยความเชื่อใจพอสมควร” ศุภิสิทธิ์ กล่าวเสริม และเล่าว่า การใช้ NPV ความเข้มข้นสูงหมายถึงค่าใช้จ่ายที่สูงตามไปด้วย ตอนฉีดพ่น NPV ครั้งแรกตอนนั้นต้องรอ 3-5 วันถึงจะเริ่มเห็นผล แต่หลังจากกำจัดรุ่นต่อรุ่นไปได้ประมาณ 2 เดือน ก็ค่อนข้างมั่นใจแล้วว่า ‘ปราบอยู่’ ตอนนี้ผ่านมา 3-4 ปีแล้ว บอกได้เลยว่า ‘ไม่กลัว รับมือได้สบายมาก’ ก่อนที่พี่กบเข้ามาช่วยเหลือเคยจ้างลูกน้องจับหนอนตัวละบาท จับกันได้มากกว่า 300 ตัวต่อวัน แต่วันนี้เดินผ่านเข้าไปในแปลงกล้วยไม้ซัก 2 แถว ประมาณ 4,000 ต้น จะเจอหนอนอย่างมากแค่ 10 ตัว อยู่ในจุดที่รับได้ (ยิ้ม) แค่คอยคุมไม่ให้หนอนรุ่นใหม่ที่หลุดเข้ามาขยายพันธุ์จนลุกลามก็พอ”
ศุภิสิทธิ์ ไม่เพียงเป็นชาวสวนที่กล้าเปิดใจรับสารชีวภัณฑ์ แต่เขายังผันตัวเป็น ‘นักทดลอง’ ปรับสัดส่วนการใช้สาร NPV จนพบสูตรที่เหมาะแก่การควบคุมหนอนกระทู้หอมในแปลงกล้วยไม้
“ด้วยความชอบคิดชอบลอง จึงได้ทดลอง ‘ปรับสัดส่วนการใช้สาร NPV’ และ ‘รูปแบบการฉีดพ่นสาร’ หลายครั้ง ตัวอย่างหนึ่งที่ทดลองแล้วสำเร็จและพี่กบได้นำไปใช้เป็นต้นแบบให้สวนอื่นๆ คือ การปรับปริมาณการฉีดพ่นจาก 10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร สัปดาห์ละ 1 ครั้งในสถานการณ์ปกติ (สัดส่วนที่เหมาะกับการควบคุมปริมาณหนอนกระทู้หอมในภาพรวมของการปลูกพืชผักทั่วไป) ให้เหลือเพียงฉีดพ่น 5 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร เดือนละ 1-2 ครั้ง เพราะจากการทดสอบพบว่าสัดส่วนเท่านี้ดีเพียงพอต่อการดูแลต้นกล้วยไม้ไม่ให้โดนหนอนกัดกินแล้ว ซึ่งผลลัพธ์นี้ก็ช่วยให้พี่น้องในแวดวงกล้วยไม้เปิดใจมาใช้ NPV มากขึ้นด้วย เพราะนอกจากหนอนจะไม่ดื้อยา ค่าใช้จ่ายยังถูกกว่าการใช้สารเคมีในระยะยาวมาก” ศุภิสิทธิ์เล่าด้วยความภูมิใจ
‘กอบกู้สวน’ ที่กำลังสลาย รายได้เป็นศูนย์
แน่นอนว่าการระบาดของหนอนกระทู้หอมไม่ได้สร้างปัญหาใหญ่ให้แก่สวนกล้วยไม้ของผู้ประกอบการรายเดียวเท่านั้น แต่ยังมีสวนกล้วยไม้อีกหลายแห่งในจังหวัดนครปฐม ต้องเผชิญกับวิกฤติไม่แพ้กัน หนึ่งในนั้นคือ บริษัทเอส.วี. ฟลอร่า ไทย ออร์คิด จำกัด ที่ทีมวิจัยถึงขั้นเอ่ยปากว่า ‘สถานการณ์หนักหนานัก’
สัมฤทธิ์ เล่าว่า ภาพสวนกล้วยไม้ที่เห็นชวนหดหู่มาก ต้นกล้วยไม้จำนวนมากเหลือแต่ก้าน สาเหตุมาจากปัญหาเดียวกัน คือ ‘หนอนดื้อยา’ ไม่ว่าจะใช้สารเคมีสูตรไหนปริมาณมากเท่าไหร่ก็ไม่สามารถกำจัดหนอนกระทู้หอมได้แล้ว ตอนนั้นเราจึงรับที่จะช่วยเหลือทันที โดยใช้พื้นที่ 1 แปลง ขนาด 75 ไร่ ในการพิสูจน์ให้เห็นว่า NPV ใช้ได้ผลจริง
คำว่า ‘เจ๊ง’ คือคำจำกัดความที่สะท้อนถึงสถานการณ์ธุรกิจกล้วยไม้ในปี 2562 จากผู้ประกอบการรายนี้ และอีกหลายรายในจังหวัดนครปฐมที่ต้องเผชิญปัญหาเดียวกัน
[caption id="attachment_40207" align="aligncenter" width="700"] เจ้าของสวนสุรชัย (คม) บริษัทเอส.วี. ฟลอร่า ไทย ออร์คิด จำกัด[/caption]
เจ้าของสวนสุรชัย (คม) บริษัทเอส.วี. ฟลอร่า ไทย ออร์คิด จำกัด เล่าว่า หลังจากหมดค่าสารเคมีไปหลายแสนต่อเดือนก็ยังรับมือกับหนอนกระทู้หอมไม่สำเร็จ ‘กล้วยไม้โดนกัดกินจนเหลือแต่ก้าน’ จึงตัดสินใจสั่งให้คนงานมัดรวมต้นกล้วยไม้ในแปลงหนึ่งเพื่อชั่งกิโลขายในราคาต่ำกว่าทุน และตัดสินใจใช้อีกแปลงที่โดนหนอนกัดกินหนักเป็น ‘แปลงทดลองใช้ไวรัส NPV ปราบหนอน’ ต้องยอมรับเลยว่าในมุมของผู้ประกอบการ การจะตัดสินใจใช้ NPV เป็นเรื่องที่ต้องชั่งใจหนักมาก เพราะราคาของผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบตามปริมาณกับสารเคมีถือว่าค่อนข้างแพง และอย่างที่ทราบกันการใช้ชีวภัณฑ์ ‘เห็นผลช้า’
[caption id="attachment_40200" align="aligncenter" width="700"] ภาพต้นกล้วยไม้ที่เหลือแต่ก้าน ผู้ประกอบการให้คนงานมัดรวมเพื่อชั่งกิโลขายในราคาต่ำกว่าทุน[/caption]
“ทีมวิจัยใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการใช้ NPV ปราบหนอนกระทู้หอมรุ่นแรก และใช้เวลาอีก 2 เดือนกับการกำจัดหนอนรุ่นหลังที่เพิ่งเกิดใหม่ จนแทบไม่หลงเหลือหนอนในแปลง หลังจากนั้นอีกประมาณ 2 เดือน ต้นกล้วยไม้ที่เคยเหลือแต่ก้านก็กลับมาออกดอกผลิบานอีกครั้ง จากที่แทบไม่เหลืออะไรกลายเป็นตัดดอกได้วันละหมื่นช่อ และโชคดีมากที่กล้วยไม้กลับมาออกดอกทันช่วงความต้องการในตลาดสูง ตอนนั้นตัดเพื่อส่งออกได้มากถึงวันละหลักแสนช่อ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้เราก็ยังโทรไปเล่าให้พี่กบฟังด้วยความสุขทุกครั้งที่ตัดดอกส่งออกได้มาก ตอนนี้ผ่านมา 3 ปีแล้ว อัตราการใช้ NPV ของสวนลดลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียงการฉีดพ่น 1-2 ครั้งต่อเดือนเท่านั้น เพราะจัดการได้อยู่หมัดแล้ว วันนี้เราอยากขอบคุณทีมวิจัยไบโอเทค สวทช. ที่เข้ามาช่วยให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ ‘ไม่ใช่แค่ไปต่อได้แบบเรื่อยๆ แต่ไปต่อแบบพัฒนายิ่งขึ้นไปอีก’ ตอนนี้เราเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของ สวทช. มาก หากมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ มาแนะนำ ก็ยินดีให้ใช้พื้นที่การเกษตรของบริษัทในการทดลอง ขอบคุณจริงๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงสถานการณ์”
‘NPV ใช้ดีจริง’ การันตีจากระดับเซียน
ความสำเร็จจากการใช้ไวรัส NPV กอบกู้วิกฤติการระบาดของหนอนกระทู้หอมของสวนกล้วยไม้ทั้ง 2 แห่ง เริ่มเกิดกระแสปากต่อปากถึงประสิทธิภาพ NPV ที่ได้ผลจริง และไม่เกิดการดื้อยา ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตในระยะยาวได้ แต่คำบอกเล่าของใครจะดีเท่าจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องการปลูกกล้วยไม้
สัมฤทธิ์ เล่าว่า ‘เฮีย’ หรือ คุณสมลักษณ์ เลิศรุ่งวิทยาชัย เจ้าของบริษัทอาร์ วี เอ็น ฟลอร่า ไทยเอ็กซ์ปอร์ต จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเพาะปลูกกล้วยไม้ เพราะทำธุรกิจด้านนี้มายาวนานทั้งด้านการเพาะปลูกและการผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ในการแพ็กช่อดอกเพื่อส่งออก เป็นที่รู้จักและยอมรับของคนในแวดวงนี้ ดังนั้นถ้าทำให้เฮียยอมรับได้ ก็เหมือนได้รับใบเบิกทางในก้าวเข้าสู่วงการกล้วยไม้
[caption id="attachment_40197" align="aligncenter" width="500"] สมลักษณ์ เลิศรุ่งวิทยาชัย เจ้าของบริษัทอาร์ วี เอ็น ฟลอร่า ไทยเอ็กซ์ปอร์ต จำกัด[/caption]
สถานการณ์ปัญหาการระบาดของสวนบริษัทอาร์ วี เอ็น ฟลอร่า ไทยเอ็กซ์ปอร์ต จำกัด แตกต่างจาก 2 สวนก่อนหน้ามาก เพราะปริมาณหนอนกระทู้หอมที่พบจากการสำรวจไม่มากอย่างที่คิด แต่สำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหญ่อย่างเฮียสมลักษณ์การมีหนอนกระทู้หอมหลงเหลืออยู่ในแปลงถือว่า ‘จัดการได้ไม่ดีพอ’
สมลักษณ์ เล่าว่า ที่ผ่านมาการจัดการกับหนอนกระทู้หอมทำได้ยาก ต้องสั่งสารเคมีมาใช้ในปริมาณมาก เสียค่าใช้จ่ายหลักแสนต่อเดือนเพื่อกำจัดหนอนออกจากสวน จนตอนนี้หนอนก็เริ่มดื้อยาแล้ว ถึงอย่างนั้นก็ยอมรับตรงๆ ว่าการจะให้ลองเปลี่ยนมาใช้ชีวภัณฑ์กำจัดหนอนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำใจได้ยาก เพราะเห็นผลช้า จะสำเร็จหรือไม่ก็ไม่มั่นใจ ที่แน่ๆ ผลผลิตเราเสียหายไปทุกวัน
“ตอนนั้นหลังจากคุ้นรุ่นน้องในวงการที่ต้องเผชิญปัญหาการกลับมาของหนอนกระทู้หอมเล่าให้ฟังว่าที่สวนได้รับการช่วยเหลือจากทีมวิจัยไบโอเทคจนสามารถรับมือกับหนอนกระทู้หอมได้สำเร็จ เราจึงตอบรับให้ทีมวิจัยเข้ามาทำการทดสอบที่สวนดูบ้าง ซึ่งผลที่ได้ก็เป็นไปตามคำกล่าวขานนะ ‘คุ้มจริงๆ’ แม้ช่วงแรกต้องลงทุนหนักตามที่อาจารย์สัมฤทธิ์บอก เพื่อลดปริมาณหนอนจนคุมสถานการณ์ได้ ค่าใช้จ่ายก็ค่อนข้างสูง แต่หลังจากนั้นเมื่อกลับสู่สถานการณ์ปกติก็ลดปริมาณ NPV ที่ใช้ลงได้กว่าครึ่ง ตอนนี้เราปรับมาใช้เทคนิคฉีดพ่นตามรอบในสัดส่วนที่เราวางไว้เพื่อควบคุมไม่ให้มีหนอนรุ่นใหม่มากัดกินจนเสียหายแล้ว อาจารย์บอกไว้นะว่าสามารถลดอัตราส่วนและปริมาณการฉีดลงเพื่อลดต้นทุนได้ แต่เราเลือกแล้วว่าจะใส่ตามสูตรที่วางไว้เพื่อให้มั่นใจในผลผลิต ‘เอาให้สบายใจ’ (ยิ้ม) เพราะอย่างไรต้นทุนที่ลงไปอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ถูกกว่าใช้สารเคมี ถ้ามีเพื่อนในแวดวงเดียวกันเจอปัญหาหนอนกระทู้หอมบุกจะแนะนำให้ใช้แน่นอน เพราะใช้แล้วได้ผลจริง” สมลักษณ์ เล่าด้วยใบหน้ายิ้มแย้มสะท้อนถึงความสบายใจระหว่างพาเดินชมสวน
[caption id="attachment_40195" align="aligncenter" width="700"] ปฐมพร ไล่ชะพิษ (เจี๊ยบ) เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ ทีมวิจัยไบโอเทค สวทช. (คนกลาง)[/caption]
“ครั้งแรกที่เจอเฮียแตกต่างจากวันนี้มาก เพราะตอนนั้นเฮียมีแต่สีหน้าที่ตึงเครียดและคำบ่นด้วยความทุกข์ใจ แต่วันนี้นอกจากเฮียจะมีรอยยิ้มให้แล้วยังบอกด้วยว่า ‘ผลประกอบการดี’ ” สัมฤทธิ์ กล่าวเสริมด้วยความภูมิใจ ก่อนจะกล่าวทิ้งท้ายถึงปัจจัยที่นำมาสู่ความสำเร็จว่า
“คำที่ทีมวิจัยใช้บอกแก่ผู้ประกอบการหรือเกษตรกรเสมอ คือ ‘ศัตรูพืชชนิดนี้ ยกให้เป็นหน้าที่เรา’ เพราะทีมวิจัยทราบดีว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญที่สุดคือ ‘คุณภาพของผลผลิต’ ดังนั้นหากมีวิธีการใดจะช่วยทำให้ผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้นและลดต้นทุนการผลิตได้ ผู้ประกอบการก็ต่างยินดีเปลี่ยน เพียงแต่เราต้องพิสูจน์ให้เห็นและเชื่อว่า ‘สิ่งที่เราเสนอให้ใช้หรือวิธีการที่เสนอให้ทำนั้นดีจริงๆ’ โดยการให้ความรู้และคำแนะนำในการทำงาน ลงมือทำให้เขาเห็น คอยช่วยเหลืออยู่เคียงข้าง รวมถึงเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดไปด้วยกัน หลังจากนั้นเมื่อคนกลุ่มหนึ่งทำได้สำเร็จแล้ว ก็จะเกิดการบอกต่อองค์ความรู้ สร้างแรงกระเพื่อมในการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ต่อไป”
นอกจากการร่วมเดินเคียงข้างผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ที่จังหวัดนครปฐมแล้ว ทีมวิจัยและนักวิชาการจาก สวทช. รวมถึงหน่วยงานพันธมิตร ยังร่วมกันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมถึงกระบวนการการทำงานอีกหลายผลงาน เพื่อช่วยยกระดับการเกษตรของไทยให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ตามแนวทางของโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ทั้งนี้ติดตามผลงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ www.bcg.in.th
เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย ภัทรา สัปปินันทน์ และ ปฏิวัติ อ่อนพุทธา ฝ่ายจัดการความรู้และสร้างความตระหนัก สวทช.
BCG
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

แผ่นยางพาราปูคอกสัตว์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดเสี่ยงโคนมพิการ-บาดเจ็บ ลดสารพิษปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม
For English-version news, please visit : https://www.nstda.or.th/en/news/news-years-2023/eco-friendly-rubber-flooring-for-livestock.html
ฟาร์มโคนมในประเทศไทยมากกว่าร้อยละ 95 นิยมเลี้ยงโคนมแบบ ‘ผูกยืนโรง’ โดยแม่โคแต่ละตัวจะถูกผูกให้ยืนอยู่ในซองภายในโรงเรือนเนื่องด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ ขณะที่พื้นคอกส่วนใหญ่เป็นพื้นปูนซีเมนต์ เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลทำความสะอาด หากแต่การเลี้ยงโคนมบนพื้นปูนมักก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพโคนม อย่างมาก เนื่องจากโคนมมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยมากกว่า 500 กิโลกรัม แรงกดทับของน้ำหนักตัวต่อพื้นปูนทำให้เกิดการบาดเจ็บ อีกทั้งพื้นปูนเมื่อเวลาโดนน้ำยังลื่นง่าย เสี่ยงต่อการล้ม ทำให้โคนมพิการ และไม่สามารถผลิตน้ำนมได้อย่างมีคุณภาพ สร้างความเสียหายอย่างมากให้แก่เกษตรกร
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงพัฒนา “แผ่นยางพาราที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับปูพื้นคอกปศุสัตว์” เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของโคนม และลดผลกระทบการปนเปื้อนสารเคมีต่อสิ่งแวดล้อม
[caption id="attachment_40511" align="aligncenter" width="450"] ดร.ภุชงค์ ทับทอง นักวิจัยเอ็มเทค สวทช.[/caption]
ดร.ภุชงค์ ทับทอง ทีมวิจัยผลิตภัณฑ์ยางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า เกษตรกรส่วนใหญ่จะเทพื้นคอกด้วยปูนซีเมนต์ ข้อดีคือพื้นไม่เละเป็นโคลน เพราะโคนมเวลาอยูในโรงเรือนจะขับถ่ายตลอดเวลา แต่ข้อเสียคือผิวปูนมีความคม ซึ่งแม่โคแต่ละตัวมีน้ำหนักมากกว่าครึ่งตัน เวลายืนนาน ๆ น้ำหนักที่กดทับลงบนพื้นปูน อาจทำให้กีบเท้าอักเสบ หรือเวลาที่โคนมเปลี่ยนอิริยาบถต่าง ๆ เช่น ยืน นั่ง หรือนอน จะต้องใช้ขาในการพยุงตัวหรือยันตัวกับพื้นปูน อวัยวะที่กดทับกับพื้นปูนบ่อย ๆ จะเกิดการบาดเจ็บ และเกิดโรคอื่น ๆ ตามมา ส่งผลให้การผลิตน้ำนมไม่มีประสิทธิภาพเท่าเดิม
[caption id="attachment_40515" align="aligncenter" width="651"] ลักษณะบาดแผลที่ขาของโคนม[/caption]
[caption id="attachment_40516" align="aligncenter" width="650"] ลักษณะการนอนของโคนมที่บาดเจ็บ[/caption]
“อีกปัญหาใหญ่คือ พื้นปูนเวลาฉีดน้ำบ่อย ๆ จะเกิดตะไคร่เกาะพื้นปูน ทำให้ลื่น ซึ่งเวลาโคนมลื่นจะไม่ล้มเอียงตัวไปด้านข้าง แต่จะล้มแบบขาแบะออกไปด้านข้างทั้งสองด้าน ลักษณะเหมือนกบ เวลาเกิดเหตุการณ์แบบนี้ส่วนใหญ่โคนมจะพิการ เกษตรกรใช้คำว่า ‘หมดสภาพ’ ทางออกสุดท้ายคือส่งเข้า ‘โรงเชือด’ เพราะไม่สามารถผลิตน้ำนมอย่างมีประสิทธิภาพได้อีกต่อไป ซึ่งโคนมหนึ่งตัวมีราคาประมาณ 50,000-60,000 บาท”
[caption id="attachment_40512" align="aligncenter" width="650"] ลักษณะของแผ่นปูแบบโฟมราคาถูกที่เสื่อมสภาพเมื่อใช้เป็นระยะเวลา 8 เดือน[/caption]
‘การปูแผ่นยางบนพื้นคอก’ เป็นทางออกหนึ่งที่เกษตรกรนำมาใช้ลดอาการบาดเจ็บของโคนม แต่แผ่นยางที่วางจำหน่ายทั่วไปมีหลายประเภท หากเป็นแผ่นยางที่ได้รับมาตรฐาน มอก. จะมีราคาสูง ขณะที่แผ่นยางที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น แผ่นโฟม แม้จะมีราคาถูกกว่าประมาณ 3-4 เท่า แต่ก็มีอายุการใช้งานสั้นมากเช่นเดียวกัน นอกจากนี้แผ่นยางในท้องตลาดส่วนใหญ่มักใช้ปริมาณสารเคมีในการผลิตค่อนข้างสูง อาจก่อให้เกิดปัญหาสารเคมีปนเปื้อนระหว่างการเลี้ยง ส่งผลต่อสุขภาพของโคนม รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการกำจัดแผ่นยางอย่างไม่ถูกวิธีหลังหมดอายุการใช้งาน การวิจัยพัฒนา ‘แผ่นยางพาราที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับปูพื้นคอกปศุสัตว์’ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ดร.ภุชงค์ กล่าวว่า จุดเด่นของแผ่นปูพื้นที่พัฒนาขึ้นคือ ‘คุณภาพดี ทนทาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ โดยผลิตจากยางพาราธรรมชาติและใช้สารเคมีในปริมาณต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการใช้ซิงก์ออกไซด์เกรดพิเศษในการพัฒนาสูตรยาง ทำให้ได้แผ่นปูพื้นที่มีซิงก์ออกไซด์ในปริมาณต่ำกว่าแผ่นปูพื้นที่จำหน่ายทั่วไปค่อนข้างมาก ซึ่งองค์กรป้องกันสิ่งแวดล้อมจากประเทศสหรัฐอเมริกาได้จัดให้ซิงก์ออกไซด์เป็นสารเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมเพราะสามารถตกค้างอยู่ในผลิตภัณฑ์ยางและอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ได้ ดังนั้นหากผลิตภัณฑ์ยางมีซิงก์ออกไซด์ (รวมถึงสารเคมีอื่น ๆ) ในปริมาณต่ำ เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้ว แต่ไม่ได้ถูกนำกลับไปใช้ซ้ำหรือได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี ก็จะเป็นการช่วยลดปริมาณสารพิษที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางโดยใช้สารเคมีในปริมาณต่ำแต่ยังคงมีสมบัติผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมถือเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทาย เนื่องจากโดยปรกติการผลิตผลิตภัณฑ์ยางต้องใส่สารเคมีเป็นส่วนผสมเพื่อให้ได้ยางที่มีคุณสมบัติตามต้องการ หากใส่สารเคมีในปริมาณน้อยเกินไปก็มักส่งผลเสียต่อสมบัติของผลิตภัณฑ์ยางนั้น ๆ
“สำหรับในส่วนของต้นทุนการผลิตและราคาจำหน่าย พบว่าหากมีบริษัทเอกชนรับถ่ายทอดเทคโนโลยีและมีการผลิตจำนวนมากเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ สามารถผลิตจำหน่ายในราคาเทียบเท่าหรือต่ำกว่าแผ่นยางพาราเกรดที่ได้รับมาตรฐาน มอก. ทั่วไปได้ เนื่องจากราคาจำหน่ายขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิตและปริมาณในการผลิตเป็นสำคัญ”
[caption id="attachment_40514" align="aligncenter" width="650"] แผ่นยางพาราที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับปูพื้นคอกปศุสัตว์ พัฒนาโดยทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช.[/caption]
ปัจจุบันนวัตกรรม ‘แผ่นยางพาราที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับปูพื้นคอกปศุสัตว์’ ผ่านมาตรฐาน มอก. 2584-2556 ซึ่งยืนยันได้ถึงประสิทธิภาพ และความทนทานต่อการใช้งาน อีกทั้งยังมีการทดสอบภาคสนาม โดยนำไปทดลองที่ อุทุมพรฟาร์ม จังหวัดราชบุรี ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ธีระ รักความสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการเก็บข้อมูลผลกระทบของการใช้แผ่นยางต่อสุขภาพของโคนม ผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่าแผ่นยางมีความทนทาน ไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพน้ำนม และช่วยลดการบาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิผล
“ทีมวิจัยนำแผ่นยางพาราไปทดสอบปูพื้นคอกที่อุทุมพรฟาร์ม ซึ่งเป็นฟาร์มโคนมขนาดกลาง มีแม่โคประมาณ 40 ตัว และติดตามเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว พบว่าแผ่นยางมีความทนทาน รับน้ำหนักโคนมได้ดี ไม่เกิดการฉีกขาด หรือเสียรูปได้ง่าย ระยะเวลาการใช้งานจากเบื้องต้นประเมินไว้ 2 ปี แต่จากการทดสอบใช้งานจริงพบว่าเกือบ 4 ปีแล้ว ยังมีคุณภาพดี ซึ่งคาดว่าแผ่นยางจะมีอายุการใช้งานได้ถึง 5 ปีหรือมากกว่า นอกจากนี้ผลการตรวจสุขภาพโคนม ทั้งการตรวจเลือดและร่างกาย พบว่าการปูแผ่นยางพาราช่วยลดอาการบาดเจ็บของโคนมได้ดีมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มโคนมที่ยืนบนปูนซีเมนต์ โดยโคนมไม่มีอาการบาดเจ็บ ไม่พบบาดแผลภายนอก รวมถึงไม่พบปริมาณสารโลหะหนักต่าง ๆ ในเลือดและน้ำนม เกษตรกรกรเจ้าของฟาร์มรู้สึกพอใจต่อผลการใช้งานเป็นอย่างมาก ขณะนี้มีการต่อยอดความร่วมมือกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) จังหวัดสระบุรี เพื่อขยายขอบเขตการทดสอบภาคสนามเพิ่มเติม”
[caption id="attachment_40513" align="aligncenter" width="650"] ทีมวิจัยนำแผ่นยางพาราไปทดสอบปูพื้นคอกที่อุทุมพรฟาร์ม[/caption]
อย่างไรก็ดีขณะนี้แผ่นยางพาราที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับปูพื้นคอกปศุสัตว์ยังไม่มีการผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยอยู่ระหว่างการทดสอบภาคสนามเพิ่มเติมและมองหาผู้ประกอบการที่สนใจรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งนี้หากสามารถต่อยอดงานวิจัยสู่การผลิตใช้งานจริง เชื่อว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่ออุตสาหกรรมโคนมและยางพารา นอกจากนี้ยังนับเป็นนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ยุทธศาสตร์ชาติ ที่มุ่งใช้ประโยชน์และดูแลทรัพยากรอย่างยั่งยืน
“เวลาลงพื้นที่ฟาร์ม สังเกตเห็นเลยว่าเมื่อโคลงจากพื้นยางมายืนบนพื้นปูน โคจะยืนแบบกลัว ๆ ขาสั่น สายตาบ่งบอกเลยว่ากลัวลื่น น่าสงสารมาก อีกทั้งการที่โคนมอยู่ในภาวะหวาดกลัว หรือมีบาดแผลจากการกดทับย่อมมีผลต่อคุณภาพการผลิตน้ำนม ยิ่งหากโคนมล้มและพิการ ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่คุ้มค่าอย่างมาก ขณะเดียวกันแผ่นยางราคาถูกที่วางจำหน่ายทั่วไป บางชนิดก็มีอายุการใช้งานสั้น บางชนิดก็ตรวจพบการปนเปื้อนของสารเคมีในน้ำล้าง ดังนั้นการใช้แผ่นยางพาราที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่เพียงเป็นผลดีช่วยลดการบาดเจ็บและพิการให้กับโคนม แต่ยังลดปริมาณสารพิษที่จะส่งผลต่อสุขภาพโคนมและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญยังช่วยส่งเสริมเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางพาราในประเทศ เพราะแผ่นยางที่ผลิตมีการใช้ยางพาราเป็นองค์ประกอบมากถึง 50%” ดร.ภุชงค์กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจร่วมทดสอบพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือรับถ่ายทอดเทคโนโลยี สามารถติดต่อได้ที่ ดร.ภุชงค์ ทับทอง ทีมวิจัยผลิตภัณฑ์ยางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ โทรศัพท์ 0 2564 6500 ต่อ 74802
เรียบเรียงโดย วัชราภรณ์ สนทนา ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ฉัตรทิพย์ สุริยะ ฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช.
BCG
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

สวมหมวกนิรภัยลดโอกาสเสียชีวิต
รู้หรือไม่? การสวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่จักรยายนยนต์ลดโอกาส การเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุได้เท่าไหร่?
เรามาร่วมรณรงค์สวมหมวกนิรภัยตามสโลแกน “สวย หล่อ สมาร์ต ปลอดภัย ง่ายๆ แค่สวมหมวกนิรภัย” กันนะครับ
NSTDA Infographic

น้ำยาเคลือบโซลาร์เซลล์ลดการเกาะของน้ำและฝุ่น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า
For English-version news, please visit : https://www.nstda.or.th/en/news/news-years-2023/nano-coating-protects-solar-panels-from-dirt-deposition,-improving-electricity-generation-efficiency.html
วันที่อัปเดตรายละเอียดเพิ่มเติม (ท้ายบทความ) : 17 เมษายน 2567
โซลาร์เซลล์จะผลิตไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพเมื่อกระจกหน้าแผงสะอาดและได้รับพลังงานแสงอย่างเต็มที่ แต่ในช่วงฤดูแล้งที่มีแสงแดดจ้าเหมาะต่อการผลิตไฟฟ้าได้มาก ผู้ใช้งานกลับต้องเผชิญปัญหา ‘ฝุ่น’ ปริมาณมหาศาลที่ลดประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าลงถึงร้อยละ 10
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วิจัยและพัฒนา ‘น้ำยาเคลือบพื้นผิวโซลาร์เซลล์สำหรับใช้ลดการเกาะของน้ำและฝุ่น’ ปัจจุบันพร้อมขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ เปิดตัวในฐานะผลิตภัณฑ์แรกของบริษัทนาโน โค๊ตติ้ง เทค จำกัด หนึ่งในบริษัทสตาร์ตอัปที่เกิดขึ้นภายใต้กลไกการส่งเสริมและผลักดันผลงานวิจัยไปสู่การสร้างธุรกิจของ สวทช.
[caption id="attachment_40149" align="aligncenter" width="750"] ดร.ธันยกร เมืองนาโพธิ์ นักวิจัยนาโนเทค สวทช. และนรินทร์ โฉมเจริญ ผู้จัดการฝ่ายผลิต บริษัทนาโน โค๊ตติ้ง เทค จำกัด[/caption]
ดร.ธันยกร เมืองนาโพธิ์ นักวิจัยทีมวิจัยนวัตกรรมเคลือบนาโน (INC) นาโนเทค สวทช. และ MD บริษัทนาโน โค๊ตติ้ง เทค จำกัด เล่าว่า ปัญหาของผู้ใช้โซลาร์เซลล์เพื่อการผลิตไฟฟ้าในระดับโรงงานอุตสาหกรรมหรือการทำโซลาร์ฟาร์มที่ต้องติดตั้งแผงจำนวนมาก คือ ในช่วงฤดูแล้งหรือช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนที่โซลาร์เซลล์ควรผลิตไฟฟ้าได้อย่างเต็มกำลังเพื่อคืนทุนค่าแผง กลับเป็นช่วงที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับฝุ่นปริมาณมหาศาล ส่งผลให้แผงผลิตไฟฟ้าได้ลดลงร้อยละ 6-8 ภายในระยะเวลา 2 เดือน (หากขาดการทำความสะอาดแผงให้สะอาดอยู่เสมอ) และจะยิ่งสูงขึ้นเป็นร้อยละ 9-10 ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่มีเขม่าควันหรือละอองน้ำมันจับที่หน้าแผง ถึงกระนั้นการล้างแผงโซลาร์เซลล์เป็นประจำเพื่อรักษาประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าอยู่เสมอก็ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะกรณีของการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้บนที่สูงหรือหลังคา ซึ่งต้องว่าจ้างผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพด้านการทำงานบนที่สูงมาปฏิบัติงาน อีกทั้งหากผู้ล้างขาดความชำนาญก็อาจทำให้แผงเกิดรอยขีดข่วนหรือความชำรุดที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าได้
จากปัญหาดังกล่าว ทีมวิจัยได้นำความเชี่ยวชาญด้านการ ‘ผลิตสารเคลือบนาโน’ มาพัฒนานวัตกรรมสารเคลือบนาโนสูตรพิเศษสำหรับการเคลือบแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อลดการเกาะตัวของฝุ่น ลดภาระการบำรุงรักษา และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า
ดร.ธันยกร อธิบายถึงผลิตภัณฑ์ ‘น้ำยาเคลือบพื้นผิวโซลาร์เซลล์’ ว่า เป็นผลิตภัณฑ์น้ำยาเคลือบสำหรับปรับค่ามุมสัมผัสของน้ำบนวัสดุ (Water contact angle) เพื่อเพิ่มคุณสมบัติการลดการเกาะของฝุ่นให้แก่พื้นผิว รวมถึงทำให้น้ำ น้ำมัน หรือของเหลวที่ตกกระทบผิววัสดุมีลักษณะเป็นก้อนกลมกลิ้งไหลออกจากแผ่น ลดการยึดเกาะและชำระล้างฝุ่นรวมถึงสิ่งสกปรกต่างๆ ออกจากแผงโดยไม่ทิ้งคราบน้ำ ทำให้แผงผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 5 ในช่วงหน้าแล้งอีกด้วย
[caption id="attachment_40147" align="aligncenter" width="750"] การทดสอบประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่น โดยพื้นที่ตรงกลางคือพื้นที่ที่ไม่ได้เคลือบน้ำยา[/caption]
[caption id="attachment_40151" align="aligncenter" width="750"] การทดสอบประสิทธิภาพในการลดการเกาะของน้ำบนแผงโซลาร์เซลล์ที่ผ่านการเคลือบน้ำยา น้ำที่ไหลผ่านจะมีลักษณะเป็นก้อนกลมเหมือนน้ำกลิ้งบนใบบัว[/caption]
[caption id="attachment_40152" align="aligncenter" width="750"] การทดสอบประสิทธิภาพในการลดการเกาะของน้ำบนแผงโซลาร์เซลล์ที่ไม่ได้ผ่านการเคลือบน้ำยา น้ำที่ไหลผ่านจะมีลักษณะแผ่กระจายตัวบนแผง[/caption]
นอกจากความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการจับเกาะของฝุ่นบนแผงได้ดีแล้ว ทีมวิจัยออกแบบและพัฒนาสูตรน้ำยาเคลือบให้ใช้งานง่ายและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพพื้นผิววัสดุ โดยสารเคลือบสามารถชำระล้างออกตามธรรมชาติได้ภายใน 1-2 ปี ไม่ส่งผลต่อการรับประกันแผง อีกทั้งผลิตภัณฑ์ยังผ่านการทดสอบแล้วว่าปลอดภัยต่อสุขภาพผู้ใช้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ดร.ธันยกร เสริมว่า ปัจจุบันบริษัทฯ พร้อมให้บริการน้ำยาเคลือบแผงแก่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมและโซลาร์ฟาร์มแล้ว ทั้งในรูปแบบการสั่งซื้อเฉพาะผลิตภัณฑ์ (มีเจ้าหน้าที่สอนวิธีการเคลือบ) และการให้บริการแบบครบวงจรตั้งแต่การประเมินสภาพแวดล้อม ณ สถานที่ติดตั้งแผง ไปจนถึงการดำเนินการเคลือบจนเสร็จงาน ซึ่งจากการให้บริการเคลือบพื้นผิวแผงโซลาร์เซลล์แก่โรงงานอุตสาหกรรมประเภทอาหาร วัสดุก่อสร้าง และปิโตรเลียม ที่ผ่านมา พบว่าช่วยลดความถี่ในการทำความสะอาดแผงได้เป็นอย่างดี (ความถี่ในการทำความสะอาดขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของที่ตั้งแผง) สำหรับการให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อย ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการวางแผนธุรกิจและการขยายกำลังการผลิต คาดว่าจะพร้อมให้บริการได้ในช่วง 1-2 ปีหน้า
นอกจาก “น้ำยาเคลือบพื้นผิวโซลาร์เซลล์สำหรับใช้ลดการเกาะของน้ำและฝุ่น” ผลิตภัณฑ์เรือธงที่บริษัทนาโน โค๊ตติ้ง เทค จำกัด เปิดให้บริการแก่บริษัทชั้นนำของประเทศและบริษัทในเครือหลายแห่งแล้ว ปัจจุบันบริษัทฯ ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำยาเคลือบนาโนสำหรับใช้ปกป้องพื้นผิววัสดุสำหรับใช้งานในอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย
ดร.ธันยกร เล่าว่า ผลิตภัณฑ์ต่อไปที่บริษัทฯ วางแผนจะจำหน่ายและให้บริการในอนาคตอันใกล้ คือ ‘น้ำยาเคลือบพื้นผิววัสดุสิ่งก่อสร้าง’ ประเภทคอนกรีต ไม้ และกระจก เพื่อลดการเกิดคราบน้ำ ตะไคร่ และการเกาะตัวของฝุ่น สำหรับปกป้องพื้นผิววัสดุก่อสร้าง ลดความถี่ในการทำความสะอาด และเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้งาน โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างและผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พร้อมกันนี้บริษัทฯ ยังมีบริการด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำยาเคลือบพื้นผิววัสดุตามโจทย์ที่ลูกค้าต้องการด้วย
[caption id="attachment_40148" align="aligncenter" width="750"] การทดสอบประสิทธิภาพน้ำยาเคลือบพื้นผิววัสดุก่อสร้าง[/caption]
โซลาร์เซลล์เป็นพลังงานทางเลือกแห่งอนาคตที่หลายประเทศทั่วโลกมีนโยบายส่งเสริมให้ใช้งาน สำหรับประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนการใช้งานโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นจาก 6,000-7,000 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน เป็น 12,725 เมกะวัตต์ภายในปี 2580 ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าและยืดอายุการใช้งานแผงโซลาร์เซลล์จึงมีแนวโน้มสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกที่มุ่งเน้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจนี้มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดดและเป็นที่น่าจับตาในตลาดโลกด้วย
หากสนใจในผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทติดต่อได้ที่ บริษัทนาโน โค๊ตติ้ง เทค จำกัด อีเมล nanocoatingtech.thailand@gmail.com
อัปเดตรายละเอียดเพิ่มเติม (17 เมษายน 2567)
ปัจจุบันบริษัทนาโน โค๊ตติ้ง เทค จำกัด (NSTDA Start-up) จำหน่ายผลิตภัณฑ์และให้บริการแก่ลูกค้า 2 กลุ่มหลัก คือ
1) สำหรับผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมหรือโซลาร์ฟาร์ม บริษัทมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำยาเคลือบโซลาร์เซลล์เพื่อการใช้งานในปริมาณมากแล้ว และมีการให้บริการประเมินสภาพแวดล้อมสถานที่ติดตั้งแผง เพื่อวางแผนการเคลือบพื้นผิวโซลาร์เซลล์ รวมถึงบริการเคลือบพื้นผิวโซลาร์เซลล์โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้วย
2) สำหรับลูกค้ารายย่อย ปัจจุบันบริษัทอยู่ในช่วงทดลองตลาดผลิตภัณฑ์ 'สเปรย์เคลือบเซลล์แสงอาทิตย์และวัสดุก่อสร้างแบบ 2 อิน 1 เพื่อกันฝุ่นและตะไคร่น้ำ'
ติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการได้ที่ www.nanocoatingtech.co.th
เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย ภัทรา สัปปินันทน์
BCG
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

“BCG-NAGA Belt Road” ชู “แหนแดง” ตัวช่วยลดต้นทุน – ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก – ยกระดับการผลิตข้าวเหนียวลุ่มน้ำโขง
For English-version news, please visit : https://www.nstda.or.th/en/news/news-years-2023/bcg-naga-belt-road-project-promotes-the-use-of-azolla-in-glutinous-rice-cultivation.html
“ข้าวเหนียว” ถือเป็นสินทรัพย์ทางชีวภาพของและทางวัฒนธรรมของชุมชนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ทว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวกลับมีรายได้ต่ำ เนื่องจากการสูญเสียผลผลิตจากเหตุปัจจัยหลายด้านและความไม่แน่นอนของตลาด การส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวให้ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมอย่างเช่นการใช้ “แหนแดง” จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยเกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตข้าว ยกระดับการผลิต และเกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ตามแนวทางการพัฒนาด้วยโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี
[caption id="attachment_39616" align="aligncenter" width="700"] ดร.กัญญณัช ศิริธัญญา อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา[/caption]
ดร.กัญญณัช ศิริธัญญา อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และผู้ประสานงานโครงการ BCG-NAGA Belt Road กล่าวว่า โครงการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวด้วยเกษตรสมัยใหม่บนเส้นทางสายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง หรือ BCG-NAGA Belt Road เป็นโครงการที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน มีเป้าหมายเพื่อยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง เชียงราย อุดรธานี และนครพนม โดยได้เข้าไปส่งเสริมเกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน ตลอดจนบูรณาการองค์ความรู้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแบบครบวงจร
“หนึ่งในปัญหาสำคัญของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวคือปัญหาปุ๋ยมีราคาแพง ดังนั้นเราจึงต้องหาวัสดุที่จะใช้ทดแทนปุ๋ยหรือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการให้ผลผลิตได้ ซึ่งแหนแดงมีคุณสมบัติดังกล่าว คือเป็นพืชที่ให้ไนโตรเจนสูง จึงใช้แหนแดงเป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อเป็นแหล่งไนโตรเจนในนาข้าวทดแทนการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนได้ นอกจากนี้แหนแดงยังช่วยลดการเจริญเติบโตของวัชพืชในนาข้าวได้เป็นอย่างดี รวมถึงเป็นแหล่งโปรตีน ไขมัน และแร่ธาตุอาหารต่างๆ สามารถนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ได้”
[caption id="attachment_39619" align="aligncenter" width="700"] แหนแดง (Azolla)[/caption]
ทั้งนี้ แหนแดง (Azolla) เป็นเฟิร์นน้ำชนิดหนึ่งที่เจริญเติบโตลอยอยู่บนผิวน้ำในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกันกับสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินกลุ่มไซยาโนแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในโพรงใบของแหนแดง ซึ่งสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินนี้เองที่ทำหน้าที่ตรึงไนโตรเจนจากอากาศ ทำให้แหนแดงมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าพืชทั่วไปที่มีไนโตรเจนอยู่เพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์ จึงมีการนำแหนแดงมาใช้เป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อเป็นแหล่งไนโตรเจนเช่นเดียวกับพืชตระกูลถั่ว
[caption id="attachment_39617" align="aligncenter" width="700"] ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาและคณะทำงานโครงการ BCG-NAGA Belt Road[/caption]
ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาและคณะทำงานโครงการ BCG-NAGA Belt Road ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แหนแดงช่วยสะท้อนคลื่นความร้อนออกจากผิวน้ำ ทำให้ลดการดูดซับความร้อนไว้ในน้ำได้ และจากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่าอุณหภูมิของน้ำในแปลงนาข้าวที่มีแหนแดงต่ำกว่าอุณหภูมิของน้ำในแปลงนาที่ไม่มีแหนแดงถึง 3 องศาเซลเซียส แหนแดงจึงช่วยลดความเครียดของต้นข้าวจากสภาพอากาศที่ร้อนได้ อีกทั้งแหนแดงยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนาข้าวได้เช่นกัน
ปัจจุบันมีเกษตรกรในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่องของโครงการ BCG-NAGA Belt Road เลี้ยงแหนแดงในนาข้าวแล้วมากกว่า 24,000 ไร่ ผลิตแหนแดงสดได้มากกว่า 24 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 845 ล้านบาท (คิดจากราคาจำหน่ายแหนแดงสดในท้องตลาดเท่ากับ 35 บาท/กิโลกรัม) และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 400 ตันคาร์บอน คิดเป็นราคาคาร์บอนเครดิตประมาณ 4 แสนบาท (คิดจากราคาคาร์บอนเครดิตเท่ากับ 948.5 บาท/ตันคาร์บอน)
“จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการใช้แหนแดงในนาข้าวช่วยลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง แต่ยังให้ผลผลิตในปริมาณคงเดิมหรือมากกว่า ช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนค่าปุ๋ยลงได้ ทั้งยังตอบโจทย์การทำเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์อีกด้วย ที่สำคัญเกษตรกรยังจำหน่ายแหนแดงสดเพื่อเพิ่มรายได้ได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้นแหนแดงจึงเป็นกลไกชีวภาพที่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ช่วยยกระดับรายได้ของเกษตรกร ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก และช่วยรักษาสภาพแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน”
เรียบเรียงโดย วีณา ยศวังใจ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ฉัตรทิพย์ สุริยะ ฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช.
BCG
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ

วิทย์ปริทัศน์ OHESI SCIENCE REVIEW ฉบับที่ 3 เดือน มีนาคม 2565
วิทย์ปริทัศน์ OHESI SCIENCE REVIEW ฉบับที่ 3 เดือน มีนาคม 2565
ขยะ ขยะ ขยะ... แนวทางการกำจัดขยะในอนาคต
Earth day
วันคุ้มครองโลกตรงกับวันที่ 22 เมษายนของทุกปี เป็นวันครบรอบการกำเนิดของการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสร้างความตระหนักในความสำคัญของความยั่งยืนของระบบนิเวศระยะยาว
ขยะและของเสีย
ขยะ/ของเสีย คือ ผลิตภัณฑ์หรือสารที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งานอีกต่อไป ของเสียในระบบนิเวศตามธรรมชาติ เช่น ออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ และอินทรียวัตถุที่ตายแล้ว จะถูกใช้เป็นอาหารหรือสารตั้งต้น
ขยะ/ของเสียสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ขยะ/ของเสียที่ไม่เป็นอันตรายหรือ ขยะมูลฝอย และขยะ/ของเสียอันตราย โดยของเสียอันตรายมักถูกควบคุมในระดับชาติ ส่วนของเสียที่ไม่เป็นอันตราบถูกควบคุมโดยระดับภูมิภาคหรือระดับท้องถิ่น
ขยะ/ของเสียอันตราย คือ ขยะ/ของเสียที่ระบุว่าอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จึงต้องมีการจัดการที่เป็นพิเศษ มีการกำหนดลักษณะทางเคมีและกายภาพ กระบวนการจัดเก็บและรีไซเคิล ความไวไฟ การกัดกร่อน ความเป็นพิษ และการระเบิด โดยของเสียที่เป็นของเหลว ก๊าซ จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งการบำบัดด้วยสารเคมี การเผา อย่างปลอดภัย การนำกลับมาใช้ใหม่ และการรีไซเคิล
ขยะ/ของเสียอันตรายชนิดพิเศษ ได้แก่
- การกัมมันตรังสี วัสดุกัมมันตภาพรังสี รวมถึงเวชศาสตร์นิวเคลียร์ การวิจัยนิวเคลียร์ การผลิตพลังงานนิวเคลียร์ การขุดแร่หายาก และการนำอาวุธนิวเคลียร์มาแปรรูปใหม่ ซึ่งการจัดการมีความแตกต่างจากของเสียอื่นๆ
- ของเสียทางการแพทย์ที่มาจากระบบการรักษาพยาบาลทั้งของคนและสัตว์ ประกอบด้วย ยา สารเคมี ผ้าพันแผล อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้แล้ว ของเหลวจากร่างกายฯ ของเสียทางการแพทย์อาจจะเป็นสารที่เป็นพิษ หรือมีกัมมันตภาพรังสี หรือมีแบคทีเรียและจุลินทรีย์ที่เป็นอันตราย หรือที่ดื้อต่อยา สามารถติดเชื้อได้
- ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) เป็นขยะอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุการใช้งาน เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ขยะอิเล็กทรอนิกส์นับว่าเป็นอันตรายแม้ว่า บางส่วนนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ เนื่องจากมีส่วนประกอบที่เป็นพิษ เช่น ตะกั่ว และโลหะต่างๆ
การจัดการขยะ
วิธีการกำจัดขยะแบบต่างๆ
- ฝังกลบ เป็นวิธีการกำจัดขยะที่นิยมใช้ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งการฝังของเสียในดิน มีกระบวนการกำจัดกลิ่นและของเสียที่เป็นอันตรายก่อนที่จะฝังลงดิน แต่ปัจจุบันวิธีการนี้มีการใช้น้อยลง เนื่องจากพื้นที่ไม่เพียงพอ และการเกิดก๊าซมีเทนและก๊าซอื่นๆ ก่อให้เกิดการปนเปื้อนและปัญหามลพิษทางอากาศและทางน้ำ ส่งผลกระทบทั้งคนและสัตว์
- การเผา เป็นวิธีการกำจัดขยะมูลฝอยด้วยการเผาที่อุณหภูมิสูง ข้อดีคือ สามารถลดปริมาณขยะมูลฝอยได้ถึง 20-30% และลดพื้นที่ในการฝังกลบ เป็นที่นิยมในประเทศ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น
- พลาสมาก๊าซซิฟิเคชั่น (Plasma gasification) การใช้พลาสมาที่เป็นก๊าซประจุไฟฟ้าหรือไอออไนซ์สูง ทำให้ขยะ/ของเสียแตกตัวเป็นก๊าซ การจัดการในรูปแบบนี้ให้พลังงานหมุนเวียนและประโยชน์อื่นๆ ที่น่าอัศจรรย์เป็นเทคโนโลยีที่นำไปสู่พลังงานสะอาด
- ปุ๋ยหมัก กระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพที่ง่ายและเป็นธรรมชาติ นำของเสียอินทรีย์ เช่น ซากพืชและของเสียทางการเกษตรในครัวเรือน ให้กลายเป็นสารอาหารที่ดีเยี่ยมให้แก่พืช และเป็นวิธีการกำจัดของเสียที่ดีที่สุด แต่ข้อเสียคือ กระบวนการย่อยของจุลินทรีย์เกิดขึ้นช้าๆ ใช้เวลา และใช้พื้นที่ค่อนข้างมาก
- การนำกลับมาใช้ใหม่และการรีไซเคิล กระบวนการนำสิ่งของที่ถูกทิ้ง กลับมาใช้โดยการแปรรูป หรือแปลงให้เป็นพลังงานในรูปของความร้อน ไฟฟ้า หรือเชื้อเพลิง ส่วนการรีไซเคิลเป็นกระบวนการเปลี่ยนของเสียให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อลดการใช้พลังงานและการใช้วัตถุดิบใหม่ แนวคิดเบื้องหลังการรีไซเคิล คือ การลดใช้พลังงาน ลดปริมาณของหลุมฝังกลบ ลดมลภาวะทางอากาศและทางน้ำ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
แนวทางการแก้ปัญหาขยะในปัจจุบัน
Zero waste หรือ ขยะเป็นศูนย์ ความหมายว่า เป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติจากแหล่งต่างๆ จากการผลิต การบริโภค การใช้ซ้ำ Zero waste ครอบคลุมทั้งวงจรของผลิตภัณฑ์หรือวัสดุ การได้มา การผลิต การบริโภค และการไม่มีขยะส่งไปยังหลุมฝังกลบ เตาเผาขยะ หรือมหาสมุทร
Zero Waste
3Rs - หลักของ Zero Waste
Reduce : การลดปริมาณขยะ ลดการใช้ เลี่ยงการทิ้งผลิตภัณฑ์หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ รวมถึงการลดการใช้วัสดุที่เป็นพิษ กำจัดตัวเลือกผลิตภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งและเปลี่ยนไปใช้ตัวเลือกที่ใช้ซ้ำได้แทน
Reuse : การนำกลับมาใช้ใหม่ บำรุงรักษา ซ่อมแซม การใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด โดยการนำกลับมาใช้ใหม่ การใช้ซ้ำ การถอดแยกชิ้นส่วน ฯ เป็นเป้าหมายที่ครอบคลุมทั้งในระดับการผลิตและผู้บริโภค
Recycle : การรีไซเคิลมีบทบาทสำคัญของ Zero Waste การรีไซเคิลเป็นการเปลี่ยนของเสีย ของที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้กลับมาเป็นสิ่งมีประโยชน์ ทั้งนี้ การรีไซเคิลยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เนื่องจากวัสดุและผลิตภัณฑ์ ที่ใช้งานในปัจจุบันมีความหลากหลาย นอกจากนี้ การรีไซเคิลรวมถึง การหมักทำปุ๋ย/ขยะย่อยสลาย เช่น เศษผัก เปลี่ยนเป็นปุ๋ยหมัก กระบวนการทางธรรมชาติทำให้ของเสียมีค่า หมุนเวียนจากอาหารไปสู่ปุ๋ยหมักอีกครั้ง
Recycle
การรีไซเคิลช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติ หรือวัสดุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ที่นำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์ เช่น กระดาษ หากไม่มีรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ ทรัพยากรต้นไม้อาจถูกใช้หมด ประโยชน์ที่สำคัญของการรีไซเคิล คือ ลดขยะในหลุมฝังกลบและเตาเผา ซึ่งสร้างมลพิษต่อดิน น้ำ และอากาศของโลก ประหยัดพลังงาน และเพิ่มความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ
กระบวนการรีไซเคิล ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ การรวบรวม การแปรรูป และการผลิตซ้ำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
ขั้นตอนที่ 1 : การรวบรวม (Processing) - การรวบรวมขยะรีไซเคิล รวมถึงการรวบรวมการส่งกลับศูนย์ การมัดจำ หรือการส่งคืนขวดและรับเงินคืน
ขั้นตอนที่ 2 : การดำเนินการ (Processing) - หลังจากรวมขยะรีไซเคิลแล้ว ขยะจะถูกส่งไปที่ศูนย์เพื่อคัดแยก ทำความสะอาด และแปรรูปเป็นวัสดุที่สามารถใช้ในการผลิตได้ สินค้าบางชนิดต้องมีการประมวลผลเพิ่มเติมสำหรับการคัดแยกและการขจัดสิ่งปนเปื้อนเพิ่มเติม เช่น แก้วและพลาสติก จะส่งไปโรงงานแปรรูป เพื่อบดละเอียด
ขั้นตอนที่ 3 : การผลิตซ้ำ (Remanufacturing) หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว รีไซเคิลจะทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่โรงงานรีไซเคิลหรือโรงงานอื่น เช่น โรงงานกระดาษหรือโรงงานผลิตขวด
Energy recovery
ขยะเปียก ขยะมูลฝอย และของเสียเป็นก๊าซ เป็นปัญหา ด้วยเหตุนี้จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีและใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบต้นทุนต่ำนี้ ผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ สารตั้งต้นชีวภาพ พลังงานความร้อน และพลังงานไฟฟ้า
การแปลงวัสดุเหลือใช้ให้กลับนำมาใช้ใหม่หรือที่เรียกว่า ‘Waste to Energy’ เช่น
-พลังงานที่ได้จากการเผาไหม้ :
การนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่จากการเผาไหม้ของขยะมูลฝอยจากแหล่งชุมชนเป็นลำดับการจัดการขยะที่ไม่เป็นอันตราย แต่ยังสามารถผลิตพลังงานจะกระบวนการเผาขยะได้ด้วย
-การย่อยสลายขยะอินทรีย์ของแบคทีเรีย :
ขยะอินทรีย์ เช่น มูลสัตว์หรือสิ่งปฏิกูลของมนุษย์ หรือผลิตภัณฑ์ของเหลือทางการเกษตร พืชที่มีน้ำตาลและแป้ง รวบรวมในถังที่ปราศจากออกซิเจน ใช้เชื้อแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic bacteria) ย่อยสลายวัสดุเหล่านี้ ผ่านกระบวนการหมักเพื่อสร้างไบโอแอลกอฮอล์ เอทานอล บิวทานอล และโพรพานอล เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง หรือผลิตกระแสไฟฟ้าได้
-การแปลงเป็นก๊าซหรือเชื้อเพลิงเหลว :
ชีวมวลสามารถเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงที่เป็นก๊าซหรือของเหลวได้โดยผ่านการแปรสภาพเป็นก๊าซ (Gasification) และไพโรไลซิส (Pyrolysis) ซึ่งการทำให้เป็นก๊าซ (Gasification) เป็นกระบวนการที่ทำให้ชีวมวลที่เป็นของแข็ง ผ่านอุณหภูมิสูง เพื่อผลิตก๊าซสังเคราะห์ (Synthesis gas) หรือ Syngas) ที่เป็นส่วนผสมประกอบด้วยคาร์บอนมอนอกไซต์และไฮโดรเจน ก๊าซสามารถเผาในหม้อต้มแบบธรรมดาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้ นอกจากนี้ ยังใช้แทนก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันก๊าซแบบ Combined-cycle gas turbine
ไพโรไลซิส (Pyrolysis) ใช้กระบวนการที่คล้ายกับการแปรสภาพเป็นก๊าซแต่สภาวะการทำงานต่างกัน โดยชีวมวลจะถูกให้ความร้อนที่อุณหภูมิต่ำกว่า เพื่อผลิตน้ำมันชีวภาพดิบ ซึ่งใช้ทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงหรือดีเซลในเตาเผา กังหัน และเครื่องยนต์เพื่อการผลิตไฟฟ้า
นวัตกรรมปฏิวัติการจัดการขยะในอนาคต
การจัดการขยะอัจฉริยะเป็นการใช้ Internet of Things (IoT) เป็นเทคโนโลยีที่สามารถตรวจสอบ รวบรวม และติดตามข้อมูลแบบเรียลไทม์ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรวบรวมขยะและกระตุ้นนวัตกรรมในอนาคต
ถังขยะอัจฉริยะ
เพื่อลดปัญหาการแยกขยะไม่ถูกหรือ ไม่เหมาะสมนี้ มีการพัฒนาถังขยะอัจฉริยะที่ใช้การจดจำวัตถุโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อแยกขยะรีไซเคิลออกเป็นช่องต่างๆ โดยอัตโนมัติ แล้วเครื่องจะบีบอัดขยะและตรวจสอบว่าแต่ละถังเต็มแค่ไหน เมื่อเต็มถังจะส่งสัญญาณไปยังศูนย์ เพื่อดำเนินการจัดเก็บ ถังขยะอัจฉริยะช่วยขจัดความผิดพลาดการคัดแยกของคน ทำให้การแปรรูปวัสดุเร็วและง่ายขึ้นสำหรับโรงงานรีไซเคิล สามารถลดต้นทุนการจัดการขยะได้มากถึง 80%
ท่อลมส่งขยะ
พื้นที่เขตชุมชนเมืองขยายตัวและเติบโตรวดเร็ว การจัดการขยะจำเป็นต้องมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับปริมาณขยะ จึงเกิดเป็นแนวคิดการติดตั้งถังกำจัดขยะแบบท่อลมที่เชื่อมต่อกับท่อใต้ดินหลายชุด ขยะจะไหลผ่านท่อไปยังโรงงานเก็บขยะเพื่อแยก ระบบนี้ขจัดความจำเป็นในการรวบรวมของเสียแบบเดิมๆ ลดต้นทุนด้านพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวม
หุ่นยนต์รีไซเคิล AI
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จำนวนพนักงานที่ลดลงในช่วงการระบาดใหญ่ของ COVID-19 เพื่อตอบสนองความต้องการ หุ่นยนต์รีไซเคิลขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์เป็นทางออกที่ดีเยี่ยม ที่ได้มีการออกแบบเพื่อให้สามารถระบุและคัดแยกวัสดุรีไซเคิลได้แม่นยำ เพิ่มประสิทธิภาพและลดความต้องการแรงงานมนุษย์ ช่วยประหยัดเงินของศูนย์รีไซเคิล และยังช่วยเปลี่ยนเส้นทางวัสดุที่จบลงในหลุมฝังกลบได้มากขึ้น
เซ็นเซอร์วัดระดับขยะ
บ้านและภาคธุรกิจทั่วประเทศใช้บริการเก็บขยะรายสัปดาห์มานานหลายทศวรรษแล้ว เพื่อช่วยลดการเดินทางไปและกลับ ระหว่างแหล่งชุมชนและหลุมฝังกลบ บริษัทและชุมชนสามารถติดตั้งเซ็นเซอร์วัดระดับขยะในถังทุกขนาด โดยอุปกรณ์จะรวบรวมและจัดเก็บข้อมูล ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าควรจัดเก็บขยะจากแหล่งใดบ่อย และช่วยป้องกันขยะล้นออกนอกถังขยะด้วย นอกจากนี้ สามารถติดเซ็นเซอร์หรือกลไกการชั่งน้ำหนักรถบรรทุกขยะ เพื่อคาดการณ์ระดับการบรรจุและลดการเดินทางและลดต้นทุนการรวบรวมรายปี
เครื่องอัดขยะพลังงานแสงอาทิตย์
เครื่องอัดขยะพลังงานแสงอาทิตย์สามารถเก็บขยะได้มากกว่าถังขยะแบบเดิมถึง 5 เท่า เครื่องจะบีบอัดขยะเพื่อเพิ่มความจุของถังขยะ
แอพรีไซเคิล
การคัดแยกขยะปนเปื้อน ไม่สามารถเข้าศูนย์รีไซเคิลได้ องค์กรต่างๆ ได้เผยแพร่แอพ เช่น RecycleNation และ iRecycle ที่ให้ข้อมูลผู้ใช้เกี่ยวกับอัตราการรีไซเคิลและที่ตั้งศูนย์ และรายการใดบ้างที่สามารถรีไซเคิลได้
ตู้ขยะอิเล็กทรอนิกส์
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สมาร์ทโฟน แล็ปท็อป จอภาพ ทีวี ลำโพง และอุปกรณ์อื่นๆ ที่พัฒนาออกมาประกอบด้วยสารเคมีและโลหะ เช่น ตะกั่ว แคดเมียม และปรอท ที่เป็นสารพิษอันตราย หากจัดการที่ไม่เหมาะสมอาจเป็นอันตรายต่อทั้งคนและสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งหลายบริษัทได้เริ่มโครงการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่าคืน เพื่อแลกอุปกรณ์เครื่องใหม่ บริษัท ecoATM ได้สร้างตู้รีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ให้เป็นเงินสดทันที แม้จะไม่ได้เสนอเงินสดให้สำหรับอุปกรณ์ที่แตกหักหรือไม่สามารถใช้งานได้เสมอไป แต่ก็รับโทรศัพท์ แท็บเล็ต และเครื่องเล่น MP3 ในทุกสภาวะ นำกลับมาใช้ใหม่อย่างเหมาะสม
ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ
กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ (DOE) ประกาศระดมทุนสูงถึง 14.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการวิจัยและพัฒนาเพื่อลดขยะและลดพลังงาน จำพวกถุงพลาสติก พลาสติกคลุมอาหาร และฟิล์ม โดยมุ่งไปที่เทคโนโลยีการรีไรเคิลพลาสติก เพื่อให้ DOE จัดการกับความท้าทายการรีไซเคิลขยะพลาสติก ในการสร้างเศรษฐกิจพลังงานสะอาดและรับรองว่าสหรัฐฯ จะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2593
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/2022/ost-sci-review-mar2022.pdf
นานาสาระน่ารู้

สวทช. ชวนคนไทยเลือกใช้ ‘วัสดุและวิธีก่อสร้าง’ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำความเข้าใจได้ง่ายผ่าน ‘แบบจำลองอาคารสามมิติ’
For English-version news, please visit : https://www.nstda.or.th/en/news/news-years-2023/3d-simulation-model-for-sustainable-construction.html
ทุกวันนี้ในท้องตลาดมีวัสดุก่อสร้างให้เลือกซื้อหลายรูปแบบ ทั้งวัสดุที่ผลิตจากทรัพยากรธรรมชาติ และวัสดุที่นำของเหลือหรือขยะจากภาคส่วนต่างๆ มาเป็นส่วนผสมในการผลิต แล้วเราในฐานะผู้บริโภคจะตัดสินใจเลือกใช้วัสดุอย่างไรให้เหมาะสมและคุ้มค่าทั้ง ‘อายุการใช้งาน’ และ ‘ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’
สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วิจัยและพัฒนาการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและตัวเลขการหมุนเวียนของวัสดุก่อสร้าง ตามแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี โดยนำเสนอข้อมูลผ่านแบบจำลองสามมิติ (3D Simulation) ที่สะดวกและเข้าใจง่าย ภายใต้ทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
[caption id="attachment_39527" align="aligncenter" width="700"] ดร.นงนุช พูลสวัสดิ์ นักวิจัย TIIS สวทช.[/caption]
ดร.นงนุช พูลสวัสดิ์ นักวิจัย TIIS สวทช. เล่าว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจและสังคม เพราะเป็นรากฐานของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเติบโตของทุกอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงคือ อุตสาหกรรมนี้สามารถสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมสูงหากขาดการจัดการที่เหมาะสมจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง ผู้ว่าจ้างและผู้รับเหมาก่อสร้าง รวมถึงผู้จัดการสิ่งรื้อถอน
“TIIS จึงร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมดังกล่าววิจัยและพัฒนา ‘ชุดข้อมูลการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและตัวเลขการหมุนเวียนของวัสดุก่อสร้าง’ โดยนำเกณฑ์ Material Circularity Indicator (MCI) ที่มีการคิดค้นและนำเสนอไว้โดย Ellen MacArthur Founder ซึ่งเหมาะแก่การใช้วิเคราะห์วัสดุก่อสร้างมาเป็นดัชนีในการประเมิน ตัวชี้วัดของดัชนีนี้มี 4 ด้าน คือ ปริมาณวัตถุดิบนำเข้าใหม่ วัตถุดิบเหลือทิ้ง วัตถุดิบรีไซเคิล รวมถึงการใช้งานและอายุการใช้งานของวัสดุ ทั้งนี้ค่า MCI จากการคำนวณจะแสดงเป็นตัวเลข 0-1 โดย 1 คือคะแนนเต็มหรือเป็นวัสดุที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสูง”
การทำวิจัยครั้งนี้ TIIS ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากผู้ผลิตรายใหญ่ของประเทศไทย ในการให้ข้อมูลกระบวนการการผลิตวัสดุก่อสร้างที่มีการใช้งานมากในปัจจุบัน โดย TIIS ได้ทำวิจัยวัสดุรวมทั้งสิ้น 13 ชนิด และเปิดเผยข้อมูลให้ทุกภาคส่วนใช้ประโยชน์แล้ว 5 ชนิด
ดร.นงนุช เล่าว่า การทำวิจัยในเฟสแรกเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ค่า MCI ของวัสดุหลักที่ใช้ในการก่อสร้าง 5 ชนิด คือ เหล็กเส้น คอนกรีตผสมเสร็จ ปูนซีเมนต์สำเร็จรูป ฉนวนกันความร้อน และแผ่นไม้อัด โดยได้จัดทำชุดข้อมูลเปรียบเทียบค่า MCI ของวัสดุที่ผลิตด้วยวัตถุดิบที่แตกต่างกัน เช่น เหล็กเส้นที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติกับเหล็กเส้นที่ใช้เศษเหล็กเป็นวัตถุดิบหลัก ก่อนนำข้อมูลมานำเสนอผ่านแบบจำลองอาคารสามมิติ (ไม่รองรับการใช้งานผ่านสมาร์ตโฟน) เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ เห็นภาพการใช้งานวัสดุก่อสร้างชนิดนั้นๆ ว่ามีการใช้งานที่ส่วนใดของอาคารและมีค่า MCI เท่าไหร่ ซึ่งจะช่วยให้การตัดสินใจเลือกใช้วัสดุทำได้ง่ายและคุ้มค่ายิ่งขึ้น (ค่า MCI จะนำเสนอเป็นค่ากลาง ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเฉพาะของแต่ละแบรนด์) ซึ่งปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าชมข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่ www.nstda-tiis.or.th/3d-mci-bm (ไม่รองรับการใช้งานผ่านสมาร์ตโฟน)
“ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังเร่งดำเนินงานในเฟสที่ 2 และเตรียมนำเสนอข้อมูลการวิเคราะห์ค่า MCI ของวัสดุเพิ่มอีก 8 ชนิด ประกอบด้วยอิฐ กระเบื้องปูพื้น วัสดุปิดผนัง ฝ้าเพดาน ประตูและหน้าต่าง ท่อประปา สุขภัณฑ์ และหลังคา ซึ่งในอนาคตการวิจัยค่า MCI ของวัสดุก่อสร้างจะยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดย TIIS และผู้ประกอบการจะร่วมกันปรับปรุงข้อมูล MCI ของวัสดุทุกชนิดให้เป็นปัจจุบันตลอดทุกปี (เปิดรับข้อมูลจากทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรม) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แสดงถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงค่าความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของวัสดุก่อสร้างที่มีการใช้งานในประเทศไทย”
นอกจากการพัฒนาค่า MCI ของวัสดุก่อสร้างแล้ว TIIS ยังได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี รวมถึงภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง วิจัยและพัฒนาการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ดร.นงนุช เล่าว่า TIIS และหน่วยงานพันธมิตรได้ร่วมกันวิจัย ‘ดัชนีชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม’ เพื่อดูว่าการก่อสร้างในแต่ละรูปแบบของทั้ง ‘อาคารที่ก่อสร้างแบบดั้งเดิม (Conventional construction) ซึ่งเป็นระบบเปียก (Wet process) หรือการก่อสร้างทุกขั้นตอนที่สถานที่ตั้งอาคาร และ ‘อาคารที่ก่อสร้างแบบสำเร็จรูป (Modular construction)’ หรือการก่อสร้างโดยนำชิ้นส่วนสำเร็จรูปมาประกอบ มี ‘ดัชนีชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม’ ที่ประกอบด้วย ค่าการหมุนเวียนของอาคาร (Building circular indicator: BCI) ต้นทุนวัฏจักรชีวิตหรือต้นทุนที่เกิดขึ้นตั้งแต่การก่อสร้างจนถึงสิ้นสุดอายุการใช้งาน (LCC) ปริมาณก๊าซเรือนกระจกของการก่อสร้างอาคาร (GHG) และปริมาณขยะก่อสร้างและรื้อถอน (CDW) เท่าไหร่บ้าง โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกวิธีการก่อสร้างและวัสดุต่างๆ เพื่อให้ระบบคำนวณค่า BCI, LCC, GHG และ CDW โดยอัตโนมัติได้
“ทั้งนี้ค่า BCI จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการตัดสินใจออกแบบก่อสร้าง เพราะแม้การเลือกใช้วัสดุที่ผลิตจากวัตถุดิบรีไซเคิลหรือการก่อสร้างแบบสำเร็จรูปอาจมีราคาค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า เป็นผลมาจากการผลิตและก่อสร้างต้องอาศัยเทคโนโลยีเฉพาะทางในการดำเนินงาน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นตลอดอายุการใช้งาน รวมถึงค่าความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว จะเห็นได้ถึงความคุ้มค่าในระยะยาวและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมที่มากกว่า ซึ่งการวางแผนก่อสร้างอย่างรอบคอบจะช่วยลดปัญหาเรื่องขยะก่อสร้างและรื้อถอนที่ปัจจุบันไทยยังขาดแนวทางการจัดการให้สามารถหมุนเวียนวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้คาดว่าจะเผยแพร่แบบจำลองอาคารสามมิติเพื่อแสดงค่า BCI รวมถึงค่า MCI ของวัสดุก่อสร้างทั้ง 13 ชนิดได้ภายในไตรมาสแรกของปีนี้”
การจัดทำข้อมูลทั้งค่า MCI ของวัสดุก่อสร้าง และค่า BCI นับเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ทั้งผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ ผู้รับเหมาก่อสร้าง และผู้ว่าจ้างในการก่อสร้าง ในการร่วมกันลดการสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี นอกจากนี้ TIIS ยังเปิดให้บริการการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและติดต่อได้ที่ www.nstda-tiis.or.th
เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย TIIS สวทช.
BCG
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ

แนวปฏิบัติกระบวนการทางดิจิทัลภาครัฐ – ภาพรวม (GUIDELINES FOR DIGITAL GOVERNMENT PROCESS) (มสพร. 6-2565)
มาตรฐานสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ว่าด้วยแนวปฏิบัติกระบวนการทางดิจิทัลภาครัฐ - ภาพรวม (GUIDELINES FOR DIGITAL GOVERNMENT PROCESS) (มสพร. 6-2565)
มาตรฐานสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ฉบับนี้นำเสนอเนื้อหาในภาพรวมของการจัดทำกระบวนการทางดิจิทัลสำหรับการ “ขออนุญาต” หมายความรวมถึง ขอรับใบอนุญาต ขออนุมัติ ขอจดทะเบียน ขอขึ้นทะเบียน ขอแจ้ง ขอจดแจ้ง ขออาชญาบัตร ขอการรับรอง ขอความเห็นชอบ ขอความเห็น ขอให้พิจารณา ขออุทธรณ์ ร้องทุกข์ หรือร้องเรียน ขอให้ดำเนินการ ขอรับเงิน ขอรับสวัสดิการ และขอรับบริการอื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ มิได้ครอบคลุมกระบวนการดำเนินงานอื่นภายในหน่วยงานของรัฐ และข้อมูลทางเทคนิคของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นแนวทางการปฏิบัติสำหรับใช้ภายในสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือเป็นการเสนอแนะแนวปฏิบัติวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ได้ตามระดับความพร้อม ซึ่งเนื้อหาได้อ้างอิงจากกฎหมาย มาตรฐาน ข้อเสนอแนะ และแนวทางการดำเนินงานที่มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาเท่านั้น
ดาวน์โหลด เอกสารแนวปฏิบัติกระบวนการทางดิจิทัลภาครัฐ – ภาพรวม
รูปแบบอ้างอิงเอกสารฉบับนี้ :
สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน). (2022, October 3). มาตรฐานสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ว่าด้วยแนวปฏิบัติกระบวนการทางดิจิทัลภาครัฐ—ภาพรวม (GUIDELINES FOR DIGITAL GOVERNMENT PROCESS) (มสพร. 6-2565). Digital Government Standard. https://standard.dga.or.th/dga-std/5212/
เอกสารเผยแพร่