For English-version news, please visit : https://www.nstda.or.th/en/news/news-years-2023/ionic-copper-innovation-leads-to-effective-animal-health-products.html
ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาราคาเนื้อสุกรพุ่งสูง เนื่องจากการระบาดหนักของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ทำให้สุกรล้มป่วยและตายแบบเฉียบพลันจำนวนมาก แม้ผ่านมาราวปีครึ่งแล้ว ราคาของเนื้อสุกรก็ยังไม่ลดลงเทียบเท่าสถานการณ์ปกติ สาเหตุหนึ่งมาจากต้นทุนด้านการรับมือโรคระบาดที่ค่อนข้างสูง จนเกษตรกรหลายรายจำต้องหยุดทำฟาร์มชั่วคราวหรือถาวร ส่งผลให้กำลังการผลิตเนื้อสุกรภายในประเทศลดลง
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนา ‘นวัตกรรมสารคอปเปอร์ไอออน (Ionic Copper) ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคสูง’ เพื่อหนุนแก้ปัญหาโรคระบาดในสุกร ลดค่าใช้จ่าย และลดสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ดร.วรายุทธ สะโจมแสง ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน นาโนเทค สวทช. เล่าว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยและประเทศข้างเคียงพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) โรคร้ายแรงที่ทำให้สุกรตายอย่างเฉียบพลัน และยังพบการระบาดของโรคอื่นๆ อาทิ โรคท้องร่วงในสุกร (Porcine Epidemic Diarrhea: PED) และโรคในระบบทางเดินหายใจและระบบสืบพันธุ์ (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome: PRRS) ทำให้มีสุกรป่วยและตายจำนวนมาก ส่งผลให้เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งจากค่าใช้จ่ายด้านระบบรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biocontrol) ค่ายาปฏิชีวนะเพื่อรักษาและป้องกันโรค (การป้องกันโรคด้วยยาปฏิชีวนะเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องและส่งผลให้เชื้อดื้อยา) และการจัดหาแม่พันธุ์และสุกรตัวใหม่มาเลี้ยง
“ดังนั้นแล้วการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้สุกรติดเชื้อเป็นเรื่องสำคัญมาก ทั้งการดำเนินงานตามมาตรการที่กรมปศุสัตว์กำหนด และการทำความสะอาดด้วยสารยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลชีพ เช่น สารประเภท ‘คอปเปอร์ไอออน’ หรือ ‘เกลือคอปเปอร์’ ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียทั้งแกรมบวกและลบ รวมถึงไวรัส ที่ค่อนข้างครอบคลุมโรคระบาดสำคัญในสุกร อย่างไรก็ตามสารชนิดนี้ยังมีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่เช่นกัน เพราะเป็น ‘สารที่ไม่คงทนต่อสภาพแวดล้อม’ ทำให้มีโอกาสที่สารจะออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้เกษตรกรต้องใช้สารในปริมาณมาก ต้นทุนการผลิตสูง และอาจก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในพื้นที่อีกด้วย”
จากปัญหาดังกล่าวทีมวิจัยนาโนเทค สวทช. ไม่นิ่งนอนใจ เร่งนำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีคีเลชัน (Chelation technology) มาพัฒนาสารคอปเปอร์ไอออนให้อยู่ในรูปที่สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคได้สูงในสภาพแวดล้อมที่ใช้งานจริง
ดร.วรายุทธ อธิบายว่า ทีมวิจัยได้พัฒนากระบวนการคีเลชันสารคอปเปอร์ไอออนด้วยคีเลติงเอเจนต์ธรรมชาติ (Natural chelating agent) เพื่อทำให้คอปเปอร์ไอออนมีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ไม่เสียประจุไอออนบวกที่ทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคได้ง่ายและไม่ตกตะกอน ทำให้สารออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคได้เต็มประสิทธิภาพ ช่วยลดปริมาณการใช้สารได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การคีเลชันคอปเปอร์ไอออนด้วยด้วยคีเลติงเอเจนต์ธรรมชาติยังช่วยให้พืชดูดซึมสารไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ (คอปเปอร์เป็นธาตุอาหารเสริมของพืช) ช่วยลดปริมาณสารตกค้างในสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในระบบนิเวศอีกด้วย
ปัจจุบันทีมวิจัยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการคีเลชันคอปเปอร์ไอออนให้แก่บริษัทสมาร์ท เวท จำกัด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทฯ ได้ต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ดูแลสุขภาพสัตว์ทั้งในการทำปศุสัตว์และประมง
ดร.วรายุทธ แนะนำว่า ผลงานที่บริษัทฯ วางจำหน่ายแล้วในปัจจุบันมี 3 ชนิด คือ ‘BLUERACLE’ ผลิตภัณฑ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกและลบ รวมถึงเชื้อไวรัส ใช้ได้กับทั้งอาหารสุกรและไก่ และน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ‘BLEN IONIC’ ผลิตภัณฑ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคท้องเสียในสุกร การใช้งานเป็นรูปแบบปั๊มเข้าปาก และ ‘BLUE TEC’ ผลิตภัณฑ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหารสำหรับใช้กับอาหารสุกรและไก่ และใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคในระบบกระจายลม (Evaporative cooling system) ในฟาร์มได้
“จุดเด่นของ ‘นวัตกรรมสารคอปเปอร์ไอออนที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคสูง’ คือ ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคระบาดผ่านการควบคุมและป้องกัน นอกจากนี้ยังเป็นการลดต้นทุนการผลิต ทำให้เกษตรกรที่เคยประสบปัญหาขาดทุนมีโอกาสได้หวนกลับมาผลิตสุกรเพื่อหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมอาหารไทยมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญสารคอปเปอร์ไอออนไม่ใช่ ‘ยาปฏิชีวนะ’ หรือ ‘สารเคมีอันตราย’ จึงเหมาะแก่การใช้เป็นสารทางเลือกสำหรับดูแลสุขภาพสัตว์ (ในปริมาณที่เหมาะสม) เพื่อช่วยลดข้อจำกัดทางการค้า เพิ่มโอกาสในการส่งออกเนื้อสุกรและเนื้อสุกรแปรรูปในอนาคต ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว” ดร.วรายุทธ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ประกอบการท่านใดสนใจสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ติดต่อได้ที่บริษัทสมาร์ท เวท จำกัด และหากสนใจใช้บริการด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารด้วยเทคโนโลยีนาโน ติดต่อได้ที่ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อีเมล pr@nanotec.or.th
เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย ภัทรา สัปปินันทน์ และ shutterstock