หน้าแรก ‘รถเข็นรักษ์โลก’ อัพเกรด ‘สตรีทฟู้ด’
‘รถเข็นรักษ์โลก’ อัพเกรด ‘สตรีทฟู้ด’
13 มี.ค. 2563
0

เรียบเรียง: อาทิตย์ ลมูลปลั่ง

‘ร้านอาหารข้างทาง’ หรือ ‘สตรีทฟู้ด’ ขึ้นชื่อว่าเป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์ที่สร้างชื่อให้กับประเทศไทยอย่างมาก ยิ่งเฉพาะในกรุงเทพฯ ถือเป็นแดนสวรรค์ของนักชิมที่จะได้สัมผักับ อาหารที่หลากหลายแถมเลือกทานได้ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ โดยสำนักข่าว CNN เคยยกให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีอาหารริมทางดีที่สุดในโลก 2 ปีซ้อน ถือเป็นหนึ่งในไฮไลต์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาลองลิ้มชิมรสอาหารไทย ที่นอกจากมีวัตถุดิบให้เลือกมากมายแล้วยังมีความคุ้มค่าด้านราคาที่ไม่แพง 

สตรีทฟู้ดไม่เพียงช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้อย่างดี แต่ยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศอย่างมาก ข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Euromonitor International) บริษัท วิจัยระดับโลก เปิดเผยเมื่อปลายปีที่แล้ว ระบุว่ามูลค่าตลาดธุรกิจอาหารไทยโดยรวม ในปี 2560 อยู่ที่ 410,000 ล้านบาทต่อปี ในจำนวนนี้มากกว่า 60-70 % เป็นร้านอาหารประเภทสตรีทฟู้ด ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 276,000 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นเป็น 340,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราขยายตัวเฉลี่ย 5.3% ต่อปี 

ดังนั้นเพื่อยกระดับสตรีทฟู้ดไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (DECC) ได้พัฒนา นวัตกรรมรถเข็นรักษ์โลกเพื่อสตรีทฟู้ด’ ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยยกระดับมาตรฐานทั้งความอร่อย ความสะอาด ถูกสุขอนามัย รวมทั้งยังมีระบบที่ช่วยลดการสร้างมลพิษและขยะของเสีย เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

ดร.อัมพร โพธิ์ใย ผู้อำนวยการศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (DECC) สวทช. กล่าวว่า นวัตกรรมรถเข็นรักษ์โลกเพื่อสตรีทฟู้ด มีจุดเริ่มต้นมาจาก ทีมกะเพราซาวห้า โดยคุณพงษ์มนัส มังคละศรี ที่ได้พัฒนาระบบรถเข็นขายกะเพราที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คู่ขนานกับการพัฒนาน้ำมันกะเพราที่จะช่วยทำให้กลิ่นและรสชาติของกะเพราะสม่ำเสมอ เพื่อเข้าร่วมโครงการ GSB Street Food เวทีประกวดคิดค้นนวัตกรรมเพื่อยกระดับสตรีทฟู้ดไทยให้ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ภายใต้ความร่วมมือระหว่างธนาคารออมสิน และ สวทช. 

“ทีมกะเพราซาวห้าได้พัฒนาสร้างรถเข็นสตรีทฟู้ดขึ้นด้วยประสบการณ์ของตัวเอง แต่ผลที่ได้ยังไม่เป็นที่พอใจเท่าที่ควร เนื่องจากรถมีน้ำหนักมากเกินไปและระบบดูดควันไม่เหมาะสมกับการใช้งาน ทาง DECC สวทช. ในฐานะที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมในโครงการ GSB Street Food ได้เข้ามาช่วยให้คำแนะนำพัฒนารถเข็นกะเพราซาวห้าให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์มากขึ้น จนกระทั่งทีมกะเพราซาวห้าสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้สำเร็จ ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการแข่งขันไปแล้ว ทีมผู้เชี่ยวชาญ DECC ยังได้ปรับปรุงพัฒนาระบบรถเข็นเพิ่มเติม เพื่อให้ได้เวอร์ชั่นที่สมบูรณ์แบบเหมาะสมต่อการใช้งานจริงมากที่สุด”

โดยโจทย์อันท้าทายของการพัฒนาต่อยอดรถเข็นสตรีทฟู้ด ดร.อัมพร บอกว่า มี 3 องค์ประกอบหลักสำคัญคือต้องทำให้รถเข็นมีน้ำหนักเบาที่สุด เพิ่มประสิทธิภาพการดูดควันให้สามารถใช้งานในพื้นที่ปิดได้ รวมทั้งปรับปรุงระบบบำบัดน้ำให้ทางานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ปัจจุบัน สวทช. สามารถพัฒนานวัตกรรมรถเข็นรักษ์โลกที่พร้อมใช้งานสมบูรณ์แบบ จำนวน   ทั้งสิ้น 3 โมเดล ได้แก่ 1. รถเข็นน้ำหนักเบาพร้อมระบบน้ำดี, ถังบำบัดและซิงค์น้ำ 2. รถเข็นน้ำหนักเบาพร้อมระบบน้ำดี, ถังบำบัดและซิงค์น้ำ + ระบบดูดควัน และ 3. รถเข็นน้ำหนักเบาพร้อมระบบน้ำดี, ถังบำบัดและซิงค์น้ำ + ระบบดูดควัน + หัวเตาแก๊ส 2 หัว โดยตั้งเป้าส่งมอบนวัตกรรมรถเข็นรักษ์โลกไม่น้อยกว่า 100 คัน แก่ผู้ประกอบการสตรีทฟู้ดให้ได้ใช้งานจริงเพื่อประกอบ กิจการหลังสถานการณ์โควิด โดยแต่ละโมเดลได้สนับสนุนงบประมาณบางส่วนเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการและกระตุ้นให้เกิดการใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรมด้วย

 

ทั้งนี้ “เฮียวัตร ปังตอทอง” แฟรนไชส์ ข้าวเหนียวหมู-เนื้อ อาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน คือหนึ่งในผู้ประกอบการที่นำนวัตกรรมรถเข็นรักษ์โลกเพื่อสตรีทฟู้ดไปใช้งานจริง โดยมุ่งหวังให้ความสำคัญกับสุขอนามัยหน้าร้านค้า ซึ่งนอกจากจะสร้างความมั่นใจเรื่องความสะอาดให้กับลูกค้าแล้ว ยังช่วยยกระดับ “สตรีทฟู้ด” ไปอีกขั้น  

วิวัฒน์ กุลวิจิตร์รัตน์ เจ้าของธุรกิจข้าวเหนียวหมู-เนื้อ แบรนด์ เฮียวัตร ปังตอทอง กล่าวว่า ความสะอาด ณ จุดขายสินค้า หรือหน้าร้านค้านั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่ผู้ประกอบการสตรีทฟู้ดมักมองข้ามเรื่องนี้ไป อาจเพราะว่าความไม่สะดวกสบายของหน้าร้าน อีกทั้งอุปกรณ์ต่างๆ บนรถเข็นแบบเดิม ๆ ไม่มีฟังก์ชันที่เหมาะสมกับการล้างทำความสะอาดและการบำบัดน้ำก่อนปล่อยสู่ท่อระบายน้ำ ทำให้เป็นปัญหาที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของสตรีทฟู้ดไทยอย่างมาก ดังนั้นตนจึงนำ “รถเข็นรักษ์โลก” จาก สวทช. มาเป็นตัวช่วยเพื่อทำให้เกิดสุขอนามัยที่ถูกต้อง ณ จุดขายสินค้า และเป็นการเปลี่ยนมุมมองใหม่ของผู้บริโภคให้มองสตรีทฟู้ดไทยว่าม’มาตรฐานขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า โดยหวังให้ความตั้งใจในการนำนวัตกรรมรถเข็นรักษ์โลกนี้มาใช้กับธุรกิจเป็นตัวอย่างที่จะช่วยยกระดับอาชีพสตรีทฟู้ดให้เป็นที่ยอมรับกับลูกค้าทุกกลุ่ม “เรื่องความสะอาด สตรีทฟู้ดที่อยู่ตามข้างทางทุกวันนี้ เราจะโดนต่อว่าอยู่เรื่อยๆ ในเรื่องภาชนะทุกอย่างไม่ค่อยสะอาดแต่ด้วยความที่เราเป็นคนไทย เราจะชินกับสิ่งนี้ แต่ถ้าเป็นนักท่องเที่ยว หรือชาวต่างชาติ เขาไม่ได้ชินเหมือนเรา ฉะนั้นการมีรถเข็นรักษ์โลกที่มีบ่อดักไขมัน มีอ่างล้างมือ มีความจำเป็นมากสำหรับสตรีทฟู้ด” 

วิวัฒน์ บอกด้วยว่า การมีนวัตกรรมรถเข็นรักษ์โลกมาใช้กับแบรนด์สินค้าของตนเองนั้น ช่วยเสริมภาพลักษณ์ในการขายสินค้าให้ดีขึ้น เพราะแม้จะเป็นสตรีทฟู้ดขายข้าวเหนียวหมู-เนื้อ ธรรมดา ก็อยากให้เป็นร้านที่ได้มาตรฐาน มีฟังก์ชันที่เป็นมาตรต่อลูกค้าและสิ่งแวดล้อม ทั้งอ่างล้างมือ บ่อบำบัดน้ำทิ้ง พร้อมในคันเดียว สามารถเคลื่อนย้ายไปขายยังทำเลต่างๆ ได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนด้านมลพิษและสิ่งแวลดล้อมให้กับสถานที่หรือชุมชนนั้นๆ อีกทั้งยังช่วยขยายทำเลการขายได้หลากหลายและขยายการเข้าถึงลูกค้าได้กว้างขึ้น ที่สำคัญที่ให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานความสะอาดและปลอดภัยในราคาที่ไม่แพง

 

สำหรับผู้ประกอบการสตรีทฟู้ดที่สนใจ “รถเข็นนวัตกรรมรักษ์โลก”

สามารถสั่งจองออนไลน์ ได้ที่ http://www.decc.or.th/streetfood/ ภายใน 31 ก.ค. 63 นี้

สอบถามเพิ่มเติม

โทร. 0 2564 6310-11 ต่อ 101, 106 หรือ ช่องทาง Line: @679hqbmi

 

แชร์หน้านี้:
หน้าแรก ‘รถเข็นรักษ์โลก’ อัพเกรด ‘สตรีทฟู้ด’
บทความอื่นๆ