หน้าแรก สวทช. จัดค่ายสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหาร ระดับ ม.ปลาย เสริมทักษะคิดนอกกรอบ ในวัยคนรุ่นใหม่
สวทช. จัดค่ายสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหาร ระดับ ม.ปลาย เสริมทักษะคิดนอกกรอบ ในวัยคนรุ่นใหม่
2 ก.ย. 2563
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

For English-version news, please visit : Thailand Food Innovation Junior Bootcamp 2020

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ (ACM) และ FI Accelerator เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis: FI) จัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ “ค่ายสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารประเทศไทย ระดับมัธยมศึกษา (Thailand Food Innovation: Junior Bootcamp 2020)” ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี เพื่อให้ความรู้ด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ติดความรู้และแนวทางสร้างนวัตกรรมจากมรดกภูมิปัญญาอาหาร (Food Heritage Innovation) และนวัตกรรมอาหารสำหรับการใช้ชีวิตแห่งอนาคต (Future Lifestyle Food Innovation)

โดยมีเยาวชนจากทั่วประเทศระดับชั้นมัธยมปลายกว่า 150 คน จำนวน 30 ทีม เข้าร่วมกิจกรรม ก่อนจะนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับการพัฒนาโครงงานวิทยาศาสตร์นวัตกรรมอาหารเพื่อส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในโครงการ Thailand Food Innopolis Innovation Contest ในระยะต่อไป โดยพิธีเปิดค่ายมี ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ด้านพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ร่วมเปิดงาน

ดร.ปรเมษฐ์ ชุ่มยิ้ม ที่ปรึกษาอาวุโส Food Innopolis สวทช. วิทยากรหลักในค่ายครั้งนี้ เปิดเผยว่า ค่ายสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารประเทศไทย ระดับมัธยมศึกษา มีที่มาจากโครงการ Thailand Food Innopolis Innovation Contest ซึ่งดำเนินโครงการมาได้ 3 ปี โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ นักศึกษาปริญญาตรี ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มรุ่น เป็นรุ่นใหญ่เข้ามาในโครงการประกวดคือ กลุ่มนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก อาจารย์ นักวิจัย และกลุ่มคนทั่วไป ซึ่งจะเป็นการแข่งขันแบบแยกกลุ่มภายใต้หัวข้อเดียวกัน โดยแต่ละทีมจะมี 2 หัวข้อ และหัวข้อจะถูกเปลี่ยนในทุกปี ด้วยความที่มีผู้สมัครจำนวนเพิ่มมากขึ้น และเล็งเห็นว่า สวทช. มีทีมบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ที่ทำกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์กับเด็กมัธยม จึงเกิดแนวคิดว่า ในเมื่อเราสร้างแนวคิดผู้ประกอบการให้กับนักศึกษาปริญญาตรี ทำไมไม่ขยับลงมาในระดับมัธยมเพื่อให้สามารถเรียนรู้กระบวนการสร้างนวัตกรรมได้ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน ปีนี้จึงเป็นปีแรกที่เปิดรุ่นเล็ก ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้สมัครประมาณ 2,000 คน และเขียนในใบสมัครดีมากในเรื่องของไอเดียที่อยากจะทำ แต่จำเป็นต้องคัดมาเพียง 30 ทีมจากทั่วประเทศเท่านั้น โดยผ่านเกณฑ์ที่เราตั้งไว้ จึงเกิดเป็นค่าย Thailand Food Innovation: Junior Boot camp 2020 ขึ้นมา โดยในรุ่นนี้เปิดเป็น 2 หัวข้อ ได้แก่ มรดกภูมิปัญญาอาหาร (Food Heritage Innovation) ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่จะนำมาทำเป็นนวัตกรรมอาหาร และนวัตกรรมอาหารสำหรับการใช้ชีวิตแห่งอนาคต (Future Lifestyle Food Innovation)

“สำหรับ Workshop วิธีสร้างนวัตกรรมอาหารผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เป็นกระบวนการที่กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก คือ กระบวนการ Human center design หรือการนึกถึงผู้ใช้ทุกครั้งที่จะผลิตหรือคิดค้นนวัตกรรมอาหาร ซึ่งต้องคิดว่าผู้บริโภคปลายทางหลักต้องการอะไร ฉะนั้น ค่ายนี้จะฝึกให้น้องมัธยมคิดถึงผู้ใช้ให้มากที่สุด เพราะการที่จะเป็นนวัตกรหรือเป็นคนที่สร้างนวัตกรรมได้ องค์ประกอบสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ การเข้าใจผู้ใช้อย่างแท้จริง ผลการอบรมพบว่า น้อง ๆ มีความคิดที่น่าสนใจจำนวนมาก

“สำหรับ Workshop วิธีสร้างนวัตกรรมอาหารผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เป็นกระบวนการที่กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก คือ กระบวนการ Human center design หรือการนึกถึงผู้ใช้ทุกครั้งที่จะผลิตหรือคิดค้นนวัตกรรมอาหาร ซึ่งต้องคิดว่าผู้บริโภคปลายทางหลักต้องการอะไร ฉะนั้น ค่ายนี้จะฝึกให้น้องมัธยมคิดถึงผู้ใช้ให้มากที่สุด เพราะการที่จะเป็นนวัตกรหรือเป็นคนที่สร้างนวัตกรรมได้ องค์ประกอบสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ การเข้าใจผู้ใช้อย่างแท้จริง ผลการอบรมพบว่า น้อง ๆ มีความคิดที่น่าสนใจจำนวนมาก

ด้านตัวแทนเยาวชนที่ร่วมเข้าค่าย น.ส.ศิรประภา งามสุทธิ์ ชั้น ม.5 โรงเรียนธิดาแม่พระ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวถึงความรู้สึกว่า สนุกมาก เพราะมีกิจกรรมมากมายให้ร่วมทำ รวมถึงมี workshop ในหลายเรื่อง ทำให้ได้รู้ในเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน เช่น เครื่องมือที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับโครงการที่ได้คิดไว้ รวมถึงเกิดไอเดียในโครงการใหม่ที่จะสามารถต่อยอดให้สมบูรณ์ได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รับความรู้ในเรื่องของการคิดแบบการตลาดซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยได้เรียนรู้มาก่อนในระดับชั้นมัธยม ซึ่งส่วนตัวตนเองมีความตั้งใจที่จะพัฒนาโครงงานนวัตกรรมอาหารเพื่อที่จะส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในโครงการ Food Innopolis Innovation Contest ต่อไป

ทั้งนี้ กิจกรรมภายในค่ายสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารประเทศไทย ระดับมัธยมศึกษา ประกอบด้วย การเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงในด้านต่าง ๆ ได้แก่ กิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจจากตัวอย่างความสำเร็จจาก Food Innopolis Innovation Contest การให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอาหาร เทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหาร วิธีการสร้างนวัตกรรมอาหารผ่านกระบวนการคิดเชิงแออกแบบ แนวทางการวางโมเดลธุรกิจนวัตกรรมอาหาร และการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าประกวดชิงเงินรางวัลและโอกาสเข้าศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์อาหาร ในโครงการ FI Innovation Contest 2021 หรือโครงการประกวดแนวคิดนวัตกรรมอาหาร ภายใต้การดำเนินงานโดย FI Accelerator แพลทฟอร์มเร่งรัดพัฒนาผู้ประกอบการอาหาร สวทช. รายละเอียดเพิ่มเติม ติดตามได้ที่แฟนเพจ FI Innovation Contest

2 ก.ย. 2563
0
แชร์หน้านี้: