หน้าแรก สวทช. จัดกิจกรรม“STEM in action: 5 Important Industries for developing EEC-STEM curriculum” หวังช่วยเพิ่มศักยภาพครูในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก
สวทช. จัดกิจกรรม“STEM in action: 5 Important Industries for developing EEC-STEM curriculum” หวังช่วยเพิ่มศักยภาพครูในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก
27 พ.ค. 2564
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  โดย ฝ่ายวิชาการหลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ ได้จัดกิจกรรมออนไลน์พัฒนาศักยภาพครูในกิจกรรม“STEM in action: 5 Important Industries for developing EEC-STEM curriculum” ผ่านโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้กับโรงเรียนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก  ซึ่งมีครูผู้สอน บุคลากรทางการศึกษาและผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมทาง Zoom Webinar กว่า 160 คน เพื่อเข้ารับฟังผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หลากสาขา ทั้งนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักวิชาการ ผู้ประกอบการชั้นนำของประเทศมาให้ความรู้ สาระสำคัญเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่น่าสนใจของประเทศเชื่อมโยงต่อยอดกิจกรรมเพื่อให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนตามแนวทางสะเต็มศึกษา

ทั้งนี้ กิจกรรมประกอบไปด้วยหัวข้อการบรรยายที่น่าสนใจ 6 หัวข้อ ได้แก่ แนวทางการออกแบบการจัดการเรียนรู้ STEM Education and Industry 4.0 โดย นางฤทัย จงสฤษดิ์  ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. ได้กล่าวถึง สถานการณ์โลกและกระแสความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีในปัจจุบันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมให้เด็กและเยาวชนด้วยการศึกษาซึ่งเป็นดังกุญแจสู่อนาคต ครูผู้สอนจึงมีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ ฝึกฝนทักษะที่จำเป็นและสร้างแรงบันดาลใจผ่านการออกแบบการจัดการเรียนรู้และเทคนิคการจัดกิจกรรมที่สร้างประสบการณ์ให้เด็กได้ลงมือทำ ได้คิดสร้างสรรค์ ค้นพบความรู้ด้วยตนเอง ตัวอย่างแนวทางการจัดกิจกรรมตามแนวทางสะเต็มศึกษา ได้แก่ กิจกรรมรถพลังงานลม กิจกรรมยานยนต์ล้อเดียว

ด้าน อาจารย์ธนัชชา ชูพจน์เจริญ อาจารย์พิเศษ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  นักพัฒนาซอฟท์แวร์หุ่นยนต์ ที่ Mathworks, Natick, MA, USA และCEO บริษัทโคเอ็กซ์ซิส โรโบติกส์ จำกัด ได้บรรยายถึงหัวข้อ กฎเหล็กหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติกับสิ่งประดิษฐ์พลิกโลก  ว่าด้วยการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มขีดจำกัดการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ แนวคิดพลิกโลกด้วยหุ่นยนต์และนวัตกรรมหุ่นยนต์ที่เริ่มมีบทบาทในการพัฒนาสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมการบริการรวมถึงอุตสาหกรรมบันเทิง สำหรับแนวทางในการจัดกิจกรรมหุ่นยนต์ในโรงเรียนต้องใช้ความรู้พื้นฐานเชิงบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ ด้านฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ รวมทั้งทักษะกระบวนการทำงานในการพัฒนาหุ่นยนต์ เช่น teamwork โดยหัวใจหลักของกิจกรรมที่ทำให้สามารถดำเนินการสำเร็จได้ในโรงเรียน คือ นักเรียนได้ทำงานเป็นทีม มีครูผู้สอนทำให้เห็นเป็นตัวอย่างก่อน

ต่อด้วย ดร.ปิติวุฒญ์ ธีรกิตติกุล อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และในฐานะนักเรียนทุน JSTP, สวทช. รุ่นที่ 1 กับการบรรยายถึงอนาคตของยานยนต์ ในหัวข้อ กล้า..หรือไม่กล้า…เมื่อยานยนต์ไร้คนขับ กล่าวว่า โลกของยานยนต์ในอนาคตที่มีแนวโน้มในการนำยานยนต์ไร้คนขับมาใช้งานมากขึ้น หลายคนเชื่อว่าจะเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนอนาคตและเปลี่ยนชีวิตของผู้คน แนวทางในการศึกษาพัฒนาต่อไปในอนาคตที่ต้องคำนึงถึงด้านจริยธรรมและความปลอดภัย เยาวชนจึงควรเรียนรู้ที่จะคิดวิเคราะห์และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์เป็นการเตรียมตัวรับเทคโนโลยีแห่งอนาคตนี้

สำหรับวิทยากรท่านต่อไป ดร.ยุวเรศ มลิลา ทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. ในหัวข้อ มหัศจรรย์ของไข่สู่นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ซึ่งได้เล่าถึงการพัฒนานวัตกรรมจากไข่มีจุดเริ่มจากการแก้ปัญหาไข่ไก่ล้นตลาดและความต้องการเพิ่มมูลค่าด้วยการนำไข่ไก่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบง่าย ๆ เช่น ไข่ต้มพร้อมรับประทานที่หาซื้อได้ง่ายในร้านสะดวกซื้อ ต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นไข่พาสเจอร์ไรส์รูปแบบต่างๆ ที่ต้องพัฒนากระบวนการพาสเจอร์ไรส์ให้ไข่ยังคงมีคุณสมบัติเชิงหน้าที่ได้ เช่น ไข่ขาวยังคงคุณสมบัติการเกิดโฟมเมื่อนำมาทำเบเกอรี่ และนวัตกรรมไข่ในอนาคตที่มีการนำวัตถุดิบอื่น เช่น พืชมาพัฒนาให้มีคุณสมบัติเหมือนไข่ เพื่อให้คนที่รับประทานมังสวิรัติสามารถทานได้ ซึ่งเป็นตัวอย่างแนวทางการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารที่ครูสามารถนำไปจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้

และในด้านการเกษตรสมัยใหม่ที่พลาดไม่ได้ ในหัวข้อ สมาร์ทฟาร์มเปลี่ยนโลกสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน บรรยายโดย นายยงยุทธ เลารุจิราลัย เจ้าของ The FIGnature Garden จ. ชลบุรี Young Smart Farmer ผู้เชี่ยวชาญด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปลูกมะเดื่อฝรั่ง ได้เล่าถึงมะเดื่อฝรั่ง (FIG) เป็นผลไม้ที่อร่อย มีประโยชน์สูง ดีต่อสุขภาพและราคาสูง (ขี้นกับคุณภาพของผลผลิต) แต่ทั้งนี้การควบคุมคุณภาพ รสชาติของผลผลิตอาจจะไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับฤดูกาล เช่น ฤดูฝน ผลจะไม่หวาน จึงมีการนำเทคโนโลยีด้านการเกษตรเข้ามาใช้ในการปลูกในระบบโรงเรือน ติดตั้งหลอดไฟ LED เพื่อให้ได้แสงที่เหมาะสม ควบคุมการเปิด-ปิด ปากใบของต้นฟิก และมีการติดตั้งเซนเซอร์ต่างๆ เช่น เซนเซอร์วัดความชื้นสัมพัทธ์ เพื่อควบคุมให้มีความชื้นเหมาะสม หากมีความชื้นในอากาศสูงระบบก็จะจ่ายน้ำน้อย แต่หากมีความชื้นต่ำก็จะจ่ายน้ำเพิ่มขึ้น ช่วยประหยัดทรัพยากรน้ำ และเทคโนโลยี IOT ใช้ควบคุมระบบการให้น้ำและปุ๋ยทางช่วยให้ได้ในปริมาณที่เหมาะสม เป็นการลดต้นทุน ลดการใช้แรงงานคน และยังเพิ่มความแม่นยำในการผลิต

และสุดท้าย ดร.ธงชัย กูบโคกกรวด ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตและเวชสำอาง ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. กับการบรรยายในหัวข้อ เสกมายากลเคมีและชีวเคมีสู่ผลิตภัณฑ์ชั้นยอด ได้เล่าให้ฟังถึงชีวภัณฑ์เพื่อเทคโนโลยีเวชสำอางและเทคโนโลยีเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน พร้อมนำเสนอแนวทางการพัฒนางานวิจัยผลิตภัณฑ์เวชสำอางที่เริ่มจากการสกัดสารสำคัญจากพืชสมุนไพรพื้นบ้านของไทย แล้วใช้เทคโนโลยีระดับนาโนสร้างฟิล์มห่อหุ้มอนุภาคของสารสำคัญมาเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น ช่วยกักเก็บสารสำคัญให้มีความคงตัว ช่วยลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ของสารสกัด โดยเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นการวิจัยหาสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างสารที่มีคุณสมบัติเป็นน้ำและน้ำมัน การเลือกใช้สารลดแรงตึงผิวมาช่วยให้น้ำกับน้ำมันสามารถก่อตัวเป็นฟิล์มได้ ซึ่งเป็นแนวทางการจัดกิจกรรมที่สามารถนำไปประยุกต์ในชั้นเรียนได้

สำหรับท่านใดที่สนใจเข้ารับชมการบรรยายพิเศษในครั้งนี้ สามารถรับชมคลิปวีดีโอการบรรยายย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/sciencecamp.fanpage

27 พ.ค. 2564
0
แชร์หน้านี้: