For English-version news, please visit : STEAM with GEARS promotes STEAM education among primary school teachers
26 ตุลาคม 2565 ณ ห้อง SD-601 อาคารสราญวิทย์ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรม“การจัดการเรียนรู้ ” และส่งมอบสื่อ STEAM with GEARS แก่โรงเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 15 แห่ง
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ให้ความสำคัญกับการนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งผลงานวิจัย มาออกแบบผลิตภัณฑ์สื่อการเรียนรู้และของเล่นวิทยาศาสตร์ หาผู้ผลิตที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมในการนำไปใช้ในกิจกรรม รวมทั้งการหาพันธมิตรทางด้านการผลิตหรือการตลาด เพื่อให้ผลงานนั้นเป็นสินค้าที่วางจำหน่ายได้จริง และเกิดประสิทธิผลสูงสุดของการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้นั้น
โดยสื่อ Gearphun จำนวน 120 ชุด สวทช. ได้รับมอบจากบริษัท Thinklplay จำกัด ในงาน Bett Asia 2022 เพื่อนำมาใช้เป็นสื่อถ่ายทอดความรู้ด้านสะเต็มให้กับบุคลากรครูระดับประถมในกิจกรรม “การจัดการเรียนรู้ STEAM with Gears” โดย สวทช. มุ่งหวังว่าความรู้และวิธีการเสริมทักษะ STEAM ด้วยสื่อ Gearphun ที่แต่ละโรงเรียนได้รับจากการสัมมนานี้จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อการเรียนการสอนในห้องเรียน เพื่อช่วยให้เด็กๆ ได้รับความรู้คู่ความสนุกจากการเรียนในห้องเรียน
“ที่ผ่านมา สวทช. ได้มีจัดกิจกรรมหลายรูปแบบ อาทิ ค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย ค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับครูหรือผู้สอน การผลิตหนังสือและสื่อการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ หนังสือภาพ นิทาน หนังสืออ่านเล่น ตำรา แผ่นพับ ฯลฯ ซึ่งการพัฒนาและผลิตสื่อการเรียนรู้ ของเล่นวิทยาศาสตร์ โดยมีผลงานที่โดดเด่นได้รับรางวัลมาแล้ว หลายผลงาน บอร์ดเกมดิเอ็กซ์โวลูชัน (เข้ารอบสุดท้ายของการประกวดรางวัล “ALPSP Awards for Innovation in Publishing 2015” ณ สหราชอาณาจักร เมื่อเดือนกันยายน 2558 และรางวัลทรัพย์สินทางปัญญาดีเด่น ประเภทสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ ประจำปี 2563 เลนส์มิวอาย ได้รับรางวัล “ผลงานวิจัย พสวท. รุ่นใหม่” ประจำปี 2562 ประเภทนวัตกรรมดีเยี่ยม
กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ สวทช. ใช้องค์ความรู้และบุคลากรของ สวทช. ช่วยกันพัฒนาขึ้นมา และพยายามผลักดันไปสู่กลุ่มเป้าหมาย ด้วยการทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรต่าง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ โรงเรียน สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน มูลนิธิต่าง ๆ เพื่อส่งมอบผลงานให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย และบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดต่อเด็ก เยาวชน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย” รองผู้อำนวยการ สวทช. ระบุ
ภายในงานมีการจัดกิจกรรมบรรยายในหัวข้อ“แนวทางการออกแบบและจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา” โดย ดร.ฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. และ “ฟันเฟือง เรื่องน่ารู้และคุณประโยชน์รอบตัวเรา” โดย ดร.ภัทรพงศ์ ชูปัญญา นักวิจัยกลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ร่วมบรรยาย