หนึ่งในโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มสัตว์เลี้ยงขนยาวอย่างสุนัขและแมว คือ ‘โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา’ โดยเมื่อสุนัขและแมวติดโรคจะแสดงอาการได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ เช่น ขนร่วงเป็นวง มีผื่นแดง มีสะเก็ดหนอง ซึ่งโรคเหล่านี้สามารถติดต่อไปยังเจ้าของที่มีพฤติกรรมการเลี้ยงแบบใกล้ชิดได้อีกด้วย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนากระบวนการผลิตต้นแบบสเปรย์และแชมพูจากสมุนไพรไทยช่วยต้านการเจริญเติบของเชื้อราที่ผิวหนังสุนัขและแมว โดยผลิตภัณฑ์ผ่านการทดสอบแล้วว่า ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราก่อโรคกลุ่มสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยในการใช้งานสูง
ดร.ณัฎฐิกา แสงกฤช หัวหน้าทีมวิจัยเวชศาสตร์นาโน นาโนเทค สวทช. อธิบายว่า ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ทีมวิจัยได้เลือกสมุนไพรไทย 2 ชนิดที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรคมาใช้ประโยชน์ สมุนไพรชนิดแรก คือ ‘กากเมล็ดชาน้ำมัน’ ผลพลอยได้จากการผลิตน้ำมันเพื่อใช้ประกอบอาหาร ซึ่งทีมได้รับการอนุเคราะห์วัตถุดิบสำหรับทำวิจัยจากมูลนิธิชัยพัฒนา โดยในกากเมล็ดชาน้ำมันมีสารสำคัญ คือ ‘ซาโปนิน (saponin)’ ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อราก่อโรคผิวหนังชนิด Trichophyton rubrum และ Trichophyton mentagrophytes อีกทั้งยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ ส่วนสมุนไพรชนิดที่สองที่นำมาใช้ คือ ‘ทองพันชั่ง’ มีสารสำคัญเด่นคือ ‘ไรนาแคนทิน (rhinacanthin)’ หรือสารออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราก่อโรคผิวหนังทั้งในคนและสัตว์ อาทิ Trichophyton rubrum, Trichophyton mentagrophytes และ Microsporum gypseum
“ทั้งนี้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ทีมวิจัยได้ร่วมกับ ดร.อุดม อัศวาภิรมย์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน นาโนเทค สวทช. คัดเลือกชนิดของสมุนไพร การทดสอบประสิทธิภาพของสารสำคัญ และการพัฒนากระบวนการสกัดให้ได้สารประสิทธิภาพสูงในปริมาณมาก ก่อนนำสารสำคัญที่ได้มาพัฒนากระบวนการปรับสภาพให้อยู่ในรูปนาโนอิมัลชัน (nanoemulsion) ซึ่งจากกระบวนการทั้งหมดนี้จะทำให้ได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติซึมผ่านผิวหนังที่มักมีการสะสมของเชื้อราก่อโรคได้ดี รวมถึงช่วยลดกลิ่นไม่พึงประสงค์และสีของสมุนไพรที่อาจติดบนเส้นขนของสัตว์เลี้ยงได้อีกด้วย”
ต้นแบบนาโนอิมัลชันที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นผ่านการทดสอบแล้วว่า ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตเชื้อราได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยในการใช้งานสูง ปัจจุบันทีมวิจัยนำสารที่พัฒนาขึ้นมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบแล้วสองชนิด ประกอบด้วย ‘สเปรย์’ สำหรับฉีดพ่น และ ‘แชมพู’ สำหรับอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยง
ดร.ณัฎฐิกา อธิบายถึงการใช้งานผลิตภัณฑ์ทั้งสองว่า การใช้งานผลิตภัณฑ์สเปรย์ เจ้าของควรทำความสะอาดบริเวณรอยโรคด้วยน้ำเกลือ ซับให้แห้ง จากนั้นจึงพ่นสเปรย์ลงบริเวณรอยโรค 1-2 ครั้งต่อวัน ร่วมกับการรักษาทางยาและควรใช้ต่อเนื่องตามสัตวแพทย์แนะนำ ส่วนผลิตภัณฑ์แชมพูอาบน้ำสัตว์เลี้ยงหากใช้เพื่อทำความสะอาด ควรใช้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่หากใช้เพื่อบรรเทาอาการโรคผิวหนัง ควรใช้สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ร่วมกับการรักษาทางยา ทั้งนี้กระบวนการประเมินอาการและรักษาสัตว์เลี้ยงทั้งหมดจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์
“ปัจจุบันทีมวิจัยพัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ทั้งหมดสำเร็จและพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว โดยผลิตภัณฑ์ต้นแบบทั้งสองนี้ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อสัตว์เลี้ยงด้านยับยั้งการติดโรคและลดการใช้ยาที่อาจมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงในระยะยาวเท่านั้น เพราะยังมีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสัตว์เลี้ยงให้แก่เจ้าของได้อีกด้วย เนื่องจากผลิตภัณฑ์เพื่อสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ที่ใช้ในประเทศไทยยังคงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้มีราคาค่อนข้างสูง แต่ผลิตภัณฑ์ที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นใช้สารสำคัญจากสมุนไพรไทยเป็นหลัก และผ่านการพัฒนากระบวนการผลิตให้ผลิตได้ภายในประเทศ ทำให้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบทั้งสองผ่านการประเมินแล้วว่ามีราคาที่จับต้องได้” ดร.ณัฎฐิกา กล่าวทิ้งท้าย
ผลิตภัณฑ์ต้นแบบสเปรย์และแชมพูสมุนไพรช่วยเสริมการยับยั้งโรคเชื้อราที่ผิวหนังสุนัขและแมวเป็นตัวอย่างสองผลงานวิจัยเด่นที่ สวทช. พัฒนาขึ้นเพื่อให้สอดรับกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสัตว์เลี้ยง โดยคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยง ผู้ดูแล และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วัตถุดิบทางการเกษตรไทย เพื่อเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนตามหลักคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG
สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) เบอร์โทรศัพท์ 0 2564 7100
เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย ภัทรา สัปปินันทน์ และนาโนเทค สวทช.
ภาพประกอบโดย ภัทรา สัปปินันทน์ และ shutterstock