หน้าแรก ไทยเดินหน้าพัฒนานโยบายและอุปกรณ์ลดความรุนแรงอุบัติเหตุ ‘ชนมุดท้าย-ข้าง รถบรรทุก’ หนุนลดอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนน
ไทยเดินหน้าพัฒนานโยบายและอุปกรณ์ลดความรุนแรงอุบัติเหตุ ‘ชนมุดท้าย-ข้าง รถบรรทุก’ หนุนลดอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนน
9 พ.ค. 2566
0
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

ไทยเดินหน้าพัฒนานโยบายและอุปกรณ์ลดความรุนแรงอุบัติเหตุ ‘ชนมุดท้าย-ข้าง รถบรรทุก’ หนุนลดอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนน

 

ประเทศไทยมีสถิติการเกิดเหตุรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ‘ชนหรือมุดเข้าด้านท้าย-ข้างของรถบรรทุก’ ติดอันดับต้นของโลก มีอัตราการเกิดเหตุเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือมากกว่า 60 ครั้งต่อปี ซึ่งอุบัติเหตุเหล่านี้มักนำมาซึ่งการบาดเจ็บสาหัสและการเสียชีวิต กรมการขนส่งทางบกร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และพันธมิตร เดินหน้าพัฒนานโยบายและอุปกรณ์ลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ ‘ชนหรือมุดท้าย-ข้างรถบรรทุก’ เพื่อยกระดับความปลอดภัย ลดอัตราการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ

 

ตั้งเป้าออก ข้อกำหนดติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านท้ายและข้างรถบรรทุก

 

ไทยเดินหน้าพัฒนานโยบายและอุปกรณ์ลดความรุนแรงอุบัติเหตุ ‘ชนมุดท้าย-ข้าง รถบรรทุก’ หนุนลดอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนน
นายจักรกฤช ตั้งใจตรง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรม กรมการขนส่งทางบก

 

นายจักรกฤช ตั้งใจตรง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรม กรมการขนส่งทางบก อธิบายถึงสาเหตุความรุนแรงของอุบัติเหตุประเภทนี้ว่า ด้วยโครงสร้าง ขนาด ความสูง และความแข็งแรงที่แตกต่างกันมากระหว่างรถบรรทุกกับยานพาหนะขนาดเล็ก อาทิ รถเก๋ง รถกระบะ รถจักรยานยนต์ ทำให้รถขนาดเล็กที่พุ่งเข้าชนท้ายหรือสไลด์เข้าด้านข้างรถบรรทุก ไม่อาจต้านทานความเสียหายที่เกิดขึ้นได้มากนักแม้รถเหล่านั้นจะผ่านการออกแบบเชิงวิศวกรรมเพื่อลดความรุนแรงของอุบัติเหตุมาเป็นอย่างดี

“จากความสูญเสียที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลงอย่างชัดเจนตลอดสิบปีที่ผ่านมานี้ ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรออกข้อกำหนดการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านท้าย (Rear Underrun Protective Device: RUPD) และด้านข้าง (Lateral Protective Device: LPD) บนรถบรรทุก สำหรับลดความเสี่ยงในการมุดหรือสไลด์เข้าไปใต้ตัวรถหากเกิดเหตุยานพาหนะขนาดเล็กพุ่งชน เพื่อลดความเสียหายและเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต ดังข้อกำหนดขององค์การสหประชาชาติ  (UN vehicle regulations) ที่มีการใช้งานแล้วในยุโรปและหลายประเทศในเอเชีย เพราะแม้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะไม่ได้มีเหตุมาจากรถบรรทุกหรือผู้ขับขี่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้ช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ตั้งแต่ช่วงเมษายน 2565 กรมการขนส่งทางบก ได้ร่วมกับเอ็มเทค สวทช. และพันธมิตรผู้ประกอบการด้านการขนส่ง ผู้ผลิตรถ ผู้ผลิตชิ้นส่วน ผู้นำเข้า และผู้ประกอบตัวถังรถบรรทุกในประเทศไทย เดินหน้าพัฒนาประกาศเรื่อง ‘การกำหนดคุณลักษณะและเงื่อนไขในการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้ายของรถที่ใช้ในการขนสัตว์หรือสิ่งของ’ โดยพิจารณาร่วมกันทั้งด้านมาตรฐานความปลอดภัยที่เป็นสากล การปรับเงื่อนไขของอุปกรณ์ให้สอดคล้องกับการใช้งานรถบรรทุกในประเทศไทย และการพิจารณาความพร้อมในการติดตั้งอุปกรณ์ของผู้ประกอบการ จนปัจจุบันคณะทำงานได้ข้อสรุปที่มีความพร้อมแล้ว คาดว่าจะออกประกาศได้ภายในกลางปีนี้ โดยมีผลบังคับใช้ในปีหน้า (มกราคม 2567)”

 

ไทยเดินหน้าพัฒนานโยบายและอุปกรณ์ลดความรุนแรงอุบัติเหตุ ‘ชนมุดท้าย-ข้าง รถบรรทุก’ หนุนลดอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนน

ไทยเดินหน้าพัฒนานโยบายและอุปกรณ์ลดความรุนแรงอุบัติเหตุ ‘ชนมุดท้าย-ข้าง รถบรรทุก’ หนุนลดอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนน

 

เปิดตัว อุปกรณ์กันมุดที่เหมาะสมกับรถบรรทุกไทย

ในด้านการพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้าย เอ็มเทค สวทช. ในฐานะองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้เร่งดำเนินการศึกษาและออกแบบอุปกรณ์ป้องกันด้านท้ายและข้างที่ปลอดภัยตามมาตรฐานระดับสากล มุ่งเน้นการผลิตในประเทศ ลดต้นทุนการผลิต ลดการนำเข้า และผู้ผลิตในไทยสามารถผลิตอุปกรณ์ได้ทันรองรับความต้องการภายในประเทศเมื่อข้อกำหนดมีผลบังคับใช้

 

ไทยเดินหน้าพัฒนานโยบายและอุปกรณ์ลดความรุนแรงอุบัติเหตุ ‘ชนมุดท้าย-ข้าง รถบรรทุก’ หนุนลดอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนน
ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ
เอ็มเทค สวทช.

 

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ เอ็มเทค สวทช. อธิบายว่า ในการพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้ายให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย ทีมวิจัยได้นำข้อกำหนดขององค์การสหประชาชาติ UN R73 และ UN R58 ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยของอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้ายรถบรรทุกตามลำดับ มาใช้เป็นแนวทางในการออกแบบเชิงวิศวกรรมรวมถึงการวิเคราะห์และทดสอบตามมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์

 

ไทยเดินหน้าพัฒนานโยบายและอุปกรณ์ลดความรุนแรงอุบัติเหตุ ‘ชนมุดท้าย-ข้าง รถบรรทุก’ หนุนลดอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนน
อุปกรณ์ป้องกันด้านข้าง (Lateral Protective Device: LPD)

 

ไทยเดินหน้าพัฒนานโยบายและอุปกรณ์ลดความรุนแรงอุบัติเหตุ ‘ชนมุดท้าย-ข้าง รถบรรทุก’ หนุนลดอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนน
อุปกรณ์ป้องกันด้านท้าย (Rear Underrun Protective Device: RUPD)

 

“ซึ่งปัจจุบันทีมวิจัยได้พัฒนาแบบเชิงวิศวกรรมชิ้นส่วนย่อยของอุปกรณ์ RUPD และ LPD ที่จำเป็นต้องติดตั้งให้ผู้ประกอบการได้เลือกใช้ผลิตอุปกรณ์รวมแล้วมากกว่า 90 แบบ โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้งานส่วนเชื่อมต่อ (Spacer/ Bracket & support), คานขวาง (Protective beam/ Cross section/ Beam section) และขายึด (Stay/ Chassis attachment) ได้ตามความเหมาะสม ผ่านการจัดชุดอุปกรณ์แบบผสมฟังก์ชันให้สอดคล้องกับรูปแบบลักษณะของรถในประเทศไทย ด้วยวิธีการที่เรียกว่า Morphological Matrix’ ที่ช่วยให้ผู้ผลิตจัดสรรอุปกรณ์สำหรับนำไปผลิตตามได้หลากหลายรูปแบบ โดยทีมวิจัยได้จัดเตรียมเครื่องมือนี้ไว้ให้บริการในแพลตฟอร์มแล้ว ผู้ที่สนใจเข้าใช้บริการได้ที่แพลตฟอร์มฐานข้อมูลแบบเชิงวิศวกรรมสำหรับผู้ผลิตในประเทศ

 

ไทยเดินหน้าพัฒนานโยบายและอุปกรณ์ลดความรุนแรงอุบัติเหตุ ‘ชนมุดท้าย-ข้าง รถบรรทุก’ หนุนลดอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนน
ผลงานต้นแบบอุปกรณ์ป้องกันด้านข้าง (Lateral Protective Device: LPD)

 

ไทยเดินหน้าพัฒนานโยบายและอุปกรณ์ลดความรุนแรงอุบัติเหตุ ‘ชนมุดท้าย-ข้าง รถบรรทุก’ หนุนลดอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนน
ผลงานต้นแบบอุปกรณ์ป้องกันด้านข้าง (Lateral Protective Device: LPD)

 

ไทยเดินหน้าพัฒนานโยบายและอุปกรณ์ลดความรุนแรงอุบัติเหตุ ‘ชนมุดท้าย-ข้าง รถบรรทุก’ หนุนลดอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนน
ผลงานต้นแบบอุปกรณ์ป้องกันด้านท้าย (Rear Underrun Protective Device: RUPD)

 

ไทยเดินหน้าพัฒนานโยบายและอุปกรณ์ลดความรุนแรงอุบัติเหตุ ‘ชนมุดท้าย-ข้าง รถบรรทุก’ หนุนลดอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนน
ผลงานต้นแบบชิ้นส่วนอุปกรณ์เชื่อมต่อ

 

ไทยเดินหน้าพัฒนานโยบายและอุปกรณ์ลดความรุนแรงอุบัติเหตุ ‘ชนมุดท้าย-ข้าง รถบรรทุก’ หนุนลดอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนน
ผลงานต้นแบบชิ้นส่วนอุปกรณ์เชื่อมต่อ

 

โครงการความร่วมมือนี้นับเป็นการทำงานโดยคนไทยเพื่อคนไทยอย่างแท้จริง เพราะชุดข้อมูลที่ทีมวิจัยเลือกใช้เป็นหัวใจของการพัฒนา คือ ความพร้อมด้านการผลิตของผู้ประกอบการไทย และประสบการณ์การใช้งานจริงจากผู้ให้บริการด้านการขนส่ง

ดร.ศราวุธ อธิบายว่า ความท้าทายในการพัฒนาอุปกรณ์นี้มีถึง 5 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนาอุปกรณ์ให้มีความแข็งแรงตามมาตรฐานสากล การออกแบบให้อุปกรณ์มีน้ำหนักเหมาะสม วัสดุที่ใช้ผลิตหาได้ในประเทศ ผู้ผลิตภายในประเทศดำเนินการผลิตด้วยโรงงานที่มีอยู่ และสุดท้ายคือต้นทุนการผลิตต้องถูกกว่าการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ เพราะหากตกหล่นข้อใดข้อหนึ่งก็อาจส่งผลกระทบให้การดำเนินงานขับเคลื่อนไม่สำเร็จได้

“อีกด้านหนึ่งที่ สวทช. ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือ การผลักดันให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในไทย (SMEs) มีโอกาสคว้าส่วนแบ่งทางการตลาดได้ทันการประกาศใช้นโยบายที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในต้นปีหน้า สวทช. โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) จึงได้เตรียมพร้อมให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการสนับสนุนเงินทุนในการวิจัยตามเงื่อนไขที่กำหนดแล้ว” ดร.ศราวุธ ทิ้งท้าย

ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบการด้านการขนส่ง ผู้ผลิตรถ ผู้ผลิตชิ้นส่วน ผู้นำเข้า และผู้ประกอบตัวถังรถบรรทุกในประเทศไทย ติดตามประกาศบังคับใช้จากกรมการขนส่งทางบกได้ในช่วงกลางปีนี้ และสำหรับผู้ที่สนใจขอรับคำปรึกษาด้านโครงสร้างเชิงวิศวกรรม ร่วมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือนำอุปกรณ์เข้าทดสอบมาตรฐานความปลอดภัย ติดต่อได้ที่ คุณสุนทรีย์ โฆษิตชัยยงค์ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เอ็มเทค โทร 0 2564 6500 ต่อ 4783 หรือ e-mail soontaree.kos@mtec.or.th

แชร์หน้านี้: