หน้าแรก ภาคีเครือข่าย 16 องค์กร จัดงาน ‘วันความปลอดภัยผู้ป่วยโลก’ ภายใต้แนวคิด Engaging patients for patient safety
ภาคีเครือข่าย 16 องค์กร จัดงาน ‘วันความปลอดภัยผู้ป่วยโลก’ ภายใต้แนวคิด Engaging patients for patient safety
17 ก.ย. 2566
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(วันที่ 17 กันยายน 2566) ณ โรงแรม อัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ : ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้าร่วมงาน วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก ครั้งที่ 5 และ“วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย ครั้งที่ 7 ภายใต้แนวคิด Engaging patients for patient safety จัดโดย สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ 16 องค์กร โดยมีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การขับเคลื่อนงานยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยฯ” เนื่องในวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก และวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย พร้อมประกาศ “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรและประชาชน ระยะที่ 2: 3P Safety Strategy” พร้อมมอบประกาศนียบัตรแก่สถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 3P Safety Hospital ปี 2566 จำนวน 107 แห่ง

นายสันติ กล่าวว่า ปีนี้องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและญาติ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยในทุกมิติเรื่องความปลอดภัยของตนเอง รวมถึงครอบครัวและญาติในการดูแลให้มีความปลอดภัย พลิกแนวคิดจากการออกแบบการดูแลเพื่อผู้ป่วย เป็นการออกแบบการดูแลร่วมกับผู้ป่วย หรือ Engaging patients for patient safety สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ป่วย ครอบครัว และประชาชน เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของ Global Patient Safety Action Plan 2021-2030 ที่มีเป้าหมายลดความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นในระบบบริการ เปิดกว้างการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและประชาชน ตั้งแต่การปฏิบัติโดยการเป็นส่วนหนึ่งของทีมในการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว ไปจนถึงระดับนโยบาย โดยร่วมกันพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อความปลอดภัยสำหรับทุกคน ซึ่งการออกแบบการบริการในทุกมิติเรื่องความปลอดภัย จำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบ 3 ประการ คือ ผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุข ญาติและครอบครัว

“ขอชื่นชมสถานพยาบาลทุกแห่งที่เข้าร่วมโครงการฯ แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารและทีมงานมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาระบบบริการที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับทุกคน ซึ่งการที่ประเทศไทยมีการขับเคลื่อนนโยบาย Patient and Personnel Safety หรือ 2P Safety มาอย่างต่อเนื่องถึง 4 ปี และประกาศความพร้อมที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระยะที่ 2 โดยเพิ่มความปลอดภัยไปถึงประชาชน เป็น Patient, Personnel and People Safety หรือ 3P Safety เพื่อเป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวสู่ระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อทุกคนนั้น ผมพร้อมที่จะสนับสนุนและผลักดันอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ 3P Safety เป็นประเทศแรกในโลกอีกครั้ง” นายสันติกล่าว

แพทย์หญิงปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในผู้ป่วยและบุคลากร มาตั้งแต่ต้น มีนโยบาย Patient and Personnel Safety มียุทธศาสตร์การขับเคลื่อนระยะที่ 1 พ.ศ. 2561-2565 และ มีเป้าหมายความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคคลากรระดับประเทศ ซึ่งกำหนดแนวทางปฏิบัติเป็น SIMPLE โดยมีการพัฒนาและขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติกับสถานพยาบาลทั่วประเทศ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการจำนวน 950 โรงพยาบาล เป็นโรงพยาบาลสมาชิกใหม่ที่เข้าร่วมโครงการและรับใบประกาศนียบัตรเป็นโรงพยาบาล 2P Safety Hospital จำนวน 107 โรงพยาบาล โดยทุกโรงพยาบาลมีการประกาศเป้าหมายความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข ทั้งนี้ ประเทศไทยนำแนวทางปฏิบัติ 2P Safety ไปประยุกต์ใช้และสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการรายงานอุบัติการณ์เข้าสู่ระบบ National Reporting and Learning System เพื่อเฝ้าระวังและนำอุบัติการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขด้วย

“ความปลอดภัย เป็นประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพที่เชิญชวนทุกสถานพยาบาลมาร่วมดำเนินการกันในปีนี้ โดยอาศัยองค์ประกอบทั้งผู้ป่วย บุคลากร ประชาชนหรือญาติผู้ดูแล เป็น 3P คือ Patient Personal และ People ผสมผสานในการพัฒนาระบบที่คำนึงถึงทั้งผู้ให้ ผู้รับบริการและญาติ เป็นการขับเคลื่อนที่มีพลังและมีการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง ซึ่งสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ทำให้เห็นถึงพลังที่ขยายเชื่อมต่อสังคมและประชาชนในการร่วมมือกันเพื่อความปลอดภัยในบริการสุขภาพ และประเทศไทยได้ประกาศการขับเคลื่อนที่ก้าวล้ำจาก Patient and Personnel Safety โดยเพิ่มความสำคัญของประชาชน หรือ People เป็น Patient, Personnel and People Safety หรือ 3P Safety ในเวทีประชุมรัฐมนตรีโลกที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ด้วย ทั้งนี้ ได้มีการวางแนวทางผ่านยุทธศาสตร์ 3P Safety strategy ซึ่งจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีต่อไป โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญความสำเร็จของการขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยในระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกและประเทศต่างๆ ทั่วโลก คือ การได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากผู้นำระดับสูง ทำให้การประกาศนโยบาย การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่ผ่านมา สามารถผนึกกำลังองค์กรหน่วยงานต่างๆ มาร่วมกันพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม การประกาศนโยบายเพิ่มเป็น 3P Safety จึงเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่นำไปสู่การสร้างความปลอดภัยและสังคมสุขภาวะอย่างมีส่วนร่วมเพื่อทุกคนอย่างเท่าเทียมโดยเริ่มต้นจากสถานพยาบาล” ผอ.สรพ.กล่าว

ด้าน ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ปีนี้นับเป็นการเดินทางมาถึงปีที่ 5 ที่ 2P Safety Tech ได้มีการพัฒนานวัตกรรม และถูกนำไปใช้จริง ซึ่งรวมแล้วมากกว่า 24 นวัตกรรม ยกตัวอย่าง 4 ผลงานที่น่าสนใจ เช่น  ผลงาน Rapid Response Alert จาก รพ.หาดใหญ่ มีผู้ป่วยใช้งานรวมกันแล้วกว่า 30,000 คน  ผลงานระบบการให้บริการเวรเปล รพ.สกลนคร มีผู้ป่วยใช้งานกว่า 60,000 คน ผลงาน Stroke ระยอง มีคนใช้งานกว่า 5,000 และ รพ.ค่ายสมเด็จพระนเรศวร พิษณุโลก ก็มีการนำไปใช้กับผู้ป่วยมากกว่า 6,000 และนวัตกรรมอื่น ๆ ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องก็มีผู้ป่วยได้ประโยชน์จากนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังส่งผลให้บุคลากรสาธารณสุข ลดเวลาในการปฏิบัติงานในหลายขั้นตอน เช่น ลดการกรอกเอกสารในกระดาษ เห็นข้อมูลคนป่วยแบบ Real-Time ทำให้รักษาได้เร็วขึ้น เป็นต้น

“สวทช. ได้ติดตามความก้าวหน้าโครงการ 2P Safety Tech อยู่เป็นระยะซึ่งทุกทีมต่างมีความตั้งใจในการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมเพื่อมุ่งแก้ปัญหาของแต่ละงาน และพิเศษกว่าทุกปีคือ ปีนี้เป็นปีแรกที่มีเงื่อนไขของการพัฒนาต้องร่วมมือกันระดับเครือข่าย ไม่ได้แยกกันทำทีละโรงพยาบาลเช่น 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นมิติของการพัฒนานวัตกรรมที่ก้าวข้ามอุปสรรคในหลาย ๆ ด้าน เช่น มีการทำงานระหว่างโรงพยาบาลชุมชน กัน องค์กรปกครองส่วนตำบล เป็นต้น เนื่องจากทุกท่านได้ร่วมมือกันตั้งแต่ต้น เห็นเส้นทางของการเติบโตของนวัตกรรม การพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาภายใต้แนวคิด Open Innovation เป็นความร่วมมือทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งนวัตกรรมที่เกิดขึ้นสามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่า โครงการนี้ มีส่วนกระตุ้นให้บุคลากรสาธารณสุขเกิดความตื่นตัวและมีแนวคิดการสร้างนวัตกรรมในองค์กรมากขึ้น ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมขององค์กรยุคใหม่ที่ต้องมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าปีนี้จะสามารถช่วยกันผลักดันให้เกิดการใช้งานจริงได้ และนำไปขยายผลต่อในวงกว้างได้มากกว่าเดิม อย่างไรก็ตามขอความยินดีกับทุกนวัตกรรมที่ได้นำเสนอ ทุกท่านถือว่าได้มากกว่ารางวัล คือ ความภาคภูมิใจที่งานของท่านถูกนำไปใช้จริง และขอขอบคุณ สรพ. ที่เปิดโอกาสให้ สวทช. ได้มีส่วนร่วม เชื่อมต่อนวัตกร มาเจอกับบุคลากรของสาธารณสุข ที่มาพร้อมกับปัญหาที่ท้าทาย” ดร.อดิสร กล่าวทิ้งท้าย

17 ก.ย. 2566
0
แชร์หน้านี้: