หน้าแรก 4 พันธมิตรเครือข่ายวิทยาศาสตร์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง ต่อยอดนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ สู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
4 พันธมิตรเครือข่ายวิทยาศาสตร์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง ต่อยอดนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ สู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
30 ก.ย. 2566
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

29-30 กันยายน 2566 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.) และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.)

จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง ครั้งที่ 5 (Advanced Engineering Workshop V) โดยมีผู้บริหาร นักวิจัย วิศวกรและบุคลากรจากทั้ง 4 หน่วยงาน รวมกว่า 200 คน ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการวิจัย พร้อมเข้าชมผลงานจากห้องปฏิบัติการวิจัยและศูนย์วิเคราะห์ทดสอบต่าง ๆ ของ สวทช.

ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง ครั้งที่ 5 (Advanced Engineering Workshop V) ถือเป็นการประชุมครั้งแรกที่ สวทช. ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในเครือข่ายร่วมกับ สดร. สซ. และ สทน. อย่างเป็นทางการ และได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานในปีนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานวิจัย พัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนำเสนอผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมขั้นสูง

เปิดโอกาสให้วิศวกร ช่างเทคนิค นักวิจัย และบุคลากรจากหลายหน่วยงาน ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในสาขาที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ทั้งการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบทางเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ สถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง

“การจัดงาน Advance Engineering Workshop ครั้งที่ 5 เป็นการสานความก้าวหน้าของงานวิจัยที่ดำเนินร่วมกันจากงานประชุมครั้งที่ผ่านมา อันได้แก่ การร่วมกันพัฒนากล้องจุลทรรศน์อิเล็คตรอนแบบส่องกราด (Scanning Electron Microscope: SEM) การพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจสอบอายุโบราณวัตถุโดยเครื่องเร่งอนุภาค Accelerator Mass Spectrometry (AMS) และการต่อยอดงานวิจัยด้าน Lidar ที่นำไปใช้ด้านโบราณคดี นอกจากนั้นจะเป็นการเปิดประเด็นใหม่ในการนำเสนอด้านเทคโนโลยีด้านยานยนต์และพลังงาน เพื่อให้ทั้ง 4 หน่วยงานได้รับทราบถึงงานที่แต่ละหน่วยงานดำเนินการอยู่ และเพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ นำไปสู่ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่อไป” ดร.สมบุญ กล่าว

ภายในงานได้รับเกียรติจากผู้บริหารจากทั้ง 4 หน่วยงาน ได้แก่ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ และดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมเวทีการอภิปรายในหัวข้อ “ศักยภาพและทิศทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง” พร้อมกันนี้ได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยจากนักวิจัยรวม 25 ผลงานจากทั้ง 4 หน่วยงาน อาทิ

เทคโนโลยีด้านวิศวกรรมในยานพาหนะไฟฟ้าเทคโนโลยีพลังงานเพื่อความยั่งยืน ความก้าวหน้าการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอุปกรณ์และวิศวกรรมการแพทย์ ความก้าวหน้าการพัฒนากล้องจุลทรรศน์อิเล็คตรอนแบบส่องกราด ความก้าวหน้าการพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจสอบอายุโบราณวัตถุโดยเครื่องเร่งอนุภาค เทคโนโลยี LiDAR และแนวโน้มการประยุกต์ใช้ในงานสำรวจทางโบราณคดี และความก้าวหน้าการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องด้านอวกาศ โดยผู้เข้าร่วมประชุมยังได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานและชมผลงานของ 6 ห้องปฏิบัติการวิจัยและ 2 ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบของ สวทช.

การประชุมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ โดยนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบทางเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง ซึ่งจะนำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรมของไทย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมของไทยและขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีในประเทศต่อไป

30 ก.ย. 2566
0
แชร์หน้านี้: