หน้าแรก สวทช. จัดงานประชุมวิชาการประจำปี ‘NAC2024’ ชูงานวิจัย BCG Implementation พลิกโฉมประเทศ
สวทช. จัดงานประชุมวิชาการประจำปี ‘NAC2024’ ชูงานวิจัย BCG Implementation พลิกโฉมประเทศ
29 มี.ค. 2567
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(29 มีนาคม 2567) ณ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2567 (NSTDA Annual Conference: NAC2024) จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “สานพลัง สร้างงานวิจัย พลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วย BCG Implementation”
เพื่อตอบเป้าหมายหลักของแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ได้กำหนดไว้ใน 4 มิติ ได้แก่ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม, เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ, เพิ่มการพึ่งพาตนเอง และสร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทยสู่ความยั่งยืน ระหว่างวันที่ 28 -30 มีนาคม 2567 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โดยมี นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายไชยรัตน์ บุตรเทพ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี พล.ต.ยอดอาวุธ พึ่งพักตร์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 พล.ต.ต.ยุทธนา จอนขุน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พร้อมอดีตผู้บริหาร คณะผู้บริหารและพนักงานกระทรวง อว. และ สวทช. ร่วมรับเสด็จฯ
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กราบบังคมทูลรายงานว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินงานตามพระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ.2534 นับจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 33 ปี โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ได้ระดมบุคลากรจากหลายภาคส่วนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ สวทช. ผลักดันผลงานวิจัยเชิงรุก ให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมในวงกว้างซึ่งเป็นที่ประจักษ์ มีการนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์มากกว่า 400 โครงการ สร้างมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า 46,000 ล้านบาท และก่อให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการผลิตและบริการกว่า 15,000 ล้านบาท ตัวอย่างผลงาน เช่น Traffy Fondue แอปพลิเคชัน รับแจ้งปัญหาสภาพเมืองจากประชาชนส่งตรงถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบ ปัจจุบันรับเรื่องแจ้งแล้วกว่า 500,000 เรื่อง มีหน่วยงานนำไปใช้ประโยชน์ทั่วประเทศ A-MED Care Pharma แพลตฟอร์มที่สนับสนุนการบริหารจัดการระบบสาธารณสุข เชื่อมร้านยาที่เข้าร่วมโครงการกว่า 1,600 ร้าน ดูแล 16 อาการเจ็บป่วยเล็กน้อย

FoodSERP แพลตฟอร์มให้บริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน ในรูปแบบ One Stop Service ให้แก่ผู้ประกอบการแล้ว 70 ราย เกิดผลิตภัณฑ์ระดับอุตสาหกรรมแล้ว 18 ผลงาน ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ได้สนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกว่า 689 ราย และให้บริการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์มากกว่า 83,000 รายการ ด้านการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ช่วยยกระดับความสามารถของเกษตรกรไทยกว่า 14,000 คน ใน 29 จังหวัด ด้านการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ มีบทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ 711 บทความ คำขอจดทรัพย์สินทางปัญญา 252 คำขอ รางวัลทั้งในระดับชาติและนานาชาติ 84 รางวัล สำหรับการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้สนับสนุนทุนบัณฑิตและนักวิจัยอาชีพรวม 713 คน และส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้แก่เยาวชนกว่า 10,000 คน

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กราบบังคมทูลรายงานว่า การประชุมประจำปี สวทช. ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 19 โดยปีนี้มุ่งเน้นการนำเสนอศักยภาพด้าน วทน. ของ สวทช. ผ่านผลงานวิจัยทั้งในรูปแบบการจัดประชุมสัมมนา และการจัดนิทรรศการโดยไฮไลต์ของนิทรรศการปีนี้ นอกจากนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย” ยังมีนิทรรศการความก้าวหน้าของงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากนักวิจัย สวทช. ทั้ง 5 ศูนย์วิจัยแห่งชาติ ที่ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ตลอดจนชุมชนและภาคประชาสังคมทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 57 ผลงาน ซึ่งมีทั้งผลงานวิจัยที่นำไปใช้จนเกิดประโยชน์ในวงกว้างเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม และผลงานวิจัยที่พร้อมส่งมอบให้กับภาคสังคมได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้

“ตัวอย่างผลงานวิจัยเด่น เช่น การพัฒนาวัคซีนสำหรับสัตว์เศรษฐกิจ โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เป็นต้นแบบวัคซีนป้องกันโรคระบาดในสุกรจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ท้องถิ่นของประเทศไทย มีความปลอดภัยสูงในสุกร สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อได้ดีกว่าวัคซีนรูปแบบอื่น ผ่านการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพเบื้องต้นร่วมกับกรมปศุสัตว์ในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ซึ่งมีศักยภาพการขยายขนาดเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้

ชุดตรวจคัดกรองติดตามโรคไตเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวานเชิงคุณภาพ (AL-Strip และ GO-SENSOR) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ซึ่งเป็นชุดตรวจแบบรวดเร็วทั้งแบบตรวจด้วยตนเองและตรวจในระดับห้องปฏิบัติการจำนวนมาก ใช้งานง่าย มีความแม่นยำ และมีราคาถูก ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการตรวจคัดกรองภาวะไตเสื่อมในระยะต้น รวมทั้งสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมสุขภาพเชิงป้องกันโรคไตเรื้อรังในคนไทย

นอกจากนี้ยังมี Thai School Lunch for BMA โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นระบบจัดสำรับอาหารเช้า-กลางวัน ในโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อติดตาม ประเมินคุณภาพ และการจัดการอาหารของโรงเรียนได้แบบ real-time ตอบโจทย์เรื่องของโภชนาการและ ค่าใช้จ่าย Lookie Waste: แอปพลิเคชันตรวจสอบปริมาณขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์อาหาร โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ใช้ตรวจสอบปริมาณขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์อาหารที่เกิดบริโภคในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลเพื่อสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภค และ EnPAT น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยาก โดยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) ร่วมกับพันธมิตรพัฒนาขึ้น มีคุณสมบัติเด่นที่มีจุดติดไฟสูงกว่า 300 องศาเซลเซียส สามารถป้องกันอัคคีภัยเมื่อเกิดเหตุการณ์หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด ช่วยสร้างความปลอดภัยสูงสุดให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กราบบังคมทูลเบิกคณะผู้เข้ารับพระราชทานรางวัลตามประเภทต่าง ๆ ในกิจกรรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการวิจัย ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้การสนับสนุนและส่งเสริม เพื่อให้เกิดบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ นำทรัพยากรต่าง ๆ มาประยุกต์ให้เกิดนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ โดยมีผู้เข้า เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานเกียรติบัตร จำนวนรวมทั้งสิ้น 33 ราย ได้แก่

ผู้ชนะเลิศการแข่งขัน Roboinnovator Challenge 2023 แบ่งเป็น รุ่น Junior จำนวน 2 ราย และ รุ่น Major จำนวน 5 ราย รวม 7 ราย ผู้ชนะเลิศการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 15 จำนวน 10 ราย ผู้ชนะเลิศการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 25 จำนวน 9 รายและผู้ชนะเลิศการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 26 จำนวน 7 ราย เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตร

จากนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2567 และทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “โครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี”และนิทรรศการความก้าวหน้างานวิจัยพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สวทช.

สำหรับนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ อาทิ โครงการความร่วมมือ “เพื่อนสวนพฤกษ์” เพื่อประสานและเป็นกลไกทำงานกับกรมป่าไม้ คือ ผาแดง ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเรื่องมาจากพระราชดำริ จ.ตาก

โครงการส่งเสริมการเรียนการสอนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการ ผลงานครบรอบความสัมพันธ์ 10 ปี ระหว่าง สวทช. และศูนย์วิจัยจูลิช และการจัดการน้ำอุปโภคของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเทพภูเงิน อำเภอน้ำโสม จ.อุดรธานี เป็นต้น

นิทรรศการ BCG Implementation” เพื่อตอบเป้าหมายหลักของแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ประกอบด้วย

1. เป้าหมายหลัก BCG : เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

การวิจัยและพัฒนาการผลิตพืชในระบบปิด (Plant factory) เพื่อผลิตสมุนไพร5 ชนิดพืช ได้แก่ บัวบก ขมิ้นชัน กระชายดำ ฟ้าทะลายโจร และกะเพรา แพลตฟอร์มการผลิตอาหารฟังก์ชั่นและ Functional ingredients ในระดับอุตสาหกรรม ร่วมกับหน่วยงาน ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และดัชนีชี้วัดระดับความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 สำหรับประเทศไทย (Thailand i4.0 Index)

2. เป้าหมายหลัก BCG : ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ระบบฐานข้อมูลสุขภาพเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ (KidDiary Platform) และระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับเด็ก (Thai School Lunch) ,การพัฒนาเศรษฐกิจด้วย BCG Model พื้นที่นำร่องทุ่งกุลาร้องไห้ สร้างเศรษฐกิจใหม่ จากฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนและเชื่อมโยงการท่องเที่ยว (5 จังหวัด 13 อำเภอ) และ ดิจิทัลแอปพลิเคชันสำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้

3. เป้าหมายหลัก BCG : สร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การพัฒนาตัวชี้วัดและฐานข้อมูล ด้าน CO₂ , CE, SDG เพื่อการค้าและความยั่งยืน และผลิตภัณฑ์กลุ่มโอเลโอเคมีเพื่ออุตสาหกรรมพลังงาน : EnPAT น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยากจากปาล์มน้ำมันไทยเปิดโอกาสสู่เครษฐกิจใหม่ด้วย BCG Implementation

4. เป้าหมายหลัก BCG : การพึ่งพาตัวเอง

การพัฒนาวัคซีนสัตว์เศรษฐกิจ, ชุดตรวจนวัตกรรมคัดกรอง ติดตามโรคไตเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน และแพลตฟอร์มบริการการแพทย์ปฐมภูมิ (Digital Healthcare Platform)

และ 5. การส่งเสริมและผลักดันการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI เช่น Medical AI Data Platform และ แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand National AI Strategy) เป็นต้น

สำหรับงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 19 จัดระหว่างวันที่ 28 – 30 มีนาคม 2567 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ภายในงานประกอบด้วย การสัมมนาและกิจกรรมเยาวชน 48 หัวข้อ นิทรรศการผลงานวิจัยนวัตกรรมของนักวิจัย สวทช. และพันธมิตรกว่า 57 ผลงาน กิจกรรม Open house เปิดบ้านต้อนรับนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม และนักลงทุน ได้เข้าชมโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ และ NAC Market 2024 ตลาดนัดจำหน่ายสินค้านวัตกรรมจากงานวิจัย สินค้าชุมชนในราคาพิเศษจากเครือข่าย สวทช. ผู้สนใจติดตามข้อมูลได้ที่ https://www.nstda.or.th/nac สอบถามเพิ่มเติมโทรศัพท์ 0 2564 8000

29 มี.ค. 2567
0
แชร์หน้านี้: