หน้าแรก ”ศุภมาส” หนุนภาคอุตสาหกรรมไทย รับมือมาตรการ CBAM (ปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน) ของ EU 
”ศุภมาส” หนุนภาคอุตสาหกรรมไทย รับมือมาตรการ CBAM (ปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน) ของ EU 
27 มี.ค. 2567
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

“ศุภมาส” รมว.อว. กำชับบอร์ด กวทช. ให้ทีมวิจัย สวทช. สนับสนุนการให้บริการฐานข้อมูลค่ากลางคาร์บอนในประเทศไทย เป็นที่ปรึกษาทางเทคนิคให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยเพื่อรับมือมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM ของสหภาพยุโรป ตามนโยบาย อว. ที่มุ่งตอบโจทย์เศรษฐกิจ-สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย

เมื่อวันที่ 27 มี.ค.67 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมการคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) โดยมีคณะกรรมการ กวทช.และผู้บริหาร สวทช. เข้าร่วม ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรุงเทพฯ

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งอุตสาหกรรมในประเทศไทย และผู้ประกอบการไทยกำลังเผชิญกับมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Cross Border Adjustment Mechanism: CBAM) ของสหภาพยุโรป หรือมาตรการ CBAM ในระยะเปลี่ยนผ่าน (ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566 – สิ้นปี 2568) และนับเป็นครั้งแรกที่จะมีการจัดเก็บเงินสำหรับสินค้านำเข้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง ก่อนที่สหภาพยุโรปบังคับใช้เต็มรูปแบบในวันที่ 1 มกราคม 2569 โดยผู้นำเข้าสินค้าเป้าหมาย 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. ซีเมนต์ 2. ไฟฟ้า 3. ปุ๋ย 4. เหล็กและเหล็กกล้า 5. ไฮโดรเจน และ 6. อะลูมิเนียม ไปยังสหภาพยุโรปจะต้องรายงานปริมาณการนำเข้ารวมถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนทั้งทางตรงและทางอ้อม (Embedded Emission) ของสินค้า รวมถึงอาจจะต้องซื้อ CBAM Certificate ตามปริมาณการนำเข้าและปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้านั้น ด้วยเหตุนี้ อว. โดย สวทช. จึงร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยดำเนินการเตรียมความพร้อมรับมือในเรื่องดังกล่าว ด้วยการจัดทำข้อมูล CBAM ของกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียมในปี 2566 และกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำข้อมูลอุตสาหกรรมเหล็กในปี 2567 และมีแผนการทำงานจัดทำข้อมูลไฟฟ้าของประเทศไทยร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในปี 2568 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลทันต่อการดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบของสหภาพยุโรปในปี 2569 ซึ่งเป็นขั้นแรกของการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับมาตรการ CBAM

“บอร์ด กวทช. มีความสนใจและให้ความสำคัญกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ในมิติที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน อาทิ การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนรายอุตสาหกรรมที่สำคัญ การพิจารณาก๊าซอื่นที่มิใช่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดจนมองภาพกว้างของการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทย หากสามารถจัดการเรื่องเหล่านี้ได้ดี จะสร้างโอกาสทางธุรกิจได้อีกมาก ทั้งภาคการเกษตร ภาคพลังงาน ภาคอุตสาหกรรม และ ภาคบริการ จึงขอให้ สวทช. ดำเนินการรอบด้านที่จำเป็นเพื่อพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศไทย พร้อมประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ การปรับโครงสร้างพลังงาน การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน การใช้เทคโนโลยีกักเก็บและใช้ประโยชน์คาร์บอน (CCUS) และใช้การกักเก็บคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติ (nature based solution) เพื่อลดและกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยมีแต้มต่อในเวทีการค้าระดับโลก“ รมว.อว.กล่าว

27 มี.ค. 2567
0
แชร์หน้านี้: