หน้าแรก คณะวิศวะ จุฬาฯ จับมือเอ็มเทค สวทช. และ อพวช. เป็นเจ้าภาพจัด “การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ IDC RoBoCon 2023”  
คณะวิศวะ จุฬาฯ จับมือเอ็มเทค สวทช. และ อพวช. เป็นเจ้าภาพจัด “การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ IDC RoBoCon 2023”  
20 ส.ค. 2566
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

19 สิงหาคม 2566 อิมแพค เมืองทองธานี : คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กระทรวง อว.)

เป็นเจ้าภาพจัด “การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ IDC RoBoCon 2023 ” ภายใต้หัวข้อ “Thailand: The World’s Kitchen” ประเทศไทย: ครัวของโลก รอบชิงชนะเลิศในวันที่ 19 สิงหาคม 2566 ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566 โดยในปีนี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน และมี 8 ประเทศเข้าร่วม ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อินเดีย เม็กซิโก อียิปต์ และไทย

ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงที่มาของการแข่งขันฯ ว่า “ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่สนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศไทย เอ็มเทค สวทช. ได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแข่งขันการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ในระดับประเทศมาตั้งแต่ปี 2551 หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปีนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการแข่งขันระดับนานาชาติ ครั้งที่ 33 ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 3 ต่อจากในปี 2550 และปี 2559 ในรูปแบบ Hybrid โดยนักศึกษาไทยได้มีโอกาสมากขึ้นในการเข้าแข่งขัน เพื่อสร้างประสบการณ์และแลกเปลี่ยนเสริมสร้างความรู้ในเชิงวิศวกรรมและปฏิบัติระหว่างกัน นำไปสู่การยกระดับเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศ พร้อมรับมือและปรับตัวให้เท่าทันกับเทรนด์เทคโนโลยีของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความสำคัญต่อการศึกษาและการผลิตกำลังคนทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เป็นหน่วยงานหลักในจัดการแข่งขันครั้งนี้ โดยการแข่งขันระดับนานาชาติเป็นรูปแบบจัดทีมแข่งขันแบบคละนักศึกษาจากประเทศต่าง ๆ ทำให้นักศึกษาไทยได้นำความรู้ทางวิชาการมาปรับใช้ในการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ ฝึกฝนทักษะการทำงานและการสื่อสารกับนักศึกษาประเทศต่าง ๆ ส่วนในโจทย์ปีนี้เป็นการแข่งขันภายใต้หัวข้อ “Thailand: The World’s Kitchen” หรือ ประเทศไทย: ครัวของโลก สอดคล้องกับการส่งเสริมให้อาหารไทยเป็น soft power ที่สำคัญในการสร้างจุดขายให้กับประเทศและสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย”

การแข่งขันครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาไทยจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เข้าร่วมจำนวน 34 คน จากนักศึกษาจำนวนที่เข้าร่วมทั้งหมด 91 คน แบ่งเป็น 13 ทีม ๆ ละ 7 คน แบบคละประเทศ ในรูปแบบ On-site และ Online ภายใต้ระยะเวลาที่จำกัดคือ 10 วัน (ระยะเวลาเก็บตัวและสร้างหุ่นยนต์แข่งขันตั้งแต่วันที่ 7-19 สิงหาคม 2566 ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และวัสดุและอุปกรณ์ที่กำหนดให้เท่านั้น โดยนักศึกษาต้องอาศัยทักษะต่าง ๆ ตั้งแต่การสื่อสารทำความรู้จักกัน แบ่งปันไอเดียความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ทางวิศวกรรมพื้นฐาน เพื่อออกแบบและสร้างหุ่นยนต์พิชิตโจทย์ปัญหา  โดยทีมที่ชนะการแข่งขันทีมชนะเลิศ Purple ทีมรองชนะเลิศ Light Blue ทีมรองชนะเลิศอันดับที่สอง Navy และ Yellowทีมออกแบบยอดเยี่ยม Navy

ทีมชนะเลิศ Purple

ทีมรองชนะเลิศอันดับที่สอง Navy และ Yellow

ทีมออกแบบยอดเยี่ยม Navy

20 ส.ค. 2566
0
แชร์หน้านี้: