หน้าแรก 11 องค์กร ผนึกจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ปี 2566 (IBD2023)  ภายใต้แนวคิด ความหลากหลายทางชีวภาพ กุญแจสู่ชีวิตที่ดีขึ้น
11 องค์กร ผนึกจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ปี 2566 (IBD2023)  ภายใต้แนวคิด ความหลากหลายทางชีวภาพ กุญแจสู่ชีวิตที่ดีขึ้น
12 ธ.ค. 2566
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

For English-version news, please visit : Inauguration of International Conference on Biodiversity 2023

วันนี้ (12 ธันวาคม 2566) เวลา 09.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ปี 2566 (International Conference on Biodiversity: IBD2023) ภายใต้หัวข้อ Biodiversity: Key to Better Life (ความหลากหลายทางชีวภาพ กุญแจสู่ชีวิตที่ดีขึ้น) จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 12-13 ธันวาคม พ.ศ.2566 ณ สวนหลวง ร. 9 กรุงเทพฯ โดยหน่วยงานที่ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย มูลนิธิสวนหลวง ร.9 มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9  สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) และกรุงเทพมหานคร ตลอดจนมีหน่วยงาน/องค์กรภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุนการประชุมอีกเป็นจำนวนมาก

ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา นางวรรณิพา ทองสิมา ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ และเจ้าหน้าที่ สวทช. เข้าร่วมเฝ้ารับเสด็จ ฯ

การประชุมฯ ครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัยและวิชาการ ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชีวภาพสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นเวทีระดับนานาชาติในการแสดงพลังความร่วมมือของบุคคลและหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศที่ดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ  และยกระดับความสามารถของนักวิจัยไทย ในการวิจัย การอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อสร้างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน นอกจากนี้ สวทช. ยังได้แสดงผลงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพในรูปแบบดิจิทัลภายในงานนี้ด้วย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศรวมกว่า 600 คน

ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงฟังปาฐกถาพิเศษจาก Keynote Speaker 3 ราย ได้แก่

–         ศาสตราจารย์ ดร. เฮนริค บัลสเลฟ มหาวิทยาลัยออร์ฮุส ประเทศเดนมาร์ก บรรณาธิการร่วมโครงการพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย บรรยายเรื่อง ความร่วมมือในภูมิภาคเหนือใต้ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ-พรรณพฤกษชาติของประเทศไทย

–         ศาสตราจารย์ ดร.ตัน ปวย หยก ผู้อำนวยการสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ และกรรมการบริหารสวนสาธารณะแห่งชาติ ประเทศสิงคโปร์ บรรยายเรื่อง บทบาทของสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

–         ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว กรรมการบริหารอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร และประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเทศไทย บรรยายเรื่อง “ความหลากหลายทางชีวภาพสร้างชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนไทย”

นอกจากนี้ยังมีการบรรยายพิเศษโดยวิทยากรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตลอดจนการนำเสนอผลงานวิชาการแบบปากเปล่าและแบบโปสเตอร์ รวมกว่า 100 เรื่อง ภายใต้หัวข้อหลัก 4 หัวข้อ คือ

  • ความหลากหลายทางชีวภาพกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศและการบริการ
  • ความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ความหลากหลายทางชีวภาพและแบบจำลองเศรษฐกิจบีซีจี
  • ความหลากหลายทางชีวภาพกับความร่วมมือระหว่างประเทศ

ต่อมาเวลา 14.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่น่าสนใจ จัดโดยหน่วยงาน/องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีบทบาทด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ อีก 12 เรื่องได้แก่

  • นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี: โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)
  • นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี: การฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ (กรณีศึกษา ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี)
  • การไฟฟ้าฝ้ายผลิตแห่งประเทศไทย: มหัศจรรย์พรรณพฤกษา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน): ศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศป่า ปตท. จากทะเล สู่ป่าเขา เข้าสู่เมือง
  • สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน: บทบาทของเครือข่ายภาคธุรกิจไทยในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย
  • สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: ดิน น้ำ ป่าไม้ พลังงานทดแทน สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
  • หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ: เศรษฐกิจหมุนเวียน บนฐานทรัพยากรชีวภาพ
  • บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน): เอ็กโก กรุ๊ป บนเส้นทางสู่ความยั่งยืนด้วยเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net Zero
  • สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน): 10 เรื่องเล่า Community BioBank
  • สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ: ความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม
  • กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง: นิเวศบริการของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
  • สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: นิทรรศการรูปแบบดิจิทัล

การประชุมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากหน่วยงานต่างๆ โดยเป็นการสนับสนุนในระดับแพลตตินัม 5 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) และระดับซิลเวอร์ ๘ หน่วยงาน ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ มูลนิธิสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มูลนิธิต่อต้านการทุจริต กลุ่มไทยรุ่งเรือง และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

 

12 ธ.ค. 2566
0
แชร์หน้านี้: