หน้าแรก สวทช. ผนึก กรมโรงงานฯ สภาอุตฯ จัดสัมมนา End of Waste Thailand ติดอาวุธผู้ประกอบการ เปลี่ยนของเสียในอุตสาหกรรมเป็น ‘ทรัพยากร’
สวทช. ผนึก กรมโรงงานฯ สภาอุตฯ จัดสัมมนา End of Waste Thailand ติดอาวุธผู้ประกอบการ เปลี่ยนของเสียในอุตสาหกรรมเป็น ‘ทรัพยากร’
8 มิ.ย. 2566
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

For English-version news, please visit : End of Waste Thailand Seminar presents opportunities for Thai industry to go green

(วันที่ 8 มิถุนายน 2566) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี: ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และโปรแกรม ITAP ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดสัมมนา End of Waste Thailand โอกาสและการผลักดันสู่ความสำเร็จ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมตามหลักการ End of Waste ซึ่งมีผู้ประกอบการกว่า 60 บริษัทเข้าร่วมงาน

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า การสัมมนา “End of Waste Thailand โอกาสและการผลักดันสู่ความสำเร็จ” ที่จัดขึ้นครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ความสำคัญ ในหลักการ End of waste และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยการนำงานวิจัยและพัฒนาที่หน่วยงานวิจัยมีองค์ความรู้ ประสบการณ์ หรือ ผลงานพร้อมใช้อยู่แล้วสู่การประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว เพื่อส่งเสริมผลักดันให้เกิดกฎระเบียบ หรือการปลดล็อคสู่การสิ้นสุดความเป็นของเสีย (waste) ให้ได้มากที่สุดและเป็นส่วนสำคัญให้เกิดการร่วมกันทำวิจัยเพิ่มมูลค่าให้กับกากของเสียอุตสาหกรรม เพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้และขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ และสามารถผลักดัน End of Waste Thailand ให้เกิดขึ้นได้ในเร็ววัน

“สวทช. มีทิศทางการทำงานวิจัยเพื่อผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG  ตามนโยบายภาครัฐ มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว เพื่อช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้แนวทาง Enhancing Waste Utilization with Industrial Symbiosis (IS) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนของเสีย (waste) จากอุตสาหกรรมหนึ่ง  ไปสู่การเป็นวัตถุดิบ (materials) ให้อีกอุตสาหกรรมหนึ่ง เป็นแนวทางในการทำวิจัยของ สวทช. มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยนักวิจัยได้สั่งสมประสบการณ์การทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในพันธมิตรที่สำคัญของ สวทช.”

ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การขับเคลื่อน End of waste Thailand จะสำเร็จลุล่วงได้ ต้องอาศัยจากความร่วมมือจาก 3 ภาคส่วนหลัก ได้แก่ หน่วยงานรัฐผู้กำหนด กฎระเบียบ กติกา โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม หน่วยงานภาคอุตสาหกรรม ผ่านทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานวิจัย โดย สวทช. ทั้งนี้ End of Waste Thailand เป็นแนวคิดที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะนำมาใช้กับการจัดการกากอุตสาหกรรมและพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

“ในระยะแรกกากอุตสาหกรรมที่กรมโรงงานฯจะผลักดันภายใต้แนวคิด End of Waste จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มชีววัตถุ (Bio materials) และกลุ่มแร่ธาตุพื้นฐาน (Basic mineral substances)

End of Waste สามารถช่วยลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก ลดการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ลดค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสีย ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากกากอุตสาหกรรม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความปลอดภัยต่อการใช้งาน นำไปสู่การเป็น Green industry ตามนโยบาย MIND ของกระทรวงอุตสาหกรรม คือ ใช้ “หัว” และ “ใจ” ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน”

ด้าน นายพร้อมพร อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานคณะทำงานพัฒนาแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (The Circular Material Hub) สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป้าหมายหนึ่งในการดำเนินงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คือ การเร่งนำผลงานวิจัยไทยมาประยุกต์ใช้กับการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG  ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของสภาอุตสาหกรรมฯ โดยได้นำแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ ควบคู่กับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มากำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การพัฒนาโมเดล Smart Agriculture Industry (SAI) โดยใช้ศักยภาพและความพร้อมของสมาชิกฯ เพื่อเป็นต้นแบบศูนย์ผลิตแหล่งโปรตีนจากพืชตามหลัก BCG แห่งแรกของประเทศ และมีแผนในการขยายไปยังจังหวัดต่าง ๆ

นอกจากนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะ สวทช. ทั้งความร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ในการจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมเพื่อรองรับมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) และล่าสุดได้หารือกับทีมผู้บริหารศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ถึงแนวทางความร่วมมือด้านการขับเคลื่อน Smart Agricultural Industry (SAI) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามนโยบาย One FTI ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ต้องการให้เกิดการทำงานเป็นทีมเดียวกันของภาครัฐ หน่วยวิจัย และอุตสาหกรรม

“สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีกลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิกที่หลากหลายใน 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ครอบคลุม 75 จังหวัด  มีทั้งอุตสาหกรรมผู้ก่อกำเนิดของเสีย(waste generator) อุตสาหกรรมรับขนส่งของเสีย(waste transporter) และอุตสาหกรรมรับบำบัด กำจัด ของเสีย(waste processor) ดังนั้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงสามารถเข้ามามีบทบาท และร่วมมือที่จะผลักดัน End of waste ได้ในทุกขั้นตอน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้กฎระเบียบ End of waste เกิดขึ้นได้จริงในประเทศ”

ภายในงานสัมมนาครั้งนี้มีบริการให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคแก่ผู้ประกอบการที่สนใจการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้ง โดยทีมวิจัยผู้เชี่ยวชาญของ สวทช. รวมถึงคำปรึกษาด้านการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำโครงการ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) รวมทั้งมีการนำเสนอนิทรรศการผลงานวิจัยด้านการเพิ่มมูลค่ากากของเสียโดย สวทช. และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

################

8 มิ.ย. 2566
0
แชร์หน้านี้: