หน้าแรก “พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ” องคมนตรี เปิดการสัมมนาวิชาการอุดมศึกษา ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์ BCG  สร้างคน สร้างต้นแบบพัฒนาเศรษฐกิจคู่คุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
“พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ” องคมนตรี เปิดการสัมมนาวิชาการอุดมศึกษา ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์ BCG  สร้างคน สร้างต้นแบบพัฒนาเศรษฐกิจคู่คุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
31 ส.ค. 2566
0
BCG
ข่าวประชาสัมพันธ์

วันที่ 31 สิงหาคม 2566 ณ หอประชุมวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี : พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนาวิชาการและแสดงนิทรรศการอุดมศึกษากับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์ BCG ซึ่งจัดโดย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 2 กันยายน 2566

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. บรรยายพิเศษ เรื่อง การขับเคลื่อนเศรฐกิจตามยุทธศาสตร์ BCG ว่า โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งริเริ่มโดยประเทศไทย และถูกประกาศให้เป็นวาระแห่งชาตินับแต่ปี 2564 นั้น กำลังได้รับการยอมรับในระดับชาติ โดยในการประชุม APEC ที่ผ่านมา ผู้นำทั้ง 21 ชาติ ได้ให้การรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วย เศรษฐกิจ BCG เนื่องจากมีจุดแข็ง คือ ครอบคลุมทั้ง 3 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio) ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular) ด้านการเศรฐกิจสีเขียว (Green) ที่จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจ ควบคู่กับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันได้ กระทรวง อว. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG โดยมุ่งสร้างบุคลากร สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรม พัฒนาประเทศ ผ่านกลไก 6 ด้านได้แก่ 1) การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม 2) การสนับสนุนเงินทุนและสิทธิประโยชน์ 3) การบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการ 4) การให้บริการ โครงสร้างและเครือข่าย 5) การเพิ่มความสามารถบุคลากร 6) การปรับปรุงข้อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ กลไกเหล่านี้จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันยุทธศาสตร์ BCG ให้เดินหน้าไปได้

ปลัดกระทรวง อว. กล่าวต่อว่า นอกจากบทบาทของกระทรวง อว. แล้ว มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และหน่วยงานต่าง ๆ ก็มีส่วนในการขับเคลื่อน BCG สู่ชุมชน ผ่านโครงการ Area-based กล่าวคือ การนำความรู้และนวัตกรรมในการสร้างอัตลักษณ์ชุมชน ซึ่งจะช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ช่วยเพิ่มความสุขให้กับคนในพื้นที่ โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มี 4 มหาวิทยาลัย ทำงานร่วมกับ 130 ตำบล สร้างโครงการต้นแบบภายใต้โมเดล BCG ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดี จึงอยากเชิญชวนทุกสถาบันการศึกษาทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ ร่วมมือกันพัฒนาและแก้ปัญหาให้กับชุมชนโดยมี BCG เป็นฐาน เพื่อเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศได้นำไปประยุกต์ใช้ต่อไป

ทั้งนี้ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สวทช. และทีมวิจัย สวทช. ได้เข้าร่วมงานดังกล่าวพร้อมทั้งให้การต้อนรับในบูธนิทรรศการแสดงผลงานด้าน BCG ของ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร อาทิ ด้านเกษตร ผลงาน Magik Growth หรือ นวัตกรรมถุงห่อผลไม้นอนวูฟเวน ทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. นำองค์ความรู้เรื่องวัสดุศาสตร์พัฒนาสูตรผสมเม็ดพลาสติก (polymer compound) ร่วมกับเทคโนโลยีการขึ้นรูปนอนวูฟเวน เพื่อให้วัสดุนอนวูฟเวนมีสมบัติให้น้ำและอากาศผ่านเข้าออกได้โดยง่าย ช่วยให้ทุเรียนที่ถูกห่อด้วยถุงห่อ Magik Growth สามารถสร้างสารสำคัญในผลไม้ทั้งแป้ง น้ำตาล สารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ และถุงห่อทุเรียนสามารถนำมาใช้ซ้ำได้ถึง 2 ฤดูกาลผลิต และยังช่วยเกษตรกรประหยัดต้นทุนจากการลดใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงศัตรูพืช สร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียน

ด้านพลังงาน อาทิ โครงการวิจัยและพัฒนาแพล็ตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นความสำเร็จของระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมที่มีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน

ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาทิ นวนุรักษ์ (NAVANURAK) แพลตฟอร์มสำหรับบริหารจัดการข้อมูลวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการข้อมูลวัฒนธรรมความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นระบบ บริการข้อมูลแบบเปิด Open Data (www.navanurak.in.th) เพื่อแบ่งปันข้อมูลไปใช้หรือต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการจัดแสดงนิทรรศการผลงานการวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการขับเคลื่อนด้วย BCG ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ภายในงาน มีการบรรยายพิเศษในหัวข้อทีน่าสนใจ อาทิ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์ BCG การบูรณาการความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏ ,โรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และ มหาวิทยาลัยราชภัฏยุคใหม่ เป็นต้น

///////////////////////

เกี่ยวกับ ‘โมเดลเศรษฐกิจ BCG’

โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตและประชาชนมีรายได้มากขึ้นด้วยการต่อยอดจุดแข็งของประเทศทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ประกอบด้วย Bioeconomy (ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ) สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากร Circular Economy (ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน) การนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และ Green Economy (ระบบเศรษฐกิจสีเขียว) ที่มุ่งเน้นแก้ปัญหามลพิษเพื่อลดผลกระทบต่อโลก โดยอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เป็นกลไกลสำคัญที่จะเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเดิมจาก ‘ทำมากแต่ได้น้อย’ ไปสู่ ‘ทำน้อยแต่ได้มาก’ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศไทยพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

31 ส.ค. 2566
0
แชร์หน้านี้: