หน้าแรก อีอีซี รวมพลังภาคีภาครัฐ-เอกชน MOU หนุนใช้รถยนต์ไฟฟ้าขนส่งสาธารณะ และรับส่งพนักงานในพื้นที่ อีอีซี พร้อมร่วมพัฒนาระบบนิเวศน์การลงทุน นำร่องปี 66 เกิดรถโดยสารไฟฟ้า 100 คัน คาดใน 2 ปีเพิ่มเป็น 10,000 คัน ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 5 แสนตัน/ปี จูงใจดึงลงทุนคลัสเตอร์ EV และ BCG รวม 40,000 ล้านบาท
อีอีซี รวมพลังภาคีภาครัฐ-เอกชน MOU หนุนใช้รถยนต์ไฟฟ้าขนส่งสาธารณะ และรับส่งพนักงานในพื้นที่ อีอีซี พร้อมร่วมพัฒนาระบบนิเวศน์การลงทุน นำร่องปี 66 เกิดรถโดยสารไฟฟ้า 100 คัน คาดใน 2 ปีเพิ่มเป็น 10,000 คัน ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 5 แสนตัน/ปี จูงใจดึงลงทุนคลัสเตอร์ EV และ BCG รวม 40,000 ล้านบาท
28 ก.ย. 2566
0
BCG
ข่าวประชาสัมพันธ์

For English-version news, please visit : Public-private initiative to promote the use of EV buses in EEC

วันที่ 28 ก.ย.2566 นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ และรถรับ-ส่งพนักงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ร่วมกับ นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ศาสตราจารย์ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ศาสตราจารย์ นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย นายวีระเดช เตชะไพบูลย์ นายกสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี 100) และนายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีถ่ายทอดองค์ความรู้ ขับเคลื่อนการลงทุนและใช้ประโยชน์จากรถยนต์ไฟฟ้า ในระบบขนส่งสาธารณะ และรับส่งพนักงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่อีอีซี อย่างยั่งยืน ณ ห้อง Conference 1-2  สำนักงานอีอีซี

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การลงนามฯ MOU ครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือสำคัญจากภาคีภาครัฐ และเอกชน เพื่อสนับสนุนการลงทุนในเศรษฐกิจ BCG ผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศน์ ดึงดูดการลงทุนนวัตกรรมใหม่ โดยเฉพาะในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายให้เป็นที่ตั้งและฐานการผลิต EV แห่งภูมิภาค โดยภายใต้กรอบความร่วมมือ  MOU ดังกล่าว จะส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่แพร่หลายในระบบขนส่งสาธารณะ และการรับส่งพนักงาน ประชาชนในพื้นที่ อีอีซี เข้าถึงบริการดังกล่าวได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ผลักดันให้เกิดการผลิต และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาด สอดคล้องกับเป้าหมายพัฒนาให้พื้นที่อีอีซี เป็นพื้นที่ Net Zero Carbon Emission ในภาคอุตสาหกรรม โดยระยะ 5 ปีแรก สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 10% และการลงทุนใหม่ในพื้นที่ 40% ต้องมีแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว สร้างการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน

ทั้งนี้ อีอีซี จะเชื่อมโยงความร่วมมือและพัฒนากลไกการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ โดยทุกฝ่าย จะร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การถ่ายทอดองค์ความรู้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ การติดตั้งสถานี ชาร์จไฟฟ้าเพื่อรองรับ รวมไปถึงขยายผลสร้างมูลค่าเพิ่มโครงการฯ โดยอีอีซี จะร่วมขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศจูงใจ ให้เกิดการลงทุน เช่น เรื่องสิทธิประโยชน์รูปแบบภาษีและไม่ใช่ภาษี การอำนวยความสะดวกเพิ่มความรวดเร็ว ในการอนุมัติ อนุญาตที่อีอีซีสามารถออกใบอนุญาตแทนหน่วยงานต่างๆ ได้ถึง 44 ใบอนุญาต คาดว่าจะเริ่มได้ ในมกราคม ปี 2567 ซึ่งจากความร่วมมือครั้งนี้ เป็นกิจกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับ คลัสเตอร์ EV และคลัสเตอร์ BCG (ในกลุ่มพลังงานสะอาด)

นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า สอวช. ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบาย อวน. (การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) สนับสนุนการพัฒนาและยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ จะดำเนินการภายใต้ข้อตกลง ฉบับนี้ เพื่อนำร่องให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เร่งให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนสำคัญ ให้มีคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัย และสร้างซัพพลายเชนในประเทศให้มีจำนวนมากขึ้น ตลอดจนการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญ และเมื่อความร่วมมือในพื้นที่อีอีซีนี้บรรลุเป้าหมายแล้ว จะสามารถถอด เป็นบทเรียนเพื่อขยายให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในการพัฒนาประเทศ สอดคล้องกับการพัฒนาไปสู่เป้าหมายการผลิตแล การใช้งานยานยนต์ไร้มลพิษ และเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย

ศาสตราจารย์ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การลงนาม ฯ ครั้งนี้ สวทช. จะเป็นหน่วยงานในการสนับสนุน ด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับรถโดยสารพลังงาน ไฟฟ้า และการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า ให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่อีอีซี เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ซึ่ง สวทช. ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง จากการสั่งสมองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง กับยานยนต์ไฟฟ้า เช่น การออกแบบแบตเตอรี่แพ็ค การออกแบบมอเตอร์ ระบบควบคุมพร้อมระบบขับเคลื่อน เทคโนโลยี การลดน้ำหนักตัวรถที่ยังคงความแข็งแรงของโครงสร้างและความปลอดภัย การวิเคราะห์ Vehicle dynamic การพัฒนา ระบบ EV Charger การพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติ รวมถึงการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบกับศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช. ซึ่งเป็นศูนย์วิเคราะห์ทดสอบและรับรองในระดับสากล เป็นต้น ทั้งนี้ สวทช. มีความพร้อมใน การสนับสนุนการทดสอบเทคโนโลยีในเชิงพาณิชย์ โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้จริง และยกระดับ ระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่อีอีซี รวมถึงส่งเสริมผู้ประกอบในการทดสอบมาตรฐาน ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของ สวทช. ที่ ต้องการสนับสนุนเทคโนโลยีตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำต่อไป

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ จะเป็นโครงการนำร่องเพื่อเป็นต้นแบบการใช้รถโดยสารไฟฟ้า สำหรับขนส่งสาธารณะและรับ-ส่งพนักงานสำหรับประชาชน เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในพื้นที่อีอีซี โดยคาดว่าในปี 2566 นี้จะเกิดรถโดยสารไฟฟ้า อย่างน้อย 100 คัน พร้อมสถานีชาร์ท ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 5 พันตันต่อปี เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และพัฒนาวัตถุดิบสินค้าในประเทศ (local content) เพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 60% สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศมากกว่า 360 ล้านบาท และคาดว่าภายใน 2 ปี หากสามารถปรับเปลี่ยนมาใช้รถโดยสารไฟฟ้าได้ 10,000 คัน จะมีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 60,000 ล้านบาท เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศมากกว่า 48,000 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 5 แสนตันต่อปี

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ธนาคารฯ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ปี 2570 ในการสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายด้านการค้าและการลงทุน ระหว่างประเทศ อันส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย โดยตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้า และ การลงทุนของไทยให้เติบโตในเวทีโลกอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ธนาคารฯ ได้เห็นถึงความท้าทายและโอกาสของการลงทุนตาม เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินสนับสนุนการลงทุนในเศรษฐกิจ สีเขียว เช่น EXIM Green Start เพื่อให้สอดคล้องตาม Thailand Taxonomy หรือ Exim Supply Chain Financing Solution เพื่อเสริมสภาพคล่อง SMEs ในเครือข่ายธุรกิจของผู้ประกอบการรายใหญ่ สำหรับความร่วมมือ ในครั้งนี้ จะสนับสนุนการเข้าถึงการบริการทางการเงินของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของ การประกอบธุรกิจ โดยธนาคารเห็นถึงโอกาสในการขยายตัวของอุตสาหกรรมดังกล่าวในอนาคต

28 ก.ย. 2566
0
แชร์หน้านี้: