หน้าแรก ครั้งแรก CEA มอบรางวัล CE Awards สวทช. คว้า 2 รางวัล Traffy Fondue และโครงการ Agri-Map ผลงานเด่นด้านการแก้ประเด็นทางสังคม (Creative Social Impact Awards)
ครั้งแรก CEA มอบรางวัล CE Awards สวทช. คว้า 2 รางวัล Traffy Fondue และโครงการ Agri-Map ผลงานเด่นด้านการแก้ประเด็นทางสังคม (Creative Social Impact Awards)
24 ส.ค. 2566
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

วันที่ 24 สิงหาคม 2566 ณ สามย่าน มิตรทาวน์ ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่าน มิตรทาวน์ กรุงเทพฯ : สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA  จัดพิธีมอบรางวัลความเป็นเลิศทางความคิดสร้างสรรค์ หรือ Creative Excellence Awards (CE Awards) ครั้งแรก เพื่อเชิดชูและส่งเสริมบุคคล ชุมชน ผู้ประกอบการ หน่วยงาน องค์กร หรือสถาบัน ต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการ เครื่องมือ หรือกระบวนการ โดยนำความคิดสร้างสรรค์ มาประยุกต์ใช้ในการสร้างให้เกิดคุณค่า (Value Creation) ที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคมหรือสิ่งแวดล้อมเพื่อต่อยอดไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศ โดยได้รับเกียรติจากนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานมอบรางวัลให้กับนักสร้างสรรค์จำนวน 28 รางวัล

โอกาสนี้ผลงานวิจัยของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คว้า 2 รางวัล ในหมวดรางวัล Creative Social Impact Awards ซึ่งมอบให้กับผลงาน ที่นำความคิดสร้างสรรค์ไปประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ไขหรือคลี่คลายประเด็นต่าง ๆ ทางสังคม (Social) อีกทั้งช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นให้น้อยลง และอยู่ในประเภทรางวัล Creative Community Engagement Award ซึ่งหมายถึง ผลงานดังกล่าวได้นำความคิดสร้างสรรค์ไปแก้ไขปัญหาของชุมชน เช่น ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม การสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้คนหรือหน่วยงานในชุมชน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขประเด็นสังคมนั้น ๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดย 2 ผลงาน สวทช. ที่คว้ารางวัล ได้แก่

ผลงาน Traffy Fondue (ทราฟฟี่ ฟองดูว์) โดย ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยอาวุโส กลุ่มนวัตกรรมดิจิทัลสำหรับเมือง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะผู้พัฒนาโครงการ Traffy Fondue แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง พร้อมทีมวิจัยเข้ารับรางวัล

ผลงาน Agri-Map กรมพัฒนาที่ดิน และศูนย์เทคโนโลยีอีเลกทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) โดยมี ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. และ ดร.นพดล คีรีเพ็ชร นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยคลังอนุพันธ์ความรู้ (KEA) กลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ (DSARG) เป็นตัวแทนรับรางวัล

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เวทีประกาศรางวัล Creative Excellence Awards จะเป็นปฐมบทใหม่ของการเฉลิมฉลองให้แก่ศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ที่ “ความคิดสร้างสรรค์” ไม่ได้อยู่แค่ในบริบทของศิลปะหรือความสวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็น “กระบวนการเชื่อมโยงและตกผลึกองค์ความรู้ใหม่ ๆ” ซึ่งมีพลังในการจุดประกายและขับเคลื่อนผู้คนในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเพื่อประโยชน์ต่อตนเอง ธุรกิจ ผู้คน ชุมชน สังคม หรือประเทศชาติ นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม

ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า รางวัล Creative Excellence Awards หรือ CE Awards ที่จัดขึ้นเป็นปีแรกนี้ นับว่าเป็นหนึ่งในกลไกสําคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศด้านการสนับสนุนผู้ประกอบการสร้างสรรค์ โดยเชิดชูเกียรติของนักสร้างสรรค์ไทยให้เป็นที่ยอมรับและรู้จักในวงกว้าง ทั้งยังเป็นการสร้างต้นแบบแห่งความสำเร็จของนักสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพในการถ่ายทอดผลงานที่สร้างประโยชน์และคุณค่าในหลากหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ตามสาขาต่าง ๆ รวม 28 รางวัล ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารางวัลนี้ยังจะช่วยกระตุ้นนักสร้างสรรค์ไทยได้พัฒนาผลงานที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจหรือคุณค่าทางสังคม เพื่อเพิ่มขีดความสามารในการแข่งขันและขับเคลื่อนประเทศได้

“สำหรับรางวัล CE Awards จะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อเป็นเครื่องการันตีรับรองความโดดเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนสร้างมูลค่าและความแตกต่างให้บุคคล หน่วยงาน และองค์กรที่ได้รับรางวัล รวมถึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์และการแสดงออกซึ่งวิสัยทัศน์แห่งความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก การกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักถึงผลกระทบที่ลึกซึ้งและยิ่งใหญ่ของความคิดสร้างสรรค์ในทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และสังคม ไปจนถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนสู่คนรุ่นถัดไป เพราะหัวใจของรางวัลนี้อยู่บนความเชื่อที่ว่า “ความคิดสร้างสรรค์คือพลังที่ไร้ขอบเขต” ไม่ว่าจะอยู่ในตัวของบุคคลคนหนึ่ง ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง หรือสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง พลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ที่ว่านี้ จะทำหน้าที่ในการจุดประกายและสรรค์สร้างเส้นทางอันหลากหลาย เพื่อบ่มเพาะนิเวศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ความคิดสร้างสรรค์ได้เติบโตงอกงาม พร้อมส่งต่อพลังเหล่านั้นสู่สังคมต่อไป” ดร. อรรชกา กล่าวทิ้งท้าย

24 ส.ค. 2566
0
แชร์หน้านี้: