หน้าแรก ก.ล.ต. – สวทช. หนุนผู้ประกอบการ BCG New S-curve และ SMEส่งเสริมกลไกการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
ก.ล.ต. – สวทช. หนุนผู้ประกอบการ BCG New S-curve และ SMEส่งเสริมกลไกการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
2 ส.ค. 2566
0
BCG
ข่าวประชาสัมพันธ์

2 สิงหาคม 2566 ที่ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซนทารา แกรนด์ แอท เซนทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดสัมมนา “การเผยแพร่บทศึกษาระบบนิเวศ และนโยบายที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการ BCG New S-curve และ SME” โดยสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำทีมโดย ศ. วิทวัส รุ่งเรืองผล และ รศ. ดร.พีระ เจริญพร นำเสนอผลการศึกษาซึ่งได้ระบุถึงปัญหาและอุปสรรคในการระดมทุนของผู้ประกอบการในกลุ่ม “BCG New S-curve และ SME” รวมทั้งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับต่อยอดในการกำหนดนโยบายหรือปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการระดมทุน พร้อมกันนี้ได้จัดสัมมนาพิเศษ หัวข้อ “แนวทางและความร่วมมือในการส่งเสริมผู้ประกอบการ BCG New S-curve และ SME ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน”

โดยมี ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นางสาวประภารัตน์ ตังควัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิทรอน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้แทนจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVE Exchange) และนายไพบูลย์ ดำรงวารี ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. ร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. เป็นขุมพลังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ของภาครัฐ เอกชน และชุมชน ผ่านการทำงานโดยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของนักวิจัยศูนย์แห่งชาติ 5 ศูนย์แห่งชาติ ที่สามารถนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสานต่อให้เป็นเทคโนโลยีเพื่อใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ สำหรับ BCG สวทช. เป็นเลขานุการของคณะกรรมการ BCG ของประเทศ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อกำหนดนโยบาย BCG ซึ่งเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับ ESG และ SDGs แนวทางการขับเคลื่อนให้การให้เติบโตของโลกอย่างสมดุล

“การจะเข้าสู่ SDGs หรือ ESG แต่ละประเทศบริบทไม่เหมือนกัน ประเทศไทยถือว่ามีจุดเด่นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และผลผลิตทางการเกษตรอยู่แล้ว ดังนั้นการเติบโตด้าน Bioeconomy มีได้สูง ขณะเดียวกันเรื่อง Circular economy และ Green economy เป็นเรื่องที่ต้องทำเพื่อลดการใช้ทรัพยากร และลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดจะเป็นไปได้ด้วยฐานของเทคโนโลยี เพราะจะเปลี่ยนแปลงจากอุตสาหกรรมปัจจุบัน ไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ต้องใช้เทคโนโลยีเสมอ

“BCG หรือ Bio-Circular-Green เป็นคำใหญ่ แต่คีย์เวิร์ดคือ Economy ดังนั้น BCG economy เรากำลังจะบอกว่าอนาคตเศรษฐกิจประเทศไทยต้องเป็นแบบนี้ทั้งประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจประเทศไทยจะโตขึ้น วิสัยทัศน์ 4 ด้าน 1.ต้องสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ 2.การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากต้องโตอย่างเข้มแข็ง 3.เทคโนโลยีใหม่ต้องถูกนำมาใช้ เพื่อสร้างความสามารถในการสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และ 4.ต้องยกระดับอุตสาหกรรม BCG ให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน สร้างนวัตกรรมพรีเมียม และให้ของเสียเป็นศูนย์

ทั้งนี้ด้วยตัวอุตสาหกรรม BCG นั้น จะทำให้มีอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้น คือ Circular-Green economy ซึ่งหลายอุตสาหกรรมกำลังปรับแปลงอุตสาหกรรมของตนเองให้รักษ์โลกมากขึ้น ใช้ทรัพยากรน้อยลง และจะเกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ดีขึ้นช่วยสร้างเศรษฐกิจด้วยตัวเอง”

อย่างไรก็ตาม สวทช. มีผลงานที่ออกมาก็จดเป็น IP Licensing เพื่ออนุญาตใช้สิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของผลงานวิจัยพร้อมถ่ายทอดมากกว่า 300 IP ต่อปี มีการร่วมกับบริษัทเพื่อวิจัย และการจ้าง สวทช. วิจัยมากกว่า 400 โครงการต่อปี แต่ละปีจะมี IP Market Place ในงาน Thailand Tech Show รวมมากกว่า 1,300 ผลงาน จาก 45 พันธมิตรทั่วประเทศ ทั้งหน่วยวิจัยภาครัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน รวมทั้งโครงการ ITAP ที่ช่วยเป็นกลไกการสนับสนุน SMEs ออกกันคนละครึ่ง

นอกจากนี้ สวทช. ยังมีเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น ยกเว้นภาษี 200% สำหรับการลงทุนวิจัยการพัฒนาและนวัตกรรม ซึ่ง สวทช. ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองโครงการวิจัยให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีกับกรมสรรพกร และการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่นิติบุคคล สำหรับค่าใช้จ่ายในการวิจัย เป็นจำนวน 2 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง รวมทั้งรับรองธุรกิจเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยีใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในกระบวนการผลิตและให้บริการ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ ได้แก่ ผู้ประกอบการรายใหม่ ที่เป็นกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือแนวหน้าและอยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี กิจการร่วมลงทุน ที่ลงทุนในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือแนวหน้าและอยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ยกเว้นภาษีสำหรับผลตอบแทนจากการลงทุน 10 ปี และ นักลงทุน ซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ที่ลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยี สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท

นายไพบูลย์ ดำรงวารี ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. เล็งเห็นความสำคัญของธุรกิจในกลุ่ม “BCG New S-curve และ SME” ตามแผนยุทธศาสตร์สำนักงาน ก.ล.ต. (ปี 2566 – 2568) ที่มุ่งสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายตามแนวนโยบายของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกของตลาดทุนซึ่งจะช่วยให้การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างเข้มแข็ง และสอดคล้องกับแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 4 ด้านการกำหนดแนวทางในการกำกับดูแลเพื่อลดอุปสรรคการเข้าถึงตลาดทุนของกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย โดยที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงเกณฑ์การระดมทุนสำหรับ SME และ Startup ผ่านช่องทางที่สะดวก มีทางเลือกที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการเงินทุน เช่น ระบบคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) การเสนอขายในวงจำกัด (PP-SME) และการเสนอขายบุคคลทั่วไปแบบ PO-SME ซึ่งปัจจุบันได้รับความสนใจและมีมูลการระดมทุนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนหลักเกณฑ์รับหุ้นสามัญเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนตามเกณฑ์มูลค่าหุ้นสามัญตามราคาตลาด (เกณฑ์ Market Capitalization) เพื่อส่งเสริมให้บริษัทไทยที่ประกอบธุรกิจในกลุ่ม BCG รวมถึงบริษัทต่างประเทศขนาดใหญ่ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทย

ทั้งนี้ภายในงานมีการออกบูธของ ก.ล.ต. และหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อให้ข้อมูล ตอบข้อซักถามและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการระดมทุนแก่ผู้ที่สนใจ

2 ส.ค. 2566
0
แชร์หน้านี้: