หน้าแรก สวทช. ร่วมกับ สกมช. ผนึกกำลังรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และเทคโนโลยี
สวทช. ร่วมกับ สกมช. ผนึกกำลังรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และเทคโนโลยี
1 ก.พ. 2567
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

1 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กสมช.)
จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการวิจัยและพัฒนา โดยได้รับเกียรติจาก พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมเป็นประธานลงนาม

โดยมี ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ พรหมวิกร  ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ร่วมเป็นพยานการลงนาม

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงการลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านการวิจัยและพัฒนา ระหว่าง สวทช. กับ กสมช.นี้ว่า ถือเป็นการผนึกกำลังของ 2 หน่วยงาน เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และเทคโนโลยี รวมถึงการสร้างความตระหนักด้านสถานการณ์เกี่ยวกับภัยคุกคามสารสนเทศทางไซเบอร์  และร่วมมือกันเพื่อให้มีการดำเนินงานเชิงปฏิบัติการที่มีลักษณะบูรณาการและเป็นปัจจุบัน เพื่อก่อให้เกิดโครงการ วิจัย หรือนวัตกรรม ที่จะเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาประเทศต่อไป

สวทช. เป็นสถาบันวิจัยและพัฒนา เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  ที่มีความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญของทีมนักวิจัย ซึ่งถือเป็นขุมพลังหลักทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ เรามีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรที่เป็นเจ้าของโจทย์สำคัญของประเทศในด้านต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในทุกภาคส่วน

ซึ่งในปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีดิจิทัล, AI ที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ช่องทางสื่อสารต่าง ๆ มีหลากหลายขึ้น ธุรกิจหลายภาคส่วน รวมถึงหน่วยงานของรัฐ ล้วนใช้ระบบดิจิทัล และการเชื่อมต่อความเร็วสูงเพื่อจะให้การทำงานทุกอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ต้องรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินดิจิทัลและปกป้องระบบของตนไม่ให้มีการเข้าถึงโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือเกิดเหตุการณ์โดยเจตนาที่มีการละเมิดและเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ เครือข่าย หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เชื่อมต่อโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งโดยรวมเรียกว่าการโจมตีทางไซเบอร์ ทั้งนี้การโจมตีทางไซเบอร์ที่ประสบความสำเร็จจะส่งผลให้เกิดการสัมผัสความเสี่ยง การโจรกรรม การลบข้อมูล หรือการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่เป็นความลับ ดังนั้นองค์กรที่ใช้กลยุทธ์การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์โดยการมีส่วนร่วมดำเนินงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จะช่วยประเมินความเสี่ยงด้านการรักษาความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ ตลอดจนเครือข่าย พื้นที่เก็บข้อมูล แอปพลิเคชัน และอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออื่น ๆ จากนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์จะสร้างเฟรมเวิร์กด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ครอบคลุมและใช้มาตรการป้องกันในองค์กรต่อไป

“ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นอีกก้าวสำคัญที่จะได้ร่วมกันเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และเทคโนโลยี รวมถึง การสร้างความตระหนักด้านสถานการณ์เกี่ยวกับภัยคุกคามสารสนเทศทางไซเบอร์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อข้อมูลส่วนบุคคลทั้ง 2 ฝ่าย ร่วมกันดำเนินการเชิงปฏิบัติการที่มีลักษณะบูรณาการ และให้ความช่วยเหลือในด้านการพัฒนากำลังคนเพื่อเสริมสร้างทักษะและองค์ความรู้ด้านการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และเทคโนโลยี รวมทั้งจัดฝึกอบรมและสัมมนา ระหว่างบุคลากรของทั้งสองฝ่าย เพื่อดำเนินการในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และเทคโนโลยี ตลอดจนดำเนินการฝึกอบรมเพื่อยกระดับทักษะความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เกี่ยวข้อง”

ด้าน พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวว่า สกมช. และ สวทช. ได้ร่วมกันส่งเสริม และสนับสนุนการศึกษาวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมและอุตสาหกรรม สำหรับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อให้เกิด ประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึงสถานการณ์เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ตลอดจนได้ร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ เนื่องจากการวิจัยและพัฒนามีบทบาทสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรือง ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชุมชนหรือประเทศ ตั้งแต่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ การป้องกันปัญหา จนถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้นการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ ระหว่าง สกมช. และ สวทช. ในงาน Thailand International Cyber Week 2024 จึงเป็นก้าวสำคัญ ในการยกระดับความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยี นวัตกรรมและอุตสาหกรรมสำหรับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

ทั้งนี้ สกมช. เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำหนดนโยบาย มาตรการ แนวทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สำหรับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน ตลอดจนความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ จึงมั่นใจว่าความพยายามร่วมกันของทั้ง 2 องค์กร จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี ให้กับประเทศไทยในอนาคต

1 ก.พ. 2567
0
แชร์หน้านี้: