หน้าแรก เอ็มเทค สวทช. ส่งโนฮาว นวัตกรรม ‘เปลความดันลบ’ ให้ บ.สุพรีร่าฯ ผลิตสู้ศึกการระบาดโควิด-19 โรคอุบัติใหม่
เอ็มเทค สวทช. ส่งโนฮาว นวัตกรรม ‘เปลความดันลบ’ ให้ บ.สุพรีร่าฯ ผลิตสู้ศึกการระบาดโควิด-19 โรคอุบัติใหม่
30 มิ.ย. 2564
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(30 มิถุนายน 2564) ที่ห้องประชุม 601 อาคารสราญวิทย์ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิผลงาน PETE (พีท) เปลปกป้อง หรือ ‘เปลความดันลบเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19’ แบบออนไลน์ ระหว่าง เอ็มเทค สวทช. กับ บริษัท สุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด

พร้อมได้มอบเปลความดันลบ ให้แก่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อใช้ในภารกิจการแพทย์ฉุกเฉิน โดยมี ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการเอ็มเทค สวทช. ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) นายไกร กาญจนวตี กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และ ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ ทีมวิจัยเอ็มเทค เข้าร่วมงาน

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการ เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า ทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม เอ็มเทค สวทช. ได้สร้างนวัตกรรม‘PETE (พีท) เปลปกป้อง’ หรือเปลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 โดยออกแบบส่วนแคปซูลไร้โลหะ แข็งแรง ปลอดภัย ช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 สามารถนำผู้ป่วยเข้าเครื่องเอกซเรย์-ซีที สแกน (CT Scan) ปอดผู้ป่วย ขณะอยู่บนเปลเพื่อคัดกรองอาการในสถานพยาบาล หรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลด้วยรถพยาบาลได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ  โดยวันนี้ เอ็มเทค สวทช. จัดพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงาน PETE (พีท) เปลปกป้อง หรือ ‘เปลความดันลบเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19’ ให้กับ บริษัท สุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด เป็นรายแรกและรายเดียว

โดยได้รับถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากงานวิจัยไปผลิตในเชิงพาณิชย์ ถือเป็นการผลักดันให้ผลงานวิจัยถูกนำไปสร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจของ เอ็มเทค สวทช. ซึ่งมีเป้าหมายใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรม ให้สามารถนำไปต่อยอดและขยายผลไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง นอกจากนั้นแล้วในวันนี้ทีมวิจัยเอ็มเทคร่วมกับบริษัท ได้ส่งมอบเปลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 1 ชุด ให้แก่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. เพื่อนำใช้งานในภารกิจการแพทย์ฉุกเฉิน เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าการระบาดของโรคโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของโรคร้ายที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัดทำงานอย่างหนัก รับหน้าที่เป็นเสมือนด่านหน้าในการต่อสู้กับโรค จึงจำเป็นต้องได้รับความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน โดยเปลความดันลบที่ เอ็มเทค สวทช. พัฒนาขึ้นนอกจากจะตอบโจทย์สำหรับเป็นอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 ไปในแต่ละจุดได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยแล้ว ยังมีราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศถึง 3 เท่า ซึ่งได้ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นกลไกในการยกระดับความสามารถอุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ของรัฐบาล

นายไกร กาญจนวตี กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัท สุพรีร่าฯ รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาร่วมลงนามในสัญญาอนุญาตให้สิทธิใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยเปลความดันลบเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดยยินดีเข้ามารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมนี้ พร้อมกับสิทธิเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว ด้วยประสบการณ์ในการให้บริการด้านเครื่องมือแพทย์ รวมถึงรถฉุกเฉิน รถพยาบาลแก่สถานพยาบาลทั่วประเทศมากว่า 30 ปี จึงมีความพร้อมในด้านการให้บริการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ และพร้อมที่จะร่วมต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยฝีมือคนไทยให้ได้มาตรฐานระดับสากล

“เราทราบว่าเปลความดันลบนี้เป็นผลงานวิจัยที่ทาง เอ็มเทค สวทช. ได้ทำงานเป็นอย่างหนักในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากผู้ใช้ และแก้ปัญหาด้านที่มีอยู่ของอุปกรณ์ชนิดเดียวกันนี้ที่มีอยู่ในท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้งานร่วมกับรถพยาบาล การเข้าเครื่อง CT Scan การออกแบบวิธีการทำความสะอาดรวมไปถึงการใช้อะไหล่และวัสดุที่มีอยู่ในประเทศ” สำหรับแผนการผลิตและจำหน่ายบริษัท สุพรีร่าฯ จะขอเป็นส่วนหนึ่งในฐานะคนไทยที่จะร่วมกันพัฒนาเครื่องมือแพทย์จากฝีมือคนไทย 100% ให้ได้มาตรฐานระดับสากล มีราคาที่จับต้องได้และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่สมเหตุสมผล เพื่อสนับสนุนงานวิจัยไทยและลดการพึ่งพาเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ ซึ่งนวัตกรรมเปลความดันลบที่เอ็มเทค สวทช. พัฒนาขึ้น ทำให้เห็นบทเรียนสำคัญว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งนี้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ และน่าจะเป็นหนทางที่ยั่งยืนและมั่นคงที่สุด

ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า เปลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยผลงานวิจัยจากเอ็มเทค สวทช. และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์สำหรับใช้ในประเทศนั้น สพฉ. ในฐานะหน่วยงานที่ใช้ประโยชน์มีความยินดีที่ได้อุปกรณ์นี้มาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางแพทย์ และเจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉินในภารกิจการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงมีความรุนแรงอยู่ ซึ่งนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก จนถึงระลอกล่าสุด สพฉ. ให้การปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชน ร่วมกับกรมการแพทย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และศูนย์เอราวัณ กทม. ในการนำส่งผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จากบ้านไปยังโรงพยาบาลสนามของหน่วยงานต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยผลการปฏิบัติงานระลอกล่าสุดตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน จนถึง 19 มิถุนายน 2564 นำส่งผู้ป่วยไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 7,500 ราย เป็นทีมปฏิบัติการทั้งสิ้น 139 ทีม ซึ่งหากแบ่งโรงพยาบาลปลายทางที่รับผู้ป่วยโควิด-19 มากที่สุดคือ โรงพยาบาลบุษราคัม จำนวนกว่า 2,000 ราย รองลงมาคือโรงพยาบาลสนามวัฒนา Factory ประมาณ 900 ราย และโรงแรมบางกอกชฎา 700 ราย ขณะที่ศูนย์นิมิบุตรรับผู้ป่วยไปรักษาแล้วประมาณ 600 ราย

“ในขั้นตอนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย นอกเหนือจากการมีบุคลากรเฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญ ตลอดจนรถพยาบาลที่พร้อมด้วยอุปกรณ์ช่วยชีวิตตามมาตรฐานสากลแล้ว สพฉ. เห็นความจำเป็นและประโยชน์ในการใช้งานอุปกรณ์เปลความดันลบรูปแบบนี้อย่างยิ่ง เพราะสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากจุดเกิดเหตุไปถึงจุดรักษา ไม่ว่าจะเป็นห้องฉุกเฉิน หรือเครื่อง CT scan ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนทั่วไปได้แล้ว ยังสามารถลดภาระ เวลา และค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดอุปกรณ์ได้อีกด้วย”

รองเลขาฯ สพฉ. กล่าวด้วยว่า เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าหากอุปกรณ์นี้สามารถกระจายไปใช้อย่างแพร่หลาย โดยติดตั้งไปพร้อมรถพยาบาลตั้งแต่ขั้นตอนเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รวมถึงการใช้งานภายในสถานพยาบาล จะช่วยให้ระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินจากจุดเกิดเหตุและระหว่างนำส่งโรงพยาบาล จนไปถึงขั้นตอนการรักษาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

30 มิ.ย. 2564
0
แชร์หน้านี้: