หน้าแรก สวทช. เดินหน้ายกระดับความร่วมมือกับ Forschungszentrum Jülich และพันธมิตรชั้นนำในเยอรมนี ร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ด้านการวิจัย เสริมสร้างระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรม และความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลก

สวทช. เดินหน้ายกระดับความร่วมมือกับ Forschungszentrum Jülich และพันธมิตรชั้นนำในเยอรมนี ร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ด้านการวิจัย เสริมสร้างระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรม และความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลก

23 พ.ค. 2568
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 12-14 พฤษภาคม 2568 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมคณะผู้บริหาร สวทช. ได้แก่ ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สวทช. สายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา รองศาสตราจารย์ ดร.เติมศักดิ์
ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ เดินทางเยือนอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของ Forschungszentrum Jülich (FZJ) ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยชั้นนำภายใต้ Helmholtz Association ณ เมือง Jülich สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงาน รวมถึงขยายความร่วมมือกับหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำของเยอรมนี มีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม พัฒนาทุนมนุษย์ของทั้งสองประเทศ

ในโอกาสนี้ Prof. Dr. Ulrich Schurr ผู้อำนวยการ Institute for Bio- and Geosciences (IBG) แห่ง FZJ ได้ให้การต้อนรับคณะผู้บริหาร สวทช. และร่วมหารือในประเด็นสำคัญด้านระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมของเยอรมนี ระบบการจัดสรรงบประมาณวิจัย การบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานวิจัย และการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน สวทช. ได้นำเสนอกลยุทธ์การผลักดันงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม และประชาชน

โดยในการเยือน Forschungszentrum Jülich (FZJ) อย่างเป็นทางการในครั้งนี้ ได้จัดให้มีการประชุมประจำปีของคณะกรรมการร่วม FZJ–สวทช. เพื่อรายงานความก้าวหน้าโครงการวิจัยร่วมที่ดำเนินการอยู่ ตลอดจนหารือแนวทางการขยายหัวข้อวิจัยใหม่ในปี 2568 โดยทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญกับด้านเศรษฐกิจชีวภาพ พลังงาน และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรวิจัยของไทย รวมถึงความร่วมมือเชิงนโยบายระหว่างประเทศ โดย สวทช. และ FZJ จะร่วมกันผลักดันโครงการวิจัยที่มีศักยภาพ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในการใช้ประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม สร้างนวัตกรรมทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ คณะ สวทช. ยังได้เข้าเยี่ยมชมและหารือกับศูนย์วิจัยระดับแนวหน้าภายใต้ FZJ และพันธมิตร อาทิ

  • Ernst Ruska-Centre for Microscopy and Spectroscopy with Electrons (ER-C): ศูนย์วิจัยชั้นนำด้านกล้องจุลทรรศน์และสเปกโทรสโกปีด้วยอิเล็กตรอนกำลังขยายสูง โดยเน้นการวิจัยและให้บริการโครงสร้างพื้นฐานระดับอะตอมสำหรับการวิจัยวัสดุขั้นสูง
  • Institute for a Sustainable Hydrogen Economy: ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมด้านไฮโดรเจนเคมี เช่น methanol, Dimethyl Ether, Ammonia และ Liquid Organic Hydrogen Carriers ที่พัฒนาเทคโนโลยีตั้งแต่งานวิจัยพื้นฐานจนถึงระดับอุตสาหกรรม โดยมีโครงการสาธิตมากกว่า 15 โครงการในพื้นที่เหมืองแร่ Rhine เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจพลังงานสะอาดและส่งเสริมการสร้าง startups
  • Photovoltaics Program (IMD-3), Institute of Energy and Climate Research: ดำเนินการวิจัยเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์แบบฟิล์มบาง (thin-film) และวัสดุใหม่ เช่น amorphous silicon, perovskite และ hybrid structures ครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบอุปกรณ์ การผลิต ไปจนถึงการประเมินประสิทธิภาพในสภาพการใช้งานจริง
  • RWE Power: บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี บริหารจัดการเหมืองแร่ลิกไนต์แบบเปิดหน้าในเขตไรน์ พร้อมดำเนินงานด้านการฟื้นฟูพื้นที่หลังการทำเหมือง (Recultivation) อย่างมีความรับผิดชอบ โดยได้ฟื้นฟูพื้นที่กว่า 200 ตารางกิโลเมตร ให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น พื้นที่เกษตรกรรม ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ และพื้นที่นันทนาการของชุมชน รวมถึงการวางแผนปรับเปลี่ยนสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ในระยะยาว
  • Next Generation Processes and Products Biorefinery (NGP2 Biorefinery), RWTH Aachen University  ศูนย์วิจัยด้านการแปรรูปชีวมวลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรี โดยมีอุปกรณ์สำคัญ เช่น reactors (bioreactors และ chemical reactors) สำหรับการแปรรูปชีวมวล  ระบบ separation processes (เช่น membrane filtration, chromatography) และระบบ process control แบบ real-time เพื่อทดสอบและปรับปรุงกระบวนการในระดับ pilot scale อย่างยืดหยุ่นและปลอดภัย เหมาะสำหรับการศึกษาการขยายขนาดและการผลิต ถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานทางวิศวกรรมระดับแนวหน้าของยุโรปด้าน biorefinery

ความร่วมมือระหว่าง สวทช. และ Forschungszentrum Jülich เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมในสาขาที่มีความสำคัญ อาทิ เทคโนโลยีด้านการเกษตรและเกษตรสมัยใหม่ ตลอดระยะเวลากว่าทศวรรษ ความร่วมมือดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม อาทิ การจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยร่วม NSTDA-Jülich Joint Lab และการสนับสนุนทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกสำหรับนักวิจัย สวทช. รวมถึงโครงการวิจัยร่วม เช่น IRRIGATION 4.0, DIRECTION, Magik Growth และ PiñaFibre สะท้อนถึงความเข้มแข็งของความร่วมมือเชิงวิชาการ และเป็นตัวอย่างของการใช้ทรัพยากรและความเชี่ยวชาญจากทั้งสองฝ่ายเพื่อขับเคลื่อนการวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของโลกปัจจุบัน

แชร์หน้านี้: