หน้าแรก EA จับมือ อว. สวทช. พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตแบตเตอรี่ ด้วยการใช้วัสดุเกษตร รวมถึงบุคลากร พร้อมเปิดศูนย์ทดสอบแบตฯ สุดทันสมัย
EA จับมือ อว. สวทช. พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตแบตเตอรี่ ด้วยการใช้วัสดุเกษตร รวมถึงบุคลากร พร้อมเปิดศูนย์ทดสอบแบตฯ สุดทันสมัย
22 ก.ย. 2563
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

For English-version news, please visit : NSTDA partners with Energy Absolute (EA) on advanced energy technology

EA ผนึกพลังกับ อว. สวทช. ลงนามความร่วมมือศึกษาการเพิ่มขีดความสามารถการทำงานของอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าความจุสูง นำวัสดุทางการเกษตร เช่น กะลาปาล์ม มาเป็นวัตถุดิบ หวังส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมในประเทศ รวมถึงพัฒนาวงจรจัดการระบบการทำงานของแบตเตอรี่เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพให้สูงขึ้น พัฒนาบุคลากร พร้อมทั้งประสานความร่วมมือในการใช้ศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ที่ทันสมัยที่สุด และเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าความจุสูง เป็นหัวใจหลักในขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดพิธีลงนามความร่วมมือร่วมกับบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ในโครงการความร่วมมือวิจัยพัฒนาวัตถุดิบและชิ้นส่วนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการทำงานของอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าความจุสูง หรือแบตเตอรี่ ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงโดยพึ่งพาทรัพยากรและการผลิตภายในประเทศ ลดการนำเข้าและการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องต่อไป โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมด้วยนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ร่วมลงนาม

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาวัตถุดิบและชิ้นส่วนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการทำงานของอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าความจุสูงที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูง โดยพึ่งพาทรัพยากรและการผลิตภายในประเทศนี้ สวทช. โดย ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (National Security and Dual-Use Technology Center-NSD) หน่วยงานหลักในการดำเนินงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อความมั่นคงของประเทศที่สามารถประยุกต์ใช้งานทั้งในหน่วยงานด้านความมั่นคงและในภาคประชาชนทั่วไปเชิงพาณิชย์ ร่วมมือการวิจัยและพัฒนากับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ในระยะเวลา 5 ปี (2563 – 2568)

พร้อมทั้งเปิดศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ที่มีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย เป็นศูนย์กลางในการทดสอบมาตรฐานของแบตเตอรี่และผลิตแบตเตอรี่ที่มีมาตรฐานในระดับสากล ด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านความมั่นคงทางพลังงานในการขับเคลื่อนและขยายผลของงานวิจัยไปสู่การประยุกต์การใช้งานจริง โดยการสนับสนุนในการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริม แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ บุคลากร และขยายผลการวิจัยในด้านอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าความจุสูง (แบตเตอรี่) ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูง

อาทิ ตัวเก็บประจุยิ่งยวด (Supercapacitor) แบตเตอรี่สังกะสี – ไอออน แบตเตอรี่ลิเทียม – ซัลเฟอร์ การผลิตคาร์บอนกัมมันต์ (Activated Carbon) จากผลิตผลทางการเกษตร เช่น กะลาปาล์ม การพัฒนากระบวนการผลิตและการสังเคราะห์กราฟีน ซึ่งเป็นวัสดุคาร์บอนแบบสองมิติที่มีคุณสมบัติช่วยทำให้แบตเตอรี่และตัวเก็บประจุมีประสิทธิภาพสูงกว่าที่มีอยู่ในท้องตลาด รวมถึงวงจรจัดการระบบการทำงานของแบตเตอรี่ เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูง โดยให้ความสำคัญกับการพึ่งพาทรัพยากรและการผลิตภายในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศอย่างยั่งยืน

ด้านนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA เปิดเผยว่า การเซ็น MOU ร่วมกับ สวทช. ในครั้งนี้ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบและชิ้นส่วน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการทำงานของอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าความจุสูง (หรือแบตเตอรี่) ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูง โดยพึ่งพาทรัพยากรและการผลิตภายในประเทศ โดยมีการมุ่งเน้นหัวข้องานวิจัยและพัฒนาให้ครอบคลุมเทคโนโลยีล้ำสมัยที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตัวเก็บประจุยิ่งยวด (Supercapacitor) แบตเตอรี่สังกะสีไออน แบตเตอรี่ลิเทียม-ซัลเฟอร์ การผลิตคาร์บอนกัมมันต์ (activated carbon) จากผลิตผลทางการเกษตร เช่น กะลาปาล์ม พัฒนากระบวนการผลิตและการสังเคราะห์กราฟีน รวมถึงวงจรจัดการระบบการทำงานของแบตเตอรี่ เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูง

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังร่วมกันทำงานวิจัยและพัฒนาอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงพัฒนาบุคลากรวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านวัตถุดิบ และชิ้นส่วน เพื่อตอบสนองความต้องการและเข้าปฏิบัติงานทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน อีกทั้งเปิดศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ที่มีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัยที่สุดเพื่อใช้ในการพัฒนาในโครงการนี้ร่วมกัน อันจะก่อให้เกิดการส่งเสริมจุดแข็งซึ่งกันและกันยิ่งขึ้นและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

อนึ่ง ความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงนี้มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ทำบันทึกข้อตกลงนี้ (ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 22 กันยายน 2568)

22 ก.ย. 2563
0
แชร์หน้านี้: