หน้าแรก เอ็มเทค สวทช. ร่วมมือ บางจาก วิจัยและพัฒนาระบบการจัดการของเสียจากธุรกิจโรงกลั่นด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน
เอ็มเทค สวทช. ร่วมมือ บางจาก วิจัยและพัฒนาระบบการจัดการของเสียจากธุรกิจโรงกลั่นด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน
25 ก.ย. 2563
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

For English-version news, please visit : NSTDA partners with Bangchak to develop a circular waste management system for oil refinery industry

วันที่ 25 กันยายน 2563 ณ ห้องประชุมใหญ่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก กรุงเทพฯ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในด้านการวิจัยและพัฒนา “ระบบการจัดการของเสียจากธุรกิจโรงกลั่นด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน”

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กล่าวว่า เอ็มเทค สวทช. และ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นพันธมิตรที่มีความร่วมมือกันมาอย่างยาวนาน ในรูปแบบความร่วมมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมวิจัย รับจ้างวิจัย รวมถึงการวิเคราะห์ทดสอบแบบต่างๆ และสำหรับความร่วมมือกันครั้งนี้ จะเน้นงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา “ระบบการจัดการของเสีย จากธุรกิจโรงกลั่นด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)” หลังจากที่ทั้งสองหน่วยงานมีความร่วมมือกันมาแล้วตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเป็นงานวิจัยทางด้าน ECO Efficiency เพื่อการพัฒนาธุรกิจโรงกลั่นยั่งยืน เราเชื่อว่าในยุคการแข่งขันและแรงกดดันทางธุรกิจที่รุนแรง การดำเนินธุรกิจเพียงอาศัยแนวทางการลดต้นทุนเพียงอย่างเดียว ไม่อาจนำมาซึ่งความสำเร็จในทางธุรกิจที่ยั่งยืนได้ แต่หากธุรกิจใดที่ให้ความสำคัญและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยลดการใช้ทรัพยากร วัตถุดิบ และพลังงาน ลดการปล่อยมลสารและของเสีย จากกระบวนการผลิตหลักของตนสู่สิ่งแวดล้อม บริษัทนั้นจะสามารถนำพาธุรกิจให้ดำรงอยู่ทั้งในเวทีการค้าระดับประเทศและระดับโลกได้อย่างยั่งยืน ด้วยผลประกอบการที่เพิ่มสูงขึ้น ควบคู่กับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดของเสียน้อยที่สุด และความร่วมมือครั้งนี้หวังว่าทีมวิจัยจะสามารถนำองค์ความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญที่มี เข้าไปช่วยพัฒนาการเก็บข้อมูลการจัดการของเสียอย่างเป็นระบบ สามารถวิเคราะห์การไหลของของเสีย หรือ Waste Flow เพื่อจัดทำฐานข้อมูลสำหรับจัดการของเสีย นำไปสู่การวิเคราะห์รูปแบบการจัดการของเสียอย่างเหมาะสมโดยพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องตามกรอบแนวความคิดของ  Circular Economy และรองรับระบบเศรษฐกิจในยุค 4.0 และ Disruptive Technology สามารถนำผลการวิจัยและพัฒนาไปช่วยผลักดันให้ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทพลังงานไทยที่ดำเนินเคียงคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคมอย่างมั่นคงและยั่งยืน

นายปฏิวัติ ทิวะศะศิธร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นับเป็นโอกาสดีที่บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) ได้มาร่วมมือกันดำเนินงานวิจัยและพัฒนา “การพัฒนาระบบการจัดการของเสียจากธุรกิจโรงกลั่นด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับบุคลากรทั้งสองหน่วยงาน ผ่านการแลกเปลี่ยนบุคลากรวิจัย และดำเนินการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ในเชิงวิชาการ และนำไปประยุกต์ใช้งานในภาคส่วนต่างๆ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ บริษัท บางจากฯ มีเป้าหมายในการดูแลใส่ใจสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการดำเนินการธุรกิจกลั่นน้ำมันมาโดยตลอด และเล็งเห็นว่าจากการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่หยุดยั้ง อันนำไปสู่ความต้องการใช้ทรัพยากรเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ทรัพยากรที่เหลืออยู่กำลังใกล้จะหมดไป ดังนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของนานาประเทศตลอดจนการดำเนินการขององค์กรธุรกิจทั่วโลกจึงได้ตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวที่กำลังเกิดขึ้น และเร่งให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด และลดการเกิดของเสีย แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ ที่เรียกกันว่า Circular Economy จึงได้เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไปสู่ความยั่งยืน

บริษัท บางจากฯ มุ่งสร้างสรรค์และพัฒนาธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดำเนินธุรกิจด้วยวัฒนธรรม “พัฒนานวัตกรรม ธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม” พร้อมให้ความสำคัญในด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยสูงสุด มีกลยุทธ์ธุรกิจ 3S คือ (Security, Stability, Sustainability) และกลยุทธ์ความยั่งยืน 4 Green ประกอบด้วย Green Business, Green Production, Greenovative Experience และ Green Society มาใช้เป็นกรอบในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านความยั่งยืนในระยะยาว นำนวัตกรรมมาเพิ่มคุณค่าให้กับทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสร้างความยั่งยืน ภายใต้แนวทาง BCG Model ของรัฐบาล ประกอบด้วย Bio economy / Circular economy และ Green economy ตัวอย่างการดำเนินงานของโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ด้านการบริหารจัดการกากของเสีย พบว่าตามหลัก 3R นั้น มากกว่า 99% ของกากของเสียถูกนำไปบริหารจัดการโดยใช้ R-reuse, R-recovery และ R-recycle โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่า กว่า 92% ของกากของถูกนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนในเตาเผาปูนซีเมนต์ และเป็นวัตถุดิบทดแทน เป็นต้น

การวิจัยพัฒนาการจัดการด้านการบริหารจัดการของเสียจากโรงกลั่นในครั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือกับเอ็มเทค ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีชื่อเสียงในด้านการดำเนินการศึกษาวิจัยด้านการจัดการของเสีย อีกทั้งมีทีมนักวิจัยที่มีความสามารถเป็นอย่างยิ่ง เพื่อพัฒนาแนวทางดำเนินการมากขึ้นและเกิดประโยชน์สูงสุด จากธุรกิจการกลั่นน้ำมันของบางจาก เพื่อนำไปสู่แนวทางการดำเนินการตามแนวคิด Circular Economy และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ดังที่บางจากฯ และเอ็มเทคได้เคยร่วมมือกันมาก่อนหน้านี้ ในการพัฒนาระบบการจัดการประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาธุรกิจเพื่อการพัฒนาธุรกิจโรงกลั่นที่ยั่งยืน และก่อให้เกิด impact ที่ดีทั้งต่อบริษัทและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลงนามความร่วมมือด้านการวิจัย และพัฒนา “เทคโนโลยีการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาธุรกิจโรงกลั่นที่ยั่งยืน” ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดภาวะโลกร้อน และรักษาสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา

ภายใต้บันทึกข้อตกลงครั้งนี้ บริษัท บางจากฯ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) จะร่วมกันจัดหาและสนับสนุนทรัพยากร ทั้ง บุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ แลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการ รวมทั้งจัดฝึกอบรมและสัมมนา ระหว่างบุคลากรของทั้งสองฝ่ายร่วมกันพัฒนาบุคลากรของทั้งสองฝ่ายโดยการส่งเสริมความสัมพันธ์ในการพัฒนาโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน ตลอดระยะเวลา 3 ปี

25 ก.ย. 2563
0
แชร์หน้านี้: