หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 5 ฉ.8 – เทคโนโลยีสู้เพื่อ “มัน”
จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 5 ฉ.8 – เทคโนโลยีสู้เพื่อ “มัน”
8 พ.ย. 2562
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย
บทความ

alt

เทคโนโลยีสู้เพื่อ “มัน”

สถานการณ์ ‘มันสำปะหลังไทย’ ขณะนี้กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เมื่อมีรายงานการพบ ‘โรคใบด่างมันสำปะหลัง’ โรคอุบัติใหม่ระบาดหนักในพื้นที่ปลูกมันหลักของประเทศไทยเป็นวงกว้าง นับเป็นโรคร้ายแรงที่สร้างความเสียหายให้แก่ผลผลิตและเกษตรกรอย่างมาก เพื่อลดความรุนแรงและชะลอการแพร่กระจายของโรค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เตรียมนำเทคโนโลยีคัดกรองท่อนพันธุ์มันปลอดโรคช่วยเกษตรกร หวังลดการนำท่อนพันธุ์ติดโรคไปปลูกซ้ำ ป้องกันผลผลิตมันเป็นศูนย์

โรคใบด่างมันสำปะหลังที่พบในประเทศไทย เกิดจากเชื้อไวรัส Sri Lankan Cassava Mosaic Virus (SLCMV) ลักษณะอาการคือใบด่าง ใบหงิกลดรูป ลำต้นแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโต สาเหตุการแพร่ระบาดมาจากการนำท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่เป็นโรคมาปลูก เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถแยกต้นที่เป็นโรคได้ เพราะท่อนพันธุ์ยังไม่มีใบให้สังเกตลักษณะผิดปกติ อีกทั้งยังมีแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นพาหะจึงทำให้โรคใบด่างมันสำปะหลังแพร่กระจายออกไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างรวดเร็ว โดยในกรณีที่ระบาดรุนแรงสร้างความเสียหายต่อผลผลิตได้ถึง 80-100 เปอร์เซ็นต์

.ดร.มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. กล่าวว่า นักวิจัย ไบโอเทค สวทช. และพันธมิตร ได้ร่วมกันคิดค้นวิจัยและพัฒนา ‘เทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง’ และ ‘เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสำหรับผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรค’ เพื่อเร่งแก้ปัญหาการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังให้แก่เกษตรกร สำหรับเทคโนโลยีในการตรวจกรองหาไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง ดร.แสงสูรย์ เจริญวิไลศิริ และคณะ จากทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ได้พัฒนาน้ำยาสำหรับตรวจสอบไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง โดยใช้เทคนิคอิไลซ่า (ELISA) ซึ่งเป็นวิธีการที่นิยมแพร่หลาย มีความถูกต้อง แม่นยำ

“น้ำยาที่พัฒนาขึ้นมีความไวในการตรวจมากกว่าน้ำยาที่มีการขายในเชิงการค้า สามารถตรวจตัวอย่างได้คราวละจำนวนมาก โดย 1 ถาดหลุมของ ELISA สามารถตรวจได้ 96 ตัวอย่าง ซึ่งการตรวจแต่ละครั้งสามารถตรวจได้หลายๆ ถาดหลุมพร้อมกัน จึงเหมาะกับการตรวจคัดกรองในตัวอย่างที่มีจำนวนมาก และยังมีจุดเด่นที่สามารถตรวจเชื้อไวรัสจากใบอ่อนที่แตกจากตาของท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่มีขนาดเล็กตั้งแต่ 0.5 เซนติเมตรขึ้นไป โดยที่ใบอ่อนนั้นยังไม่แสดงอาการของโรคให้เห็น และน้ำยาที่พัฒนาขึ้นนี้มีราคาต่อตัวอย่าง 13 บาท เท่านั้น ซึ่งถูกกว่าน้ำยาตรวจเชิงการค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศหลายเท่าตัว สวทช. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยที่พัฒนาขึ้นให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความสนใจ”

นอกจากนั้นแล้ว ดร.ธราธร ทีรฆฐิติ และคณะ จากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร ไบโอเทค สวทช. ได้พัฒนา ‘เทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมันสำปะหลัง’ ที่สามารถเพิ่มปริมาณต้นมันสำปะหลังปลอดโรคได้ 3-4 เท่าภายในเวลา 4 สัปดาห์ เหมาะต่อการนำมาผลิตขยายจำนวนท่อนพันธุ์มันซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในหลายพื้นที่

.ดร.มรกต กล่าวว่า การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นหนึ่งในวิธีการขยายพันธุ์พืชให้ได้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่ได้จากเทคโนโลยีนี้เมื่อนำไปปลูกในสภาพแปลงพบว่าผลผลิตที่ได้ไม่แตกต่างจากวิธีการปลูกของเกษตรกรที่ใช้ท่อนพันธุ์ปกติ อีกทั้งยังได้ประยุกต์ใช้ ‘เทคโนโลยี mini stem cutting’ ในการตัดท่อนพันธุ์ให้มีขนาดเล็กเหลือเพียง 1-2 ตา (ขึ้นอยู่กับอายุของท่อนพันธุ์) เมื่อนำไปปลูกในสภาพแปลงพบว่าผลผลิตไม่แตกต่างจากวิธีการของเกษตรกรที่ใช้ท่อนพันธุ์ขนาดยาวปลูกเช่นกัน ซึ่งเทคโนโลยีนี้ช่วยประหยัดท่อนพันธุ์มันสำปะหลังและสามารถเพิ่มปริมาณต้นพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้เพื่อเร่งสกัดกั้นและลดการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทยได้เตรียมผลักดันนำเทคโนโลยี สวทช. ไปประยุกต์ใช้ในการผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรคและกระจายให้เครือข่ายเกษตรกรเพื่อแก้ปัญหา

นายอนุวัฒน์ ฤทัยยานนท์ นายกสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย กล่าวว่า ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย ซึ่งมีโรงงานแป้งมันสำปะหลังอยู่ในสมาคมฯ มากกว่า 100 โรงงาน เตรียมการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศที่กำลังประสบปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง โดยเตรียมตั้งห้องปฏิบัติการเฉพาะกิจขึ้นมา และนำเทคโนโลยีของ สวทช. ทั้ง 2 เรื่อง คือเทคโนโลยีการคัดกรองท่อนพันธุ์ปลอดโรคใบด่างมันสำปะหลัง และเทคโนโลยีการขยายพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรคมาใช้พัฒนาท่อนพันธุ์มันสำปะหลังให้แก่เกษตรกรต่อไป เนื่องจากเกษตรชาวไร่มันฯ จำเป็นต้องใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรคทดแทนท่อนพันธุ์มันสำปะหลังเดิมที่เป็นโรคใบด่างมันสำปะหลังซึ่งต้องทำลายทิ้งเท่านั้น เพื่อลดการแพร่ระบาด

“ทางสมาคมฯ ต้องช่วยเกษตรกรคัดกรองท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรคอย่างเร่งด่วน เนื่องจากในช่วงเดือนพฤศจิกายน 62 – มีนาคม 63 นี้ เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังเตรียมเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง และต้องการท่อนพันธุ์ไปปลูกต่อ ซึ่งหากนำท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่ไม่ได้คุณภาพและเป็นโรคไปปลูกซ้ำอีก ก็เสี่ยงผลผลิตเสียหายได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นต้องช่วยเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังคัดกรองและผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรคให้ได้โดยเร็วที่สุด”

อย่างไรก็ดี การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังหากไม่สามารถควบคุมได้ จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศ เพราะจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เกิดการขาดแคลนมันสำปะหลัง ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ดังนั้นการมีเทคโนโลยีที่ช่วยต่อสู้สกัดกั้นโรคใบด่างมันสำปะหลังทั้งการตรวจคัดกรองและขยายพันธุ์ท่อนมันจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว นับเป็นหนทางฝ่าวิกฤติที่จะช่วยให้มันสำปะหลังไทยอยู่รอด

เรียบเรียง : อาทิตย์ ลมูลปลั่ง ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สวทช.

8 พ.ย. 2562
0
แชร์หน้านี้: