หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 5 ฉ.5 – นวัตกรรม ‘รถเข็นไฟฟ้า’ เพื่อคนพิการและผู้สูงวัย
จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 5 ฉ.5 – นวัตกรรม ‘รถเข็นไฟฟ้า’ เพื่อคนพิการและผู้สูงวัย
6 ส.ค. 2562
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย
บทความ

alt

นวัตกรรม ‘รถเข็นไฟฟ้า’ เพื่อคนพิการและผู้สูงวัย

แม้จะเป็นผู้สูงอายุหรือคนพิการ แต่หากมีอุปกรณ์ที่ช่วยเหลือให้พวกเขาดูแลตนเองได้ในชีวิตประจำวัน คงทำให้มีกำลังใจต่อสู้กับชีวิตมากขึ้น แนวคิดที่เป็นแรงบันดาลใจให้ ดร.ดนุ พรหมมินทร์ ทีมวิจัยชีวกลศาสตร์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วิจัยพัฒนา ‘ต้นแบบอุปกรณ์พ่วงต่อปรับรถเข็นทั่วไปเป็นรถเข็นไฟฟ้า M2E 1.1’ ในราคาเพียง 7,000 บาท ได้สำเร็จ

ดร.ดนุ พรหมมินทร์ กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รายงานว่าปัจจุบันมีคนพิการทางด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย จำนวน 1,015,955 คน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวยังไม่นับรวมผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นซึ่งนับวันจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยรถเข็นที่มีการใช้งานส่วนใหญ่มักเป็นรถเข็นแบบทั่วไป ซึ่งต้องอาศัยกำลังแรงคนในการใช้มือผลักดัน ในกรณีที่ผู้สูงอายุหรือคนพิการที่ไม่มีกำลังแขนต้องพึ่งพาคนใกล้ชิดเข็นรถเข็นให้ ทำให้ลำบากใจ และไม่สะดวกในการเดินทางมากนัก ขณะที่รถเข็นไฟฟ้าแม้จะมีความสะดวกในการใช้งานและเพิ่มความสามารถในการดูแลตนเองได้ดีกว่า แต่รถเข็นแบบไฟฟ้ายังมีราคาค่อนข้างสูง ตั้งแต่ราคา 20,000 – 100,000 บาท ทำให้มีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้

‘ต้นแบบอุปกรณ์พ่วงต่อปรับรถเข็นทั่วไปเป็นรถเข็นไฟฟ้า M2E 1.1’ ถูกพัฒนาขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการออกแบบคือ เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน ใช้อุปกรณ์ที่หาซื้อได้ง่ายในท้องตลาด และมีราคาไม่แพง เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้รถเข็นทั่วไปไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือคนพิการที่มีร่างกายท่อนบนมีความอิสระและดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานได้ดีขึ้น

“อุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อจะเปลี่ยนรถเข็นธรรมดาให้เป็นรถไฟฟ้าประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ ชุดขับเคลื่อน ชุดควบคุมการเคลื่อนที่ และชุดแหล่งพลังงาน โดยชุดขับเคลื่อนเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนลูกล้อให้เดินหน้าหรือถอยหลังได้ โดยเราเลือกประยุกต์ใช้ชุดมอเตอร์จากที่ปัดน้ำฝนซึ่งหาซื้อได้ง่าย ซึ่งมอเตอร์นี้จะถูกต่อเข้ากับ ชุดควบคุมการเคลื่อนที่เพื่อเป็นตัวออกคำสั่ง ให้ลูกล้อเคลื่อนที่ตามต้องการ เช่น หากดันที่จับไปด้านหน้ารถเข็นไฟฟ้าก็จะเดินหน้า หากดันถอยหลังก็จะเดินถอยหลังส่วน ชุดแหล่งพลังงานหรือแบตเตอรี่เลือกใช้แบบที่หาซื้อได้ทั่วไป และมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก เพื่อให้รถเข็นมีน้ำหนักไม่มาก ทั้งนี้ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ คือหากชาร์จไฟฟ้า 1 คืน จะสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องยาวนาน 4 ชั่วโมง ซึ่งในกรณีที่แบตเตอรี่หมดก็สามารถสลับเปลี่ยนการใช้งานจากระบบไปฟ้ามาเป็นระบบปกติเหมือนเดิมได้ สำหรับการพัฒนาต่อยอดในอนาคต อาจมีการออกแบบให้เป็นรถเข็นไฟฟ้าทำงานผ่านการสั่งงานด้วยเสียงหรือสายตา เนื่องจากเทคโนโลยีเซ็นเซอร์มีความก้าวหน้าไปมาก เพื่อให้เหมาะสมต่อการใช้งานของคนพิการที่มีความพิการแตกต่างกัน นอกจากนี้อาจมีการเปลี่ยนมาใช้แบตเตอรี่แบบลิเทียมซึ่งจะทำให้มีน้ำหนักเบามากขึ้น อย่างไรก็ดีสิ่งสำคัญในการพัฒนาคือการคำนึงถึงความปลอดภัยของเทคโนโลยีเป็นหลักด้วย”

ความยากในการวิจัยพัฒนานอกจากมุ่งเป้าให้เป็นเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้และใช้งานได้จริงแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดของการพัฒนารถเข็นธรรมดาให้เป็นรถเข็นไฟฟ้า คือต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ เพื่อความปลอดภัย

รถเข็นรุ่นนี้ผ่านการประเมินผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ทางไฟฟ้า ด้วยการทดสอบความปลอดภัยทางไฟฟ้า การป้องกันสัญญาณรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า รวมทั้งผ่านการประเมินความเสี่ยงของอุปกรณ์ โดย ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช. ซึ่งถือเป็นความโชคดีที่มีหน่วยงานทดสอบที่เป็นมาตรฐานสากลในประเทศไทย ทำให้การทดสอบพัฒนาทำได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ผู้บริโภคในประเทศเกิดความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต และช่วยผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมในประเทศเกิดการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตให้มีมาตรฐานในระดับสากล”

สำหรับแนวทางการผลิตรถเข็นไฟฟ้า เอ็มเทค สวทช. ได้ริเริ่มโครงการการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคการศึกษาระดับอาชีวศึกษาในการพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ ด้วยการถ่ายทอดวิธีการประกอบและติดตั้งอุปกรณ์พ่วงต่อปรับรถเข็นทั่วไปเป็นรถเข็นไฟฟ้า โดยเบื้องต้นได้ลงนามความร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิค 2 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี และวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ และอยู่ในระหว่างขยายความร่วมมือกับทางวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ ในลำดับถัดมา เพื่อเป็นศูนย์กลางนำร่องผลิตอุปกรณ์พ่วงต่อปรับรถเข็นทั่วไปเป็นรถเข็นไฟฟ้า รวมจำนวน 30 ชุด มอบให้อาสาสมัครคนพิการและผู้สูงอายุในพื้นที่ใกล้เคียงวิทยาลัยเทคนิค

นายวิชัย หาญพลาชัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ กล่าวว่า เอ็มเทค สวทช. ได้ถ่ายทอดวิธีการผลิตและการประกอบรถเข็นไฟฟ้า M2E 1.1 ให้แก่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ โดยหลังโครงการนำร่องจะสามารถให้บริการผลิตรถเข็นไฟฟ้าแก่คนพิการและผู้สูงอายุที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงหรือนอกสถานที่ได้ รวมทั้งให้บริการซ่อมบำรุงหากเกิดความผิดปกติของอุปกรณ์ การดำเนินโครงการในครั้งนี้นับเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ การวิจัยนวัตกรรม และเทคโนโลยีทางด้านอุปกรณ์การแพทย์ร่วมกัน เพื่อให้คนพิการและผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถือว่าเป็นการช่วยเหลือสังคมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อีกส่วนหนึ่ง รวมถึงเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนานักศึกษาอาชีวศึกษาให้มีทักษะวิชาชีพ มีทักษะชีวิต ความคิดสร้างสรรค์ ความรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจนในอนาคตสามารถพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ ที่ผลิตด้วยวัสดุและแรงงานในประเทศไทย ทำให้มีราคาถูกลง ก่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง

“ดีใจที่ เอ็มเทค เปิดโอกาสให้ทางวิทยาลัยเทคนิคได้ทำอุปกรณ์ต้นแบบ ที่ราคาไม่แพง ช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยเอารถเข็นขนาดมาตรฐานมาดัดแปลงเพียง 7,000 บาท ทั้งนี้จะนำนวัตกรรมนี้ไปช่วยผู้พิการและผู้สูงอายุในพื้นที่ ที่ร่างกายท่อนบนสามารถใช้ได้ หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่พอมีแรงขยับข้อมือได้ เพื่อให้พอช่วยเหลือตัวเองได้ ที่สำคัญคนที่ไม่มีเงินมากก็เข้าถึงเทคโนโลยีได้ และนักศึกษาก็ได้ทั้งความรู้ ประสบการณ์และความเป็นจิตอาสา”

อย่างไรก็ดี เอ็มเทค สวทช. เตรียมขยายความร่วมมือ โดยจะเปิดรับสถาบันอาชีวศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นเสมือนโรงงานต้นแบบที่ช่วยผลิตรถเข็นธรรมดาสู่รถเข็นไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสม พร้อมทั้งยังสามารถช่วยดูแลซ่อมบำรุงให้แก่คนพิการและผู้สูงอายุครอบคลุมทุกจังหวัด เป็นการ‘เพิ่มโอกาสให้คนพิการและผู้สูงอายุ’ได้เข้าถึงเทคโนโลยีรถเข็นไฟฟ้า ขณะเดียวกันยังเป็นการ ‘สนับสนุนการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาในระดับอาชีวศึกษา’ในด้านการออกแบบและผลิตงานทางด้านอุปกรณ์การแพทย์ ที่มีความเข้าใจเพื่อให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยทางการแพทย์ รวมทั้งช่วยจุดประกายให้เยาวชนกลุ่มนี้ก้าวสู่การเป็น ‘นวัตกรรุ่นใหม่’พลังที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคมในอนาคต

เรียบเรียง : วัชราภรณ์ สนทนา ฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ สวทช.

แชร์หน้านี้: