หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 5 ฉ.10 – สวทช. ชู นวัตกรรมสู่ความยั่งยืน
จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 5 ฉ.10 – สวทช. ชู นวัตกรรมสู่ความยั่งยืน
12 ม.ค. 2563
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย
บทความ

alt

สวทช. ชู นวัตกรรมสู่ความยั่งยืน

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ประกาศเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตควบคู่กับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ในปี 2563 ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ‘BCG Economy Model’ ที่รัฐบาลมุ่งเสริมผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม  โดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ในปี 2563 ได้ตั้งเป้าพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ‘BCG Economy Model’ ซึ่งเป็นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมๆ กัน โดยมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และสอดรับกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยมุ่งเป้าดำเนินการครอบคลุม 4 อุตสาหกรรมหลักของไทย ได้แก่ ด้านการเกษตรและอาหาร, พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ, สุขภาพและการแพทย์ และการท่องเที่ยวบริการและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ปัจจุบันมีผลงานวิจัยและเทคโนโลยีหลายชิ้นที่นำมาสู่การใช้งานใน 4 อุตสาหกรรม เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ สร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และปลดปล่อยของเสียสู่สภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด

1. เลี้ยงปลาระบบน้ำหมุนเวียน

         ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า ไบโอเทคได้พัฒนา ‘ถังเลี้ยงปลานิลความหนาแน่นสูงระบบน้ำหมุนเวียน’ เป็นเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์น้ำที่ใช้พื้นที่น้อย ประหยัดพลังงาน ด้วยการออกแบบให้น้ำไหลตามแรงโน้มถ่วง จุดเด่นคือมีระบบหมุนเวียนที่ดึงน้ำจากถังมาทำการบำบัดแอมโมเนีย เพื่อนำน้ำกลับไปใช้เลี้ยงปลาในถัง ทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำตลอดการเลี้ยง ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำต่อวันมากกว่า 95% และเมื่อมีตะกอนขี้ปลา ปลาตายหรือปลาป่วยในถัง จะถูกดึงออกจากถังโดยอัตโนมัติผ่านทางท่อลำเลียงไปยังถังแยกปลาตาย ทำให้ผู้เลี้ยงติดตามจำนวนปลาที่ตาย และแยกปลาป่วยออกไปตรวจโรคเพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที ลดปัญหาการเกิดโรคสัตว์น้ำ ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ

“ที่สำคัญเทคโนโลยีนี้เลี้ยงปลาได้ในปริมาณมาก โดยรองรับปลานิลได้ที่ความหนาแน่นมากกว่า 30 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่บ่อดินรองรับได้เพียง 1 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งผลการทดลองเลี้ยงจริง พบว่าปลานิลมีอัตราการรอดสูงมากกว่า 90% อีกทั้งเนื้อปลามีรสสัมผัสดี ไม่มีปัญหากลิ่นโคลน นอกจากนี้ไนโตรเจนที่เกิดจากการเลี้ยงปลายังนำไปพัฒนาเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย”

2. ‘ถุงพลาสติกสลายตัวได้’ ใส่เศษอาหาร

‘ขยะพลาสติก’ เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่รุนแรงและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ผ่านมามีการผลิตพลาสติกเพื่อใช้งานบนโลกนี้แล้วกว่า 8,800 ล้านตัน ซึ่งกว่าร้อยละ 40 เป็นขยะพลาสติกแบบใช้งานเพียงครั้งเดียวทิ้ง ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กล่าวว่า ขณะนี้เอ็มเทคได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรพัฒนา ‘ถุงพลาสติกสลายตัวได้’ สำเร็จ และเป็นการขยายการผลิตจากห้องปฏิบัติการสู่ระดับอุตสาหกรรมได้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยมีการใช้ ‘มันสำปะหลัง’ พืชเศรษฐกิจสำคัญเป็นวัตถุดิบมากถึง 40%

ถุงพลาสติกสลายตัวได้ ผลิตขึ้นจากการคิดค้นพัฒนา ‘เม็ดพลาสติกคอมพาวด์’ ที่มีส่วนประกอบของมันสำปะหลัง และเม็ดพลาสติกชีวภาพอีก 2 ชนิด คือ PBAT และ PLA  สามารถนำไปเป่าขึ้นรูปเป็นถุงพลาสติกสลายตัวได้ด้วยเครื่องจักรพื้นฐานที่มีการใช้งานภายในประเทศ โดยจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่าหากนำไปฝังในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิและความชื้นเหมาะสม ถุงพลาสติกชนิดนี้สามารถย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ได้หมดภายในเวลา 3 – 4 เดือน ซึ่งถุงพลาสติกสลายตัวได้ชิ้นนี้เป็นผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์ BCG Economy Model อย่างชัดเจน ทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อย่อยสลายยังกลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ และชีวมวลที่พืชสามารถนำไปใช้ในการเจริญเติบโตได้ ที่สำคัญยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมันสำปะหลัง พืชเศรษฐกิจไทย ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น”

นอกจากการพัฒนาถุงพลาสติกสลายตัวได้แล้ว เอ็มเทค ยังมี ‘ห้องปฏิบัติการทดสอบการย่อยสลายได้ทางชีวภาพของวัสดุ’ เป็น 1 ใน 2 ห้องปฏิบัติการทั่วโลก ที่มีศักยภาพในการทดสอบพลาสติกชีวภาพที่มีคุณสมบัติสอดคล้องตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยสร้างจุดแข็ง เพิ่มความสามารถการพัฒนาผลิตภัณฑ์ย่อยสลายได้ของประเทศไทยและรองรับผู้พัฒนาจากทั่วโลก

3. ‘เข็มจิ๋วไมโคร-นาโน’ นวัตกรรมเพื่อการแพทย์

เทคโนโลยีในการนำส่งยาไปยังอวัยวะเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในปี 2563 นาโนเทค สวทช. เตรียมพุ่งเป้าพัฒนาเข็มจิ๋วสู่นาโนโรบอท

ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กล่าวว่า นาโนเทค กำลังเดินหน้าพัฒนาเข็มระดับไมโคร/นาโน เพื่อตอบโจทย์การแพทย์แม่นยำ และมีการประยุกต์สู่ ‘อุปกรณ์ตรวจติดตามกลูโคสขนาดมือถือด้วยเซ็นเซอร์เข็มระดับไมโคร/นาโน’ โดยลักษณะของเข็มจะมีขนาดเล็กมากจนสามารถแทรกผ่านผิวหนังชั้นบนสุดของหนังกำพร้า หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเส้นประสาทและหลอดเลือดที่อยู่ลึกลงไป และโครงสร้างนาโนที่อยู่บนผิวเข็มขนาดไมโครเมตรจะทำหน้าที่ดูดซับโมเลกุลน้ำตาลในของเหลวที่ถ่ายเทระหว่างเซลล์เนื้อเยื่อ จึงทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บ ไม่เกิดบาดแผลและไม่สูญเสียเลือด โดยวางแผนทดสอบทางคลินิกในปีหน้า ปูทางการแพทย์แห่งอนาคต

4. ‘AI FOR THAI’ แพลตฟอร์มเอไอสัญชาติไทย

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีส่วนสำคัญและจำเป็นอย่างมากต่อการดำเนินงานของหลายภาคส่วน และเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาพลิกโฉมหน้าเศรษฐกิจโลกในอนาคต

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า เนคเทค สวทช. ได้พัฒนา ‘AI FOR THAI: Thai AI Service Platform’ หรือ ‘แพลตฟอร์มเอไอสัญชาติไทย’ เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงเทคโนโลยี AI ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมและบริการ ยกระดับประสิทธิภาพของภาคเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ

“AI FOR THAI เป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และ Machine Learning ที่เน้นตอบโจทย์ผู้ใช้งานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและการบริการต่างๆ เช่น ภาคธุรกิจกลุ่มค้าปลีก สามารถใช้ Chatbot โต้ตอบเพื่อตอบคำถาม ให้บริการแก่ลูกค้าแทนพนักงาน กลุ่มโลจิสติกส์ใช้ระบบรู้จำใบหน้าตรวจจับใบหน้าของพนักงานขับรถว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ ด้านการแพทย์ก็เริ่มใช้ AI วิเคราะห์แนวโน้มความเสี่ยงของโรคส่วนบุคคล หรือการอ่านฟิล์ม X-rays แทนมนุษย์ ขณะที่การท่องเที่ยว สามารถใช้ AI แปลภาษาและวิเคราะห์รูปอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวจากภาพถ่าย เป็นต้น

เนคเทค ยังมีการวิจัยพัฒนานำเทคโนโลยี IT ใช้ในภาคส่วนต่างๆ เช่น แพลตฟอร์มเพื่อการเกษตรแม่นยำ อาทิ การติดตั้งเซ็นเซอร์ อุปกรณ์ และ AI ในแปลงเพาะปลูก เพื่อติดตามตรวจวัดค่าต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น เพื่อนำมาวิเคราะห์และสร้างระบบอัตโนมัติควบคุมการเพาะปลูก เช่น การรดน้ำตามความชื้นดิน การเปิดและปิดอุปกรณ์ระบายอากาศตามอุณหภูมิและความชื้นของโรงเรือน โดยที่ผ่านมาได้ติดตั้งแพลตฟอร์มเพื่อการเกษตรแม่นยำให้กับเกษตรกรต้นแบบในทุกอำเภอ ของจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 34 แปลง พบว่าเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 20%”

ทั้งหมดนี้เป็นผลงานเพียงบางส่วนของการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ สวทช. ขยายผลไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงของประชาชนในทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรม ลดความเหลื่อมล้ำ นำพาประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศให้กลับมาสมบูรณ์อย่างยั่งยืน

เรียบเรียงโดย วัชราภรณ์ สนทนา ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์

12 ม.ค. 2563
0
แชร์หน้านี้: