หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 5 ฉ.4 – “นวัตกรรมไทย” เพื่อสังคมสูงวัย
จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 5 ฉ.4 – “นวัตกรรมไทย” เพื่อสังคมสูงวัย
10 ก.ค. 2562
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย
บทความ

alt

ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุในปี 2560 มีประชากรของโลกประมาณ 7,550 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุจำนวน 862 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 12.7 ของประชากรทั้งโลก ส่วนประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aged society) ตั้งแต่ปี 2558 โดยมีประชากรสูงอายุร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ และในอีก 2 ปีข้างหน้าคือ ปี 2564 ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete-aged society) ซึ่งจะมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 13 ล้านคนหรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และในปี 2574 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) คาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged society) เนื่องจากจำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 18 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด

จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นสะท้อนถึงวิวัฒนาการด้านการแพทย์ที่ทันสมัยมากขึ้น ประกอบกับการใส่ใจดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ แต่การจะให้ผู้สูงอายุที่ร่างกายอ่อนแรงลงใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในสังคมสูงวัยนั้น‘นวัตกรรม’ น่าจะเป็นอีกตัวช่วยในการดูแลสุขภาพและร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเคลื่อนไหว ซึ่งในอนาคตอาจะเป็นทางเลือกหลักที่สังคมสูงวัยจำเป็นต้องใช้นวัตกรรมเหล่านี้เพิ่มขึ้น

         ล่าสุดจากความร่วมมือของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในการผนึกกำลังใช้ความรู้ความสามารถของนักวิจัยไทยเพื่อขยายผลการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ ในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.) 12แห่ง เพื่อยกระดับการดูแลและการให้บริการผู้สูงอายุในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

 

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุลผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ภายในปี 2563 จะมีการนำร่องใช้ระบบบริหารจัดการข้อมูลภายในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค โดยใช้เทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมจากคนไทย ที่คิดค้นและออกแบบทางวิศวกรรมให้เหมาะกับสรีระของคนไทยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยตัวอย่างผลงานที่ใช้งานจริงแล้ว คือ อุปกรณ์ช่วยเดินแบบพยุงน้ำหนักบางส่วน (Space Walker) สำหรับผู้ป่วยที่ผ่านการกายภาพบำบัด เป็นนวัตกรรมวิจัยจากพันธมิตรของ สวทช. ที่ชนะการประกวด โครงงานสิ่งประดิษฐ์ผู้พิการและผู้สูงอายุ ของนักศึกษาในระดับนานาชาติ (i-CREATe 2017) ด้านเทคโนโลยีสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ และรางวัลอื่นๆ อีกจำนวนมาก

ทั้งนี้ Space Walker เกิดขึ้นมาภายใต้ศูนย์วิจัย CED มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่จะนำมาใช้ที่บ้านบางแค เพื่อดูแลผู้สูงอายุ จุดเด่นคือ ออกแบบมาสำหรับการช่วยเหลือ และฟื้นฟูการฝึกเดินของผู้ป่วยที่มีปัญหาความผิดปกติของรูปแบบการเดินแบบต่างๆ เช่น ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งท่อนล่าง ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ที่มีปัญหาการทรงตัว และมีความเสี่ยงในการหกล้ม รวมถึงผู้สูงอายุที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเป็นอุปกรณ์ช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยที่ผ่านการกายภาพบำบัดที่มีระบบพยุงน้ำหนักแบบไดนามิกส์ (Dynamic Body Weight Support) ตัวแรกของประเทศไทย เหมาะกับการใช้งานบนพื้นที่เรียบ แนวระดับเท่านั้น รองรับผู้ใช้งานสูง 150 – 185 เซนติเมตร และรองรับน้ำหนักผู้ใช้งานสูงสุด 100กิโลกรัมเพื่อลดแรงของกล้ามเนื้อที่ใช้ในขณะที่ฝึกเดิน มีระบบป้องกันการหกล้ม 100%เพื่อเพิ่มความมั่นใจ ให้ผู้ป่วยไม่กลัวล้ม และระบบช่วยยกขาด้านที่อ่อนแรง ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถยกขาก้าวในขณะฝึกเดินผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้นจากการเดิน ลดโอกาสการเป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือติดรถเข็นได้

“การหกล้มในผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่อันตรายสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการบาดเจ็บของกระดูกแล้วอาจส่งผลต่อการรักษาเป็นระยะเวลานานและเกิดค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น ดังนั้นระบบบริหารจัดการภายในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ จะมาเป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังช่วยดูแล เฝ้าระวังอุบัติเหตุจากการหกล้มจากสภาพร่างกายของผู้สูงอายุเอง รวมทั้งช่วยเก็บข้อมูลสุขภาพผู้สูงอายุ ให้ผู้ดูแลสามารถนำไปประมวลผลจัดเก็บข้อมูลรายบุคคลอย่างเป็นระบบ และให้การช่วยเหลือดูแลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไป”

ปัจจุบันอุปกรณ์ดังกล่าวได้เริ่มกระจายการใช้งานไปยังที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสถาบันประสาทวิทยา โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลสวนผึ้ง โดยอัตราส่วนการใช้งานในบ้านต่อโรงพยาบาล คือ 70:30 ผลการนำไปทดสอบเป็นที่น่าพึ่งพอใจเป็นอย่างมากจากผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยเดินได้ไกลแบบที่ไม่เคยเดินได้มาก่อน หรือมีความมั่นใจไม่กลัวล้มทำให้โฟกัสไปที่การฝึกเดิน หรือลงน้ำหนัก ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ดูแล นักกายภาพ ให้สามารถดูแลการฝึกให้ง่ายขึ้น ทำให้ประชาชนคนไทยมีโอกาสเข้าถึงอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับต่างประเทศโดยไม่จำเป็นต้องนำเข้าแต่อย่างใด

ผู้อำนวยการ สวทช.กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้นแล้วยังมีนวัตกรรมวิจัยอีก4รูปแบบ ซึ่งทีมนักวิจัยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. จะร่วมกับ เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.) ทั้ง 12 ศูนย์ฯ และ ศพส.บ้านบางแค เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการภายในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ให้สามารถเชื่อมกับศูนย์ข้อมูลกลางผู้สูงอายุของกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้แก่
1.ระบบบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุ (ผู้รับบริการ) ข้อมูลทางสุขภาพของผู้สูงอายุภายในศูนย์จะได้รับการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ผ่านเครื่องตรวจวัดสุขภาพอัตโนมัติ ที่ผู้สูงอายุที่ยังมีกำลังวังชาสามารถตรวจวัดได้ด้วยตนเอง หรือผ่านเครื่องตรวจวัดสุขภาพแบบพกพา สำหรับเจ้าหน้าที่ตรวจวัดสุขภาพผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง
2. ระบบบริหารจัดการด้านโภชนาการของผู้สูงอายุ เพื่อคำนวณอาหารที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ที่ได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์และครบถ้วน
3. ระบบบริหารการดูแลผู้สูงอายุ (Care Plan Management) เป็นเครื่องมือในการช่วยการวางแผน ติดตาม การดูแลผู้สูงอายุในศูนย์ฯ
4. ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินและสื่อสารทางไกล โดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ช่วยติดตามผู้สูงอายุเมื่อพลัดหลง หรือเดินออกนอกพื้นที่ดูแล รวมถึงเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวป้องกันการหกล้ม และให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

เหล่านี้เป็นบางส่วนของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะช่วยเติมเต็มการใช้ชีวิตของผู้สูงวัยให้ มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเห็นคุณค่าของตนเองมากขึ้น

เรียบเรียง : อาทิตย์ ลมูลปลั่ง ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สวทช.

แชร์หน้านี้: