หน้าแรก รพ.สนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการต้นแบบ ‘บูรณาการ’ สู่การถอดบทเรียนรับมือวิกฤติโควิด-19
รพ.สนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการต้นแบบ ‘บูรณาการ’ สู่การถอดบทเรียนรับมือวิกฤติโควิด-19
12 ต.ค. 2564
0
บทความ

วิกฤตการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทยได้ทวีความรุนแรงอย่างมาก อันเนื่องมาจากจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 กลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาซึ่งแพร่กระจายเชื้ออย่างรวดเร็ว ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่มไม่เว้นแม้แต่คนพิการ ไม่ว่าจะเป็นคนพิการทางการเห็น พิการทางการได้ยิน พิการทางการเคลื่อนไหว/ร่างกาย และพิการทางสติปัญญา ซึ่งยากต่อการเผชิญหน้ากับโรคระบาดนี้ได้เพียงลำพัง

สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ผสานกำลังนำจุดแข็งที่เป็นความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานทั้งองค์ความรู้ทางการแพทย์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการดูแลคนพิการ รวมถึงการรับมือโรคโควิด-19 ประกอบกับความเป็นมืออาชีพในการสนับสนุนสวัสดิการและการช่วยเหลือคนพิการมาใช้เป็นฐานทุนในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 เพื่อให้บริการคนพิการที่ป่วยโรคโควิด-19 (กลุ่มสีเขียว) ได้พักฟื้นรักษาตัว กระทั่งวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา โรงพยาบาลสนามบ้านวิทย์ฯ ได้ส่งผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 3 รายสุดท้ายกลับบ้านอย่างปลอดภัย ประกอบกับสถานการณ์การระบาดที่เริ่มคลี่คลายลง ทำให้โรงพยาบาลสนามบ้านวิทย์ฯ ได้ยุติการดำเนินงานอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 กันยายน

ทั้งนี้ผลลัพธ์จากการดำเนินงานอย่างแข็งขันของบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนตลอดระยะเวลา 120 วัน และเกือบตลอด 24 ชั่วโมงของทุกวัน ไม่ได้เพียงช่วยให้คนพิการที่ป่วยโควิด-19 ได้รับการรักษาและหายป่วยกลับบ้านอย่างปลอดภัย ทว่าทุกบทบาทและปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลสนามบ้านวิทย์ฯ แห่งนี้ ยังกลายเป็นบทเรียนหน้าใหม่ให้แก่ทีมสหวิชาชีพทุกหน่วยงาน อันจะนำไปสู่การสร้างต้นแบบโรงพยาบาลสนามเพื่อดูแลคนพิการในยามเผชิญโรคระบาดของโรคอุบัติใหม่ในอนาคต

‘สวัสดิภาพ’ เพื่อคนพิการในทุกสถานการณ์ชีวิต

นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงบทบาทของ พก. ในสถานการณ์วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ว่า ด้วยภารกิจหลักคือการผลักดันนโยบายด้านคุณภาพชีวิตคนพิการไปสู่การปฏิบัติ ทั้งสิทธิสวัสดิการ การคุ้มครองและการช่วยเหลือเกือบทุกด้าน แต่ด้วยโควิด-19 เป็นสถานการณ์ของโรคระบาดใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้น พก. จึงตั้ง ‘ทีมเรามีเรา’ ขึ้นมาเฉพาะกิจ ซึ่งประกอบด้วยนักสังคมสงเคราะห์ นักพัฒนาสังคมที่ทำหน้าที่เชิงรุกในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในการคุ้มครองดูแล เนื่องจากการรับมือกับโรคโควิด-19 จะต้องมีการดูแลร่วมกับทั้งด้านการแพทย์ ด้านสวัสดิการและสิ่งอำนวยสะดวกสำหรับคนพิการควบคู่กันไป

“การบูรณาการร่วมกันของทั้ง 3 หน่วยงาน ทำให้ช่วยแบ่งเบาภาระในการทำงาน ตัวอย่างกรณีคนพิการที่เป็นผู้ป่วยโควิด-19 ทาง พก. พบว่ามีคุณพ่อติดโควิด-19 แต่ลูกซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตายังไม่พบเชื้อ และต้องอยู่บ้านคนเดียว เพราะคุณแม่เสียชีวิตไปแล้ว ต่อมาน้องคนดังกล่าวได้ตรวจพบเชื้อ ทาง พก.ประสานงานร่วมกับทีมแพทย์สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ เพื่อประสานให้น้องได้มารักษาที่โรงพยาบาลสนามบ้านวิทย์ฯ อีกทั้งทีมแพทย์ยังประสานนำคุณพ่อมารักษาต่อที่โรงพยาบาลสนามบ้านวิทย์ฯ ทำให้ผู้พิการทางสายตาได้รู้สึกอบอุ่นทางใจที่ได้อยู่ใกล้กับคนที่คุ้นเคย ที่สำคัญพื้นที่นี้ยังมีนวัตกรรมช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการทุกประเภท ทั้งอุปกรณ์ลดความเสี่ยงในการสัมผัสเพื่อเลี่ยงการติดเชื้อ และเครื่องมือสื่อสารที่เหมาะสมอย่างครบถ้วน ซึ่งการมีโรงพยาบาลสนามบ้านวิทย์ฯ ตอบโจทย์ทั้งการบริการคนพิการและทำให้ระบบสาธารณสุขประหยัดทรัพยากรได้มาก” นางสาวสราญภัทร กล่าว

อย่างไรก็ตามแม้ว่าโรงพยาบาลสนามบ้านวิทย์ฯ จะหยุดดำเนินการในเดือนกันยายนนี้ แต่ ‘ทีมเรามีเรา’ของ พก. ยังคงเดินหน้าภารกิจช่วยเหลือคนพิการในสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังมีโรงพยาบาลสนามราชานุกูล ซึ่งดูแลเฉพาะสำหรับกลุ่มคนพิการออทิสติกด้านสติปัญญาและการเรียนรู้ รวมถึงคนในครอบครัว นอกจากยังนี้ยังมีระบบกักแยกผู้ป่วยในชุมชน (Community Isolation) ของกลุ่มคนพิการทางเห็น ซึ่งสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยและโรงเรียนสอนคนตาบอดยังเปิดรับคนตาบอดและครอบครัวที่ป่วยโรคโควิด-19 บริหารจัดการโดยโรงพยาบาลรามาธิบดี

‘นวัตรรมวิจัย’ สู้โควิด-19 สู่ความมั่นคงด้านการแพทย์

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เดิมบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ฝึกทักษะและพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่ง สวทช. ให้บริการสำหรับเด็กและเยาวชนผู้มีความสนใจและมีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทว่าเมื่อเกิดการระบาดโควิด-19 อย่างต่อเนื่องและมีผู้ป่วยจำนวนมาก การเปลี่ยนพื้นที่เป็นโรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมกับคนพิการให้ได้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกระหว่างพักรักษาตัว ทั้งยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถใช้ศักยภาพของพื้นที่และนวัตกรรมวิจัยต่างๆ ในภารกิจช่วยเหลือชีวิตคนพิการอย่างมีประสิทธิผล เพื่อให้คนพิการเหล่านี้ได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ในระบบสาธารณสุขอย่างทั่วถึง

“เราปรับปรุงพื้นที่เพิ่มเติมตามที่บุคลากรทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแนะนำ ตั้งแต่ทางเดิน ห้องน้ำ ระบบบริการล่ามทางไกลสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน ซึ่งเป็นบริการล่ามภาษามือทางไกลที่ทำให้เจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลสนามบ้านวิทย์ฯ (คนหูปกติ) สามารถสื่อสารกับคนพิการทางการได้ยิน ผ่านอุปกรณ์สื่อสารที่จัดเตรียมไว้ที่โรงพยาบาลสนาม รวมทั้งมีผลงานวิจัยซึ่งพัฒนาโดยทีมวิจัย สวทช. เช่น เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลแบบเคลื่อนที่ได้ (BodiiRay M) อุปกรณ์ป้องกันและฆ่าเชื้อโรค เช่น หน้ากากอนามัย Safie Plus และ หน้ากาก N95 n-Breeze เครื่องกำจัดเชื้อโรคด้วยแสงยูวีซี (Girm Zaber UV-C Sterilizer) แบบ Robot และแบบ Station  รถส่งของบังคับทางไกล ‘อารี’ และหุ่นยนต์ส่งของ ‘ปิ่นโต2’ (กรมวิทยาศาสตร์บริการ เข้ามาร่วมสนับสนุน)

หมวกแรงดันลบและแรงดันบวก nSPHERE เปลแรงดันลบเคลื่อนย้ายผู้ป่วย PETE เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน นอกจากนั้นแล้ว สวทช. ยังได้นำซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า ระบบติดตามสุขภาพผู้ป่วยทางไกล สำหรับโรงพยาบาลสนาม (A-MED Telehealth) เพื่อให้เกิดการสื่อสารสองทางระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ในโรงพยาบาลสนามและแพลตฟอร์มดังกล่าวใช้งานได้ดี จึงนำไปบริหารจัดการข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 ที่แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของคนไทยเข้าไปช่วยดูแลผู้ป่วยและช่วยอำนวยความสะดวกกับบุคลากรทางการแพทย์อย่างสมบูรณ์

วิกฤติโควิด-19 สวทช. ได้นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้รับมืออย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ยังพัฒนาสารตั้งต้นในการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้รักษาโควิด-19 และยังมีวัคซีนอีก 2 ชนิดที่กำลังอยู่ในเฟสการเตรียมการทดลองในมนุษย์ ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่เป็นการวางแผน การสั่งสมองค์ความรู้ความสามารถเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ดังเช่น การระบาดของโควิด-19

ดร.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า วิกฤติโควิด-19 พิสูจน์ให้เห็นว่าองค์ความรู้เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญมาก วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจึงเป็นการมองอนาคต ทั้งการเตรียมความพร้อม องค์ความรู้และการเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ รวมถึงความพร้อมด้านเครือข่ายการวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นอาวุธลับสำคัญที่ทำให้เราสามารถติดตามพัฒนาการต่างๆ ของโรคระบาด อุปกรณ์ป้องกันโรค รวมทั้งยาและวัคซีนได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะทำให้เราเกิดความมั่นคงด้านการแพทย์และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 ต้นแบบโรงพยาบาลสนามฯ สู่องค์ความรู้รับมือโรคระบาด

ด้าน พญ.บุษกร โลหารชุน รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ กล่าวยอมรับว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่มีผลกระทบต่อคนพิการและครอบครัว ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤติก็จะเกิดความตระหนกมากขึ้น และทีมสหวิชาชีพของสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ ตระหนักถึงประเด็นปัญหานี้ว่าจะทำอย่างไรให้คนพิการและครอบครัวเข้าถึงบริการและได้รับการดูแลอย่างปลอดภัยได้มาตรฐาน

“หากพูดถึงสเกลการทำงานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์แล้วอาจไม่มากนัก แต่สิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ และทีมสหวิชาชีพได้นั้นคือองค์ความรู้ในการรับมือกับวิกฤติอื่นๆ ในอนาคต ซึ่งภาพรวมตลอด 4 เดือนสิ่งที่ทำอาจจะไม่ได้หนักมาก แต่สิ่งที่ได้มากกว่าคือเราได้ถอดองค์ความรู้ทั้งหมด และพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังหน่วยงานต่างๆ หากเกิดโรคระบาดเช่นนี้อีกในอนาคต เพื่อให้คนพิการที่กระจายอยู่ทั่วประเทศได้มีโอกาสเข้าถึงการดูแลและรักษา เพื่อความปลอดภัยและความมั่นคงทางด้านสวัสดิการสังคมและสุขภาพของตนเอง”

พญ.บุษกร กล่าวต่อว่า จากการได้ดำเนินการโรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ ซึ่งถือเป็นแห่งแรกในประเทศไทยและแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจัยความสำเร็จครั้งนี้ คือความร่วมมือกันของหน่วยงานภาครัฐทั้ง 3 หน่วยงาน ขณะเดียวกันก็มีภาคประชาสังคมจิตอาสาที่เข้มแข็งมาช่วยสนับสนุนทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่ภาครัฐไม่สามารถหาได้ในเวลาอันจำกัด นอกจากนั้นแล้วยังมีองค์กรคนพิการทุกประเภทที่มีความเข้มแข็งและพยายามรวมตัวกัน เพื่อเป็นจุดสำคัญในการรับข้อร้องทุกข์ซึ่งถือเป็นตัวแทนสำคัญมากๆ ที่ทำให้คนพิการที่ด้อยโอกาสได้เข้าถึงบริการสุขภาพ

“หากเกิดวิกฤติอีกในระลอกหน้า เราสามารถนำเอาองค์ความรู้ ความร่วมมือและปัจจัยความสำเร็จต่างๆ ก้าวข้ามวิกฤติไปได้ เพราะว่าทุกอย่างนั้นบางครั้งหากเรากลัวจนเกินไป เราจะมองไม่เห็นทางออก แต่โรงพยาบาลสนามบ้านวิทย์ฯ เราพิสูจน์มาแล้วว่า เมื่อเรามั่นใจในประสิทธิภาพและพลังของความร่วมมือจะนำพาให้เราประสบความสำเร็จ แล้วจะทำให้สิ่งที่เราวิตกหรือหวาดกลัวนั้นสิ้นสุดลงได้ เป็นการสร้างพลังรวมให้เกิดเป็นพลังหมู่และก้าวข้ามอุปสรรคไปได้ในที่สุด”

ทั้งนี้โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ เปิดดำเนินการตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2564 และปิดการดำเนินการในวันที่ 30 กันยายน โดยตลอด 4 เดือน มีคนพิการติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวเข้ารับการรักษาจำนวนทั้งสิ้น 650 คน ได้รับการรักษาหายป่วยกลับบ้าน 590 คน และส่งต่อไปรักษากับโรงพยาบาลขนาดใหญ่อีก 60 คน

อย่างไรก็ตามคนพิการที่เป็นผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ ยังสามารถติดต่อผ่านช่องทางต่างๆ ในการเข้ารับบริการได้ในสถานที่ปกติของหน่วยงานรัฐ ผ่านบริการศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 สายด่วน สปสช. 1330 สายด่วนคนพิการ 1479 เพื่อแจ้งว่าเข้าข่ายเป็นผู้ป่วยรายใหม่และสามารถขอรับการตรวจยืนยันได้ในโรงพยาบาลใกล้บ้าน หากอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลสามารถติดต่อสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ ซึ่งยังให้บริการตรวจ RT-PCR และบริการการกักตัวที่บ้าน Home Isolation โดยทีมแพทย์และสหวิชาชีพเพื่อสร้างความมั่นใจแก่คนพิการในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นขวัญกำลังใจบุคลากร รพ.สนามบ้านวิทย์ฯ

พญ.บุษกร เปิดเผยด้วยว่า โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ ซึ่งเป็นต้นแบบในการบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกิดขึ้นจนสามารถสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพแก่คนพิการได้อย่างสมบูรณ์แบบด้วยพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

“โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานในทุกกลุ่ม นอกจากนี้ทรงพระราชทานกำลังใจในการปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มความสามารแก่บุคลากร พระองค์ท่านได้เห็นถึงความตั้งใจของทีมทำงาน ทรงทราบถึงความทุกข์ยากของพสกนิกร และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พระราชทานอาหาร รวมถึงมีทรงติดตามถามความคืบหน้าของการดำเนินการ ซึ่งทางสถาบันฯ ได้ถวายรายงานให้ทรงทราบเป็นระยะว่าปัจจุบันดำเนินการอย่างไร มีคนพิการกี่ราย ครอบครัวกี่รายที่ได้รับความช่วยเหลือ นำมาซึ่งความปลื้มปิติและเป็นขวัญกำลังใจแก่ทีมงานได้ปฏิบัติภารกิจสำเร็จลุล่วงด้วยความเรียบร้อยสมบูรณ์” พญ.บุษกร กล่าวทิ้งท้าย

แชร์หน้านี้: