หน้าแรก สวทช. จับมือ จุฬาฯ มจธ. ผนึกกำลังแลกเปลี่ยนทางวิชาการ เพื่อตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรม
สวทช. จับมือ จุฬาฯ มจธ. ผนึกกำลังแลกเปลี่ยนทางวิชาการ เพื่อตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรม
8 มี.ค. 2565
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(เมื่อเร็วๆนี้) ณ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยฝ่ายส่งเสริมจริยธรรมการวิจัย ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ “การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรม” โดยได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช., รศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ พร้อมด้วย ดร.วรินธร สงคศิริ ที่ปรึกษาอธิการบดี ผู้แทน มจธ. ร่วมลงนามในครั้งนี้ นอกจากนี้ ดร.อลิสา คงทน รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช., รศ.ดร.วันชัย ตรียะประเสริฐ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาฯ, และ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ TCI ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยความร่วมมือดังกล่าวมีระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2565 – 26 มีนาคม 2570

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ความร่วมมือของทั้ง 3 องค์กรในวันนี้ จะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับแพลตฟอร์ม anti-plagiarism ของประเทศไทย ทั้งโปรแกรม CopyCatch ที่พัฒนาโดยศูนย์เนคเทค สวทช. และโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลงานวิจัยกับศูนย์ TCI

รศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาฯ อยู่ระหว่างการจัดทำ Data gateway ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อนำไปใช้ในการกำกับมาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา เกิดการเชื่อมโยงฐานข้อมูลความเชี่ยวชาญของบุคลากรในมหาวิทยาลัย (Metadata) เข้าด้วยกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญด้าน Social science เนื่องจากปัจจุบัน หากต้องการสืบค้นความเชี่ยวชาญด้าน Science and Technology เราสามารถสืบค้นจากเว็บไซต์ Scopus/Science-direct ได้ แต่หากเป็นความเชี่ยวชาญด้าน Social science จะมีฐานข้อมูลค่อนข้างจำกัด ซึ่งประเทศไทยมีฐานข้อมูลของศูนย์ TCI มีวารสารที่เกี่ยวข้องกับ Humanity และ Social science ค่อนข้างมาก ดังนั้น ศูนย์ TCI จะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยปิดช่องโหว่ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ TCI กล่าวว่า หากใช้โปรแกรมไปแล้ว พบว่าเอกสารวิชาการนั้น มี % similarlity สูง ขอให้พึงระวังว่ากรณีนี้อาจไม่ใช่การคัดลอกผลงานผู้อื่นเสมอไป เจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบเอกสารหรือผู้ใช้งานโปรแกรมต้องพิจารณาในรายละเอียดเนื้อหาด้วย อีกทั้ง ควรมีการสื่อสาร ทำความเข้าใจกับผู้ใช้งานโปรแกรมให้ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาความเข้าใจผิดที่จะเกิดขึ้น
ปัจจุบัน สวทช. มีการทำงานร่วมกับหลายสถาบัน ทั้งเครือข่ายภาคมหาวิทยาลัย และหน่วยงานให้ทุนต่างๆ เช่น วช., สกสว. และ สอวช. ซึ่งองค์กรเหล่านี้เป็นสมาชิกเครือข่าย Thailand Research Integrity Network (TH-RIN) ซึ่งมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นประธาน และ สวทช. เป็นฝ่ายเลขานุการ โดย สวทช. จะประชาสัมพันธ์ความร่วมมือการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อการตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรมของทั้ง 3 องค์กรในวันนี้ ให้เครือข่าย TH-RIN ได้รับทราบ และหากมหาวิทยาลัยใดสนใจร่วมแบ่งปันฐานข้อมูลที่ตนมีอยู่ ก็จะยิ่งทำให้ฐานข้อมูลครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

แชร์หน้านี้: