หน้าแรก “เล่น” เป็นการเรียนรู้ที่ทรงพลังและเข้ากับธรรมชาติของเด็กมากที่สุด
“เล่น” เป็นการเรียนรู้ที่ทรงพลังและเข้ากับธรรมชาติของเด็กมากที่สุด
5 เม.ย. 2567
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

การอบรมเชิงปฏิบัติการเฉพาะทาง สำหรับผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network; LN) และวิทยากรเครือข่ายท้องถิ่น (Local Trainer; LT) โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษา ประจำปี 2567 ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 18 -20 มีนาคม 2567 นางฤทัย จงสฤษดิ์ วิทยากรหลักอาวุโสประจำโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย และผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดระดมสมองและให้ผู้เข้าอบรมจำนวน 283 คน ร่วมกันแสดงความเห็นว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาคิดว่าเด็กในระดับปฐมวัยและประถมศึกษาตอนต้น ชอบอะไรมากที่สุด เพื่อให้เข้าใจธรรมชาติของเด็กมากขึ้น

ผลการสรุปความเห็นจากผู้เข้าร่วมอบรมได้เห็นว่า 7 อันดับ ได้แก่

อันดับ 1 เล่นของเล่น (37 เปอร์เซ็นต์ของผู้ให้ความเห็น) โดยของเล่นที่เด็กชอบมีความหลากหลาย เช่น หุ่นยนต์เด็กเล่น รถเด็กเล่น เครื่องบิน ตุ๊กตา ลูกโป่ง สไลม์ ตัวต่อ เพราะของเล่นทำให้เด็ก ๆ ได้เล่นสนุกสนาน มีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ของเล่นบางอย่าง เช่น ตุ๊กตาทำให้เด็กได้เล่นบทบาทสมมุติและเล่าเรื่อง และเป็นนักประดิษฐ์ เช่น ตัวต่อ

อันดับ 2 ขนมอร่อยถูกใจเด็ก (11 เปอร์เซ็นต์ของผู้ให้ความเห็น) เด็ก ๆ ชอบทานไอศกรีม ลูกอม เค้ก ช็อกโกแลต และขนมนานาชนิด ๆ เป็นที่สังเกตว่า เด็กหลายคนชื่นชอบขนมที่มีรสชาติหวาน เด็ก ๆ รู้สึกทานแล้วมีความสุขและชื่นใจ บางครั้งการได้รับขนมจากผู้ใหญ่เหมือนการได้รับรางวัล และการที่เห็นเพื่อนรับประทานดูน่ารับประทานทาน ก็ดึงดูดให้เด็ก ๆ สนใจรับประทานเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ดี การให้ความรู้และสอนเด็ก ๆ ให้ทานขนมหวานในปริมาณพอเพียงและทานอาหารที่มีประโยชน์ยังเป็นเรื่องสำคัญ

อันดับ 3 เล่นน้ำ ดิน และทราย (9 เปอร์เซ็นต์ของผู้ให้ความเห็น) เด็กชอบเล่นอิสระในธรรมชาติโดยเล่นน้ำ ดิน และทราย เช่น ก่อกองทราย ตักทราย สร้างแหล่งน้ำเล็ก และปั้นก้อนดิน นอกจากเล่นสนุกแล้ว การลงมือสร้างและทำด้วยตนเอง ทำให้เด็กได้ฝึกความมั่นใจว่าทำอะไรด้วยตนเองได้ เด็กยังได้มีโอกาสใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ และกล้ามเนื้อมัดเล็ก  ได้สังเกตและใช้ประสาทสัมผัสในการสำรวจธรรมชาติและเกิดคำถามใหม่ให้ค้นหาเพิ่มเติม

อันดับ 4 เป็นกลุ่มการเล่นที่มีจำนวนโหวตเท่ากันคือ 8 เปอร์เซ็นต์ของผู้ให้ความเห็น คือ เล่นเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นและการเล่นเกมและการละเล่นต่าง ๆ สำหรับการเล่นเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นนั้น สนามเด็กเล่นส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สาธารณะ ทำให้เด็กได้พัฒนาการทางสังคม ให้ได้เจอกับเพื่อนเด็กหลากหลาย และเรียนรู้ที่จะเล่นร่วมกันอย่างไรให้สนุก และแบ่งปันกัน ครื่องเล่นหลายชนิดทำให้เด็กได้เคลื่อนไหวและออกกำลังกาย

และเด็ก ๆ ชอบเล่นเกมและการละเล่นต่าง ๆ เพราะเกมได้ถูกออกแบบให้มีสนุก ความท้าทายและได้รับรางวัลในแต่ละฐานให้รู้สึกว่าทำภารกิจสำเร็จ เกมมีความหลากหลายตั้งแต่บอร์ดเกม เกมออนไลน์ และการละเล่นต่าง ๆ หลายเกมช่วยฝึกเรื่องการแก้ไขปัญหาและทักษะสำคัญต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน ต้องระวังไม่ให้เด็กติดเกมออนไลน์หรือใช้เวลากับเกมมากจนเกินไป

อันดับ 5 วาดรูประบายสี (5 เปอร์เซ็นต์ของผู้ให้ความเห็น) ในช่วงที่เด็กได้ใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ วาดภาพ ทำให้เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ฝึกเรื่องมิติสัมพันธ์ และพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์และศิลปะ

อันดับ 6 ฟังนิทาน อ่านหนังสือ และดูการ์ตูน (4 เปอร์เซ็นต์ของผู้ให้ความเห็น) ช่วยส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้พัฒนาความสามารถด้านภาษา และฝึกให้เด็กเล็กเป็นคนช่างคิด ช่างถามและช่างสังเกต มีความมั่นใจ ฉลาด กล้าแสดงความคิดเห็นในระหว่างการฟังนิทาน และส่งเสริมเด็ก ๆ มีจินตนาการและได้รับความสนุก ความอบอุ่น และสัมพันธภาพที่ดีระหว่างการฟังนิทาน

อันดับ 7 เด็กชอบสองกิจกรรมนี้เท่ากันคือ 3 เปอร์เซ็นต์ของผู้ให้ความเห็น ได้แก่ ร้องเพลงและเต้น เด็ก ๆ ได้พัฒนาความสามารถการเข้าสังคม สร้างเสริมความแข็งแรงรวมทั้งความคล่องแคล่วในการบริหารร่างกายและการเคลื่อนไหว และได้ความรู้และทักษะพื้นฐานเรื่องดนตรี และเลี้ยงสัตว์และเล่นกับสัตว์ ส่งเสริมให้เด็กได้มีจิตใจอ่อนโยน มีความรัก เมตตา เข้าอกเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น ตลอดจนการปลูกฝังความรับผิดชอบในการดูแลผู้อื่น

ส่วนที่เหลืออีก 12 เปอร์เซ็นต์  เป็นกิจกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลาย เช่น ทำอาหาร สร้างบ้าน แต่งตัว เป็นต้น

นางฤทัย จงสฤษดิ์ กล่าวว่า ข้อมูลจากผู้เข้าอบรมในครั้งนี้เป็นประโยชน์มากสำหรับผู้เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาเด็ก ผู้ปกครอง ครูผู้สอน และนักการศึกษาเข้าใจธรรมชาติและความสนใจของเด็ก ๆ มากขึ้น และเห็นได้ว่าสิ่งที่เด็กสนใจและชอบเป็นพิเศษส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการเล่นในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเล่นของเล่น เล่นในธรรมชาติ เล่นในสนามเด็กเล่น เล่นเกม การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมาจากประสบการณ์ที่มีความหมาย เด็กได้ลงมือทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยความสนใจมากกว่าการฟังเพียงอย่างเดียว

 

5 เม.ย. 2567
0
แชร์หน้านี้: