หน้าแรก สวทช.-ม.เกษตรศาสตร์-ชุมชนบ้านดอนหวาย เปิด “ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML” แหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพแห่งแรก พร้อมส่งต่อแปลงปลูกทั่วไทย
สวทช.-ม.เกษตรศาสตร์-ชุมชนบ้านดอนหวาย เปิด “ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML” แหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพแห่งแรก พร้อมส่งต่อแปลงปลูกทั่วไทย
22 ก.พ. 2564
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

For English-version news, please visit : Community Mung Bean Seed Production Center launched in Uthai Thani

สวทช. -ทีมวิจัยถั่วเขียว KUML ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรบ้านดอนหวาย จ.อุทัยธานี ต่อยอดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียว KUML อย่างครบวงจร จัดตั้ง “ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML บ้านดอนหวาย” แหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพด้วยความรู้ เทคโนโลยีและความใส่ใจ ส่งถึงเกษตรกรทั่วไทย สร้างรายได้หลังทำนา ส่งต่อผลผลิตคุณภาพสู่อุตสาหกรรมแปรรูป

นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ความต้องการของตลาดถั่วเขียวทั้งในและต่างประเทศมีสูง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแปรรูป แต่ปริมาณการผลิตของไทยยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ซึ่งในปี 2562 ไทยมีผลผลิตรวม 92,472 ตัน ขณะที่ความต้องการในประเทศสูงถึง 113,291 ตัน โดยมีผลผลิตเฉลี่ย 115 กิโลกรัม/ไร่ หลังจากที่ สวทช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาถั่วเขียวให้คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนได้ถั่วเขียวสายพันธุ์ใหม่ KUML เบอร์ 1-5 และ 8 ที่ให้ผลผลิตสูงกว่า 200 กิโลกรัม/ไร่ ต้านทานโรค และทางสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) หน่วยงานภายใต้ สวทช. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียว KUML แบบครบวงจรให้เกษตรกรในหลายพื้นที่แล้วนั้น ได้ช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตป้อนสู่อุตสาหกรรมแปรรูปและสร้างรายได้หลังการทำนาให้เกษตรกร

“สท. ได้ร่วมกับทีมวิจัยลงพื้นที่ให้ความรู้การผลิตถั่วเขียวแบบครบวงจรกับกลุ่มเกษตรกรบ้านดอนหวาย อ.สว่างอารมณ์ จ.อุทัยธานี ตั้งแต่ปี 2562 ทั้งเทคโนโลยีการปลูก การดูแลและจัดการแปลงปลูก จนถึงการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูป ซึ่งเกษตรกรบ้านดอนหวายให้ความสนใจเข้าร่วมผลิตถั่วเขียวทั้งผลิตจำหน่ายเป็นเมล็ดพืชเพื่อบริโภคและผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่ายแก่เกษตรกรรายอื่น ซึ่งการผลิตเป็นผลิตเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรต้องใช้ความรู้และความใส่ใจทุกขั้นตอนการผลิต หมั่นสำรวจแปลง จัดการพันธุ์ปน ป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช เก็บเมล็ดพันธุ์ด้วยมือเพื่อไม่เกิดการปนพันธุ์ รวมถึงการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ทั้งการทดสอบความงอกและการเก็บรักษา เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์คุณภาพที่เป็นต้นทางสู่การเพาะปลูก ซึ่งกระบวนการเหล่านี้กลุ่มเกษตรกรบ้านดอนหวายได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความรู้และเทคโนโลยีเมื่อผนวกความใส่ใจ สามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ ได้ราคา และเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของพวกเขา โดยในปี 2563 กลุ่มเกษตรกรมีรายได้จากการผลิตถั่วเขียวรวมกว่า 6 ล้านบาท เมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML ของกลุ่มฯ ได้รับการยอมรับจากผู้ซื้อ จนนำมาสู่การจัดตั้งเป็น

“ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ KUML บ้านดอนหวาย” ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวคุณภาพระดับชุมชนแห่งแรกของไทยที่มีทั้งความรู้และเครื่องมือทดสอบที่ได้มาตรฐานทั้งเครื่องวัดความชื้นเมล็ดพันธุ์ ชุดเพาะเมล็ดเพื่อตรวจสอบความงอก และชุดรมยาสำหรับเก็บป้องกันกำจัดแมลงในโรงเก็บ ทั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงการเดินทางของงานวิจัยสู่การขยายผลและใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง โดยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้เกษตรกร เกิดผลผลิตถั่วเขียวคุณภาพเข้าสู่ตลาดและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกด้วย”

รศ.ดร.ประกิจ สมท่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นักวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ถั่วเขียว KUML กล่าวว่า ถั่วเขียวเป็นพืชหลังนาที่มีอายุการปลูกสั้น ปลูกได้ทั้งปี ใช้น้ำน้อย ซึ่งถั่วเขียว KUML เบอร์ 1-8 มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 70 วัน ให้ผลผลิตสูง เมล็ดโต ต้านทานโรค ถั่วเขียว KUML แต่ละเบอร์มีลักษณะที่แตกต่างกันบ้าง แต่ให้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 200 กก./ไร่ และอาจได้ถึง 300 กก./ไร่ ขึ้นอยู่กับการดูแลและจัดการ

“การเกิดขึ้นของ “ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML บ้านดอนหวาย” แสดงถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มเกษตรกรบ้านดอนหวายที่เปิดรับความรู้และเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียว และที่สำคัญคือความเอาใจใส่การผลิต โดยเฉพาะการผลิตเพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์ ซึ่งต้องใช้ทั้งความรู้ เครื่องมืออุปกรณ์ ประสบการณ์และความปราณีต เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์คุณภาพ ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์แห่งนี้เป็นแหล่งผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML ที่สร้างความมั่นใจให้ผู้ซื้อที่ไม่ใช่เพียงเกษตรกร แต่ยังรวมถึงหน่วยงานหรือบริษัทที่ต้องการได้เมล็ดพันธุ์คุณภาพไปส่งเสริมการปลูกให้เกษตรกร นำไปสู่การได้ผลผลิตที่ดีเข้าสู่อุตสาหกรรมแปรรูปต่อไป”

นายวสันต์ พิลึก แกนนำกลุ่มเกษตรกรบ้านดอนหวาย กล่าวว่า กลุ่มฯ รู้จักถั่วเขียว KUML มาตั้งแต่ปี 2559 ทดลองปลูกและเก็บเมล็ดพันธุ์ด้วยมือ แต่ยังได้ผลผลิตไม่มากเนื่องจากใช้ประสบการณ์เดิม จนได้มาเรียนรู้การผลิตจาก สวทช. และทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้เข้าใจวิธีการปลูก การดูแล และที่สำคัญคือการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด

“ถั่วเขียว KUML โตเร็ว อายุปลูกสั้น สุกแก่พร้อมกัน ผลผลิตดก เก็บง่าย และทนโรคกว่าสายพันธุ์ที่เคยปลูกมา ความรู้จากทีมวิจัยทำให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ นอกจากส่งขายเป็นเมล็ดพืชหรือเมล็ดพันธุ์แล้ว สมาชิกยังได้แปรรูปเป็นต้นอ่อนและถั่วงอกขายในชุมชน สร้างรายได้เสริมให้ครอบครัว จนสามารถปลดหนี้สินได้ กลุ่มฯ มีสมาชิก 15 คน ในปี 2563 กลุ่มมีพื้นที่ปลูกถั่วเขียว KUML รวม 888 ไร่ เมื่อกลุ่มฯ มีความพร้อมทั้งความรู้และการจัดการโดยได้รับการสนับสนุนจาก สวทช. และทีมวิจัย กลุ่มฯ จึงได้เปิดเป็น “ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML บ้านดอนหวาย” ที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และพร้อมให้คำแนะนำการปลูกถั่วเขียวแก่เพื่อนเกษตรกรที่สนใจ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี สร้างรายได้ให้ครอบครัวและเปลี่ยนแปลงชีวิตการทำเกษตรให้ดีขึ้น เหมือนที่สมาชิกกลุ่มฯ ได้รับมาตั้งแต่ปลูกถั่วเขียว KUML นี้”

ในปี 2563 กลุ่มเกษตรกรบ้านดอนหวายมีรายได้จากการผลิตถั่วเขียวรวม 6,097,600 บาท โดยแบ่งเป็นพื้นที่ผลิตถั่วเขียวเป็นเมล็ดพืช 800 ไร่ ได้ผลผลิต 184,640 กิโลกรัม ขายราคากิโลกรัมละ 30 บาท มีรายได้สุทธิ 4,768,800 บาท ขณะที่พื้นที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ 88 ไร่ ได้ผลผลิต 24,640 กิโลกรัม ขายราคากิโลกรัมละ 60 บาท มีรายได้สุทธิ 1,328,800 บาท

 

ติดต่อศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML บ้านดอนหวาย โทร. 087 1979510

22 ก.พ. 2564
0
แชร์หน้านี้: