หน้าแรก สวทช. หนุนผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP เครือข่าย ม.พะเยาเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการแปรรูปพืชผลทางการเกษตร ด้วยระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก
สวทช. หนุนผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP เครือข่าย ม.พะเยาเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการแปรรูปพืชผลทางการเกษตร ด้วยระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก
27 ก.ย. 2563
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP: ไอแทป) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจาก มหาวิทยาลัยพะเยา แก่ผู้ประกอบการแปรรูปพืชผลทางการเกษตรเป็นเส้นขนมจีนอบแห้งของ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไฮ โซ แซ่บ” จ.พะเยา ในโครงการ “การพัฒนาระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตเส้นขนมจีนอบแห้ง” สามารถเพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มมูลค่าให้กับพืชผลทางการเกษตรไทย และมีคุณภาพถูกต้องตามหลักอาหารปลอดภัย

รศ.ดร.ต่อพงศ์ กรีธาชาติ ผู้จัดการเครือข่าย ITAP-UP มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า ประเทศไทยนับเป็นประเทศส่งออกผลผลิตทางการเกษตรรายสำคัญของโลก ทั้งในรูปผลผลิตและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป ซึ่งอย่างหลังพบว่ามีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี โดยเฉพาะมีผู้ประกอบการรายเล็กในขนาด small และ very small ทั้งนี้ ในพื้นที่ จ.พะเยา มีจำนวนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์เกษตรและแปรรูปรายเล็กเป็นจำนวนมากเกิดขึ้น ทั้งที่เป็นกิจการแบบธุรกิจเจ้าของคนเดียว หรือการรวมกลุ่มกันในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน ซึ่งธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้ต่างประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งในส่วนต้นทุนพลังงานและสาธารณูปโภค และยังมีโจทย์ความต้องการในการแก้ไขปัญหากระบวนการผลิตและแปรรูปที่คล้ายคลึงกันคือ ต้องการนำเทคโนโลยีที่มีฟังก์ชั่นการทำงานไม่ซับซ้อน และมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระบบรายปีไม่สูง เข้ามาปรับใช้ในกิจการ “ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์” จึงเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมกับธุรกิจท้องถิ่นรายเล็ก ที่ใช้เงินลงทุนไม่สูง และเหมาะสมกับการนำมาใช้ในสภาวะภูมิอากาศของประเทศไทย โดยผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP ของมหาวิทยาลัยพะเยา ได้มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันสามารถพัฒนาระบบ IoT ที่เพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งาน และสามารถควบคุมกระบวนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ฉะนั้น เทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน เป็นการพัฒนาท้องถิ่นตามปณิธานของมหาวิทยาลัยพะเยา “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน (Wisdom for Community Empowerment)” อย่างแท้จริง

ด้านผู้ประกอบการ นางวารัทชญา อรรถอนุกูล ผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไฮ โซ แซ่บ กล่าวว่า “ขนมจีน” เป็นอาหารคาวที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากของคนไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ และอีสานแต่เดิมในกระบวนการแปรรูปเส้นขนมจีนจะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ขนมจีนแป้งหมัก และขนมจีนแป้งสด ซึ่งในการผลิตขนมจีนดังกล่าว มีลักษณะการผลิตที่นานและเสียง่าย ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไฮ โซ แซ่บ จึงมีการประยุกต์ดัดแปลงพัฒนาเส้นข้าวโพดอบแห้ง ที่ผลิตจากแป้งข้าวโพด ซึ่งสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด ทั้งอาหารคาวและหวาน เช่น นำไปใช้แทนเส้นขนมจีนในเมนูขนมจีน หรือน้ำเงี้ยว นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในเมนูไส้อั่ว ปอเปี๊ยะทอด หรือนำไปใช้ทำเมนูของหวาน เช่น สลิ่มในน้ำกะทิได้

ซึ่งหลังจากได้เข้าร่วมโครงการกับโปรแกรม ITAP ม.พะเยา และทำการติดตั้งระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ช่วยให้กิจการสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเส้นข้าวโพดได้มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตเส้นข้าวโพดแบบเดิมที่ต้องตากเส้นไว้กลางแจ้ง ซึ่งหากเป็นวันที่มีฝนตกจำเป็นต้องหยุดการผลิต หรือในวันที่สภาพอากาศมีเมฆมาก จะทำให้เส้นข้าวโพดไม่เรียงตัวเป็นเส้นตรงสวยงาม การตากเส้นข้าวโพดแบบเดิมจะใช้เวลา 1 – 2 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ แต่เมื่อนำเส้นข้าวโพดไปอบในระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จะใช้เวลาเพียง 3 – 4 ชั่วโมง นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังช่วยให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ มีความสะอาด ไม่ปนเปื้อนจากฝุ่นหรือแมลงวัน รวมถึงนำไปใช้ประโยชน์ในการแปรรูปวัตถุดิบอื่น ๆ ที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าของกิจการได้อีกด้วย เช่น พริก ดอกอัญชัน ดอกงิ้ว ขมิ้น เป็นต้น

ในส่วน ผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP ดร.สุรัตน์ เศษโพธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาพลังงานทดแทน และ นายสุรศักดิ์ ใจหลัก นักวิจัย คณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวร่วมกันว่า โปรแกรม ITAP เครือข่าย ม.พะเยา ได้ให้ความช่วยเหลือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไฮ โซ แซ่บ ในด้านการออกแบบและการจัดทำระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีมาตรฐาน ศึกษาต้นแบบจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาวะการปฏิบัติงานในพื้นที่ของผู้ประกอบการ และมีความเหมาะสมสำหรับกระบวนการแปรรูปเส้นข้าวโพดอบแห้งที่มีส่วนผสมของพืชผลทางการเกษตรท้องถิ่น เช่น ข้าวหอมมะลิพะเยา ข้าวโพด มันม่วง ขมิ้น เป็นต้น โดยเฉพาะระบบการระบายความชื้นได้ทำการติดตั้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และควบคุมการระบายความชื้น เพื่อให้มีความเหมาะสมกับปริมาณวัตถุดิบที่นำมาอบแห้ง โดยมี นายศุภฤกษ์ ขาวแดง ที่ปรึกษาเทคโนโลยี (ITA) เป็นตัวกลางสำคัญประสานงานระหว่าง สวทช. ผู้ประกอบการ และผู้เชี่ยวชาญ ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับกลไกการให้ความช่วยเหลือจาก ITAP รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการลดความยุ่งยากและความซับซ้อนในการดำเนินโครงการต่าง ๆ พร้อมส่งเสริมให้เกิดความร่วมมืออันดีระว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งให้คำแนะนำและช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการ

“การดำเนินโครงการจัดทำระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก สามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไฮ โซ แซ่บ คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตเดิม เป็นผลจากการลดความชื้นได้เร็วขึ้น ซึ่งมีอุณหภูมิของโรงอบอยู่ระหว่าง 45 – 55 องศาเซลเซียส ซึ่งในระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จะมีอุปกรณ์ที่สำคัญได้แก่ พัดลมระบายอากาศหรือระบายความชื้น เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญยิ่งในการควบคุมอุณหภูมิของอากาศในโรงอบ ผลการดำเนินโครงการ พบว่า ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จะใช้เวลาในการอบที่น้อยกว่าแบบเดิมจากการตาก 1 – 2 วัน เหลือไม่เกินครึ่งวัน อีกทั้งยังไม่มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานต่าง ๆ เช่น ค่าไฟฟ้า และยังได้คุณภาพของสินค้าที่ไม่ต่างจากแบบเดิม ทำให้ หจก. สามารถพัฒนาให้เกิดเทคโนโลยีที่ช่วยในกระบวนการผลิตเส้นข้าวโพดอบแห้ง เพิ่มศักยภาพ และมีความเหมาะสมกับการผลิตเส้นอบแห้ง ทดแทนการตากแห้งแบบดั้งเดิม ยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้มีความสะอาด สร้างความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภค รองรับการขอรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เส้นอบแห้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาการผลิตได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด ทั้งนี้ ในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ระยะถัดไป จะเป็นการประยุกต์ใช้ระบบ Internet of Things (IoT) ร่วมกับระบบระบายความชื้น ด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดค่าความชื้นและอุณหภูมิ ซึ่งระบบสามารถทำงานได้ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการแสดงผลข้อมูลผ่าน Web application และ Mobile Application รวมถึงหน้าจอแสดงผลบนกล่องควบคุมการทำงาน ที่เหมาะสมกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ” ผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP ม.พะเยา กล่าว

27 ก.ย. 2563
0
แชร์หน้านี้: