หน้าแรก อว. สวทช. เสริมแกร่งหน่วยบ่มเพาะธุรกิจหนุนสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืน
อว. สวทช. เสริมแกร่งหน่วยบ่มเพาะธุรกิจหนุนสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืน
26 ต.ค. 2563
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี เดินหน้าโครงการยกระดับขีดความสามารถหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปี พ.ศ.2563 ปีที่ 3

เพื่อพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ของหน่วยบ่มเพาะฯ ให้สามารถรองรับการสร้างผู้ประกอบการใหม่ ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น และเพิ่มพูนองค์ความรู้เชิงนโยบายที่จำเป็นเกี่ยวกับการบริหารหน่วยบ่มเพาะฯ ให้แก่ผู้บริหารสำหรับการพัฒนาและวางแผนกลยุทธ์อย่างเป็นระบบ เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศ และนานาชาติอย่างมีประสิทธิผล รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรงานบ่มเพาะธุรกิจ ด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรม

นางสาวนุชนภา รื่นอบเชย ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” ในการขับเคลื่อนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่การสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ พัฒนากระบวนการผลิต สร้างงาน-รายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในภารกิจสำคัญคือการส่งเสริมกิจการบ่มเพาะธุรกิจผ่านหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ (Business Incubator) ที่มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดผู้ประกอบการใหม่และพัฒนาผู้ประกอบการเดิมช่วยสร้างธุรกิจนวัตกรรม ส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีใหม่ พัฒนาเข้าสู่ระบบการคุ้มครองและการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ บริการผู้ประกอบการใหม่อย่างเป็นระบบและครบวงจร พัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพในการแข่งขัน “จากการดำเนินงานโครงการนี้ ไม่เพียงเป็นการยกระดับการบริหารจัดการหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจด้วย Maturity Model เท่านั้น ยังเป็นเวทีพบปะของผู้บริหาร และทีมงานจากหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจทั้งหลายที่ร่วมโครงการฯ เกิดการแบ่งปันประสบการณ์ องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเทคนิคต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจ แห่งการบรรลุเป้าหมายของแต่ละหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจด้วย” นางสาวนุชนภา กล่าว

ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หน่วยบ่มเพาะธุรกิจ จึงจำเป็นต้องมีการยกระดับปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้สามารถส่งเสริมผู้ประกอบการในระดับต่างๆ ให้สามารถไปสู่ธุรกิจที่สร้างคุณค่า (Value-Based Business) และมีการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-driven) เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างความเติบโตและความเข้มแข็งให้กับภาคส่วนต่างๆ ของประเทศได้อย่างสมดุลและยั่งยืน

ซึ่งข้อมูลจากที่ปรึกษาพบว่าผู้ประกอบการทั่วโลกที่ได้รับการบ่มเพาะธุรกิจนั้นมีอัตราการอยู่รอดและเติบโตมากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการบ่มเพาะถึงร้อยละ 30 สำหรับโครงการนี้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยในปีนี้ได้ร่วมกับสำนักประสานและส่งเสริมกิจการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ทำการประเมินหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษานำร่อง จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
“โครงการฯ ได้รวบรวมข้อมูลของหน่วยบ่มเพาะฯ ทั้ง 5 แห่ง แล้วนำมาวิเคราะห์ร่วมกับบริษัท Creeda จำกัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญขั้นสูงด้านบ่มเพาะธุรกิจระดับโลกมีประสบการณ์กว่า 35 ปี เป็นที่ปรึกษามากกว่า 50 ประเทศ จนทราบถึงสถานภาพปัจจุบันแล้ว จึงเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์ เพื่อทำการประเมินตามหลักมาตรฐานสากล แล้วนำผลมารายงานข้อค้นพบ พร้อมข้อเสนอแนะกระบวนการในการประยุกต์ใช้โมเดลที่มีความสอดคล้องกับบริบทและสถานภาพการบริหารจัดการของหน่วยบ่มเพาะฯ ของแต่ละสถาบันต่อไป” ดร.ฐิตาภากล่าว

นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการประเมินทำให้ทราบถึงจุดแข็งของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจของ 5 มหาวิทยาลัย ทั้งในเรื่องของระยะเวลาและขั้นตอนการบ่มเพาะที่เหมาะสมและสอดคล้องกับ best practice ในระดับนานาชาติ มีขั้นตอนการคัดเลือกผู้ประกอบการที่ละเอียด จำนวนผู้ประกอบการที่เข้ามาคัดเลือกเพื่อเข้ารับการบ่มเพาะ มีการประสานงานที่ดีกับเครือข่าย 9 แห่งทั่วประเทศ ประกอบกับการมีเจ้าหน้าที่ที่มีใจรักบริการและความสัมพันธ์ที่ดีกับมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังได้มีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของหน่วยบ่มเพาะฯ มากมายที่จะนำมายกระดับขีดความสามารถของหน่วยบ่มเพาะฯ อาทิ การปรับแผนยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและระบบนิเวศ (ecosystem) ในชุมชนมากขึ้น การปรับยุทธศาสตร์ให้เข้ากับความต้องการของผู้ประกอบการและความต้องการของตลาดในพื้นที่แทนการให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยและการดำเนินงานให้ตรงกับข้อกำหนดของผู้ให้ทุน การสร้างเสริมความสัมพันธ์กับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จะนำมาซึ่งการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ปัญหาในพื้นที่มากขึ้น รวมถึงการปรับแผนยุทธศาสตร์ด้านการเงินให้มีความยั่งยืนและมีงบประมาณจากแหล่งทุนที่หลากหลาย การที่ศูนย์บ่มเพาะประสบความสำเร็จได้นั้นมาจากการหารายได้จากช่องทางที่หลากหลายและแหล่งทุนอื่นๆ ทั้งจากการสนับสนุนของภาคเอกชนหรือแม้แต่จากผู้ประกอบการที่จบออกจากโครงการบ่มเพาะ ซึ่งตัวอย่างของศูนย์บ่มเพาะฯ ในยุโรปที่รับงบประมาณจากรัฐบาลมาร้อยละ 60 ส่วนร้อยละ 40 มาจากภาคเอกชนและผู้ประกอบการในศูนย์บ่มเพาะ เป็นต้น

26 ต.ค. 2563
0
แชร์หน้านี้: