หน้าแรก Highlight ประเด็นจากวิทยากร สวทช. x สมาคม TCOS ติดปีกอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม
Highlight ประเด็นจากวิทยากร สวทช. x สมาคม TCOS ติดปีกอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม
16 พ.ย. 2566
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

เก็บตกจากเวทีเสวนา “ติดปีกอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามด้วย FoodSERP for sustainable health and beauty ภายในงานพิธีลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย (TCOS) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ณ ห้องแถลงข่าวกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช.

ในฐานะที่ปรึกษากลุ่มแพลตฟอร์ม FoodSERP  

  • คำว่า FoodSERP มาจากเต็มว่า Food Service Platform เป็นรากฐานการวิจัยที่แข็งแกร่งของ สวทช. และเป็น 1 ใน 4 ของ Core Business ซึ่งเป็นนโยบายหลักของ สวทช. เป็นบริการในรูปแบบ One Stop Service ที่รวบรวมความเชี่ยวชาญทั้ง สวทช. ให้รวมอยู่ที่เดียวกัน โดยทำหน้าที่เป็น Contact Point ที่รับโจทย์ความต้องการจากผู้ประกอบการ และทำหน้าที่เชื่อมโยงไปตามความเชี่ยวชาญที่ความต้องการ
  • ส่วนที่สำคัญหลักคือ “Functional Ingredient” ซึ่งสวทช. พูดถึง “Functional Ingredient” มาเกือบ 10 ปี เพราะว่า “Functional Ingredient” เป็น New S-Curve ของอุตสาหกรรมอาหาร ในขณะที่ก็ยังเป็นคอขวดด้วยในเวลาเดียวกัน และยังเป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรชีวภาพที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพร จุลินทรีย์ และอื่นๆ
  • ที่เป็น “คอขวด” เพราะเดิมส่วนที่หายไปคือตรงกลางระหว่าง “การวิจัย” และ “การใช้ประโยชน์” เมื่อวิจัยแล้ว ก็มี “ต้นแบบการวิจัย” ออกมาเยอะมาก แต่ขาดการนำไปขยายผลใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ไม่มีคน scale up ไม่มีคนเชื่อมต่อ รวมไปถึงการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ แต่ FoodSERP จะเข้ามาช่วยให้บริการแก้ปัญหาที่เป็นข้อจำกัดเหล่านี้ได้
  • FoodSERP มี Platform ที่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์วิจัยไบโอเทค หรือนาโนเทค ซึ่งเป็นการรวมพลังเข้าด้วยกัน การร่วมมือกับสมาคม TCOS นี้จะทำให้เติมภาพ ecosystem ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น การที่มีผู้รู้อย่างสมาคม TCOS มาชี้เป้า ก็จะทำให้นักวิจัยขับเคลื่อนไปได้ถูกทิศถูกทางยิ่งขึ้น และตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมได้มาก ถือเป็นความท้าทายของนักวิจัย สวทช. ที่จะต้องทำงานตอบโจทย์ความต้องการต่อผู้บริโภค ซึ่งนายกสมาคม TCOS บอกว่าเรื่องการแข่งขันเป็นเรื่องสำคัญ และการตอบสนองต่อผู้บริโภคก็สำคัญเช่นกัน คำถามคือ เราจะบูรณาการความสามารถทั้งหมดที่มีของ สวทช. เพื่อตอบโจทย์ได้อย่างไร ในกรอบเวลาที่เหมาะสม เพราะต้องแข่งขันกันในเรื่องของเวลา
  • ในด้านของการต่อยอดใช้ประโยชน์จาก Bio-Resources ทาง FoodSERP มีความเข้มแข็งทางด้าน“สมุนไพร”และ “จุลินทรีย์” เป็นต้นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่ยังขาดการยกระดับ การใส่มาตรฐาน การพัฒนายกระดับสารสกัดมาตรฐาน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์
  • ถ้าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารทั้งประเทศช่วยกัน ปิดช่องว่างและเชื่อมต่อองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องจะทำได้ประโยชน์ ทั้งในด้าน “ความงาม” และ “สุขภาพ” ควบคู่ไปด้วยกัน และช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นได้ ยกตัวอย่าง ที่ประเทศเกาหลี มี Beauty Street เกี่ยวกับสินค้าสุขภาพและความงาม ซึ่งอยากให้ประเทศไทยเป็นแบบนี้ เพราะสามารถตอบโจทย์ได้ตั้งแต่ผู้ประกอบการไปจนถึงเกษตรกร
  • อยากให้ความร่วมมือระหว่าง สวทช. และสมาคม TCOS เป็นไปในลักษณะแบบพี่-น้อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืน “TCOS ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องธุรกิจ การตลาด เปรียบเมือนพี่” และ “สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเป็นน้อง” ให้คำแนะนำกันในมุมที่พี่มองเห็นโอกาสว่า เทคโนโลยีที่ สวทช. มีอยู่ ต้องทำอะไร อย่างไรบ้าง เพื่อให้เดินไปถูกทิศทาง และช่วยกันสร้างปรากฏการณ์ที่เป็นความสำเร็จทางด้านอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของประเทศได้ไทยได้เร็วๆ นี้
  • FoodSERP เป็นกลไกใหม่ ควรมีของใหม่ๆเกิดขึ้น เพื่อให้ของที่มัน fragmented ประกอบเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เพราะขาดคน integrate ภาพใหญ่ ก็หวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นตัวอย่างการ integrate ให้ทุกคนได้เห็น เราช่วยกันผลักดันภาพนี้ให้เกิดเป็น Thailand Team หรือ Thai Brand

ดร.อุดม อัศวาภิรมย์ : ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยห่อหุ้มระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ

  • กระแสสังคมเน้นเรื่อง “การรักสุขภาพ” มากขึ้น แต่การจะสวยทั้งจากภายนอกและภายในได้ ก็ต้องมี Functional Ingredient ที่มีคุณภาพ
  • ประเทศไทยนำเข้าสารสกัดต่าง ๆ ประมาณ 3,000 ล้านบาท และส่งออกได้เพียงแค่ 300 กว่าล้านบาท และมีแนวโน้มการนำสารสกัดเข้าสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีแหล่งวัตถุดิบ สารสกัดจากธรรมชาติจำนวนมาก แต่ที่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะว่าต้องการสารสกัดที่มีคุณภาพ
  • ถ้าหากนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ภายในประเทศ มาพัฒนา Functional ที่เป็น Ingredient และเพิ่มคุณประโยชน์ความสวย ความงาม หรือทางด้านดูแลสุขภาพ ก็จะเพิ่มโอกาสให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มมูลค่าของสารสกัดได้ จากเดิมที่เคยจำหน่ายวัตถุดิบตั้งต้นก่อนเป็นสารสกัด ได้เพียงหลักสิบบาท แต่ถ้าใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีมาพัฒนา ทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าสารสกัดสูงขึ้นได้
  • ในส่วน FoodSERP ถ้าเรามีกระบวนการสกัดที่ดี สามารถควบคุมคุณภาพได้ และมีทดสอบวิเคราะห์ทดสอบฤทธิ์ของสารสกัด เพื่อดูว่าสารสกัดแต่ละชนิดเหมาะสมในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อะไร ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ทางด้านความงาม การรักษาโรค หรือในเชิงของการป้องกันและรักษาสุขภาพ จะเป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าของสารสกัดให้กับประเทศไทยได้
  • ตัวอย่างเช่น สวทช. ทำการศึกษาเรื่องบัวบกและกระชายดำ ซึ่งประเทศไทยปลูก “บัวบก” จำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่มักจะนำมาต้มแล้วดื่ม หรืออาจจะทานเป็นผักเคียงกับอาหาร แต่ในต่างประเทศพบว่า สารสกัดในใบบัวบกมีสาร Anti-aging ค่อนข้างดี จึงน่าจะเป็นโอกาสดีถ้าประเทศไทยจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารสกัดจากใบบัวบก ส่วน “กระชายดำ” รู้จักกันดีในการกินเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกายสำหรับเพศชาย และยังไม่พบการนำ “กระชายดำ” มาใช้ทางด้านเวชสำอาง ซึ่ง “กระชายดำ” เป็นอีกหนึ่งพืชสมุนไพรที่มีสารกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนที่ดี ทาง สวทช. โดยนาโนเทคได้วิจัยและพัฒนาสารสกัดจากกระชายดำ และดึงสารบางตัวที่ไม่มีฤทธิ์ออกไป และสามารถเพิ่มความเข้มข้นของสารสำคัญให้ได้สูงถึง 80-90% และเมื่อทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพพบว่ามีฤทธิ์ดีในด้าน Anti-aging ในด้านการกระตุ้นคอลลาเจน นับเป็นช่องทางใหม่ของกระชายดำ ในเรื่องของการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอาง โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาพัฒนาทำให้ได้สารสกัดที่ทำเป็นอาหารเสริมกระชายดำ เป็นผลิตภัณฑ์ใช้ภายใน และพัฒนาเป็นเวชสำอางใช้ภายนอกได้ด้วย
  • สวทช. จะมีทั้งงานวิจัยและเทคโนโลยี แล้วเราก็รู้ว่าจะไปหาเกษตรกรที่ไหนที่ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ เมื่อเทคโนโลยีพร้อม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็พร้อม ก็จะเป็นการต่อจิ๊กซอว์ร่วมกับภาคเอกชนในเรื่องของการทำตลาด ซึ่งมองว่าทั้ง 2 อย่างนี้จะต้องไปด้วยกัน
  • ทำอย่างไรจะให้แบรนด์เครื่องสำอางไทยที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยและเป็นที่รู้จักในตลาดโลก เป็น soft power ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาประเทศไทย พูดถึงและเป็นสินค้าของฝากหรือสินค้าที่นักท่องเที่ยวต้องซื้อกลับไป จะทำให้ผลสะท้อนกลับไปยังทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ตั้งแต่เกษตรกรไปจนถึงผู้ประกอบการ

ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง : ผู้อำนวยการกลุ่มแพลตฟอร์ม FoodSERP สวทช.

  • หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า Ingredient หรือ Active Ingredient ในโลกนี้ส่วนใหญ่มาจากจุลินทรีย์ไม่ได้น้อยไปกว่าสมุนไพร ซึ่ง “จุลินทรีย์” ได้มาจาก “กระบวนการทางชีวภาพ” หรือ “กระบวนการหมัก”
  • กระบวนการหมัก จัดกลุ่มง่ายๆ คือ สาร Active Ingredient ที่ผลิตจากจุลินทรีย์ กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ให้ในเรื่องของความชุ่มชื้น Humectant เช่น กรด Lactic Acid กรด Hyaluronic Acid กลุ่มที่ 2 เป็นตัว Active Ingredient ที่มีมูลค่าสูง ไม่ว่าเป็น Resveratrol, Coenzyme Q10 ซึ่งผลิตได้จากแบคทีเรีย coli โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีการปรับแต่งพันธุกรรมด้วยวิธีการชีววิทยาสังเคราะห์ ทำให้สามารถผลิตสารต่างๆ ที่ปกติผลิตในพืช ก็สามารถมาผลิตได้ในจุลินทรีย์ กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่ม Natural Color เช่น สารสีน้ำเงิน ได้มาจาก indigoidine สารสีแดงได้มาจากข้าวหมักจากรา Monascus
  • การผลิตสารสกัดจากจุลินทรีย์มีประโยชน์ ที่ทำให้เราสามารถขยายกำลังการผลิตและควบคุมคุณภาพได้ ลดการปนเปื้อนของโลหะหนักหรือสิ่งต่างๆ ที่มาจากแหล่งอื่น และช่วยในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย คือมีการกำจัดและควบคุมของเสียในกระบวนการผลิต
  • สิ่งที่น่าสนใจเมื่อพูดถึงจุลินทรีย์ ส่วนมากจะนึกถึง By Product ที่เกิดจากกระบวนการหมัก เช่น by product จากกระบวนการผลิตโปรไบโอติก ซึ่งจะเรียกว่า postbiotic ซึ่ง By-product พวกนี้ก็จะมีฤทธิ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการต้านการอักเสบ การต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ สามารถนำมาใช้เป็น Ingredient ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้ นอกจากนี้ By-product อื่นยังสามารถนำมาย่อยด้วยเอนไซม์ต่างๆด้วยกระบวนการทางชีวภาพ ได้ผลิตภัณฑ์ เช่น เปปไทด์ที่ใช้ในเรื่องของการฟื้นฟูสภาพผิว
  • Beauty Supplement เวลาเราพูดถึงเครื่องสำอาง ไม่ได้เฉพาะครีมประทินผิวหัวจรดเท้า แต่หมายถึงการรับประทานด้วย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Probiotic, โคเอนไซม์ Q10 ก็มีในรูปของการรับประทานด้วย ซึ่งถือเป็นการใช้จุดแข็งของกระบวนการทางชีวภาพ หรือเทคโนโลยีการหมักที่เป็นจุดแข็งของ FoodSERP ที่เข้ามาช่วยในการผลิต Active Ingredient ในกลุ่มเวชสำอาง
  • ฺเทรนด์ของประเทศไทย ตอนนี้ที่กำลังมาแรง คือ “ศาสตร์ด้านการชะลอวัย” ไม่ว่าจะเป็นสาร Anti-Oxidant, Anti-Wrinkle เรื่องการลดริ้วรอย สาร Whitening ผู้หญิงเราอยากสวยขึ้น สมาร์ทขึ้น
  • กระบวนการผลิตจากจุลินทรีย์ ไม่แตกต่างจากกระบวนการผลิตจากสมุนไพร ซึ่งต้องมีมาตรฐานควบคุมและมีการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ด้วยเช่นกัน
  • ความท้าทายทั้งของนักวิจัยและผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ คือ การเตรียมข้อมูลต่างๆ ให้พร้อมในการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะถ้าสารเหล่านั้นไม่ได้อยู่ใน Positive List ของ อย.
  • ความท้าทาย ใน “เรื่องต้นทุนการผลิต” ถึงแม้ว่าจะสามารถผลิตสารสำคัญที่มีคุณภาพ ขึ้นทะเบียนตามมาตรฐานได้ แต่ถ้าต้นทุนเราไม่สามารถแข่งขันได้ ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญ
  • ในปัจจุบันจะมีเรื่อง “คาร์บอนฟุตพรินต์” เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องผนวกรวมเข้ามาในกระบวนการผลิตให้ครบวงจร ไม่ใช่คิดทีละขั้น
  • การทำ MOU ร่วมกับสมาคม TCOS ทำให้มีข้อมูลด้านต่างๆ ทั้งในเรื่องต้นทุนการผลิต เรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ ที่เป็นประโยชน์ ทำให้สามารถออกแบบการทดลองได้ตลอดเวลา รวมถึงเรื่องมาตรฐานของโรงงานผลิต เมื่อมีการผลิตผลิตภัณฑ์แล้ว สามารถทดลองการขึ้นทะเบียน ผลิตภัณฑ์และทดลองตลาดได้ รวมถึงในการ Estimate ต้นทุนการผลิต ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อผู้ประกอบการ ที่จะได้นำผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ ราคาเหมาะสม และได้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการไปใช้งานได้ ในส่วนของโรงงานต้นแบบ FoodSERP ทั้งของทางศูนย์นาโนเทคโนโลยี หรือศูนย์ไบโอเทค ก็ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ไว้ให้กับผู้ประกอบการไว้แล้วเช่นกัน
  • FoodSERP เปรียบเสมือน “นก” เวลานกบิน ถ้ามีปีกเดียวไม่สามารถบินได้ ต้องมีทั้ง 2 ปีก เช่นเดียวกันกับ สวทช. เป็นปีกหนึ่งข้าง สมาคม TCOS เป็นปีกอีกหนึ่งข้าง ที่เป็นการเสริมพลังกัน เนื่องจาก นักวิจัยฝั่ง สวทช. มุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่ไม่ได้มุ่งเน้นในเชิงธุรกิจ ซึ่งสมาคม TCOS จะมาช่วยเป็นส่วนเสริมงานวิจัยในเรื่องมุมมองด้านธุรกิจ บูรณาการร่วมกับการวิจัยและนวัตกรรมเข้าด้วยกัน ทางด้าน สวทช. จะช่วยเสริมในด้านการช่วยวิเคราะห์มาตรฐานต่างๆ คุณภาพ หรือการสกัดสารสำคัญ และช่วยผู้ประกอบการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่อยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับในเวทีสากล
  • Marketing ก็เป็นเรื่องใหญ่ การสร้าง Story Telling ในการเล่าเรื่องของผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภครู้สึกประทับใจ เป็นเรื่องสำคัญ หากของเราดี แต่ไม่มีเรื่องเล่า ก็จะยากต่อการขับเคลื่อนที่จะเข้าสู่ช่องทางการตลาดได้
  • ประเทศเกาหลีหรือญี่ปุ่น ทุกผลิตภัณฑ์มีเรื่องเล่า ทราบแหล่งกำเนิดของผลิตภัณฑ์ สามารถบอกกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ได้ว่ามีหรือไม่มีอะไรบ้าง เหมาะกับผู้ประกอบการกลุ่มใด และมีการทำ Clear Labeling เป็นสิ่งที่ สวทช. และ TCOS ต้องจับมือติดปีกร่วมกัน
  • แต่เดิม สวทช. เราค่อย ๆ พัฒนางานวิจัย และเอกชนก็มา license แต่วันนี้เราต้องเปลี่ยน mindset เรามีของอะไร เอาออกมาเลย สามารถเอามาผลิตและให้ผู้ประกอบการไปใช้ภายใต้ Reasonable Price
  • การทำงานที่ต่อเนื่อง หรือ Continuosly Improvement ที่จะทำให้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และในเรื่องของ Ecosystem ของประเทศไทยดีขึ้น ซึ่งจะสามารถสร้างผลกระทบทางด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อมได้
  • การร่วมมือในครั้งนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการรวมพลังในการพาประเทศไทยก้าวไปสู่ “Sustainable Development Goals (SDGs) หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในปี ค.ศ. 2030 ตามที่องค์การสหประชาชาติประกาศไว้ บนฐานเศรษฐกิจของประเทศไทย

คุณลักษณ์สุภา ประภาวัต นายกสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย

  • มุมมองของผู้ประกอบการเวลาเลือกวัตถุดิบหรือสร้างผลิตภัณฑ์ชิ้นใด ๆ ก็ตาม จะเลือกจากสิ่งที่มีเรื่องราว เป็นเรื่องที่สามารถเล่าได้ และเริ่มนำเรื่องนั้น ๆ มาศึกษา ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปดูงานสถาบันวิจัยใหญ่ ๆ ในการสร้างวัตถุดิบระดับโลก แล้วถามเค้าว่าเวลาที่จะเลือกงาน ๆนึง เลือกจากอะไร เค้าจะตอบว่าเค้าไม่ได้มองที่ตลาด แต่มองที่เรื่องราว ถ้าหากว่าสิ่งนั้นมีเรื่องราวที่พูดได้ยาวนาน เค้าจะเอาสิ่งนั้นมาศึกษาเพื่อต้องการจะค้นพบอะไรที่เป็นความลับอยู่ในนั้น
  • บริษัทวัตถุดิบระดับโลก เค้าจะทำการบ้านเยอะมาก แต่จะปล่อยปีละตัว ไม่ปล่อยแบบพรั่งพรูสู่ตลาด เน้นปล่อยออกมาเป็นซีรีย์ ถ้าหากสถาบันวิจัยโปรไบโอติกได้ แล้วในปีหน้าก็จะบวกนวัตกรรมเข้าไปอีก ปีต่อไปก็จะมีเรื่องเล่าต่ออีก ถ้าหากเราเลือกพืชหรือนำพืชมาทำ tissue culture แล้วเราเห็นอะไร เราอาจจะมีข้อมูลเก็บไว้แล้ว แต่วิธีการนำออกสู่ตลาด ทุกฝ่ายจะต้องพร้อมที่จะเป็นผู้สร้างเรื่องราว ใน 1 ปี อาจจะมีการผลิตสินค้าหลายชิ้น แต่จะ launch สินค้าออกมาเพียงปีละ 1 ชิ้นเท่านั้น เพื่อให้มีเรื่องราวที่สามารถพูดต่อไปได้เรื่อยๆ
  • ในการทำธุรกิจ จะมีจุดเด่นเพียงด้านเดียวไม่ได้ นอกจากเรามีของแล้ว เราต้องจับตามองเทรนด์ของโลกด้วย สำหรับเทรนด์โลกในปัจจุบันเน้นในเรื่องการสร้าง “ความยั่งยืน” มีการลดการใช้พลาสติก ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ และให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตวัตถุดิบที่ดึงเอาอะไรหลายๆอย่างที่เรา save กลับไปได้
  • เทรนด์ Solid Cosmetic เกิดขึ้นในโลก ข้อดีของผลิตภัณฑ์ Solid Cosmetic คือการใช้บรรจุภัณฑ์น้อยลง ทำให้ลดต้นทุนในการผลิต อะไรที่ฟุ่มเฟือย ใช้มากเกินจะถูกลดตัดออกไป และจะทำให้กระบวนการ logistic เกิดผลบวกด้วย จะทำให้ไปได้ไกลมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ไทยเราต้องตื่นตัวรับกระแส ไม่ใช่เป็นแฟชั่น แต่คือความรับผิดชอบต่อสังคมในระยะยาว คำนึงว่าส่งผลกระทบอะไรและแบรนด์ของเราไปปรากฏอะไรในขยะโลกนั่นด้วย
  • เรื่อง Carbon Footprint สิ่งหลงเหลือในโลก เรื่องของการลดการใช้พลาสติก สิ่งเหล่านี้ถ้าเรามองภาพรวมแล้ว มันส่งผลกระทบถึงสุขภาพ การเติบโตของเด็ก การมีชีวิตของสัตว์ คือ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วหมดไป ไม่เหลือเป็นขยะ ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของแบรนด์นั้นๆ ด้วย
  • สารกันเสียบางชนิด มีผลกระทบต่อการเกิดมะเร็ง หรือเกิดการเบี่ยงเบนทางเพศของวัยเจริญพันธุ์
  • ก่อนหน้านั้นเราใช้ตามๆ กัน เพราะเราอาจจะยังไม่มีงานวิจัยรองรับ เราใช้วิธี copy แล้วผลิตไป เคลมไป เวลาที่มีหน่วยที่ทำให้เราได้รับการวิจัยรับรอง มีเคลมที่ชัดเจนถูกต้อง ก็จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของไทยยืนสง่างามในเวทีสากล
  • พวกเราที่มีโอกาสได้เห็นช่องทางการขายออกไปสู่ตลาดโลก เห็นว่ากรอบความต้องการและกฎหมายที่ไม่เท่ากัน ในส่วนนี้ผู้ประกอบการทำไม่ได้ เราจำเป็นต้องพึ่งพาการรับรองการวิจัยและหน่วยงานมาตฐานของประเทศ ผลิตภัณฑ์ของเราก็จะสู่มาตรฐานโลกได้ ไม่ถูกตีกลับ เวลาที่เกิดกระแสความต้องการอะไรขึ้นมา เราก็มีความพร้อมในส่วนหลังบ้าน เราก็จะไปได้หมด จะเป็นโอกาสในการสร้างตัวเลขเศรษฐกิจให้กับประเทศในอนาคตได้
  • ธีมของการเสวนาวันนี้ คือ “Sustainable health and Beauty” เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการยอมรับโดยเฉพาะตลาดในต่างประเทศ ต้องมีการคำนึงในเรื่องของสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพของตัวเรา
  • เทรนด์สมุนไพรในปีนี้ที่กำลังมาแรง คือ “ขมิ้นชัน” ประเทศไทยเราเป็นต้นทางของขมิ้นชัน เราก็น่าจะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์
  • ในส่วนของ “แบคทีเรีย” หรือ “จุลินทรีย์” มองได้ว่าเป็นวัตถุดิบโลก เพราะสมมติว่าในยามวิกฤต หรือในสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ พืชพรรณต่างๆ อาจถูกทำลายไป แต่ถ้าหากห้อง lab ถูกพัฒนาไปล่วงหน้า lab จะเป็นตัวตอบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือวัตถุดิบใดๆ ที่โลกต้องการ และสามารถเพิ่มจำนวน scale up ได้อย่างรวดเร็ว มากกว่ากระบวนผลิตพืชตามธรรมชาติ รองรับอนาคตได้ ใช้ทั้งสิ่งที่มีอยู่และสร้างในสิ่งที่เราคาดการณ์ว่าในอนาคตหากเกิดอะไรขึ้น ก็จะมีอีกวิธีการที่จะเพิ่มผลผลิตให้อุตสาหกรรมและเติบโตอย่างรวดเร็ว
  • FoodSERP เป็นหน่วยงานที่ทำงานรองรับอนาคตในสิ่งที่เราคาดการณ์ว่าในอนาคตหากเกิดอะไรขึ้น หรือว่าไม่เกิดอะไรขึ้นก็จะมี FoodSERP ที่เป็นหน่วยงานเชี่ยวชาญในเรื่องการนำ “แบคทีเรีย” หรือ “จุลินทรีย์” มาช่วยในการเพิ่มผลผลิตให้กับอุตสาหกรรม

ดร.ธนธรรศ สนธีระ อุปนายกสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย

  • ต้องยอมรับว่าสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบมาก แต่ว่าสัดส่วนที่เติบโตขึ้นจะเป็นพวก Personal care หลังจากใส่แมสก์ กลุ่ม makeup ตลาดจะลดลง บางแบรนด์ลดลงกว่า 50% เมื่อคนออกจากบ้านน้อยลง การแต่งหน้าก็ลดลง แต่ผลิตภัณฑ์กลุ่ม Personal Care มีสัดส่วนที่เติบโตขึ้นและมีการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 20% เช่น สบู่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด รวมถึงเรื่องของสุขอนามัย
  • หน้าที่ของสมาคม TCOS เปรียบเหมือนจิ๊กซอว์ที่เชื่อมโยงส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่นในวันนี้เป็นการเติมเต็มในเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทย และผู้ประกอบการที่เป็น SMEs สามารถเติบโตได้ โดยการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาเติมเต็มนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วย
  • เรื่อง story telling ถือเป็นเรื่องสำคัญ คือ ต้องเล่าเรื่องในสิ่งที่คนอยากจะฟัง บางทีเราอยากจะเล่าแต่เค้าไม่อยากฟังก็ไมมีประโยชน์ หัวใจหลักของการทำธุรกิจตั้งแต่ต้น คือ ต้องฟังความต้องการของกลุ่มเป้าหมายให้มาก
  • สมาคม TCOS มีผู้เชี่ยวชาญสนับสนุนในเรื่องของการทำ Inside Customer ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก บริษัทต่างประเทศก่อนเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย จะเริ่มจากการทำ Inside Customer แบบเจาะกลุ่ม need ที่แท้จริงคืออะไร คู่แข่งคือใคร อะไรคือจุดแข็งและจุดอ่อน อะไรที่จะเป็นจุดที่ทำให้เค้าเอาชนะได้ จะเอาข้อมูลพวกนี้มาเป็น key หลักก่อนการพัฒนาเป็นสินค้า ถือเป็นกระดุมเม็ดแรกเลยว่าต้องเอาความต้องการของผู้บริโภคเป็นที่ตั้งและเล่าเรื่องให้ตรงตามที่ใจเค้าต้องการ ประกอบกับจุดแข็ง จุดที่เหนือกว่าคู่แข่งก็จะเป็นจุดที่ทำให้เราชนะได้
  • ด้วยลักษณะธรรมชาติของคนไทย เป็นคนไม่เปิดเผย ค่อนข้างขี้อาย ไม่กล้าบอกสิ่งที่ตัวเองอยากได้ หรือต้องการใช้ เวลาทำ Inside Consumer กับผู้บริโภคคนไทย จะได้คำตอบที่ไม่ตรงตามที่บอก จึงเป็นสิ่งยากที่จะได้ข้อมูลที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคจริงๆ บางทีพูดอย่างแล้วใช้อีกอย่าง เลยต้องมีการออกแบบการทดลองอีกรูปแบบ คือ การไปสำรวจขยะตามบ้านของผู้บริโภค เพื่อให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่ซื้อจริงจาก Shelf กับการใช้งานจริงตรงกันหรือไม่
  • บรรจุภัณฑ์แบบซอง มีการทำมาเกือบ 20 ปีแล้ว ตั้งแต่เริ่มวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อรุ่นแรกๆ กำหนดราคาขาย ซองละ 39 บาท เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อน้อยๆ ได้ทดลองใช้ก่อน เมื่อได้ใช้เองแล้ว ยังสามารถซื้อไปฝากคนอื่นได้อีก ดูกำลังซื้อของกลุ่มเป้าหมายเป็นหลักเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคเดือดร้อนในการซื้อผลิตภัณฑ์
  • ส่วนใหญ่แบรนด์ที่วางจำหน่ายแบบซองจะเป็นแบรนด์คนไทย เพราะว่าคนไทยจะเข้าใจลักษณะธรรมชาติ และความต้องการของคนไทยด้วยกัน ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบข้อผลิตภัณฑ์แบรนด์คนไทย เชื่อมโยงถึงเรื่องของ Story Telling แบรนด์ต่างประเทศ เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยได้ไม่นาน อาจจะต้องถอยทัพกลับไป เพราะไม่เข้าใจ Story Telling และความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคคนไทยด้วย ดังนั้น ถ้าเราจะไปบุกตลาดต่างประเทศ เราต้องทำการบ้านตรงนี้ด้วย เพราะเค้าก็อาจจะไม่ชอบสินค้าบ้านเรา ซึ่งในส่วนนี้ทางสมาคม TCOS ต้องทำการบ้านเพิ่มเติมต่อไป
  • ในมุมมองของนักธุรกิจในสมาคม TCOS เห็นว่าการเปิดโอกาสให้กับ start up และนักวิจัยรุ่นใหม่ๆ เพิ่มขึ้น จะเป็นอีกช่องทางที่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ให้สามารถเติบโตไปอย่างก้าวกระโดดได้

คุณกฤษณ์ แจ้งจรัส อุปนายกสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย

  • ต้องการให้ R&D มาช่วยอุด pain point ของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทย ตั้งแต่เริ่มทำงานมาเมื่อปี 2557 เป็นคนแรกๆ ที่นำสมุนไพรเข้ามาเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง ในตอนนั้นเป็นเรื่องที่ยากมากที่คนจะยอมรับคำว่า “ขมิ้นชันหรือกวาวเครือขาว” เพราะภาพลักษณ์เป็นสินค้าโอทอปใน การรับรู้ของคนทั่วไป
  • ได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในกรรมการร่างแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2562 ก็มีกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรโดยตรง ทำให้ต่อยอดการทำวิจัยเรื่องนี้ได้ง่ายมากขึ้น
  • ตอนนั้นทำให้เรารู้ว่าปัญหาอุปสรรคของคนไทยต่อภาพลักษณ์และมุมมองของการนำสมุนไพรมาเป็นวัตถุดิบในเวชสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดู look cheap และไปต่อไม่ได้ ตอนนั้นก็พยายามหาวิธีการที่จะทำยังไงให้คนไทยยอมรับ ก็ใช้วิธีการทดลองใส่สารสกัดจากสมุนไพรมาเป็นวัตถุดิบโดยที่ไม่บอกลูกค้าว่าคืออะไร เพราะถ้าบอกตั้งแต่แรกลูกค้าก็อาจจะไม่ยอมรับ พอผลลัพธ์ที่ได้เกินความคาดหมาย เช่น ใช้ขมิ้นชันแล้วลดฝ้า กระ จุดด่างดำได้ เค้าก็ถามว่าใช้อะไร เราก็จะมีเอกสารเป็น paper ไปเฉลยให้ลูกค้าทราบ มีผล test ให้ลูกค้าดู ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้รับทุน Research Gap Fund จาก สวทช. โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยในการวิจัยเกี่ยวกับขมิ้นชันจาก จังหวัดน่าน ที่มีส่วนช่วยให้ผิวกระจ่างใส ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้วัตถุดิบจากสมุนไพรในประเทศ ผลลัพธ์ที่ออกมามีประสิทธิภาพเทียบเคียงกับต่างประเทศ ก็เลยมีการขอทุนวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำสารต่างๆ จากที่ได้มีโอกาสพบปะผู้ประกอบการในต่างประเทศ ทำให้เรารู้ว่า pain point ของวัตถุดิบไทยที่จะไปต่างประเทศได้นั้น จะต้องอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้มแข็ง
  • การจะนำวัตถุดิบของประเทศไทย เช่น สมุนไพร เข้าไปในต่างประเทศ จำเป็นต้องมีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งต้องผ่านการทำวิจัยในเชิงลึก และเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 รับรอง
  • การที่ สวทช. และ สมาคมการค้า TCOS ทำข้อตกลงร่วมกัน ทำให้เกิดภาพลักษณ์ใหม่ขึ้นมาว่า ประเทศไทยจะเริ่มมีวัตถุดิบภายในประเทศในการผลิตเวชสำอางเป็นของตัวเอง
  • ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดงานเครื่องสำอางระดับโลก แต่พอเราเดินในงานแล้วจะเจอแต่สินค้าเกาหลี การสร้างความร่วมมือกันในครั้งนี้ เราก็จะได้เห็น Thai Pavilion ที่เป็นสารสกัดที่มาจากประเทศไทย และก้าวต่อไปในอนาคตอยากให้มีเวชสำอางหรืออาหารเสริมที่มี Active Ingredient เป็นของประเทศไทยปรากฎอยู่ในเวทีโลก
  • เราไปงานที่ฝรั่งเศสปีที่แล้ว เราเซอร์ไพรส์ที่เห็นอีฟ โรเช แบรนด์อันดับ 1 ของฝรั่งเศสทำผลิตภัณฑ์จากสารสกัดใบบัวบก (cica) ออกมา ซึ่งแบรนด์เกาหลีทำและดังมาก่อนแล้ว อย่างเกาหลีเค้ามองว่าปีนี้จะทำเรื่อง cica ก็ทำ cica เต็มบ้านเต็มเมือง โดยไม่สนว่าแบรนด์ไหนจะออก เราเคยคุยกันในกรรมการ TCOS ว่าคงจะมีซักครั้งที่ประเทศไทยจะปักธงว่าปีนี้เราจะทำเรื่องอะไร แล้วก็ตีตลาดให้แตกไปเลย ทุกคนร่วมกันทำ เช่น เราจะทำเรื่องขมิ้นชัน ก็จะมีขมิ้นชันทุกมุมเลย ไม่ว่าจะเป็นเวชสำอาง อาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์ใดๆที่มีส่วนประกอบของขมิ้นชัน ก็จะเกิดเป็นภาพลักษณ์ แล้วก็ไปแข่งในเรื่องของ innovation กัน
16 พ.ย. 2566
0
แชร์หน้านี้: