หน้าแรก HI PETE เต็นท์ความดันลบ ลดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
HI PETE เต็นท์ความดันลบ ลดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
3 ก.พ. 2565
0
BCG
ข่าว
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

HI PETE Home Isolation Tent

 

การระบาดของไวรัสก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่กระจายเชื้อรวดเร็วและหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดี ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมา และกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศแทนสายพันธุ์เดลตาเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ในอนาคตยังรับประกันไม่ได้ว่าจะมีไวรัส SARS-CoV-2 กลายพันธุ์สู่สายพันธุ์ที่น่ากังวลเพิ่มขึ้นหรือไม่ ดังนั้นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และหน่วยงานพันธมิตร พัฒนา “HI PETE เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วยติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคโควิด-19 และอำนวยความสะดวกในการแยกหรือกักตัวให้แก่ผู้ป่วยและผู้ดูแล

 

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ
ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ ทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม (DIST) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช.
ทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม (DIST) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช.
ทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม (DIST) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช.

 

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ ทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม (DIST) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. อธิบายว่า จากการที่ทีมวิจัยได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาอุปกรณ์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้แก่ประเทศมาตลอด 2 ปี ทำให้ตระหนักว่าปัจจุบันทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศยังคงมีความต้องการห้องความดันลบสำหรับใช้แยกผู้ป่วยสูง เพราะนอกจากผู้ป่วยโรคโควิด-19 แล้ว ยังมีผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ที่ติดต่อได้ง่ายและมีความร้ายแรงอย่าง วัณโรค ซาร์ส และเมอร์ส ที่จำเป็นต้องใช้เช่นกัน ทีมจึงได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการสร้างระบบความดันลบ (Negative pressure unit) หรือระบบป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ จากการพัฒนา “PETE เปลปกป้อง (Patient Isolation and Transportation Chamber)” อุปกรณ์สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วย มาต่อยอดในการผลิตอุปกรณ์สำหรับกักตัว โดยระบบสร้างความดันลบที่ทีมพัฒนาขึ้นมีจุดเด่นเรื่องระบบควบคุมการไหลเวียนของอากาศภายในพื้นที่ปิดที่ช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกสบาย และอากาศจากภายในพื้นที่กักตัวผู้ป่วยจะผ่านการฆ่าเชื้อด้วยแสง UV-C และกรองด้วย HEPA Filter แผ่นกรองคุณภาพสูง ซึ่งสามารถกรองอนุภาคได้ถึง 99.995% ทำให้มั่นใจได้ว่าอากาศที่ปล่อยสู่ภายนอกสะอาดและปลอดภัย

 

PETE
PETE เปลปกป้อง (Patient Isolation and Transportation Chamber)

 

“เต็นท์ความดันลบหรือผลิตภัณฑ์ HI PETE ที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นมี 3 รูปแบบหลัก คือ เต็นท์สนาม เต็นท์แอร์​ และเต็นท์พองลม เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการใช้งานที่หลากหลาย ทั้งเรื่องขนาดพื้นที่และการดูแลผู้ป่วย ซึ่งการพัฒนา HI PETE ทีมวิจัยได้เลือกนำเต็นท์สำเร็จรูปมาออกแบบการติดตั้งระบบป้องกันการรั่วไหลของอากาศและระบบสร้างความดันลบ เพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิต และช่วยให้ผู้ติดตั้งประกอบอุปกรณ์ได้ง่ายเพราะเป็นเต็นท์รูปแบบมาตรฐานที่มีการใช้งานทั่วไป”

 

HI PETE Home Isolation Tent
“HI PETE” เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วยติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

 

ดร.ศราวุธ อธิบายถึงรูปแบบการใช้งานและจุดเด่นของเต็นท์ HI PETE ทั้ง 3 แบบว่า เต็นท์สนามมีจุดเด่นคือมีขนาดเล็ก ใช้พื้นที่ในการติดตั้งอุปกรณ์ประมาณ 2 x 1.5 เมตร ติดตั้งง่ายด้วยคนเพียงคนเดียว เหมาะแก่การใช้งานในสถานที่ที่มีพื้นที่จำกัด แบบที่สองคือเต็นท์แอร์จะมีขนาดใหญ่กว่า มีลักษณะเป็นห้องทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดประมาณ 2 x 2.5 เมตร สามารถวางฟูกขนาด 3.5 ฟุต มีพื้นที่ให้ผู้ป่วยลุกขึ้นยืนหรือเดินภายในเต็นท์ มีช่องพลาสติกใสให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลสื่อสารกันได้สะดวก ส่วนด้านอื่นๆ ของเต็นท์มีลักษณะปิดทึบเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความเป็นส่วนตัว เต็นท์รูปแบบนี้ใช้คนในการติดตั้ง 3-4 คน เต็นท์ทั้งสองรูปแบบข้างต้นเหมาะแก่การใช้งานในโรงพยาบาลสนาม พื้นที่กักตัวของชุมชน รวมถึงที่พักอาศัยของผู้ป่วย โดยต้นทุนในการผลิตอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท

 

HI PETE Home Isolation Tent
“HI PETE” เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วยติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

 

“ส่วนรูปแบบที่สามคือเต็นท์พองลม เต็นท์ชนิดนี้มีขนาดประมาณ 2 x 1.5 เมตร เหมาะแก่การใช้เป็นห้องความดันลบฉุกเฉินในสถานพยาบาล เพราะติดตั้งได้ง่ายและรวดเร็ว สามารถติดตั้งได้ด้วยคนเดียว และใช้เวลาในการติดตั้งไม่เกิน 5 นาที มีช่องสำหรับทำหัตถการ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยได้สะดวกลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ระบบความดันลบของเปลประเภทนี้จะมี Smart Controller เพิ่มเติมเข้ามา เพื่อควบคุมแรงดันภายในเปลแบบอัตโนมัติ ตรวจจับการรั่วไหลของอากาศสู่ภายนอก และมีระบบแจ้งเตือนการเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศเมื่อถึงกำหนด ราคาต้นทุนในการผลิตเต็นท์รูปแบบนี้อยู่ที่ประมาณ 150,000 บาท ซึ่งถูกกว่าเต็นท์ความดันลบที่จำหน่ายทั่วไปในตลาด 2-3 เท่า และถูกกว่าการสร้างห้องความดันลบที่ได้มาตรฐานอย่างมาก

HI PETE ทั้ง 3 รูปแบบที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นผ่านการทดสอบมาตรฐานการรั่วซึม ISO14644 มาตรฐานความปลอดภัยทางไฟฟ้า IEC 6001-1: 2012 ความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า IEC 60601-1-2 และผ่านการทดสอบใช้งานจริงโดยผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้มั่นใจว่า HI PETE เป็นอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน ผู้ป่วยและผู้ดูแลรักษาได้รับความสะดวกสบายในการใช้งานตามความเหมาะสม”

ดร.ศราวุธ เสริมว่า หากสถานพยาบาลใดไม่มีห้องความดันลบหรือมีความเสี่ยงว่าห้องความดันลบจะไม่เพียงพอต่อการใช้งาน สามารถใช้เต็นท์ความดันลบ HI PETE เพื่อทดแทนห้องความดันลบได้ทันที เพราะ HI PETE ผ่านการทดสอบมาตรฐานทางการแพทย์เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันการวิจัยและพัฒนา HI PETE ยังอยู่ในระดับสาธารณประโยชน์ มุ่งบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นหลัก อย่างไรก็ดีในอนาคตทีมวิจัยมีความตั้งใจที่จะพัฒนาสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัทเอกชนเพื่อให้เกิดการขยายผลการใช้งานไปสู่วงกว้างเพื่อสร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคมต่อไป

ผู้ที่สนใจสนับสนุนการส่งมอบ เต็นท์ความดันลบ HI PETE” ให้แก่สถานพยาบาล ติดต่อได้ที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. หรืออีเมล์ pete@mtec.or.th ร่วมสนับสนุนการเข้าถึงอุปกรณ์การแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาให้แก่คนไทย

 

 


เรียบเรียงโดย : ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย : ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย : ภัทรา สัปปินันทน์ และเอ็มเทค สวทช.

แชร์หน้านี้: