หน้าแรก ผู้เชี่ยวชาญมหาวิทยาลัยเด็กเยอรมนี ยกย่องแนวทางการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากอาหารไทย
ผู้เชี่ยวชาญมหาวิทยาลัยเด็กเยอรมนี ยกย่องแนวทางการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากอาหารไทย
24 ม.ค. 2567
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ณ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา : รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา คณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) พร้อมด้วย นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้การต้อนรับ ศาสตราจารย์ ดร. รูดอล์ฟ เฮอร์เบอร์ส หัวหน้าห้องปฏิบัติการทอยโทแลป แห่งมหาวิทยาลัยบีเลเฟลด์ โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และ ไฮดี้ สตาร์ค ผู้ร่วมพัฒนาหลักสูตรในโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้การทำอาหารไทย เพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านการทำอาหารไทยเมนูต่าง ๆ ได้แก่ ส้มตำ กุ้งทอดราดซอสมะขาม ต้มข่าไก่ แกงเขียวหวาน และขนมทับทิมกรอบ

รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการสอนทำอาหารไทยครั้งนี้ กล่าวว่า อาหารไทยเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์และมีลักษณะพิเศษที่บ่งบอกว่าเป็นอาหารไทยที่เป็นที่ชื่นชอบของคนหลายประเทศ โดยเฉพาะวัตถุดิบและเครื่องปรุง ตลอดจนขั้นตอนในการทำอาหารไทยแต่ละชนิด ทำให้ได้อาหารที่มีลักษณะและรสชาติเฉพาะแตกต่างกันในแต่ละเมนู และความน่าอัศจรรย์ของวัตถุดิบที่ใส่ลงในอาหารไทยถึงแม้ว่าวัตถุดิบนั้นจะมีคุณสมบัติเหมือนกัน แต่เมื่อใส่ลงไปในอาหารแล้วทำให้รูปร่างหรือรสชาติอาหารไม่เหมือนกัน ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากอาหารไทยได้เป็นอย่างดี

สำหรับกิจกรรมทำอาหารไทยครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้ทดลองทำอาหารไทยที่สามารถเชื่อมโยงกับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เช่น การทำส้มตำ จะได้เรียนรู้ผ่านอุปกรณ์ที่ใช้ตำส้มตำ ครกควรเป็นครกดินเผา ไม่ใช้ครกหิน เพราะจะทำให้พริก กระเทียม และเนื้อมะละกอ ไม่ช้ำมากเกินไป ดูน่ารับประทาน รวมทั้งได้เรียนรู้ปฏิกิริยาเคมีและการเปลี่ยนแปลงสสาร เช่น การเปลี่ยนแปลงของแป้งชนิดต่าง ๆ เมื่อได้รับความร้อน แป้งที่นำมาใช้เป็นองค์ประกอบในเมนูกุ้งทอดราดซอสมะขาม และแป้งที่ใช้ในเมนูขนมทับทิมกรอบ ใช้ชนิดแป้งต่างกัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเยอรมันกล่าวว่าลักษณะแป้งภายนอกที่ดูเหมือนกัน แต่เมื่อใส่ลงในเมนูอาหารแล้ว เมนูหนึ่งช่วยทำให้กุ้งแข็งกรอบ แต่แป้งอีกชนิดที่ใส่ทำให้อีกเมนูมีความนุ่มลื่น คุณสมบัติของแป้งทั้งสองที่แตกต่างกันนี้ สามารถนำมาเรียนรู้และอธิบายในเรื่องของวิทยาศาสตร์ได้

นายพงศ์ภัค เชิงชาญกิจ อาจารย์ประจำโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ และเชฟใหญ่ฝีมือเยี่ยมประจำร้านปรุงสารพัด สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กล่าวว่า แป้งที่ใส่ลงในเมนูกุ้งทอดราดซอสมะขามนั้น เป็นแป้งสาลีที่มีคุณสมบัติยึดจับกับอาหารได้ดีและทำให้อาหารมีความกรอบร่วนเหมาะสำหรับนำมาใช้ทำอาหารจำพวกทอด ส่วนแป้งที่ใช้ห่อแห้วในเมนูขนมทับทิมกรอบนั้น คือแป้งมันสำปะหลัง เมื่อนำไปต้มในน้ำเดือดจะมีความอ่อนนุ่มใส ให้สังเกตว่าถ้าแป้งสุกแล้วจะใสและตัวทับทิมกรอบจะลอยขึ้นมา

อีกเมนูที่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาได้เตรียมให้ลองทำคือ แกงเขียวหวาน มีการใส่น้ำกะทิ 2 ครั้ง ซึ่งสามารถเชื่อมโยงและอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ว่า การใส่กะทิลงในแกงเขียวหวานครั้งแรก เป็นการใส่หัวกะทิ และครั้งที่ 2 ใส่หางกะทิ ซึ่งน้ำกะทิทั้งสองมีความเข้มข้นที่ต่างกัน หัวกะทิเป็นน้ำกะทิได้จากการคั้นมะพร้าวครั้งแรกและมีความเข้มข้นสูงที่สุด ส่วนหางกะทิเป็นการคั้นมะพร้าวครั้งที่ 2 หรือ 3 จะมีน้ำผสมอยู่มากกว่า ความเข้มข้นของกะทิจะลดลง การทำเมนูแกงเขียวหวานจะนำหัวกะทิที่มีความเข้มข้นผัดพร้อมพริกแกงเขียวหวานให้แตกมันก่อน แล้วค่อยเติมเนื้อสัตว์ ต่อจากนั้นจึงค่อยเติมหางกะทิเพื่อลดความเข้มข้นของหัวกะทิและได้เป็นน้ำแกงเขียวหวาน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเยอรมันได้ทดลองและชื่นชมอาหารไทยมีความน่าอัศจรรย์ สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้เป็นอย่างดี

ศาสตราจารย์ ดร. รูดอล์ฟ เฮอร์เบอร์ส กล่าวว่า จุดประสงค์ของการทำอาหารไทยครั้งนี้ คืออยากเรียนรู้พื้นฐานการทำอาหารไทย และทำเมนูง่าย ๆ ได้ แต่เมื่อได้มาลองทำจริงที่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ก็พบว่า เรียนรู้วิทยาศาสตร์จากการทำอาหารได้อย่างสนุกและน่าสนใจ พ่อครัวที่ดีจะมีความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาสูตรอาหารที่ยอดเยี่ยมที่คนอื่นสามารถปรุงอาหารตามได้ นักวิทยาศาสตร์ก็เช่นเดียวกันนักวิทยาศาสตร์ที่ดีจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ต่อยอดจากนักวิทยาศาสตร์ท่านอื่นได้ ถึงแม้การเป็นเชฟและนักวิทยาศาสตร์จะมีความแตกต่างกันแต่ก็สามารถเรียนรู้จากกันและกันได้ ขอขอบคุณเชฟจากสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาที่ช่วยจัดเตรียมวัตถุดิบในการทำอาหารเป็นอย่างดี และช่วยอธิบายถึงความสำคัญของลำดับและกระบวนการทำอาหารได้เหมือนนักวิทยาศาสตร์ และสามารถอธิบายได้ดีเหมือนนักการศึกษาด้วย

ไฮดี้ สตาร์ค ผู้ร่วมพัฒนาหลักสูตรในโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก กล่าวว่า รู้สึกประทับใจมากที่ได้มาลองทำอาหารไทยที่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมายจากการทำอาหารในครั้งนี้ และจะลองกลับไปทำอาหารที่เยอรมันด้วย แต่สิ่งสำคัญที่น่าสนใจมากคือการทำอาหารเกี่ยวข้องกับกระบวนการเคมีได้อย่างไร และการเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์กับการทำอาหารเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากสำหรับนักเรียน เพราะสิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงอยู่ในชีวิตประจำวันของนักเรียนอยู่แล้ว และสามารถนำไปเป็นกิจกรรมการทดลองแบบ hands-on ให้นักเรียนได้เรียนรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์จากอาหารได้อีกด้วย.

 

แชร์หน้านี้: