หน้าแรก สวทช. ผนึกกำลัง สป.อว. และ สกสว. เปิดฉากอบรม “Empowering Local-Global Synergy” ปั้นบุคลากรเชี่ยวชาญสูง เสริมแกร่งธุรกิจไทยสู่สากล ขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก ด้วย วทน.

สวทช. ผนึกกำลัง สป.อว. และ สกสว. เปิดฉากอบรม “Empowering Local-Global Synergy” ปั้นบุคลากรเชี่ยวชาญสูง เสริมแกร่งธุรกิจไทยสู่สากล ขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก ด้วย วทน.

2 เม.ย. 2568
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

ภาพผู้เข้าร่วมอบรมจากหลายหน่วยงานยืนถ่ายภาพร่วมกันในงานอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้โครงการของ สวทช. และซอฟต์แวร์พาร์คไทยแลนด์ ทุกคนยิ้มและยกนิ้วโป้งแสดงความร่วมมือ บรรยากาศอบอุ่นและไม่เป็นทางการมากนัก

(วันที่ 1 เมษายน 2568) ณ โรงแรม ทีเค.พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ร่วมกับ กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดพิธีเปิดอบรมเชิงปฏิบัติการเข้มข้นและแผนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ (Empowering Local-Global Synergy Program) ซึ่งเป็นกิจกรรมการสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูง เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลาง-ตะวันตก (Central-West Economic Corridor: CWEC) ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาระบบกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค (NEC, NeEC, CWEC, SEC)

ภาพ ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช.

ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า โครงการนี้มีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพบุคลากรในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก ให้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูง (Technology Transfer) จากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เพื่อยกระดับธุรกิจด้วยนวัตกรรมให้ก้าวล้ำไปอีกขั้น การอบรมเชิงปฏิบัติการนี้จะเน้นการพัฒนาทักษะบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญสูง โดยเฉพาะในเทคโนโลยีเป้าหมาย เช่น เซนเซอร์, AI, ดิจิทัล, ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ และนาโนเทคโนโลยี นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมุ่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ตลอดจนการบริหารจัดการอุทยานวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือระดับนานาชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ภาพ ดร.วัฒนจักร พุ่มวิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ กปว. สป.อว.

ดร.วัฒนจักร พุ่มวิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ กปว. สป.อว. กล่าวเปิดงานโดยเน้นย้ำถึงนโยบายของกระทรวง อว. ที่มุ่งพัฒนากำลังคน การวิจัย และการนำองค์ความรู้ วทน. ไปใช้ยกระดับเศรษฐกิจและสังคม โดย กปว. มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค โครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงทั้งด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการผลิต การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กปว. มุ่งส่งเสริมการบูรณาการงานวิจัยและนวัตกรรมเข้ากับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจในภูมิภาค เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ และหวังว่าการอบรมครั้งนี้จะนำไปสู่แนวทางการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม ต่อยอดสู่การปฏิบัติได้จริง และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

 

 

ภาพวิทยากรชายกำลังบรรยายหน้าห้องประชุม พร้อมชูมือขึ้นขณะพูดกับผู้เข้าร่วมอบรม มีชายคนหนึ่งในกลุ่มผู้ฟังชูมือโต้ตอบ ด้านหลังเป็นสไลด์นำเสนอหัวข้อเกี่ยวกับ OKR และแผนการดำเนินงาน บรรยากาศในการอบรมเป็นทางการและมีส่วนร่วม ภาพชายสองคนกำลังนั่งทำงานระหว่างการประชุม

ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้ประกอบการที่ต้องการยกระดับธุรกิจสู่ระดับโลก (Industrialist) นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีขั้นสูง (Technologist) และผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจเทคโนโลยีและการตลาด (Innovation Builder) โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้เข้าอบรมเชิงปฏิบัติการใน 4 Module ได้แก่ 

  1. Orientation & Gap Analysis Workshop: เริ่มต้นทำความเข้าใจโครงการ วิเคราะห์ศักยภาพ และวางเป้าหมาย
  2. Enhancing Potential Hard Skill & Soft Skill: เสริมสร้างศักยภาพ พัฒนาทักษะที่จำเป็น และคัดเลือกผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมกิจกรรมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างความร่วมมือต่างประเทศ
  3. Filling the Gaps & Excursion/Working Aboard: เติมเต็มองค์ความรู้เฉพาะทาง รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ
  4. Synergizing Power: สร้างความร่วมมือภายใน (Internal Synergies) และคัดเลือกผู้แทน CWEC ก่อนนำไปสู่การผนึกกำลังร่วมกับเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 

 

การอบรมในครั้งนี้เป็น Module ที่ 1 Orientation & Gap Analysis Workshop ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นวิทยากรตลอดการอบรมทั้ง 3 วัน  ได้แก่ รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ดร.สุจิต พงษ์นุ่มกุล   อ.ไพบูลย์ พนัสบดี รศ.อรพิณ สันติธีรากุล ผศ.ดร.สาลินี สันติธีรากุล อ.สุดชาย สิงห์มโน คุณณัฐธิดา สงวนสิน ดร.รวีภัทร์ ผุดผ่อง คุณระสิตา ถาวรานุรักษ์ เนื้อหาการอบรมครอบคลุมหัวข้อสำคัญ อาทิ Objective and Key Results (OKRs), Innovation Management, Design Thinking & Customer Journey, Strategic AI for Business Planning รวมถึงกิจกรรมสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการแนะนำแหล่งทุนสนับสนุนจาก สวทช. ซึ่งการอบรมภายใต้โครงการจะแล้วเสร็จครบทั้ง 4 Module ในช่วงเดือนกันยายน 2568  

ภาพวิทยากรชายยืนพูดหน้าห้องอบรมขนาดกลาง โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมนั่งฟังและทำงานที่โต๊ะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ หน้าจอโปรเจกเตอร์ด้านหลังแสดงหัวข้อเกี่ยวกับ OKR และแผนการดำเนินงาน บรรยากาศเป็นทางการและเน้นการมีส่วนร่วม

“โครงการพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูงเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคกลาง-ตะวันตก (Empowering Local-Global Synergy Program) มุ่งหวังว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูง สร้างเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่ง และยกระดับระบบวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่ CWEC ให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน” ดร.อดิสร กล่าวทิ้งท้าย 



แชร์หน้านี้: