หน้าแรก DITP และ สวทช. เผยผลการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ“เพิ่มโอกาสการส่งออกต่างประเทศด้วย DITP Business AI”
DITP และ สวทช. เผยผลการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ“เพิ่มโอกาสการส่งออกต่างประเทศด้วย DITP Business AI”
3 ธ.ค. 2563
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (DITP)  ร่วมกับ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงผลการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “เพิ่มโอกาสการส่งออกต่างประเทศด้วย DITP Business AI” ณ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี ในวันพุธที่ 2 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 51 ท่าน จาก 3 กลุ่มสินค้า

ได้แก่กลุ่มสินค้าสมุนไพร กลุ่มสินค้าผลไม้ และกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ภายในงานสัมมนาประกอบการบรรยายวิสัยทัศน์ “การใช้ Big Data และ AI ภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต” การเสวนา “รู้รับ ปรับตัว เพื่อโอกาสในยุค New Normal” โดยผู้บริหารจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ Workshop การวิเคราะห์โอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ โดยใช้ข้อมูลจากระบบ DITP Business AI โดยทีมผู้เชียวชาญด้าน Data Analytics โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จาก Big Data เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และแสวงหาโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้

นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยถึงการจัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “เพิ่มโอกาสการส่งออกต่างประเทศด้วย DITP Business AI” เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยถือเป็นครั้งแรกที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรมในรูปแบบสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูล Big Data ด้านการค้าระหว่างประเทศ ผ่านการประมวลผลจากระบบปัญญาประดิษฐ์ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP Business AI) ที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยสนับสนุนข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ในการแสวงหาโอกาสทางการค้าได้อย่างเหมาะสมตามแนวโน้มสถานการณ์การค้าโลก และพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ซึ่งมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” ของกระทรวงพาณิชย์ ที่เน้นการใช้ประโยชน์ข้อมูลด้านการตลาดอย่างชาญฉลาดเป็นกลไกในการนำไปสู่การวางแผนการบวนการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม รวมการเสวนาแลกเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจภายใต้หัวข้อ “รู้รับ ปรับตัว เพื่อแสวงหาโอกาสในยุค New Normal

โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูล Big Data แสวงหาโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ภายในกิจกรรมสัมมนายังมีบริการรับสมัครเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญจากภาครัฐ รวมถึงบริการข้อมูลและคำปรึกษาด้านการค้าระหว่างประเทศจากเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เข้าร่วมสัมมนา

นายพรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสำนักสารสนเทศและการบริการการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของความร่วมระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ คือ การผลักดันผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพจาก โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ด้วยความคาดหวังในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยใช้ Data Analytics ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และแสวงหาโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้

และถือเป็นก้าวแรกของผู้ประกอบการที่จะได้ใช้ประโยชน์ข้อมูลจากระบบปัญญาประดิษฐ์ (DITP Business AI) ในการแสวงหาโอกาสและแนวทางการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการค้าระหว่างประเทศ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดกิจกรรมสัมมนาในครั้งนี้ จะเป็นโมเดลในการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีจากภาครัฐในการสนับสนุนโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มอื่นต่อไป

ในการสัมมนาครั้งนี้ นอกจากการถ่ายทอดองค์ความรู้และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงข้อมูลและบริการที่เป็นประโยชน์จากภารรัฐแล้ว ภาครัฐเองยังมีโอกาสได้รับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการที่ได้เข้าร่วมงานสัมมนาด้วย โดยคุณปรินดา ตั้งพิรุฬห์ธรรม หนึ่งในผู้ประกอบการด้านสมุนไพรและฟาร์มออร์แกนิค ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนา และเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนจาก ITAP ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในปีที่ผ่านมา กล่าวว่า “ได้รับความรู้จากการอบรมดีกว่าที่คาดหวังไว้มาก และคิดว่า DITP Business AI เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากในการช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงและวิเคราะห์ข้อมูล Big Data ในมิติต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ ทั้งการเลือกแนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ และวางแผนการตลาดไปยังประเทศเป้าหมายได้อย่างเหมาะสม ต้องขอบคุณมากที่ภาครัฐพัฒนาเครื่องมือนี้ขึ้นมา เพราะช่วยให้ผู้ประกอบการทั่วไปสามารถใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจได้จริง”

3 ธ.ค. 2563
0
แชร์หน้านี้: