หนึ่งในมาตรการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้เด็กไทยที่มีมาตั้งแต่ปี 2530 คือ การจัดเตรียมอาหารกลางวันให้นักเรียนระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษารับประทานทุกวันที่มาโรงเรียน เพื่อให้พวกเขาได้รับสารอาหารเพียงพอต่อการเจริญเติบโตและการเรียนรู้ ซึ่งหากพิจารณาเพียงเฉพาะด้านพลังงาน การจัดเตรียมอาหารทุกวันอาจไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ยาก แต่ในความเป็นจริงแล้วการจัดสำรับอาหารให้เด็กมีปัจจัยที่จะต้องพิจารณาหลายส่วน ทั้งคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมตามวัย สำรับอาหารที่ไม่จำเจ และการควบคุมรายจ่ายให้อยู่ในงบประมาณที่ได้รับ โดยภารกิจเหล่านี้มักตกเป็นภาระหน้าที่เสริมของครูกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แม้พวกเขาอาจไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนี้มาก่อนเลยก็ตาม
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนา ‘Thai School Lunch’ แพลตฟอร์มจัดสำรับอาหารกลางวันให้นักเรียนไทย โดยเปิดให้บริการแก่สถานศึกษาทั่วประเทศแล้วตั้งแต่ปี 2555 และพัฒนายกระดับแพลตฟอร์มต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
Thai School Lunch ระบบจัดสำรับอาหารคุณภาพ ช่วยแบ่งเบาภาระครู
จุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบ Thai School Lunch มาจากนักวิจัย เนคเทค สวทช. และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นว่าการจัดสำรับอาหารที่เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละช่วงวัย รวมทั้งการจัดทำอาหารให้นักเรียนจำนวนมากตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพันคนเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก อีกทั้งยังเป็นภาระงานที่ค่อนข้างหนักสำหรับครู จึงได้บูรณาการความเชี่ยวชาญเฉพาะทางออกแบบและพัฒนาระบบ Thai School Lunch แพลตฟอร์มออนไลน์ที่จะช่วยให้ครูจากทุกสถาบันการศึกษาภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดสำรับอาหารคุณภาพได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้แพลตฟอร์มได้เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2555 และให้บริการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยสถาบันการศึกษาที่ไม่ได้สังกัด ศธ. แต่มีความประสงค์ที่จะร่วมใช้งาน สามารถแจ้งความจำนงเพื่อลงทะเบียนเข้าใช้ระบบได้
ดร.สุปิยา เจริญศิริวัฒน์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) เนคเทค สวทช. อธิบายว่า Thai School Lunch เป็นระบบสำหรับช่วยคำนวณการจัดสำรับอาหาร ทั้งด้านคุณค่าโภชนาการที่เหมาะสม ปริมาณวัตถุดิบที่ต้องจัดซื้อ และค่าใช้จ่ายโดยประมาณ ซึ่งเลือกคำนวณตามจำนวนนักเรียนที่ต้องดูแลและงบประมาณที่โรงเรียนได้รับได้ โดยครูเลือกจัดสำรับได้ 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือเลือกจากเมนูอาหารที่ระบบคำนวณข้อมูลด้านต่าง ๆ ไว้ให้แล้ว ส่วนรูปแบบที่สองคือครูเป็นผู้นำเข้าเมนูอาหารใหม่ด้วยตัวเอง จากนั้นระบบจะคำนวณข้อมูลต่าง ๆ ให้อัตโนมัติ ยกเว้นกรณีเลือกใช้วัตถุดิบที่ไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบ อาทิ วัตถุดิบท้องถิ่นที่ไม่ได้รับประทานอย่างแพร่หลาย ซึ่งหากเกิดกรณีนี้ขึ้นครูสามารถแจ้งความจำนงขอให้เก็บตัวอย่างวัตถุดิบไปวิเคราะห์ข้อมูลทางโภชนาการเพื่อนำข้อมูลเข้าสู่ระบบเพิ่มเติมได้
“ทั้งนี้ข้อมูลสำรับอาหารที่ครูจัดให้เด็กรับประทานในแต่ละวันจะบันทึกไว้ทั้งหมดเพื่อให้หน่วยงานต้นสังกัดรวมถึงประชาชนทั่วไปตรวจสอบข้อมูลได้ผ่านแดชบอร์ด (dashboard) ของแพลตฟอร์ม โดยตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป ระบบจะไม่อนุญาตให้ครูบันทึกข้อมูลย้อนหลัง ดังนั้นข้อมูลของทุกโรงเรียนจะเป็นข้อมูลที่ตรงกับสำรับอาหารวันนั้นจริง ๆ”
นอกจากฟังก์ชันหลักที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ผลจากการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการให้บริการระบบต่อเนื่องมากว่า 11 ปี ทำให้ปัจจุบันแพลตฟอร์ม Thai School Lunch มีฐานข้อมูลรูปแบบสำรับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมและมีความเข้ากันได้ของรสชาติมากกว่า 1,000 สำรับ เพียงพอแก่การนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาระบบ AI จัดสำรับอาหารอัตโนมัติ เพื่อให้ครูทำงานได้ง่ายยิ่งขึ้น
ดร.สุปิยา อธิบายว่า ปัจจัยที่อยู่ภายใต้การคำนวณของ AI ประกอบด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ความหลากหลายของสำรับอาหาร และค่าใช้จ่ายที่สอดคล้องกับงบประมาณ ดังนั้นต่อไปนี้ครูจะวางแผนจัดสำรับอาหารให้เด็กรับประทานล่วงหน้าได้ทั้งแบบรายวัน รายเดือน รายภาคการศึกษา หรือกระทั่งรายปีการศึกษา ที่สำคัญระบบผ่านการออกแบบให้ครูปรับราคาสินค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงเพื่อรองรับปัญหาวัตถุดิบมีราคาผันผวนได้ด้วย ดังนั้นการจัดสำรับอาหารให้เด็กนักเรียนรับประทานจึงไม่ใช่เรื่องยากและต้องใช้เวลามากอีกต่อไป
Thai School Lunch for BMA รายงานโปร่งใส ตรวจสอบได้แบบเรียลไทม์
นอกจากการให้บริการระบบ Thai School Lunch แล้ว ในปี 2563 หรือประมาณ 4 ปีที่ผ่านมา ทีมวิจัยยังได้เปิดให้บริการระบบ Thai School Lunch for BMA เพิ่มเติม เพื่อให้บริการแก่โรงเรียน 437 แห่งภายใต้สังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เนื่องจาก กทม. ต้องการใช้งานฟังก์ชันเสริมเพิ่มเติมจากแพลตฟอร์มหลัก โดย 2 ฟังก์ชันนั้นประกอบด้วย การจัดสำรับอาหารเช้าให้แก่นักเรียนและการออกแบบให้การจัดทำรายงานและการตรวจสอบเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง
ดร.สุปิยา อธิบายว่า ด้วยโรงเรียนในสังกัด กทม. มีมาตรการจัดเตรียมอาหารเช้าให้นักเรียนซึ่งเป็นมาตรการเสริมเพิ่มเติมจากมาตรการของโรงเรียนสังกัดอื่น ๆ ทีมวิจัยจึงได้ร่วมกับ กทม. พัฒนาระบบเฉพาะ Thai School Lunch for BMA ขึ้น เพื่อให้ครูใช้แพลตฟอร์มนี้วางแผนจัดสำรับอาหารได้ทั้งมื้อเช้าและกลางวันครบจบในแพลตฟอร์มเดียว ส่วนอีกฟังก์ชันที่เพิ่มเติมขึ้นมา คือ การทำให้การรายงานผลและการตรวจสอบการดำเนินงานเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง โดยในปีการศึกษา 2567 หรือที่กำลังเริ่มเปิดภาคเรียน ณ ขณะนี้ กทม. ได้กำหนดมาตรการให้บริษัทที่ทำสัญญาจัดส่งวัตถุดิบให้แก่โรงเรียนภายใต้สังกัด กทม. ต้องใช้งานแพลตฟอร์ม Thai School Lunch for Catering ซึ่งเชื่อมโยงกับ Thai School Lunch for BMA ในการทำงาน
“กลไกการทำงานของระบบ คือ เมื่อครูกำหนดสำรับอาหารของแต่ละวันผ่านแพลตฟอร์ม Thai School Lunch for BMA เรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบการจะสามารถคำนวณปริมาณวัตถุดิบที่ต้องจัดส่งในแต่ละวันและสร้างใบส่งของผ่านแพลตฟอร์ม Thai School Lunch for Catering ได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งการจัดส่งวัตถุดิบเพื่อประกอบอาหารเช้าและกลางวันให้โรงเรียน ผู้ส่งมอบจะต้องรายงานปริมาณและวัตถุดิบอาหารสดที่จัดส่งพร้อมอัปโหลดภาพถ่ายเข้าสู่ระบบจัดเก็บข้อมูลของแพลตฟอร์ม เพื่อให้โรงเรียนกดตรวจรับทุกวัน และหน่วยงานที่กำกับดูแลเข้าติดตามข้อมูลการดำเนินงานของแต่ละโรงเรียน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาสั่งจ่ายเงินให้ผู้ประกอบการได้โดยสะดวก (สามารถสร้างใบส่งของและเอกสารตรวจรับจากระบบเพื่อใช้แนบฎีกาเบิกจ่ายได้) ทำให้ช่วยลดจำนวนเอกสารและเพิ่มความถูกต้องของกระบวนการตรวจรับอาหารปรุงสำเร็จของโรงเรียนได้เป็นอย่างดี ส่วนหน่วยงานที่ดูแลด้านการปราบปรามทุจริตก็สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อตรวจสอบความโปร่งใสของแต่ละโรงเรียนได้เช่นกัน”
ปัจจุบัน ณ ปีการศึกษา 2567 มีโรงเรียนจากทั่วประเทศที่ลงทะเบียนเข้าใช้งานระบบ Thai School Lunch และ Thai School Lunch for BMA รวมแล้วมากกว่า 37,600 โรงเรียน รวมจำนวนนักเรียนที่อยู่ในการดูแลมากกว่า 5 ล้านคน
“คณะผู้พัฒนาและให้บริการเทคโนโลยีคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแพลตฟอร์ม Thai School Lunch จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการขับเคลื่อนระบบต่อไปอย่างยั่งยืน เพื่อประโยชน์ทั้งด้านการลดภาระงานของครูและบุคลากรจากสังกัดต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินงานร่วมกัน และที่สำคัญคือการมั่นใจได้ว่าเด็กไทยที่กำลังเติบโตไปเป็นอนาคตของชาติจะได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพจากโรงเรียนอยู่เสมอ ทั้งนี้หากในอนาคตแต่ละโรงเรียนมีการกำหนดสำรับอาหารล่วงหน้าเป็นรายภาคเรียนหรือปีการศึกษา ก็อาจนำไปสู่การส่งเสริมให้เกิดการทำสัญญารับซื้อสินค้าคุณภาพ อาทิ ผักปลอดสาร เนื้อสัตว์ไร้สารเร่งการเจริญเติบโตจากเกษตรกรไทยล่วงหน้าได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพเด็กแล้ว ยังทำให้เกษตรกรรู้โจทย์และวางแผนการผลิตสินค้าได้อย่างชัดเจน ช่วยลดปัญหาการผลิตสินค้าที่ไม่เป็นที่ต้องการหรือมีผลผลิตมากล้นตลาด จนทำให้สินค้าราคาตกต่ำได้” ดร.สุปิยา กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับโรงเรียนที่สนใจเข้าใช้งานระบบ Thai School Lunch ลงทะเบียนเข้าใช้งานได้ที่ www.thaischoollunch.in.th (ไม่มีค่าใช้จ่าย) และสำหรับผู้ที่สนใจติดตามสำรับอาหารของเด็กนักเรียนไทยในแต่ละวันเข้าดูแดชบอร์ดได้ที่เว็บไซต์เดียวกัน
หน่วยงานร่วมวิจัยหรือสนับสนุนการใช้งานแพลตฟอร์ม
- สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
- สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
- กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)
- กรุงเทพมหานคร
เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย ภัทรา สัปปินันทน์ และเนคเทค สวทช.
ภาพประกอบโดย ภัทรา สัปปินันทน์ และ shutterstock