หน้าแรก นาโนเทค สวทช. พัฒนา ‘ชุดตรวจโรคไตรู้ผลได้ใน 5 นาที’ มุ่งเพิ่มโอกาสคนไทยรอดพ้นจากโรคไตเรื้อรัง

นาโนเทค สวทช. พัฒนา ‘ชุดตรวจโรคไตรู้ผลได้ใน 5 นาที’ มุ่งเพิ่มโอกาสคนไทยรอดพ้นจากโรคไตเรื้อรัง

26 ธ.ค. 2566
0
BCG
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

เวอร์ชันภาษาไทย อัปเดตข้อมูล ณ​ วันที่ 12 มีนาคม 2568

For English-version news, please visit : NANOTEC-NSTDA introduces affordable kidney disease screening tests


 

องค์การอนามัยโลกหรือ WHO เผย 1 ใน 10 ของประชากรทั่วโลกมีอาการไตทำงานผิดปกติ และมีผู้ป่วยประมาณ 1 ล้านคนที่เสียชีวิตจากอาการไตวายเรื้อรังเนื่องจากไม่ได้เข้ารับการรักษา ขณะที่ในประเทศไทยโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนประชากรเป็นโรคไตเรื้อรังสูงถึงร้อยละ 17-22 ในปี 2552 (ข้อมูลจาก Thai SEEK) และเพิ่มสูงถึงร้อยละ 26 ในบางพื้นที่ (ข้อมูลจาก CKDNET ในปี 2565) ทั้งนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักทราบว่าตนเป็นโรคไตเมื่อเข้าสู่ระยะที่ 3-4 หรือระยะที่มีอาการป่วยปรากฏให้เห็นแล้ว ทำให้ไม่สามารถบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยการฟอกไตที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึงปีละ 200,000 บาทต่อคนต่อปี

 

ภาพอินโฟกราฟิกแสดงข้อมูลเรื่องอุบัติการณ์โรคไตทั่วโลกและประเทศไทยที่ให้ข้อมูลว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคไตมากที่สุดในโลก

ภาพอินโฟกราฟิกให้ข้อมูลเรื่องระยะของโรคไตว่าประกอบด้วย 5 ระยะ โดยระยะที่ 1-2 เป็นระยะที่ผู้ป่วยสามารถดูแลให้ไตกลับมาทำงานเป็นปกติได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการบริโภค แต่ระยะที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ทราบถึงอาการผิดปกติของร่างกายตนเองมักเป็นระยะที่ 3-4 เป็นต้นไปแล้ว

 

ด้วยอัตราการป่วยที่มีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานทั้งด้านการวิจัย การแพทย์ และสาธารณสุขไทย จึงได้ร่วมกันหาแนวทางพัฒนาวิธีการตรวจคัดกรองโรคที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจคัดกรองอย่างทั่วถึง ซึ่งจะช่วยป้องกันการลุกลามของโรคได้อย่างทันท่วงที ล่าสุด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรพัฒนานวัตกรรมคัดกรองโรคไต ได้แก่ AL-Strip (อัล-สตริป) ชุดตรวจโรคไตเชิงคุณภาพ สำหรับประชาชนทั่วไป สามารถตรวจได้ง่ายด้วยตนเอง ทราบผลความเสี่ยงได้ภายใน 5 นาที และ GO-Sensor Albumin Test (โก-เซนเซอร์ อัลบูมิน เทสต์) ชุดตรวจโรคไตเชิงปริมาณ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ทราบผลตรวจได้ภายใน 10-30 นาที

 

2 เทคโนโลยีเพิ่มโอกาสคัดกรองโรค

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคไตได้ตั้งแต่ระยะต้นเกิดจาก ค่าใช้จ่ายในการตรวจที่ค่อนข้างสูง ซึ่งมีตั้งแต่หลักร้อยถึงพันบาท ขึ้นอยู่กับความละเอียดในการตรวจ นอกจากนี้หน่วยงานด้านสาธารณสุขที่ให้บริการตรวจยังมีไม่เพียงพอ เพราะต้องเป็นสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือสถานพยาบาลที่พร้อมส่งต่อให้บริษัทเอกชนด้านเทคนิคการแพทย์ดำเนินการตรวจในห้องปฏิบัติการให้เท่านั้น ดังนั้นการมี ชุดตรวจที่เข้าถึงง่าย จึงเป็นหนทางที่จะช่วยลดช่องโหว่ดังกล่าว และนั่นเป็นที่มาให้ทีมวิจัยจากนาโนเทค สวทช. เข้าร่วมภารกิจอันท้าทายนี้

 

ภาพ ดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง ผู้อำนวยการขับเคลื่อนแผนงานนวัตกรรมชุดตรวจรวดเร็ว และ Strategic Focus ชุดตรวจสุขภาวะ นาโนเทค สวทช.
ดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง ผู้อำนวยการขับเคลื่อนแผนงานนวัตกรรมชุดตรวจรวดเร็ว และ Strategic Focus ชุดตรวจสุขภาวะ นาโนเทค สวทช.

 

ดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง ผู้อำนวยการขับเคลื่อนแผนงานนวัตกรรมชุดตรวจรวดเร็ว และ Strategic Focus ชุดตรวจสุขภาวะ นาโนเทค สวทช. เล่าว่า ปัจจุบันทีมวิจัยได้นำความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาวัสดุระดับนาโนและการประยุกต์ใช้เป็นเซนเซอร์ทางด้านการแพทย์ มาพัฒนาชุดตรวจโรคไตสำเร็จแล้ว 2 เทคโนโลยี ประกอบด้วย ‘AL-Strip’ และ ‘GO-Sensor Albumin Test’ โดยเทคโนโลยีแรก ‘AL-Strip’ ซึ่งผู้พัฒนาหลักคือ ดร.สาธิตา ตปนียกร เป็นชุดตรวจโรคไตเชิงคุณภาพที่ประชาชนทั่วไปใช้ตรวจคัดกรองโรคได้ด้วยตัวเอง ทราบผลการตรวจได้ภายใน 5 นาที ที่สำคัญชุดตรวจมีราคาจับต้องได้

 

ภาพต้นแบบชุดตรวจ AL-Strip
ต้นแบบชุดตรวจ AL-Strip
ภาพต้นแบบชุดตรวจ AL-Strip
ต้นแบบชุดตรวจ AL-Strip

 

“AL-Strip ใช้งานง่าย เพียงผู้ตรวจหยดปัสสาวะที่เก็บใหม่ลงบนแถบตรวจ แล้วอ่านผลจากแถบสีที่ปรากฏ (คล้ายกับการใช้ชุดตรวจ ATK ในการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19) ก็จะทราบผลการคัดกรองได้ทันที โดยหากผู้ตรวจมีปริมาณอัลบูมินซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นสารประกอบหลักของเลือดเจือปนอยู่ในปัสสาวะเกิน 20 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ชุดตรวจจะขึ้นแถบสี 1 ขีด หมายถึง มีความเสี่ยงเป็นโรคไตสูง ผู้ตรวจควรเข้ารับการตรวจโดยละเอียดที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยความผิดปกติของร่างกาย และเข้ารับการรักษาตามระยะของความผิดปกติ หากผู้ป่วยตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่อยู่ในระยะเริ่มต้น ก็จะมีโอกาสหันกลับมาดูแลตัวเองด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อชะลอความเสื่อมของไต ซึ่งอาจทำให้ไตกลับมาทำงานเป็นปกติได้”

 

ภาพอินโฟกราฟิกแสดงข้อมูลชุดตรวจ AL-Strip ดังที่มีการอธิบายข้อมูลต่อในบทความ

 

AL-Strip ไม่เพียง ตรวจง่าย แต่ยังมีจุดแข็งเรื่อง ราคาที่จับต้องได้ ทีมวิจัยนาโนเทค สวทช. จึงมุ่งเป้าให้ชุดตรวจนี้เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญด้านการคัดกรองโรคไตแบบเชิงรุกเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในประเทศไทย

ดร.เดือนเพ็ญ เล่าต่อถึงเทคโนโลยีที่สอง GO-Sensor Albumin Test ว่า เป็น ชุดตรวจโรคไตเชิงปริมาณ เพื่อการวิเคราะห์ผลทางการแพทย์ โดยทีมวิจัยได้พัฒนาใน 2 ส่วนหลัก คือ เครื่องตรวจปริมาณอัลบูมินที่เจือปนอยู่ในปัสสาวะ ที่ใช้เวลาในการประมวลผลเพียง 10-30 นาที ขึ้นอยู่กับความละเอียดของข้อมูลที่ต้องการ (ตรวจได้ครั้งละ 1 ตัวอย่าง) ภายหลังจากเครื่องประมวลผลเสร็จ ระบบจะส่งข้อมูลเข้าสู่แดชบอร์ด (dashboard) ที่ดูได้ผ่านทั้งคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟน เพื่อให้แพทย์นำผลการตรวจไปใช้งานต่อได้สะดวก ส่วนที่สองคือน้ำยาตรวจที่มีความจำเพาะกับอัลบูมินของมนุษย์ มีความไว (sensitive) ในการตรวจมากกว่าชุดตรวจทั่วไปประมาณ 100 เท่า ช่วยลดปริมาณน้ำยาที่ใช้ในการตรวจได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญทั้งเครื่องอ่านผลและน้ำยาตรวจผ่านการพัฒนาให้มีราคาที่สถานพยาบาลขนาดเล็กสามารถสั่งซื้อเพื่อใช้งานได้ นอกจากนี้อุปกรณ์ยังผ่านการออกแบบให้เหมาะแก่การใช้ตรวจทั้งในสถานพยาบาลและการออกตรวจนอกสถานที่ เพื่อช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการทำงานด้วย

 

ภาพต้นแบบชุดตรวจ GO-Sensor Albumin Test
ต้นแบบชุดตรวจ GO-Sensor Albumin Test

 

“GO-Sensor Albumin Test จะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ทุกสถานพยาบาลเข้าถึงอุปกรณ์การตรวจเชิงปริมาณเพื่อการดูแลรักษาคนไข้ในพื้นที่ โดยไม่ต้องส่งตัวคนไข้หรือส่งปัสสาวะ (ภายใต้การควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมและนำเข้ากระบวนการตรวจภายใน 24 ชั่วโมง) ไปตรวจยังสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมสูง”

 

ภาพอินโฟกราฟิกแสดงข้อมูลชุดตรวจ GO-Sensor Albumin Test ดังที่มีการอธิบายข้อมูลต่อในบทความ

 

 

เตรียมผลักดันสู่ภาครัฐ มุ่งประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างทั่วถึง

ทั้ง AL-Strip และ GO-Sensor Albumin Test มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีในระดับ TRL7-9 หรือพร้อมแก่การผลิตเพื่อการใช้งานจริงแล้ว โดยตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน นาโนเทค สวทช. ได้ผลิตอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ โครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (CKDNET)’ มาโดยตลอด โดยโครงการนี้มีผู้ดำเนินงานหลัก คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 7 ทั้งนี้นาโนเทค สวทช.ได้รับการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนในการผลิตอุปกรณ์จากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)  ปัจจุบัน AL-Strip ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการไทยแล้ว 3 เจ้า คือ บริษัทอินโนซุส จำกัด, บริษัทเมดไบโอซิน จำกัด และบริษัทไฮไลฟ์ เฮลท์ จำกัด

 

ภาพบรรยากาศทีมวิจัยและพันธมิตรลงพื้นที่ภาคอีสานเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไตและให้ข้อมูลเกี่ยวกับชุดตรวจ

ภาพบรรยากาศทีมวิจัยและพันธมิตรลงพื้นที่ภาคอีสานเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไตและให้ข้อมูลเกี่ยวกับชุดตรวจ

 

ดร.เดือนเพ็ญ เล่าว่า 2 ปีที่ผ่านมา นาโนเทค สวทช. ได้สนับสนุนอุปกรณ์ ‘AL-Strip’ และ ‘GO-Sensor Albumin Test’ สำหรับให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ตรวจคัดกรองโรคไตแก่ประชาชนในจังหวัดขอนแก่นมาโดยตลอด มีผู้เข้ารับการตรวจแล้วมากกว่า 1,000 คน ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีอัตราการเป็นโรคไตสูงได้ทราบถึงความเสี่ยงในการเป็นโรคหรือความผิดปกติของร่างกายตนเองตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที สร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมรวม 7.87 ล้านบาท

“ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ในระดับประเทศ ปัจจุบันนาโนเทค สวทช. กำลังสรรหาบริษัทเอกชนที่สนใจเข้ารับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ รวมถึงมีนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดการนำผลงานทั้ง 2 เข้าสู่บัญชีนวัตกรรมไทย โดยปัจจุบัน ทีมวิจัยได้ช่วยผลักดันให้ 1 ใน 2 ผลงานนี้เข้าสู่บัญชีนวัตกรรมไทยสำเร็จแล้ว ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกลไกส่งเสริมให้สถานพยาบาลจัดซื้อนวัตกรรมทางการแพทย์ที่คนไทยผลิตไปใช้ประโยชน์ อีกทั้งอาจเป็นช่องทางให้ภาครัฐสนับสนุนให้คนไทยทั้งประเทศเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคด้วยตัวเองอย่างเท่าเทียม ผ่านการติดต่อรับชุดอุปกรณ์ที่ร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ ดังที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำลังขับเคลื่อนงานด้วย”

อย่างไรก็ดีหากพิจารณาถึงความพร้อมทางด้านการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ในประเทศไทย จะเห็นว่าปัจจุบันนอกจากนาโนเทค สวทช. ที่มีห้องปฏิบัติการที่สามารถผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์มาตรฐาน ISO13485 เป็นของตนเองแล้ว ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ได้มาตรฐาน ISO13485 ที่พร้อมรับจ้างผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ประเภทนี้เช่นกัน ดังนั้นหากผู้ประกอบการพร้อม ภาครัฐพร้อม การเดินหน้าผลิตอุปกรณ์เพื่อให้คนไทยทั่วประเทศเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคไตเป็นเรื่องที่ทำได้ทันที

ดร.เดือนเพ็ญ กล่าวเสริมทิ้งท้ายว่า ในการพัฒนาชุดตรวจทางการแพทย์ ทีมวิจัยไม่ได้ให้ความสำคัญแต่เฉพาะเพียงเรื่องโรคไตเท่านั้น แต่ยังมองถึงภาพรวมของการสร้างระบบนิเวศในการวิจัยและพัฒนาชุดตรวจโรคที่คนไทยรวมถึงคนทั่วโลกมีความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะโรคในกลุ่ม NCDs ด้วย ตัวอย่างโรคที่มีการพัฒนาชุดตรวจแล้ว เช่น โรคเบาหวาน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง และเป็นการสร้างความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของการขับเคลื่อนไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางด้านการแพทย์ (medical hub) ของเอเชียได้อย่างมั่นคง

สำหรับผู้ที่สนใจรับถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือร่วมทำวิจัย ติดต่อสอบถามได้ที่ นาโนเทค สวทช. ทางอีเมล pr@nanotec.or.th

 

ผู้สนับสนุนหลักในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงขับเคลื่อนสู่การใช้ประโยชน์จริง

 

– คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้การสนับสนุนด้านการทดสอบทางคลินิก

– สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้คำปรึกษาด้านการขอมาตรฐานในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์

– สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ให้การสนับสนุนผ่านการร่วมลงนาม MOU กับ สวทช. และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการผลักดันให้เกิดการใช้ชุดตรวจในพื้นที่ต้นแบบ

– โครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้การสนับสนุนด้านการทดสอบภาคสนามและการนำไปใช้ประโยชน์

– สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและนำชุดตรวจไปใช้ประโยชน์

– สถาบันพระบรมราชชนก โดยวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุพรรณบุรี ให้การสนับสนุนด้านการผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ผ่านโครงการปิงปองจราจร 7 สี ซึ่งดำเนินงานด้านการคัดกรองและติดตามผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงโรค NCDs

 

ภาพบรรยากาศทีมวิจัยและพันธมิตรลงพื้นที่ภาคอีสานเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไตและให้ข้อมูลเกี่ยวกับชุดตรวจ

ภาพบรรยากาศทีมวิจัยและพันธมิตรลงพื้นที่ภาคอีสานเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไตและให้ข้อมูลเกี่ยวกับชุดตรวจ

ภาพบรรยากาศทีมวิจัยและพันธมิตรลงพื้นที่ภาคอีสานเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไตและให้ข้อมูลเกี่ยวกับชุดตรวจ

ภาพบรรยากาศทีมวิจัยและพันธมิตรลงพื้นที่ภาคอีสานเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไตและให้ข้อมูลเกี่ยวกับชุดตรวจ


เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย ภัทรา สัปปินันทน์ และนาโนเทค สวทช.

แชร์หน้านี้: