หน้าแรก บทเรียนวิกฤตโควิด-19 สู่การพัฒนา “PETE (พีท) เปลความดันลบ” นวัตกรรมเพื่อความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย
บทเรียนวิกฤตโควิด-19 สู่การพัฒนา “PETE (พีท) เปลความดันลบ” นวัตกรรมเพื่อความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย
24 ส.ค. 2566
0
BCG
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

บทเรียนวิกฤตโควิด-19 สู่การพัฒนา “PETE (พีท) เปลความดันลบ” นวัตกรรมเพื่อความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

นับตั้งแต่ปี 2562 โรคโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายด้านเศรษฐกิจและสังคมแก่ผู้คนทั่วโลกอย่างมหาศาล เป็นแรงกระตุกครั้งสำคัญให้ผู้นำทั่วโลกตระหนักถึงความรุนแรงของโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) และหายนะที่เกิดขึ้นจากการขาดความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งประเทศไทยเองก็ต้องเผชิญความยากลำบากในการก้าวข้ามผ่านวิกฤตครั้งนี้มาเช่นกัน

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (ศลช.) และหน่วยงานพันธมิตร ผู้สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา PETE (พีท) จัดเวทีถอดบทเรียนความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมรับมือวิกฤตโรคโควิด-19 อันนำไปสู่การสร้างความเข็มแข็งด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

บทเรียนวิกฤตโควิด-19 สู่การพัฒนา “PETE (พีท) เปลความดันลบ” นวัตกรรมเพื่อความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย

บทเรียนวิกฤตโควิด-19 สู่การพัฒนา “PETE (พีท) เปลความดันลบ” นวัตกรรมเพื่อความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย

บทเรียนวิกฤตโควิด-19 สู่การพัฒนา “PETE (พีท) เปลความดันลบ” นวัตกรรมเพื่อความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย
PETE

 

เสียงสะท้อนบุคลากรด่านหน้าในสถานการณ์โควิด-19

เสียงตะโกนกรีดร้องด้วยความเครียดและหวาดผวา น้ำตาที่ไหลผ่านหน้าด้วยความเหนื่อยล้าแสนสาหัส คือความเจ็บปวดที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องเผชิญในปี 2563 ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ถาโถมอย่างหนัก โรคที่ไม่มีใครไม่รู้จักและไร้ซึ่งหนทางตั้งรับ” คือ คำบอกเล่าของ นพ.อนุแสง จิตสมเกษม รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช หนึ่งในบุคลากรด่านหน้าที่ได้หวนสะท้อนถึงความรู้สึกของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ต้องยืนหยัดต่อสู้ท่ามกลางสถานการณ์อันโหดร้ายในช่วงเวลานั้น

 

บทเรียนวิกฤตโควิด-19 สู่การพัฒนา “PETE (พีท) เปลความดันลบ” นวัตกรรมเพื่อความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย
นพ.อนุแสง จิตสมเกษม (ขวา)

 

“ตอนนั้นสถานพยาบาลทั่วประเทศต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะอุปกรณ์สำหรับควบคุมการแพร่กระจายเชื้อขณะเคลื่อนย้ายคนไข้ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันไม่ให้บุคลากรด่านหน้าล้มป่วย หมอและพยาบาลต้องอลหม่านสร้างสรรค์อุปกรณ์เพื่อใช้งานกันเอง โชคดีที่หลังจากนั้นไม่นาน ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ หัวหน้าทีมวิจัยจากเอ็มเทค สวทช. และทีมวิจัย ได้ติดต่อเข้ามาที่วชิรพยาบาลเพื่อนำเสนอแนวคิดการต่อยอดนวัตกรรม ‘เปลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ติดโรคระบาดในระบบทางเดินหายใจ’

 

นวัตกรรมฝ่าวิกฤตลดความเสี่ยงบุคลากรทางการแพทย์

ด้วยสถานการณ์ที่คับขัน ทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. เร่งนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญมาพัฒนาต้นแบบ PETE (พีท) เปลความดันลบ ในเวลาอันสั้น เพื่อเป็นเครื่องมือให้บุคลากรด่านหน้าใช้รับมือโรคระบาด

 

บทเรียนวิกฤตโควิด-19 สู่การพัฒนา “PETE (พีท) เปลความดันลบ” นวัตกรรมเพื่อความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย
ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ

 

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ หัวหน้าโครงการ และผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า ในช่วงเวลานั้น อุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจมีความสำคัญและจำเป็นในทุกโรงพยาบาล แต่ในประเทศไทยมีน้อยมาก เพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนที่มีอยู่ก็มีข้อจำกัดในการใช้งาน เช่น ขนย้ายลำบาก ไม่สามารถนำเข้าเครื่องเอกซเรย์ชนิด CT-scan ได้ ทีมวิจัยจึงมีแนวคิดพัฒนา PETE หรืออุปกรณ์เปลความดันลบที่ลดข้อจำกัดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 และเพิ่มความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย

 

บทเรียนวิกฤตโควิด-19 สู่การพัฒนา “PETE (พีท) เปลความดันลบ” นวัตกรรมเพื่อความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย
PETE รุ่นที่ 8 ถ่ายทอดเทคโนโลยีและมีการจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว

 

“จุดเด่นของ PETE คือเปลมีน้ำหนักเบา ติดตั้งง่ายและรวดเร็ว ตัวเปลมีลักษณะเป็นห้องหรือท่อพลาสติกใส (plastic chamber) ขนาดพอดีตัวคน มีระบบปรับความดันอากาศภายในเปลเพื่อให้ผู้ป่วยหายใจสบาย และมีระบบฆ่าเชื้อโรคในอากาศเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ภายนอก นอกจากนี้อุปกรณ์ยังผ่านการออกแบบให้เคลื่อนย้ายเข้า-ออกรถพยาบาล รวมถึงเครื่องเอกซเรย์ชนิด CT Scan ได้โดยไม่ต้องพาผู้ป่วยออกจากเปล ที่สำคัญยังมีช่องถุงมือสำหรับทำหัตถการผู้ป่วย หรือสอดท่อหรือสายจากเครื่องมือแพทย์ จำนวน 6 ถึง 8 จุด เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องเปิด chamber”

 

บทเรียนวิกฤตโควิด-19 สู่การพัฒนา “PETE (พีท) เปลความดันลบ” นวัตกรรมเพื่อความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย
การทดสอบการใช้งานทางบกร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

 

บทเรียนวิกฤตโควิด-19 สู่การพัฒนา “PETE (พีท) เปลความดันลบ” นวัตกรรมเพื่อความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย
การทดสอบการใช้งานทางบกร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ

 

บทเรียนวิกฤตโควิด-19 สู่การพัฒนา “PETE (พีท) เปลความดันลบ” นวัตกรรมเพื่อความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย
ผลงาน PETE ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการประเภทการออกแบบผลิตภัณฑ์ ประจำปี 2565

 

เอกชนพร้อมสู้ภัยโควิด-19 เดินหน้า ผลิตเชิงพาณิชย์

นับเป็นความโชคดีที่ภายหลังทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. ฝ่าฟันความยากลำบากในการวิจัยและพัฒนาต้นแบบ PETE จนประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น บริษัทสุพรีร่า อินโนเวชัน จำกัด ที่มีความพร้อมด้านการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีในทันที เพื่อเร่งผลิตอุปกรณ์ช่วยเหลือสถานพยาบาลต่าง ๆ ที่กำลังเดือดร้อน

 

บทเรียนวิกฤตโควิด-19 สู่การพัฒนา “PETE (พีท) เปลความดันลบ” นวัตกรรมเพื่อความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย
คุณสกุล คงธนสาโรจน์ (ซ้าย) นาวาอากาศเอก พยงค์ รัตนสุข (คนที่ 2) คุณอานนท์ ศรีจักรโคตร (คนที่ 3)

 

คุณอานนท์ ศรีจักรโคตร วิศวกรอาวุโส บริษัทสุพรีร่า อินโนเวชัน จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่าย PETE เล่าว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตรถพยาบาลและรถที่ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับปฏิบัติงานทางการแพทย์แบบเคลื่อนที่ จึงทราบดีว่าในปี 2563 บุคลากรด่านหน้าต้องเผชิญความยากลำบากในการทำงานเพียงใด พอทราบข่าวว่าเอ็มเทคพัฒนาต้นแบบ PETE ได้สำเร็จ เราจึงติดต่อขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีทันที

“จากการดำเนินงานร่วมกับทีมวิจัยตั้งแต่ช่วงต้น ทำให้มีโอกาสได้ทราบว่าทีมวิจัยต้องเผชิญกับอุปสรรคในการพัฒนานวัตกรรมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องข้อจำกัดในการเลือกใช้ อุปกรณ์การผลิต เพราะตอนนั้นทั่วโลกต่างมีความต้องการวัสดุสำหรับการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์สูง อีกทั้งการขนส่งระหว่างประเทศยังทำได้ยากลำบาก ทีมวิจัยจึงต้องพยายามเลือกใช้อุปกรณ์ที่ผลิตได้ภายในประเทศเท่านั้น อย่างไรก็ตามเมื่อผ่านพ้นมาได้แล้วผลดีที่เกิดขึ้นคือเราสามารถผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อใช้เองในยามวิกฤตได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงกำลังการผลิตจากภายนอก อีกทั้งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ยังมีราคาถูกกว่าสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศหลายเท่าตัว ช่วยเพิ่มโอกาสให้สถานพยาบาลไทยเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูง

ปัจจุบัน บริษัทสุพรีร่า อินโนเวชัน จำกัด ร่วมกับทีมวิจัยเอ็มเทค พัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ต้นแบบ PETE เปลความดันลบ มาแล้วถึง 9 รุ่น ซึ่งรุ่นที่ 9 เป็นรุ่นที่บุคลากรทางการแพทย์ให้การยอมรับว่ามีประสิทธิภาพทัดเทียมกับสินค้าที่จำหน่ายในตลาดโลก นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ HI PETE (ไฮ พีท) เต็นท์ความดันลบสำหรับใช้ทดแทนห้องความดันลบในสถานพยาบาลในกรณีมีห้องไม่เพียงพอ และใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ในโรงพยาบาลสนามหรือสถานที่กักตัวภายในชุมชนด้วย

 

บทเรียนวิกฤตโควิด-19 สู่การพัฒนา “PETE (พีท) เปลความดันลบ” นวัตกรรมเพื่อความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย
HI PETE

 

บทเรียนวิกฤตโควิด-19 สู่การพัฒนา “PETE (พีท) เปลความดันลบ” นวัตกรรมเพื่อความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย
HI PETE

 

บทเรียนวิกฤตโควิด-19 สู่การพัฒนา “PETE (พีท) เปลความดันลบ” นวัตกรรมเพื่อความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย
HI PETE
ส่งมอบ ‘เปลความดันลบ’ เกราะคุ้มกันกำลังพลคนด่านหน้า

ด้วยแรงสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทำให้บริษัทสุพรีร่าฯ ผลิตและส่งมอบอุปกรณ์ให้แก่สถานพยาบาลทั่วประเทศได้แล้วมากกว่า 120 ชุด

คุณสกุล คงธนสาโรจน์ นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ จังหวัดนครราชสีมา เล่าว่า การได้ PETE มาใช้งาน ช่วยลดภาระงานเจ้าหน้าที่อย่างมาก จากที่ต้องใช้เวลานำแผ่นพลาสติกซีลภายในรถทั้งคันเป็นเวลาหลักชั่วโมงต่อการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย 1 ครั้ง เหลือเพียงใช้เวลาติดตั้งอุปกรณ์ 5 นาทีเท่านั้น อีกทั้งการดูแลผู้ป่วยหลังจากเคลื่อนย้ายมายังสถานพยาบาลก็ทำได้สะดวกขึ้นมาก ทุกคนที่ได้ใช้งานรู้สึกสะดวก คลายความกังวล และมีความสุข

แม้วันนี้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย จะพบจำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างมากจนใกล้กลับคืนสู่สถานการณ์ปกติแล้ว แต่สถานพยาบาลต่าง ๆ ก็ยังคงใช้ PETE ในการดูแลผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจที่มีความรุนแรง อาทิ วัณโรค (Tuberculosis) อีสุกอีใส (Chickenpox) เพื่อปกป้องบุคลากรทางการแพทย์และบุคคลทั่วไปจากการแพร่กระจายเชื้ออยู่เสมอ

 

บทเรียนวิกฤตโควิด-19 สู่การพัฒนา “PETE (พีท) เปลความดันลบ” นวัตกรรมเพื่อความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย
ภาพการส่งมอบ PETE ในปี 2564

 

พลังความร่วมมือ หนทางก้าวข้ามวิกฤตโควิด-19

ผลความสำเร็จในพัฒนา PETE เปลความดันลบ จากต้นแบบในห้องปฏิบัติการสู่ผลงานที่ส่งมอบให้แก่สถานพยาบาลเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19  คงเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาด “ความร่วมแรงร่วมใจ” จากทุกภาคส่วน

ดร.ศราวุธ เล่าว่า นวัตกรรมนี้เกิดขึ้นได้จากการร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่ายในการนำสรรพกำลังและความเชี่ยวชาญสหสาขามาบูรณาการการทำงาน ต้องขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนที่ร่วมฝ่าฟันความยากลำบากมาด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ผู้ใช้งานที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้ข้อมูลปัญหาที่ชัดเจน และร่วมให้ความเห็นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง อาทิ วชิรพยาบาล โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ โรงพยาบาลวิภาวดี โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แหล่งทุนวิจัยต่าง ๆ  ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (ศลช.) รวมถึงภาคเอกชน ได้แก่ เครือมติชน บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัทอีสเทิร์นโพลีเมอร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทสุพรีร่า อินโนเวชัน จำกัด และประชาชนที่ร่วมบริจาคงบประมาณในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้มีความถูกต้องทางวิศวกรรมและตอบโจทย์ผู้ใช้

“อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนให้ต่อยอดขยายผลอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนด้านการทดสอบมาตรฐานจากกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) มาตั้งแต่ต้น ทำให้สามารถขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ส่งผลดีด้านการสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่หน้างานเป็นอย่างมาก”

 

ต่อยอดนวัตกรรม PETE ‘เคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศและทางน้ำ

PETE ไม่เพียงเป็นนวัตกรรมสำคัญในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในอนาคต ทีมวิจัยยังตั้งเป้าพัฒนาขยายผลการใช้งาน PETE ให้เป็นอุปกรณ์ที่พร้อมเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในทุกสถานการณ์

ดร.ศราวุธ เล่าว่า ก้าวต่อไปของ PETE คือการพัฒนาอุปกรณ์ให้ใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ทั้งทางอากาศและทางน้ำ โดยปัจจุบันทีมวิจัยกำลังร่วมกับหน่วยงานการแพทย์และศูนย์ทดสอบต่าง ๆ ในการทดสอบอุปกรณ์ภายใต้สถานการณ์จำลอง เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้มาปรับปรุงและจัดทำรายงานทางคลินิกเพื่อยื่นขอรับรองมาตรฐานอุปกรณ์ทางการแพทย์ระดับสากลในหัวข้อต่าง ๆ เพิ่มเติม นำไปสู่การเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดโลก ตามที่ นาวาอากาศเอก พยงค์ รัตนสุข นายทหารนิรภัยเวชกรรมการบิน สถาบันเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศ ได้ให้กำลังใจไว้ว่า ‘Go higher!’

 

บทเรียนวิกฤตโควิด-19 สู่การพัฒนา “PETE (พีท) เปลความดันลบ” นวัตกรรมเพื่อความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย
PETE รุ่นที่ 9 อยู่ระหว่างการทดสอบการใช้งานให้ครอบคลุมภาคพื้นดิน ภาคอากาศ และภาคน้ำ เพื่อเตรียมการขยายผลในและต่างประเทศ

 

การทำวิจัยเพื่อยกระดับขีดความสามารถของอุปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศและทางน้ำ ได้รับการสนับสนุนจาก ศลช. รวมถึงพันธมิตร อาทิ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กองบินตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถาบันเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และกองบังคับการตํารวจน้ำ (สุราษฎร์ธานี) สํานักงานตํารวจแห่งชาติ

 

บทเรียนวิกฤตโควิด-19 สู่การพัฒนา “PETE (พีท) เปลความดันลบ” นวัตกรรมเพื่อความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย
การทดสอบการติดตั้งบนเฮลิคอปเตอร์ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

บทเรียนวิกฤตโควิด-19 สู่การพัฒนา “PETE (พีท) เปลความดันลบ” นวัตกรรมเพื่อความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย
การทดสอบจำลองภารกิจการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางน้ำ (แม่น้ำ) โดยศูนย์วิทยุวัฒนะจังหวัดปทุมธานี

 

“ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการพัฒนานวัตกรรมและขยายผลการใช้งาน PETE เปลความดันลบในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์แล้ว ยังเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (medical hub) แห่งเอเชียตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG ด้วย ดร.ศราวุธ กล่าวทิ้งท้าย

หากคุณสนใจร่วมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม PETE รวมถึงนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ติดต่อได้ที่ pete@mtec.or.th

แชร์หน้านี้: