หน้าแรก ไบโอเทค-สวทช. พัฒนาองค์ความรู้ ฟื้นฟูพื้นที่เพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่า อนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ไบโอเทค-สวทช. พัฒนาองค์ความรู้ ฟื้นฟูพื้นที่เพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่า อนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
21 ก.ย. 2566
0
BCG
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

ไบโอเทค-สวทช. พัฒนาองค์ความรู้ ฟื้นฟูพื้นที่เพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่า อนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

 

เห็ดตับเต่า เป็นหนึ่งในเห็ดพื้นบ้านของไทยที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีรสชาติที่อร่อยเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีคุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ที่สำคัญคือมีให้รับประทานเฉพาะในฤดูฝนเท่านั้น ซึ่งแหล่งผลิตเห็ดตับเต่าที่ใหญ่ที่สุดและคุณภาพดีที่สุดในประเทศไทยอยู่ที่บ้านสามเรือน ตำบลสามเรือน อำเภบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นับเป็นเห็ดเศรษฐกิจที่เกิดจากวิถีภูมิปัญญาผสานกับการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาปรับใช้บริหารจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสมเพื่อผลิตเห็ดตับเต่าอย่างยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน

 

ไบโอเทค-สวทช. พัฒนาองค์ความรู้ ฟื้นฟูพื้นที่เพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่า อนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
นางสาวธิติยา บุญประเทือง นักวิจัยไบโอเทค สวทช.

 

นางสาวธิติยา บุญประเทือง หัวหน้ากลุ่มวิจัยเห็ด ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล่าว่า เกษตรกรบ้านสามเรือนเพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่าในดงโสนเป็นอาชีพหลักมานานหลายสิบปี และได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเห็ดตับเต่าคลองโพ แต่จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2554 ส่งผลให้เชื้อเห็ดตับเต่าในพื้นที่ลดลงและพักตัวนานขึ้น ผลผลิตเห็ดในปีถัด ๆ มาก็ลดลงตามไปด้วย หากไม่เร่งฟื้นฟูอาจทำให้เห็ดตับเต่าค่อย ๆ หายไปจากพื้นที่ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในระยะยาว

“ทีมวิจัยจึงได้ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับเกษตรกรบ้านสามเรือนเพื่อฟื้นฟูพื้นที่เพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่า เริ่มตั้งแต่ศึกษาสรีรวิทยาของเห็ดตับเต่า ศึกษาระบบนิเวศและปัจจัยพื้นฐานที่มีผลต่อการเจริญของเห็ดตับเต่าทั้งดิน น้ำ ความชื้น และอากาศ รวมถึงพืชอาศัยของเห็ดตับเต่า ซึ่งเดิมเคยมีความรู้ว่าเห็ดตับเต่าเป็นเห็ดเอ็กโทไมคอร์ไรซา (ectomycorrhiza) ที่เจริญร่วมกับรากของต้นไม้ จึงไม่สามารถเพาะในโรงเรือนได้เหมือนกับเห็ดชนิดอื่นๆ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เห็ดตับเต่าไม่เป็นเห็ดเอ็กโทไมคอร์ไรซา แต่เป็นเห็ดที่มีสังคมการอาศัยที่ซับซ้อนคือ มีความสัมพันธ์ร่วมระหว่างพืชอาศัย ซึ่งมีมากกว่า 60 ชนิด และต้นโสนเป็นหนึ่งในนั้น ร่วมกับแมลงคือมดและเพลี้ย ดังนั้นหากกำจัดมดและเพลี้ยจะส่งผลต่อเห็ดตับเต่าด้วย กลไกของสังคมนี้ยังคงอยู่ในระหว่างศึกษาถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เห็ดตับเต่าสามารถนำมาเพาะเลี้ยงในโรงเรือนได้แต่รสชาติเปรียบกับเห็ดตับเต่าที่ขึ้นในบริเวณแหล่งปลูกอาศัยตามธรรมชาติไม่ได้ ต้นทุนสูงและเพาะเลี้ยงยากจึงไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย”

นักวิจัยเล่าว่าเกษตรกรที่บ้านสามเรือนจะเพาะเห็ดตับเต่าในดงโสนนาซึ่งเป็นพืชประจำถิ่นของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีมากมาย โดยเห็ดตับเต่าจะเริ่มออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน หลังจากเก็บดอกเห็ดขายจนหมดแล้วและต้นโสนเริ่มแก่ พร้อมกับช่วงของการกักเก็บน้ำจากชลประทานซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่แก้มลิงของจังหวัด โดยน้ำจะเข้าท่วมถึงระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือน หลังจากน้ำลดแล้วจึงเริ่มปรับพื้นที่ให้ต้นโสนงอกใหม่อีกครั้งคือการถอนต้นโสนทิ้งแล้วให้ต้นอ่อนขึ้นตามธรรมชาติ แล้วจึงนำเชื้อเห็ดที่หมักเตรียมไว้มาราดให้ทั่วแปลง และเมื่อเข้าสู่ต้นฤดูฝนในช่วงเดือนพฤษภาคมจะเริ่มสังเกตเห็นเส้นใยเห็ดตับเต่าเดินเต็มผิวดินและดอกเห็ดตับเต่าก็จะเริ่มบานเต็มพื้นที่อีกครั้ง

 

ไบโอเทค-สวทช. พัฒนาองค์ความรู้ ฟื้นฟูพื้นที่เพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่า อนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
นักวิจัยศึกษาระบบนิเวศของเห็ดตับเต่าและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน

 

“เราศึกษาระบบนิเวศของเห็ดตับเต่าตั้งแต่โครงสร้างของดิน แร่ธาตุในดิน อุณหภูมิ ความชื้น ความเข้มแสงบริเวณโคนต้นเหนือพื้นดิน รวมถึงความสูงของต้นโสน พบว่าเห็ดตับเต่าจะเจริญได้ในสภาพแวดล้อมที่มีความจำเพาะ เช่น ดินต้องมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์และมีความเป็นกรดสูง มีความชื้นในอากาศเหมาะสม มีแสงส่องถึงพื้นดินที่พอเหมาะ และต้องไม่มีสารเคมีปนเปื้อนในแปลงเพาะเห็ด ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องหมั่นดูแลสภาพแวดล้อมในแปลงและตัดแต่งกิ่งโสนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ถางหญ้าที่รกออกโดยไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าเพื่อให้เชื้อเห็ดเจริญและออกดอกได้ดี ที่สำคัญเกษตรกรจะต้องไม่เก็บดอกเห็ดขายจนหมด ต้องปล่อยดอกเห็ดบางส่วนทิ้งไว้จนแก่เพื่อนำไปทำหัวเชื้อหรือให้เชื้อนั้นพักตัวในดินสะสมไว้เพื่อฤดูกาลถัดไป ในส่วนของต้นโสนไม่ควรนำเมล็ดไปขายเพราะจะส่งผลถึงปริมาณต้นอ่อนของต้นโสนซึ่งมีผลสัมพันธ์กับการลดปริมาณของเห็ดในฤดูถัดไปได้ ห้ามกำจัดมดและเพลี้ยในบริเวณเช่นเดียวกันเพราะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเห็ดตับเต่าที่จำเป็นต้องมีในถิ่นอาศัย” นักวิจัยกล่าว

จากการศึกษาระบบนิเวศของเห็ดตับเต่าและทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกรบ้านสามเรือนเป็นเวลากว่า 2 ปี นักวิจัยไม่เพียงได้องค์ความรู้สำหรับถ่ายทอดสู่เกษตรกรในพื้นเท่านั้น แต่ยังสามารถจำลองสภาวะธรรมชาติเพื่อเพาะเห็ดตับเต่าได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรที่ต้องการขยายพื้นที่เพาะเห็ดตับเต่า รวมถึงใช้เป็นโมเดลในการเพาะเห็ดตับเต่าสำหรับพื้นที่อื่นๆ ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังพัฒนาเทคนิคการผลิตหัวเชื้อเห็ดตับเต่าหลายรูปแบบ และพัฒนากระบวนการเพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่าที่เหมาะกับหัวเชื้อแต่ละรูปแบบ

 

ไบโอเทค-สวทช. พัฒนาองค์ความรู้ ฟื้นฟูพื้นที่เพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่า อนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
เชื้อเห็ดตับเต่าแบบต่าง ๆ

 

เห็ดตับเต่าที่บ้านสามเรือนมีลักษณะดอกใหญ่ เนื้อแน่น และมีความอร่อยที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนเห็ดตับเต่าในพื้นที่อื่น ซึ่งกลิ่นและรสของเห็ดตับเต่านั้นยังขึ้นอยู่กับชนิดของรากไม้ แร่ธาตุในดิน และสภาพแวดล้อมที่เห็ดเจริญ เห็ดชนิดเดียวกันแต่ขึ้นต่างพื้นที่กัน กลิ่นและรสก็จะแตกต่างกันด้วย ดังนั้นการที่เราได้เข้าไปทำงานร่วมกับเกษตรกรในการฟื้นฟูเห็ดตับเต่าของบ้านสามเรือน นอกจากจะช่วยรักษาทรัพยากรในท้องถิ่น ฟื้นฟูอาชีพและรายได้ของคนในชุมชนให้กลับคืนมาแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์พันธุ์เห็ดตับเต่าชั้นดีของประเทศไทยอีกด้วย” นักวิจัยกล่าว

 

ไบโอเทค-สวทช. พัฒนาองค์ความรู้ ฟื้นฟูพื้นที่เพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่า อนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
เห็ดตับเต่าเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญและเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านสามเรือน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

ปัจจุบันเห็ดตับเต่ากลายเป็นสินค้าเกษตรที่ขึ้นชื่อและเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านสามเรือน มีเกษตรกรผู้เพาะเห็ดไม่ต่ำกว่า 300 ราย ส่วนใหญ่จำหน่ายเป็นผลิตผลสดและบางส่วนนำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้ชุมชนเป็นปีละประมาณ 10 ล้านบาท อีกทั้งยังได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและศูนย์เรียนรู้ด้านการเพาะเห็ดตับเต่าที่สำคัญของประเทศ

การพัฒนาองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพร้อมนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมนับว่าเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนบนฐานทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นให้เติบโตและงอกงามได้อย่างยั่งยืนตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG model)

แชร์หน้านี้: